Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ข้าวสีทอง และพืชผลที่ได้รับการตัดต่อวิศวกรรมทางพันธุกรรมอื่น อาจจะปฏิวัติการเพาะปลูก และช่วยแก้ไขปัญหา ความอดอยากในโลก แต่ผู้ประท้วงกลัวว่า มันอาจจะทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย …

ทุกวันนี้ ดูจะเป็นความเชื่อกระแสหลัก ของสังคมไทยไปแล้วว่า สื่อที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ มีคุณภาพสูงกว่า สื่อในประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านจรรยาบรรณ ในการเสนออย่างเป็นกลาง ปราศจากการถูกครอบงำใดๆ หรือการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแม่นยำ เป็นที่เชื่อถือ บทความเมล็ดแห่งความหวัง ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ความจริงเป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือ สื่อต่างประเทศ ก็มิได้จะปลอดจากการถูกครอบงำ และข้อมูลที่ให้ ก็มิใช่ว่าจะถูกต้องแม่นยำเสมอไป เช่นเดียวกับสื่อของไทย

หน้าปกนิตยสารไทม์เอเชีย ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2001 ปรากฏข้อความใหญ่เต็มปกว่า "ข้าวชนิดนี้อาจสามารถช่วยเหลือเด็กหนึ่งล้านคนต่อปี"

ตามด้วยข้อความเป็นตัวหนังสือขนาดเล็กว่า "..แต่ผู้ประท้วงเชื่อว่า อาหารที่ได้รับการตัดต่อ ทางพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) ไม่ดีต่อเราและโลกของเรา ข้าวชนิดนี้คุ้มกับความเสี่ยงหรือไม่?"

ในคอลัมน์วิทยาศาสตร์ มีข้อความพาดหัวว่า "เมล็ดแห่งความหวัง" ตามด้วยข้อความดังนี้ "ข้าวสีทอง และพืชผลที่ได้รับการตัดต่อวิศวกรรมทางพันธุกรรมอื่น อาจจะปฏิวัติการเพาะปลูก และช่วยแก้ไขปัญหา ความอดอยากในโลก แต่ผู้ประท้วงกลัวว่า มันอาจจะทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ข้างๆ ข้อความ มีรูปผู้หญิงชาวเอเชีย อายุประมาณ 30 ปี อุ้มเด็กวัย 3-4 ขวบ ซึ่งมีดวงตาที่ผิดปรกติ มีข้อความอธิบายภาพว่า "ความฝัน : ข้าวเสริมวิตามินเอ อาจสามารถป้องกันโรคตาบอด ในเด็กที่ขาดธาตุอาหาร ดังเช่น ริสคา เมาลิดา วัย 3 ขวบ ที่กำลังเล่นกับแม่ของเธอ "อาโจ" ในสลัมเมืองจาการ์ตา

บทความชิ้นนี้ เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องเบื้องหลังการวิจัย การตัดต่อทางวิศวพันธุกรรมในข้าว เพื่อเสริมสารเบตาแคโรทีน ซึ่งร่างกายใช้ในการผลิตวิตามินเอ เข้าไปในเมล็ดข้าวสาร ซึ่งทำให้สีของเมล็ดข้าวสารเป็นสีเหลืองอ่อน และเป็นที่มาของชื่อ "เมล็ดข้าวสีทอง"

ด้วยการสนับสนุนจาก มูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ และรัฐบาลประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมถึงสหภาพยุโรป จึงเกิดโครงการวิจัยมูลค่า 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 117 ล้านบาท) ขั้นในปี 1993 โดย ศ.อิงโก โพทรีคัส แห่งสถาบันเทคโนโลยีสวิส (Swiss Federal institute of Tech nology) และปีเตอร์ เบเยอร์ จากมหาวิทยาลัยไฟรเบอร์ก เพื่อสร้างข้าวสีทองที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้ยากไร้ จำนวนหลายล้านคนบนโลก เนื่องจากในบรรดาประชากรโลก จำนวน 3 พันล้านคน ที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ประมาณ 10 % -ของคนกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคขาดวิตามินเอ

