Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > สภารับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ กยศ. ฉบับใหม่ ด้านทวิตเตอร์ผุดแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ สะท้อนปัญหาผู้กู้ยืม > สภารับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ กยศ. ฉบับใหม่ ด้านทวิตเตอร์ผุดแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ สะท้อนปัญหาผู้กู้ยืม

สภารับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ กยศ. ฉบับใหม่ ด้านทวิตเตอร์ผุดแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ สะท้อนปัญหาผู้กู้ยืม

Submitted by Rat and Lion on Wed, 2022-01-26 21:23

ภาพปกจากเบนาร์นิวส์ (แฟ้มภาพ)

ที่ประชุมสภามีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือร่างกฎหมาย กยศ. ฉบับ ครม. พร้อมเตรียมตั้ง กมธ. พิจารณาศึกษาและแก้ไขร่างกฎหมายเพิ่มเติม ด้าน ส.ส.ประชาธิปัตย์เห็นพ้อง ครม. ชี้ ร่างกฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ช่วยเพิ่มโอกาสการศึกษา ขณะที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ส่งเสียงสะท้อนผ่านแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ ถูกบังคับทำกิจกรรมจิตอาสาหลายชั่วโมงแลกสิทธิกู้เงิน เบียดบังเวลาเรียน

26 ม.ค. 2565 มติชนออนไลน์ [1]รายงานว่าวันนี้ (26 ม.ค. 2565) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือร่างกฎหมาย กยศ. ในวาระรับหลักการ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกเลื่อนการพิจารณาจากกำหนดเดิมในสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากมีปัญหาองค์ประชุมล่ม แต่ในวันนี้ไม่มีปัญหาการนับองค์ประชุม การอภิปรายจึงเป็นไปอย่างราบรื่น

เมื่อ ส.ส. อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมแสดงตนเป็นองค์ประชุมทั้งหมด 329 เสียง โดยมีเสียงส.ส.ฝ่ายค้าน ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมด้วย ก่อนที่ประชุมจะลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ด้วยคะแนน 345 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 โดยหลังจากร่างกฎหมายผ่านขั้นรับหลักการแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 35 คน ขึ้นมาพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป เมื่อ กมธ. พิจารณาเสร็จแล้วจะนำร่างกฎหมายนั้นมายื่นต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในขั้นลงมติ

ด้านไทยรัฐออนไลน์ [2]และผู้จัดการออนไลน์ [3] รายงานตรงกันว่าระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่ากองทุนนี้เกิดขึ้นในปี 2538 โดยชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และได้รับการผลักดันจนเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุน กยศ. ในปี 2541 โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 4,000 ล้านบาท ตลอด 26 ปีที่ผ่านมา มีเงินทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ 675,000 ล้านบาทที่นักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัยพ์กว่า 6 ล้านคน สามารถเข้าถึงกองทุนนี้

ทั้งนี้ในปี 2564 มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในระบบของแต่ละปีถึง 40,000 ล้านบาท ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนสามารถกู้ยืมได้หมดทุกคน จึงเป็นที่มาที่ต้องปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. เพิ่มโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนโอกาสกู้ยืมค่าเรียนในสาขาพิเศษได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันภายในประเทศ โดยคณะกรรมาธิการกองทุนสามารถจัดสรรงบได้เลย
  2. หากนักเรียนที่กู้ยืมไปแล้วเรียนดีและมีความประพฤติดี กรรมาธิการกองทุนก็สามารถเสนอเปลี่ยนหนี้เป็นทุนได้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่เยาวชนคนอื่นๆ ที่สนใจด้านการศึกษาในอนาคต
  3. กรรมาธิการกองทุน สามารถมอบทุนเรียนในสาขาที่ไม่จำเป็นที่ต้องอยู่ในสถานศึกษา เช่น ในปัจจุบันนี้มีหลายหลักสูตรรระยะสั้นต่างๆ ก็สามารถที่จะร่วมกองทุนนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังให้ความสำคัญเรื่องการจัดการบริหารที่ดีเพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้กู้ยืม เช่น ลดขั้นตอนเอกสารและไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน หรือแม้แต่การชำระหนี้ที่ง่ายขึ้น เพื่อเปิดโอกาสปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับลดดอกเบี้ยได้ตลอดถ้าคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ โดยที่ผ่านมามีสถานการณ์โควิด-19 กระทบกับนักเรียนและระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จะขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่ออนาคตของเยาวชนไทยที่สมควรได้รับโอกาสด้านการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเต็มที่

