Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 มี.ค. 2550 ในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวานนี้ (28 มี.ค.) พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย


 


ตัด "ประชาสังคม" ออกจากมาตราคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัว เหตุ กมธ. ไม่รู้จัก


ในส่วนที่ 11 เรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมนั้น ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ได้ร่างให้มาตรา 62 บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน ประชาสังคม หรือหมู่คณะอื่นๆ


 


นายมนตรี ศรีเอี่ยมสอาด กมธ. กล่าวว่า ไม่มีใครรู้จักคำว่า "ประชาสังคม" ว่าคือใคร มาจากไหน นายสมคิด เลขานุการฯ จึงกล่าวว่า คำว่า ประชาสังคมนั้นเป็นคำใหม่ หมายถึง การรวมตัวของประชาชนเพื่อเรียกร้องในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง


 


อย่างไรก็ตาม ประชาสังคมนั้นรวมอยู่ในหมู่คณะอื่นๆ อยู่แล้ว และเมื่อเขียนแล้ว คนไม่รู้จักก็อาจตัดทิ้งได้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ตัดคำว่า "ประชาสังคม" ออก


 


 


ให้เลิกบางจารีต ผีตองเหลือง เงาะป่าซาไก มอแกน ที่นุ่งผ้าเตี่ยว 


ในส่วนที่ 12 เรื่องสิทธิชุมชนนั้น ในมาตรา 64 ที่ฝ่ายเลขานุการยกร่างให้ บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยในวรรคสองระบุให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิเช่นเดียวกับชุมชนตามวรรคหนึ่งด้วย


 


นายจรัญ ภักดีธนากุล กมธ. กล่าวว่า คำว่าชนกลุ่มน้อย ในกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นคำที่ละเอียดอ่อน จึงเสนอให้ตัดคำนี้ออก เนื่องจากหากระบุถึงชุมชน ชนกลุ่มน้อยก็รวมอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว


 


ด้านนายสุพจน์ ไข่มุกด์ กล่าวสนับสนุนว่า คำว่า ชนกลุ่มน้อย มีปัญหาในนิยามของกฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วย จึงเสนอให้ตัดออกเช่นกัน เพราะความหมายของชนกลุ่มน้อยก็น่าจะอยู่ในวรรคแรกแล้ว


 


นายสุพจน์กล่าวต่อว่า จารีตประเพณีบางอย่างเราก็ไม่ควรอนุรักษ์ไว้ อย่างผีตองเหลืองที่มีการนุ่งผ้าเตี่ยว ก็อาจต้องพิจารณาว่า จารีตประเพณีบางอย่างมีปัญหาหรือไม่ หรือ ซาไก เงาะ เป็นชุมชนหรือไม่ อย่างผ้าเตี่ยวในปัจจุบัน อาจไม่ต้องมีต่อไป หรือจารีตประเพณีมอแกน ก็อาจมีปัญหา เพราะไม่ได้ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ได้แต่หากินไปวันๆ


 


นายจรัญ กล่าวเสริมว่า ยังติดใจในคำอภิปรายของนายสุพจน์ และว่า จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรม ต้องเป็นสัมมาทิฐิ อะไรที่เป็นมิจฉาทิฐิหรือพฤติกรรมที่ทำให้ประชาชนเสื่อมเสียเราไม่เรียกว่า วัฒนธรรมหรือจารีต โดยยกตัวอย่างว่า การต้มเหล้าก็เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นจะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่ดีก็มี


 


อย่างไรก็ตาม นายชูชัย ศุภวงศ์ กมธ. และประธานคณะอนุกรรมาธิการกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจ ได้ขอให้เลขานุการของกรอบที่ 1 และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหารือกันในรายละเอียดต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net