โลกมีเด็กที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคนี้ กว่าหนึ่งล้านคนต่อปี และอีกกว่า 3.5 แสนคน ที่ต้องพิการตาบอด ทั้งนี้โครงการวิจัยข้าวสีทอง ได้บรรลุผลในปี 1999 เมื่อต้นปี 2001 นี้เอง ตัวอย่างของข้าวสีทอง ได้ถูกส่งต่อไปยังสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อการวิจัยพัฒนาข้าวจีเอ็มโอ เสริมวิตามินเอ ในข้าวพันธุ์เขตร้อน เช่นเดียวกับ กรณีพืชจีเอ็มโอ อื่นๆ ข้าวสีทอง ถูกโจมตีจากกลุ่มเกษตรกร และนักสิ่งแวดล้อม ทั้งในและนอกฟิลิปปินส์

ในอีกด้าน ผู้เขียนก็ได้แสดงออก ถึงความเข้าใจในเหตุผล ของกลุ่มผู้ต่อต้านจีเอ็มโอ ที่คิดว่า "ทำไมจึงต้องเลือกพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ และแปลกประหลาด ที่อาจทำอันตรายต่อระบบนิเวศ(ไบโอสเฟียส) …ในเมื่อประโยชน์ที่ได้รับดูจะมีเล็กน้อย"

แต่ก็ได้ให้ความเห็นว่า กรณีข้าวสีทองนั้น แตกต่างจากกรณี พืชจีเอ็มโออื่นๆ ด้วยเหตุผลว่า "เป็นความจริงที่ประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ อื่นๆ มีเล็กน้อย จนกระทั่งเกิดข้าวสีทอง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน และมีน้ำหนัก ตัวอย่างแรกของพืชจีเอ็มโอ ที่ไม่เพียงแต่จะให้ประโยชน์ กับเกษตรกรผู้ผลิตเท่านั้น แต่อาจจะเป็นประโยชน์ กับผู้บริโภคที่กินมันด้วย"

จริงอยู่ว่า โดยรวม บทความ "เมล็ดแห่งความฝัน" นี้ ได้ให้ข้อมูล และเหตุผลจากทั้งสองด้าน (ของกรณีข้าวสีทอง และพืชจีเอ็มโออื่นๆ) ทั้งจากฝั่งที่สนับสนุน และฝั่งที่ต่อต้าน ซึ่งโดยผิวเผินอาจจะดูเป็นกลาง หากแต่เมื่อพิจารณา ดูการเลือกสรรถ้อยคำกับข้อมูล ที่พยายามทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่า ผู้วิจัยข้าวสีทอง และองค์กรที่สนับสนุนการวิจัย มีเจตนาในการแก้ไขปัญหา โรคขาดวิตามินเอจริง และข้าวสีทอง สามารถที่จะเป็นคำตอบสำหรับปัญหานี้ได้จริง ในอนาคตอันใกล้นี้

ในขณะที่ผู้ต่อต้านจีเอ็มโอ กระทำการบนพื้นฐานของ "ความกลัว" และ "ความเชื่อ" ไม่ใช่บนเหตุผล และข้อเท็จจริง ดังนั้น การวิจัยทดลองข้าวจีเอ็มโอ หรือข้าวสีทองต่อไป จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ คุ้มกับความเสี่ยง ซึ่งมีเพียงเล็กน้อย เพราะพืชจีเอ็มโอ เพียงแต่อาจ "ไม่ดี" ต่อเรา และโลกของเรา หาได้เป็นภัย ดังที่กลุ่มผู้ต่อต้านกล่าวไม่

จริงหรือไม่ว่า ที่ผู้วิจัยและสนับสนุนการวิจัยข้าวสีทอง มีวัตถุประสงค์เดียวคือ การช่วยเหลือผู้ยากไร้?

"คงจะหวังได้เท่านั้นว่า การทำวิศวพันธุกรรมนี้ (ข้าวสีทอง) เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของมวลมนุษย์ โดยไม่มุ่งหวังกำไรระยะสั้น "จะสามารถคืนสภาพการยอมรับทางการเมือง ให้กับเทคโนโลยีชีวภาพ"
นี่คือข้อความลงท้ายบทความ ชื่อ "ปฏิวัติสีเขียวพบทอง" ซึ่งเป็นบทความประกอบเอกสารทางวิทยาศาสตร์ ที่ทีมวิจัยข้าวสีทอง ได้ยื่นให้กับองค์กรเจ้าของทุนต่างๆ เพื่อเสนอขอเงินสนับสนุนการวิจัย1 ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่า นอกจากความช่วยเหลือมนุษยชาติดังที่อ้างแล้ว คณะผู้วิจัย และผู้สนับสนุนวิจัย ยังมีความต้องการที่จะใช้ การวิจัยข้าวสีทอง เพื่อการประชาสัมพันธ์ให้กับธุรกิจ จีเอ็มโอ ตั้งแต่ต้นอีกด้วย

