Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > เปิดเหตุผลศาลยกคำร้อง 'เดียร์ รวิสรา' ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ดับฝันเรียนต่อเยอรมนี > เปิดเหตุผลศาลยกคำร้อง 'เดียร์ รวิสรา' ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ดับฝันเรียนต่อเยอรมนี

เปิดเหตุผลศาลยกคำร้อง 'เดียร์ รวิสรา' ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ดับฝันเรียนต่อเยอรมนี

Submitted by Rat and Lion on Tue, 2022-03-29 23:28

ศาลยกคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีของ 'เดียร์ รวิสรา' ผู้ถูกฟ้องคดี ม.112 จากการอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีใน #ม็อบ26ตุลา เมื่อปี 2563 โดยให้เหตุผลว่าผู้กำกับดูแลทั้ง 2 คนที่รวิสราเสนอชื่อ "ไม่มีคุณสมบัติ" ตรงตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เพราะไม่รู้จักกันเป็นอย่างดีและอีกคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นนายประกันแล้วจะทำหน้าที่อื่นมิได้

29 มี.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [1]รายงานว่าวันนี้ (29 มี.ค. 2565) รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุม #ม็อบ26ตุลา หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตาม ม.112 และ ม.116 เดินทางมาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อไต่สวนคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนี เนื่องจากได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน

ที่ผ่านมา รวิสรายื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศต่อศาลแล้ว 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2565 โดย 2 ครั้งแรก ศาลไม่อนุญาต และอีก 5 ครั้งถัดมา ศาลให้ยื่นเอกสารต่างๆ เพิ่มเติม โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 รวิสราได้นำหนังสือจากมหาวิทยาลัยออสนาบรีค ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่รวิสราได้รับทุนให้เข้าศึกษาต่อ พร้อมผ่านการรับรองเอกสารจากสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยแล้ว เข้ายื่นต่อศาล และศาลนัดไต่สวนคำร้องเมื่อวานนี้ (29 มี.ค. 2565)

เวลา 10.00 น. ศาลแจ้งก่อนดำเนินการไต่สวนคำร้องว่าศาลต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กำกับดูแลของรวิสราทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเยอรมนี โดยต้องการให้ผู้กำกับดูแลทั้ง 2 คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ อีกทั้งต้องการให้ผู้ปกครองช่วยติดต่อกับผู้กำกับดูแลทั้ง 2 อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับผู้กำกับดูแลที่ 1 (สงวนชื่อและนามสกุล) มีหน้าที่กำกับดูแลรวิสราในประเทศไทย โดยผู้กำกับดูแลคนที่ 1 นี้เป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะที่รวิสราสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ ผู้กำกับดูแลคนที่ 1 ยังเป็นนายประกันให้รวิสราในคดี #ม็อบ26ตุลา อีกด้วย รวิสรากล่าวว่าหลังจากอาจารย์เป็นนายประกันให้เธอ เธอได้ติดต่อและส่งข่าวคราวต่างๆ ให้กับอาจารย์เป็นระยะๆ และเมื่อได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนี รวิสราได้แจ้งกับอาจารย์เป็นคนแรกและได้พูดคุยกันถึงความกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ศาลห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยอาจารย์ได้แนะนำเกี่ยวกับการศึกษาต่อและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อาจารย์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เธอได้รับทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนีในครั้งนี้แต่อย่างใด

ส่วนผู้กำกับผู้แลคนที่ 2 คือ 'ชัช ขำเพชร' เป็นนักวิจัยระดับศึกษาปริญญาเอกที่สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศวัลเธอร์ชึคกิ้ง ประเทศเยอรมนี รวิสรากล่าวว่าเธอรู้จักชัชเพราะได้รับการแนะนำจากอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรู้จักกันมาก่อน เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยได้เรียนภาษาเยอรมันด้วยกัน โดยชัชยินดีเป็นผู้กำกับดูแลคนที่ 2 ให้แก่รวิสราตามคำร้องขอ และชัชจะพำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมนีอีกประมาณ 1-3 ปี ซึ่งตรงกับช่วงที่รวิสราจะไปศึกษาต่อ อย่างไรก็ตาม ชัชแจ้งกับรวิสราว่าเขาต้องนัดหมายกับสถานทูตไทยในเยอรมนีเพื่อติดต่อขอเอกสารตามที่ศาลสั่ง เพื่อประกอบการเป็นผู้กำกับดูแลแก่รวิสรา แต่การนัดหมายกับสถานทูตนั้นใช้เวลานาน โดยเขาได้ลำดับนัดหมายเร็วที่สุดคือช่วงเดือน พ.ค. 2565 ซึ่งไม่สามารถส่งเอกสารให้ศาลได้ตามนัด รวิสราจึงแจ้งต่อศาลว่าจะขอส่งเอกสารดังกล่าวในภายหลัง โดยหากศาลอนุญาตให้ส่งเอกสารในภายหลังได้ ชัชจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปทันที แต่ศาลตอบรับว่าจะขอไปพิจารณาดูก่อน