ร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ มีเนื้อหาว่าอย่างไร

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [4]รายงานว่าธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยกำหนดให้คณะกรรมการ กยศ. อาจ 'ให้ทุน' การศึกษาแทนการ 'ให้กู้ยืม' เพื่อการศึกษาได้ ในกรณีที่สาขาวิชาขาดแคลน หรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ กยศ. ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืน กยศ. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งจะขยายโอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีความคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งยังจะมีกลไกให้ผู้กู้ยืมสามารถชำนะเงินคืนกองทุนได้มากขึ้น

สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 เพิ่มนิยาม "นักเรียน/นักศึกษาและสถานศึกษา รองรับการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่าง รวมทั้งเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้ คณะกรรมการ กยศ. อาจให้ทุนการศึกษาแทนการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้" รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติคณะกรรมการ กยศ. เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจให้คณะอนุกรรมการฯ กำหนดลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์โดยให้คำนึงถึงรายได้และรายจ่ายของครอบครัว ว่าเพียงพอต่อการให้การศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษามากน้อยเพียงใด พร้อมแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระเงินคืน กยศ. เช่น วิธีการผ่อนชำระและระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุนให้ยืดหยุ่นขึ้น ผู้กู้ยืมเงินมีสิทธิเลือกชำระเงินกู้ยืมคืนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระได้ รวมทั้งให้คณะกรรมการ กยศ. สามารถกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือชำระหนี้ครบถ้วนรวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธืการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมและการชำระเงินคืนกองทุน เช่น ผู้กู้ยืมสามารภกู้ยืมเงินโคยไม่ต้องมี ผู้ค้ำประกัน (ผู้ค้ำประกันเฉพาะที่จำเป็น) ลำดับการตัดชำระเงิน โดยเรียงจาก เงินต้น ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ปรับรูปแบบการผ่อนชำระที่ยืดหยุ่น อาจเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้น

ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวอิศรา [5]รายงานเนื้อหาสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ให้กู้งืมเงินเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ โดยแบ่งเนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ออกเป็น 4 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. การแก้ไขนิยามคำว่า "นักเรียนหรือนักศึกษา" และ "สถานศึกษา" ให้ครอบคลุมและรองรับการศึกษารูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างจากการศึกษาหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือหลักสูตรเพื่อการยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ สามารถขอเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้
  2. ให้อำนาจคณะกรรมการ กยศ. และคณะอนุกรรมการในการกำหนดคุณลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ขอกู้ยืม โดยต้องพิจารณาทั้งรายรับและรายจ่ายของครอบครัวตลอดปี หากคำนวณรายรับแบบหักรายจ่ายแล้วพบว่ารายได้สุทธิของครอบครัวต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่านักเรียนหรือนักศึกษาผู้นั้นเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และสามารถขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการ กยศ. ยังสามารถ "ให้ทุนการศึกษา" แทนการ "ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา" แก่นักเรียน/นักศึกษาที่ต้องการศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิซาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
  3. เพิ่มความคล่องตัวในการทำงานแก่สำนักงาน กยศ. โดยทำข้อตกลงด้านการทำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษา มีอำนาจสั่งการให้เผยแพร่สถิติ ‘การมีงานทำ-ประเภทงาน’ หลังผู้กู้จบการศึกษา ยกเลิกผู้ค้ำประกันเงินกู้แต่เปลี่ยนใบใช้ใบรับรองค่าใช้จ่ายจากสถาบันการศึกษาแทน
  4. ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ เช่น การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกินปีละ 2% จากเดิมที่กำหนดดอกเบี้ยอยู่ที่ปีละไม่เกิน 7.5% ห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น ขยายขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 15 ปี เพิ่มความยืดหยุดให้นายจ้างสามารถหักเงินลูกหนี้ กำหนดคุณลักษณะที่ทำให้หนี้ระงับไป 

โซเชียลผุดแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ บังคับเก็บ ชม.กิจกรรมอาสา ทำผู้กู้เงินเรียนเครียดหนัก

แม้ว่าสภาจะรับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ฉบับใหม่ที่เสนอโดย ครม. แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางส่วนได้ออกมาโพสต์ข้อความพร้อมติดแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ ระบุว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นักเรียน/นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ. รู้สึกลำบากใจและสร้างภาระในการเรียน คือ การทำกิจกรรมจิตสาธารณะไม่ต่ำกว่าปีละ 36 ชั่วโมง มิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถกู้ยืมเงินต่อได้ในปีถัดไป