ตัวอย่างเปรียบเทียบ : ปริมาณสารเบต้าแคโรทีน ในผักพื้นบ้านไทยกับข้าวสีทอง

ชนิดอาหาร ปริมาณสารเบต้าแคโรทีน (ไมโครกรัม/มิลลิกรัม)
ข้าวสีทอง : 1.6
ยอดแค : 86.54
ขี้เหล็ก : 71.81
ผักกระเฉด : 37.10
สะเดา(ยอด) : 36.11
มะกอก(ยอดอ่อน) : 20.17

ที่มา: หนังสือตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข

ถ้าเช่นนั้น อะไรน่าจะเป็นเหตุผลแท้จริง หรือเป็นไปได้มากที่สุด?
ข้าวสีทองอาจจะสามารถช่วยชีวิตเด็ก กว่าล้านคนต่อปี จากโรคขาดวิตามินเอได้ ตามข้อความที่ระบุบนนิตยสารไทม์เอเชีย จริงหรือ?

ข้อมูลด้านโภชนาการ ของสถาบันสวิสเอง ระบุว่า ในข้าวสีทองปริมาณ 1 กรัม มีเบต้าแคโรทีนเพียง 1.6 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นปริมาที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ พืชพื้นบ้านอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วไป(ตารางที่1) ขณะที่ร่างกายมนุษย์ ต้องการใช้เบต้าแคโรทีน 6 ไมโครกรัม เพื่อสร้างวิตามินเอ 1 กรัม หากผู้ใหญ่บริโภคข้าวสีทอง แทนข้าวธรรมดา ในปริมาณปรกติ (900กรัม) ข้าวสุกต่อวัน ร่างกายจะได้รับวิตามินเอเพียง 8% ของความต้องการวิตามินเอต่อวัน แต่เพื่อป้องกันโรคขาดวิตามินเอ ในทารกแรกเกิด หญิงมีครรภ์ ซึ่งต้องการวิตามินเอเป็น 2 เท่าของคนปรกติ จะต้องบริโภคข้าวสีทองสุกถึง 18 กิโลกรัมต่อวัน2 และเพื่อป้องกันการเกิดโรคขาดวิตามินเอในเด็ก เด็กอายุ 4 ขวบ ต้องบริโภคข้าวสีทองสุก ถึง 5.6 กิโลกรัมต่อวัน3 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ทั้งสองกรณี ยิ่งไปกว่านั้น รายงานวิจัยชิ้นล่าสุด จากคณะกรรมการอาหาร และโภชนาการ ของสถาบันการแพทย์ และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ร่างกายมนุษย์ ต้องใช้เบต้าแคโรทีนถึง 12 ไมโครกรัม เพื่อผลิตวิตามินเอ 1 กรัม ไม่ใช่ใช้เบตาแครอติน 6 ไมโครกรัม ดังที่เคยเข้าใจ4 ข้อมูลนี้ ยิ่งทำให้การวิจัย เพื่อใช้ข้าวสีทอง เพื่อแก้ไขปัญหาโรคขาดวิตามินเอ เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล ดังนั้น จากข้อมูลทางโภชนาการดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า ข้าวสีทอง ไม่ใช่ "ตัวอย่างที่ชัดเจนของพืช จีเอมโอ" ที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตามที่บทความ "เมล็ดแห่งความหวัง" อ้าง

เมื่อข้อมูลดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทั่วโลก นายกอร์ดอน คอนเวย์ ประธานมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ หนึ่งในองค์กร ที่สนับสนุนงานวิจัยข้าวสีทอง ออกมาแถลงยอมรับว่า

"ก่อนอื่น เรา(ร็อกกี้เฟลเลอร์) ไม่คิดว่า ข้าวสีทอง เป็นคำตอบสำหรับปัญหาโรคขาดวิตามินเอ หากแต่เป็นอาหารเสริมที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการบริโภคผัก และผลไม้ สำหรับครอบครัวที่ยากจน ที่ขาดวิตามิน A ในสัดส่วน 10, 20, 50% ข้าวสีทอง อาจเป็นประโยชน์ของร่างกาย การกระทำการตัดต่อทางพันธุกรรม สามารถให้วิตามินได้มากที่สุด 15-20% ของความต้องการต่อวัน" "ผมเห็นด้วยกับ ดอกเตอร์ศิวะ ในข้าว (ผู้รณรงค์ต่อต้นอาหาร จีเอมโอ ชาวอินเดีย) ว่ามีการใช้กรณีข้าวสีทอง เพื่อการประชาสัมพันธ์เกินความเป็นจริง" 5