ทั้งนี้ ผู้กำกับดูแลคนที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์ของรวิสรากล่าวว่าตนไม่ได้รู้จักกับชัช ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลคนที่ 2 เป็นการส่วนตัว แต่ยินดีจะติดต่อประสานงานเพื่อกำกับดูแลรวิสราตามคำสั่งศาลทุกประการ นอกจากนี้ ผู้กำกับดูแลคนที่ 1 ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าตนเข้าใจว่าศาลลำบากใจ เนื่องจากต้องการสร้างมาตรฐานในการขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะคดี ม.112 ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ แต่ “สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นครู คือการสร้างอนาคตให้กับผู้เรียน” และตนพร้อมจะสนับสนุนอย่างสุดความสามารถให้รวิสราได้ไปเรียนต่อ และมีอนาคตที่ดีขึ้นตามที่ตั้งใจไว้ พร้อมระบุว่ารวิสราปฏิบัติตามคำสั่งศาลตลอดและมารายงานตัวตามนัดทุกครั้ง ไม่มีเจตนาหลบหนี จึงมั่นใจว่าหากศาลอนุญาตให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี รวิสราจะยังคงปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดต่อไปอย่างแน่นอน

ต่อมา เวลา 17.30 น. สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องของรวิสรา โดยระบุเหตุผลว่าคุณสมบัติของผู้กำกับดูแลทั้ง 2 คนตามคำร้องของรวิสราไม่เป็นไปตาม "ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว…พ.ศ.2561" [2] โดยผู้กำกับดูแลคนที่ 1 ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6 ของระเบียบดังกล่าวเนื่องจากเป็นนายประกันให้รวิสราอยู่แล้ว ส่วนผู้กำกับดูแลคนที่ 2 หรือชัช ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้รู้จักกับรวิสราเป็นอย่างดีตามระเบียบข้อ 4 เพราะรวิสราระบุว่ารู้จักเพราะคำแนะนำของบุคคลอื่น อีกทั้งคุณสมบัติของชัชยังไม่เข้าเกณฑ์ตามระเบียบข้อ 5 ทำให้ชัชไม่สามารถเป็นผู้กำกับดูแลคนที่ 2 ของรวิสราได้ ด้วยเหตุนี้ จึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกประเทศ ตามที่รวิสราร้องขอ

สำหรับระเบียบทั้งหมด 3 ข้อที่ศาลยกมาเป็นเหตุผลในการยกคำร้อง ระบุ ดังนี้

ข้อ 4 เรื่องผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่มิใช่บุคคลตามข้อ 5 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ 

(1) เป็นผู้ที่รู้จักผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเป็นอย่างดีและผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ความเคารพเชื่อฟัง หรือเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนที่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีที่อยู่อาศัยให้ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และ

(2) เป็นผู้สมัครใจ มีความพร้อมและเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลมอบหมาย

ข้อ 5 ผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่มีหน้าที่ในการให้คําปรึกษาเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการให้คําปรึกษา หรือผ่านการอบรม การให้คําปรึกษาทางจิตสังคมตามหลักสูตรที่สํานักงานศาลยุติธรรมจัดหรือรับรอง และ

(2) เป็นผู้สมัครใจ มีความพร้อมและเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลมอบหมาย 

ข้อ 6 บุคคลต่อไปนี้ต้องห้ามเป็นผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว…

(2) ผู้ประกัน บุคคลซึ่งเป็นหลักประกัน หรือบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราว

ทั้งนี้ รวิสราได้รับทุนรัฐบาลเยอรมนีจากศูนย์บริการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) สำหรับโปรแกรมเฮลมูท-ชมิดท์ ในระดับชั้นปริญญาโท หลักสูตรมหาบัณฑิตด้านการจัดการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Master of Management in Non-Profit Organisations) ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค (University of Applied Science Osnabruck) ในรัฐนีเดอร์ซัคเซิน ประเทศเยอรมนี แต่ด้วยเงื่อนไขการประกันตัวของศาลทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ ตามกำหนดของรวิสราหลังได้รับทุนการศึกษา เธอต้องเดินทางไปศึกษาในหลักสูตรเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2565 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • ศาลไม่ให้ 'รวิสรา' ลาเรียนต่อต่างประเทศ อ้างยังไม่ผ่านการคัดเลือกทุน [3]
  • ศาลยังไม่ให้ 'รวิสรา' คดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมันเดินทางไปเรียนเป็นรอบที่สาม [4]
  • รู้จัก ‘เดียร์ รวิสรา’ ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันที่กลายเป็นอาชญากรรม [5]
ข่าว [6]
การเมือง [7]
การศึกษา [8]
สิทธิมนุษยชน [9]
รวิสรา เอกสกุล [10]
เดียร์ รวิสรา [11]
ม.112 [12]
ศาลอาญากรุงเทพใต้ [13]
เยอรมนี [14]
#ม็อบ26ตุลา [15]
ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี [16]
ม็อบหน้าสถานทูตเยอรมนี [17]
สถานทูตเยอรมัน [18]
สถานทูตเยอรมนี [19]
ม.116 [20]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2022/03/97930

Links
[1] https://tlhr2014.com/archives/42054
[2] http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/007/1.PDF
[3] https://prachatai.com/journal/2022/03/97516
[4] https://prachatai.com/journal/2022/03/97694
[5] https://prachatai.com/journal/2021/04/92804
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B2
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A1112
[13] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89
[14] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B5
[15] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A1%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%9A26%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2
[16] https://prachatai.com/category/%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B5
[17] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A1%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B5
[18] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99
[19] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B5
[20] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A1116