เงื่อนไขของผู้ขอกู้ยืมเงิน กยศ. ในปัจจุบัน [6] นอกจากจะกำหนดคุณลักษณะด้านทุนทรัพย์ของครอบครัวและความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ยังกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำกิจกรรมจิตสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในระหว่างปีการศึกษา เพื่อขอกู้ยืมเงินในปีการศึกษาถัดไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดเกลาจิตใจให้มีความเมตตากรุณา มีความเสียสละและมีจิตสาธารณะ โดยกำหนดชั่วโมงสำหรับผู้ขอกู้ยืมเงินแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  1. กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง
  2. กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษา ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง
  3. กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเลื่อนชั้นปีทุกระดับการศึกษา กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถทำกิจกรรมจิตสาธารณะได้ โดยบันทึกการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ ในแบบฟอร์มตามที่กองทุนกำหนด และลงลายมือชื่อผู้รับรองการทำกิจกรรม ได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และ ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอกู้ยืมในปีถัดไป

ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบข้อความในแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ พบว่าข้อความส่วนใหญ่ในแฮชแท็กดังกล่าวเป็นการโฆษณารับทำกิจกรรมจิตอาสา โดยคิดค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง เพื่อแลกกับการที่ผู้กู้ไม่ต้องลงทะเบียนเข้าไปทำกิจกรรมจิตอาสาด้วยตนเอง ซึ่งในเว็บไซต์ของ กยศ. ได้ระบุว่า "เนื่องจากในขณะนี้ มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลแอบอ้างกระทำการออกใบรับรองการทำกิจกรรมจิตสาธารณะให้แก่นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืม โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผ่านทางเว็บไซต์หรือทางออนไลน์ กองทุนจึงขอเรียนแจ้งให้ผู้กู้ยืมและสถานศึกษาทราบว่า กองทุนไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินจากนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมที่ทำกิจกรรมจิตสาธารณะในทุกกรณี" แสดงให้เห็นว่าทาง กยศ. รับทราบปัญหาการเรียกเงินเงินและรับจ้างทำกิจกรรมจิตอาสา แต่ยังไม่มีการออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ในแฮชแท็กดังกล่าวยังมีผู้สอบถามปัญหาหรือวิธีการเก็บชั่วโมงกิจกรรมจิตอาสา รวมถึงมีผู้วิจารณ์การทำกิจกรรมดังกล่าวว่าส่งผลกระทบต่อผู้กู้ซึ่งมีภาระหน้าที่การเรียนที่ต้องรับผิดชอบ โดยส่วนหนึ่งมองว่าจำนวนชั่วโมงกิจกรรมจิตอาสานั้นมากเกินไป และเบียดบังเวลาเรียน ในขณะที่บางส่วนมองว่ากิจกรรมนี้ไม่จำเป็น เพราะผู้กู้ต้องหาเงินมาชำระหนี้คืนอยู่แล้วเมื่อเรียนจบ ไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมจิตอาสาทดแทนเพราะไม่ใช่การขอทุนการศึกษา

ข่าว [7]
การเมือง [8]
การศึกษา [9]
กยศ. [10]
กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา [11]
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... [12]
ร่าง พ.ร.บ.กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา [13]
ร่างพ.ร.ย.กู้ กยศ. [14]
ประชุมสภา [15]
จิตภัสร์ กฤดากร [16]
ธนกร วังบุญคงชนะ [17]
#จิตอาสากยศ [18]
จิตอาสา กยศ. [19]
จิตอาสา [20]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2022/01/96986?ref=internal_update_title

Links
[1] https://www.matichon.co.th/politics/news_3152529
[2] https://www.thairath.co.th/news/politic/2297895
[3] https://mgronline.com/politics/detail/9650000008568
[4] https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/33/iid/64554
[5] https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/105233-gov-new-studentloan-law-report-news.html
[6] https://www.studentloan.or.th/th/highlight/1604025515
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%A8
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2-%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B8%9E%E0%B8%A8
[13] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2
[14] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89-%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%A8
[15] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2
[16] https://prachatai.com/category/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3
[17] https://prachatai.com/category/%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%84%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0
[18] https://prachatai.com/category/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%A8
[19] https://prachatai.com/category/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%A8
[20] https://prachatai.com/category/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2