ข้อมูลอีกส่วนที่ บทความ "เมล็ดแห่งความฝัน" ไม่ได้ระบุ โครงการวิจัยข้าวสีทอง ซึ่งกินเวลามาถึง 7 ปีนี้ มิได้มีค่าใช้จ่ายเพียบ 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น หากแต่ยังมีค่าลิขสิทธิ์ ที่ผู้วิจัยได้เสียให้กับบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการวิจัย และผลิตข้าวสีทอง จำนวนกว่า 70 ใบ คิดเป็นเงินจำนวนรวมถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (4,500 ล้านบาท) อีกด้วย 6

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่าย และค่าลิขสิทธิ์ ที่ต้องจ่ายในอนาคต เพื่อให้การวิจัย และทอดลองจนเสร็จสมบูรณ์

การลงทุนจำนวนมหาศาล กับโครงการวิจัย ที่ให้ผลอย่างมากที่สุด ก็เพียงการผลิตพืชที่เป็นแค่ "อาหารเสริมที่สำคัญ" เท่านั้น ดูจะเป็นการกระทำที่ยุ่งยาก และสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุเสียนี่กระไร ในขณะที่โลกนี้ เต็มไปด้วยพืชผักธรรมชาติ ที่อุดมไปด้วยสารเบตาแครอตินอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้

แต่ถ้ามองในด้านการประชาสัมพันธ์ หากข้าวสีทอง บรรลุวัตถุประสงค์ คือ "คืนสภาพการยอมรับทางการเมือง ให้กับเทคโนโลยีชีวภาพ" ได้จริง การลงทุนนี้ก็ให้ผลเกินคุ้ม เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการลงทุน และผลประโยชน์ทางการค้าจำนวนมหาศาล ที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อาจต้องสูญเสียไป จากกระแสการต่อต้าน อุตสาหรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ของบรรษัทค่ายสหภาพ ยุโรป มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (1.35 ล้านล้านบาท)7 และเกือบทั้งหมดของสินค้าเกษตร ที่ส่งออกจากสหรัฐอเมริกา เป็นจีเอ็มโอ และการที่สินค้าเกษตร ส่งออกจากสหรัฐอเมริกา เป็นจีเอมโอ8

ทำให้อุตสาหกรรมนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ โลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจกับการที่ อดีตประธานาธิบดีคลินตัน ถึงกับลงมือประชาสัมพันธ์ ให้กับการวิจัยข้าวสีทองด้วยตนเอง โดยในปีที่แล้ว โดยในปีที่แล้ว ท่านอดีตประธานาธิบดี ได้กล่าวกับสาธารณะว่า "ถ้าเราสามารถส่งข้าวสีทองนี้ ที่ได้รับการตัดต่อให้อุดมไปด้วยวิตามินเอ ไปยังประเทศโลกที่สาม เราจะสามารถช่วยชีวิตคน 4,000 คนต่อวัน จากการตาย และขาดอาหาร" 9 แม้กระทั่งผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังไม่อาจรอดพ้นจากการครอบงำ โดยบรรษัทข้ามชาติไปได้

--------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
(1)"The 'Golden Rice' - An Exercise in how not to do science" โดย Dr.Mae Wan Ho, นิตยสาร Third World Resurgence, ฉบับที่ 4 มิ.ย-ก.ค/43, หน้า 22
(2) "GM Rice Promoters 'Have gone to far' " โดย Pauz Brown, Envirimental Loarespondent หนังสือพิมพ์ The Guardian (UK), ฉบับวันที่ 10 ก.พ 2544
(3) "Bioengine…. Rice Loses Glow As Vitamin A Source โดย Tina Hesman, หนีงสือพิมพ์ St.Louis Post, ฉบับวันที่ 4 มี.ค 2544
(4) เพิ่งอ้างใน ข้อ 2
(5) The 'GoldenRice' - An Exercise in How not to do science", หน้า 22
(6) เพิ่งอ้างใน ข้อ 3
(7)http://www.biotech.com
(8) นายสจ๊วต ไอเซ็นสตัด ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ พูดถึง เทคโนโลยีชีวภาพ ในคำกล่าวเกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรป, วันที่ 15 มิถุนายน 2542
(9) เพิ่งอ้างในข้อ 2

โดย : วิลาศ เตชะไพบูลย์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net