สงกรานต์พม่าเหงา หลัง PDF-ฝ่ายต่อต้านขอ ปชช.บอยคอต-รัฐไทยแจ้งสถานการณ์ตรงข้ามแม่สอดไม่มีเหตุปะทะ
สงกรานต์พม่าเหงา แม้กองทัพพยายามชวนคนออกมาเล่นน้ำ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าพม่าคืนสู่ภาวะปกติ แต่ฝ่ายต่อต้าน และกองกำลัง PDF ขอ ปปช.บอยคอตไม่เข้าร่วม ด้านการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA และกองทัพพม่า ในรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามแม่สอด ซึ่งเริ่มเมื่อปลาย มี.ค. ล่าสุดศูนย์สั่งการชายแดนฯ เผยไม่มีเหตุปะทะ ด้านผู้ลี้ภัยพม่าหนีสงครามอยู่ในไทย 1,514 ราย
14 เม.ย. 65 สำนักข่าวสัญชาติพม่า 'อิรวดี [2]' และ 'มิสซิม่า' (Mizzima) [3]รายงานเมื่อ 13 เม.ย. 65 ชาวเมียนมาที่ปกติมักจัดเทศกาลสงกรานต์ด้วยความคึกคักและสนุกสนาน เต็มไปด้วยความเงียบเหงา และการบอยคอต แม้กองทัพพม่าพยายามเชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมฉลอง
สำหรับประเทศเมียนมาขณะนี้เรียกว่าอยู่ในวิกฤตทางการเมือง หลังพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของอองซานซูจี เมื่อ 1 ก.พ. 2564 ส่งผลให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารทั่วประเทศ ขณะที่กองทัพพม่าเลือกใช้ความรุนแรงในการปราบปราม จนปัจจุบันการต่อสู้ภายในพม่ายังไม่มีทีท่าว่าจะสงบ
รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564-14 เม.ย. 2565 มีผู้ที่ถูกฝ่ายความมั่นคงพม่าปราบจนเสียชีวิต จำนวนสูงถึง 1,751 ราย และมีผู้ถูกจับกุม 13,266 ราย
DAILY UPDATE 14/04/22
1,751 killed (+1)
13,266 total arrests (+27)
1,976 evading warrant (+0)brief https://t.co/G347eBEfiT [4]
detained https://t.co/PBDYSY0lBj [5]
sentenced https://t.co/6GPBTvF75N [6]
killed https://t.co/jQOHPl36qa [7] pic.twitter.com/y7p9eRpgmW [8]— AAPP (Burma) (@aapp_burma) April 14, 2022 [9]
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ของพม่า ตรงกับวันที่ 13-15 เม.ย. หรือบางปีถึงวันที่ 16 ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีชำระล้างเพื่อต้อนรับปีใหม่ตามคติของศาสนาพุทธ ผู้คนจะออกมาทำบุญที่วัดวาอาราม เล่นสาดน้ำตามท้องถนนอย่างสนุกสนาน รวมถึงมีการจัดพิธีเทศกาลเฉลิมฉลองอย่างครื้นเครง
อย่างไรก็ตาม บนท้องถนนของนครย่างกุ้ง เมื่อ13 เม.ย. 65 ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพม่าปีนี้กลับเต็มไปด้วยความเงียบเหงา ไม่มีวี่แววของการเฉลิมฉลองในเทศกาลสงกรานต์ แม้ทหารพม่าจะพยายามเชิญชวนให้คนออกมาเล่นน้ำและเฉลิมฉลอง
ในนครย่างกุ้ง มีเพียงประชาชนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นเด็กหลายคนและทหารเพียงนายเดียวเล่นสาดน้ำใส่กันด้านหลังกระสอบทรายของด่านรักษาความปลอดภัย ขณะที่ประชาชนคนอื่นๆ ยืนมองจากอีกฝากของถนน
บริเวณเจดีย์ซูเหล่เต็มไปด้วยการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของฝ่ายความมั่นคง มีการวางสิ่งกีดขวางที่เวทีสงกรานต์ ซึ่งบนเวทีมีนักร้องเพลงพื้นเมือง และนักเต้น กำลังทำการแสดง ซึ่งปีนี้กองทัพพม่าเป็นผู้ออกทุนสนับสนุนงานสงกรานต์
ภาพจากช่องโทรทัศน์ของทางการพม่า เผยให้เห็นนักร้อง และนักดนตรี กำลังแสดงเพลงพื้นเมืองประจำเทศกาลสงกรานต์ ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศเมียนมา
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศยังคงเต็มไปด้วยความอึมครึม เนื่องจากกองทัพพม่ายังคงปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง
"เราไม่แผนเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ (2565)" ซินซิน (นามแฝง) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี พร้อมระบุต่อว่า "ผมคงไม่ออกไปข้างนอก และไม่สนใจว่าคนอื่นๆ จะเฉลิมฉลองหรือไม่ เรากังวลว่าอาจมีเรื่องบางอย่างเกิดขึ้น"

อนึ่ง เมื่อปี 2563 เทศกาลสงกรานต์พม่ามีอันต้องงดชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส 2019 แต่ในปี 2564 หลังการทำรัฐประหาร ประชาชนออกมาบอยคอตการเฉลิมฉลองของเทศกาลสงกรานต์ เพื่อประท้วงต่อต้านเผด็จการพม่า และการยึดอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม
ปีนี้เผด็จการพม่าพยายามบังคับให้ประชาชนออกมาเฉลิมฉลองในวันสงกรานต์ เป็นประจำทุกปี เวทีการแสดงของเทศกาลสงกรานต์มักได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนธุรกิจ แต่ว่าปีนี้กลับไม่มีบริษัทไหนลงทะเบียนให้การสนับสนุนเวทีสงกรานต์ดังกล่าว ดังนั้น กองทัพพม่าจึงต้องลงทุนสร้างเวทีสงกรานต์ด้วยตัวเองในหลายเมือง เช่น นครย่างกุ้ง นครมัณฑะเลย์ กรุงเนปยีดอ และที่อื่นๆ อีกหลายเมือง นอกจากนี้ กองทัพพม่าพยายามชักชวนให้เจ้าของธุรกิจโรงแรม และบาร์ มีการจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าสถานการณ์ในพม่ากลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว

ภาพเวทีสงกรานต์ในเขตเชาก์ เมืองมะเกว่ ประเทศเมียนมา ท่ามกลางการยืนคุมของทหารพม่า เมื่อ 14 เม.ย. 65 (ที่มา Tachilek News Agency [10])
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอจะทำให้ประชาชนออกมาเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่กองกำลังป้องกันพลเรือน หรือ PDF ซึ่งกองกำลังที่จัดตั้งโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ออกคำเตือนอย่างเข้มงวด ขอให้ประชาชนไม่เข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ดังกล่าว PDF เตือนด้วยว่า อาจมีแผนโจมตีเทศกาลสงกรานต์ที่มีกองทัพพม่าเป็นผู้สนับสนุน และพวกเขาจะไม่รับผิดชอบต่อผู้ได้รับบาดเจ็บที่เกิดจากการโจมตีของกลุ่ม PDF
นอกจากนี้ ข่าวจากสำนักข่าวท้องถิ่นเผยให้เห็นผู้ประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารพม่ากลุ่มเล็กๆ ทั่วประเทศ นักกิจกรรมบางรายคือป้ายเรียกร้องให้มีการบอยคอตเทศกาลสงกรานต์
ไม่มีเหตุปะทะตรงข้ามแม่สอด
สำหรับสถานการณ์ชายแดนตรงข้ามแม่สอด จ.ตาก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสู้รบระหว่างกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA กองพลน้อยที่ 6 ซึ่งเป็นปีกกองทัพของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ทำการสู้รบกับกองทัพพม่า ตั้งแต่เมื่อ 27 มี.ค. 2565
ขณะที่เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 65 สื่อโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก’ รายงานว่า ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก ชี้แจงสถานการณ์ชายแดนพื้นที่ จ.ตาก ฉบับที่ 58 ประจําวันที่ 13 เม.ย. 2565 เมื่อเวลา 18.00 น.
โพสต์ข้อความระบุว่า เมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 6.00-18.00 น. ไม่มีรายงานการปะทะบริเวณฝั่งเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก
ขณะที่จำนวนผู้หนีภัยสงคราม หรือผู้ลี้ภัยสงครามเข้ามาในไทย ปัจจุบัน มีทั้งหมด 1,514 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว อ.อุ้มผาง จ.ตาก จำนวน 4 แห่ง คือ 1) บ้านเซอทะ ต.หนองหลวง เดิมจำนวน 729 คน แต่มีคนข้ามมายังประเทศไทยเพิ่มอีก 5 คน จำนวนรวม 734 คน 2) ที่ ต.หนองหลวง จำนวน 260 คน 3) บ้านเลตองคุ จำนวน 450 คน และ 4) บ้านไม้ระยองคี ต.แม่จัน จำนวน 70 คน
ทั้งนี้ คณะทำงานศูนย์สั่งการชายแดนฯ ระบุได้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม ขณะที่กองอำนวยการร่วมยังคงดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามหลักมนุษยธรรม โดยไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สำหรับการสู้รบฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างกองกำลัง KNLA และกองทัพพม่า เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อกองทัพพม่าพยายามส่งกองกำลังเข้ามาจับกุมฝ่ายต่อต้านกองทัพภายในเมืองเลเก๊ะก่อ รัฐกะเหรี่ยง เขตรับผิดชอบของ KNLA กองพลน้อยที่ 6 จนสร้างความไม่พอใจให้ฝ่าย KNLA และออกมาปะทะกับกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน