Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้รับอีเมล์จากธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์เรื่องการที่ "อดีต นรม." และ "ปัจจุบันหัวหน้าพรรคการเมือง" หนึ่ง ถูกเอา "ออก" จากกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และมีการ "โหวตเข้า" เอา "รอง นรม. และ รมต." จากอีกพรรคการเมืองหนึ่ง กับ "อดีตอธิการฯ" เข้ามาแทน และที่น่าตกใจก็คือนักการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มี "คุณสมบัติ" อย่างอาจารย์อัมมาร์ และ อาจารย์ชัยอนันต์ ถูก "สกรีนออก" ไปตั้งแต่รอบแรก ๆ แล้ว

ตอบไม่ถูกว่ามีความรู้สึกอย่างไร แต่ใจหายเมื่อนึกถึงสถาบันการศึกษาชั้นสูงอย่างธรรมศาสตร์ของเรา สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุด จะต้องเป็น "หลัก" ของการศึกษาของมหาวิทยาลัยและของชาติ เป็นที่พึ่งของคณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่ว ๆ ไป แต่สภามหาวิทยาลัยกลับกลายเป็น "เขตอิทธิพล" ของคนกลุ่มหนึ่ง ของนักการเมือง และของบางพรรค (การเมือง) บางพวก (การเมือง)

สภามหาวิทยาลัยกลายเป็น "ฐานที่มั่น" ของกลุ่ม "คณาธิปไตย" ที่ "คนใน" ลาก "คนนอก" เข้ามาประสานผลประโยชน์ ปฏิบัติการเล่นพรรคเล่นพวก มี "ระบบอุปถัมภ์" เป็นที่น่าวิตกยิ่ง

ทุกครั้งที่จะมีการเลือก "นายกสภาฯ หรือ กก.สภาฯ หรืออธิการบดี หรือคณบดี และแม้กระทั่งผอ." ก็ "วิ่ง" กันฝุ่นตลบ เป็นที่อิดหนาระอาใจ และน่ารังเกียจของคนจำนวนไม่น้อย

ในเดือนสองเดือนข้างหน้า ก็จะหนีไม่พ้น "เกมการเมือง" นี้อีก คือการเลือก "อธิการบดีคนใหม่" ของธรรมศาสตร์

สรุปแล้ว เรา "หนี เสือปะจระเข้" เราหนีจากพรรคการเมืองหนึ่ง แต่กลับมาเจออีกพรรคฯ หนึ่ง

อันที่จริงการที่คนของพรรคฯ หนึ่งถูก "โหวตออก" ไม่ได้ต่ออายุก็ "สมควร" อยู่ เพราะเป็นกันมานานนับปี และก็เข้ามาเป็น "มากเกินพอ" บางรายเป็นกรรมการมากว่า 30 ปีก็มี
ยืดเยื้อยาวนาน ไม่มีวาระ ไม่มีเทอม

นี่คือ "ความล้มเหลว" ที่สุดของธรรมศาสตร์ ที่องค์กร "สูงสุด" ขาดหลักประชาธิปไตย ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม และตรวจสอบไม่ได้

เกิด "คณาธิปไตย" ในท่าพระจันทร์ ประสานผลประโยชน์กันทั้งจาก "คนใน" และ "คนนอก" และเกิด "การเมืองไม่ดี" ขึ้น

ขัดกับ "จิตวิญญาณ" ดั้งเดิม "มอญดูดาว" ที่ว่า "ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรื่อง ก็เพราะการเมืองดี" โดยสิ้นเชิง

ว่าไปแล้ว 'สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์' นั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิระดับ "ชาติ" มากมายอย่างที่ทราบกัน มีทั้ง "อดีต" และ "อนาคต" ผู้นำของชาติที่เป็นทั้ง 'คนในคนนอก'
(ที่ทั้งเคยได้เป็นและมีสิทธิ์จะ เป็น ถึง รมต. และ นรม.)

ท่านเหล่านี้น่าจะเป็นที่พึ่ง เป็นความหวัง เป็นทางออก แต่ทว่าน่าเสียดายที่ท่านเหล่านี้ ถ้าไม่เข้ามาด้วยระบบ "พรรคพวก" แม้จะมีความบริสุทธิ์ใจในการทำงานให้มหาวิทยาลัย ก็เข้าข่าย 'วังวน' ของความไม่รู้ (เท่าทัน) ความไม่เข้าใจ (กลไก) ความไม่มีเวลา (พอ) ที่จะให้กับธรรมศาสตร์และการศึกษาของชาติ

บางท่านมีชื่อเสียงมากเสียจนกระทั่งเป็นกรรมการสภาฯ ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ถึงเกือบ 10 แห่งก็มี ในงานวิจัยหนึ่ง กล่าวว่า กก. รายหนึ่งของสภาฯ ธรรมศาสตร์นั้น ดำรงตำแหน่งในสภาฯ ในองค์กร และในมูลนิธิฯต่างๆ ถึง 600 กว่า

จากการที่สภามหาวิทยาลัยต้องประชุมเป็นประจำทุกเดือน ปีหนึ่งประชุม 12 ครั้ง รายใดเป็นกรรมการแม้เกิน 5มหาวิทยาลัย ก็คงหาเวลาว่างไปประชุมไม่ได้ (เพราะตกเข้าไปตั้ง 60 ครั้งต่อปีเสียแล้ว คือ 12 คูณด้วย 5 แห่ง เท่ากับ 60)

แถมยังต้องเดินทางไปประชุมสภามหาวิทยาลัยใน ต่างจังหวัด บางทีต้องค้างคืน รวมแล้วถ้าจะปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มภาคภูมิ ก็ต้องใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 1 ใน 3 หรือเกือบๆ 100 วันต่อปี ซึ่งน่าจะเกินความสามารถของมนุษย์ธรรมดา

ดังนั้น ในรายงานการประชุมของสภามหาวิทยาลัย (ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด) เราจะพบข้อความที่ว่า 'ติดราชการ' ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้เสมอ ๆ

ที่ร้ายกาจและรุนแรงยิ่งกว่านั้น คือ กลายเป็นเรื่อง "ปกติธรรมดา" เสียแล้วที่บรรดากรรมการสภาฯ ที่ "งานยุ่งงานเยอะ" จะไม่อ่านเอกสาร ไม่อ่านรายงานการประชุม ไม่เตรียมตัวก่อนเข้าห้องประชุม

แถมบางครั้ง หาได้พิจารณา "คุณสมบัติ" ของคนที่ถูก "เสนอชื่อ" หรือแคนดิเดทไม่

แม้แต่เรื่องใน "วาระ" ที่ตนจะต้องตัดสิน เรื่องสำคัญคอขาดบาดตายที่ต้องโหวต "นายกสภาฯ หรือกรรมการสภาฯ หรืออธิการบดี หรือคณบดี หรือแม้แต่ ผอ." ก็เข้าทำนองนี้

การ "โหวต" กลายเป็นเรื่องของการวิ่งเต้น กระซิบ และก็ถือ "โพย" ชื่อของ "พรรคพวกเพื่อนฝูง" หรือ "ท่านขอมา" ตั้งแต่ก่อนออกจากบ้านด้วยซ้ำ

บ่อยครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำอีก ธรรมศาสตร์ จึงได้ "นายกสภาฯ หรือกรรมการสภาฯ หรืออธิการบดี หรือคณบดี หรือแม้แต่ ผอ." ที่เป็น "พรรคพวก" และ "เพื่อนฝูง" ของ 'คณาธิปไตย"
ท่าพระจันทร์ ทั้ง ๆ ที่บุคคลเหล่านั้นขาดความรู้ความสามารถทางวิชาการ ขาดความเข้าใจและขาดประสบการณ์ในการบริหารวิชาการและการศึกษา

กลุ่ม "คณาธิปไตย" ท่าพระจันทร์ดังกล่าวอาศัย ความไม่รู้ (เท่าทัน) ความไม่เข้าใจ (กลไก) ความไม่มีเวลา (พอ) และความเบื่อหน่ายของกรรมการบางท่านและของประชาคมธรรมศาสตร์ ดำเนินการบริหารจัดการไปในทิศทางตามอำเภอใจของตน พร้อมทั้งยัง "จัดสรรแบ่งปันตำแหน่ง" ให้กันและกันมาหลายปีดีดัก

มติของสภามหาวิทยาลัยที่ถือ "โพย" มาแต่บ้าน ไม่คำนึงถึง "เสียง" และความต้องการของ "ประชาคม" ส่วนใหญ่ และบ้างก็ไม่รู้ (เท่าทัน) ไม่เข้าใจ (กลไก) ไม่มีเวลา (พอ)
ที่มีครั้งแล้วครั้งเล่าในทำนองนี้ ได้สร้าง "ความแตกแยกร้าวฉาน" ขึ้นภายในธรรมศาสตร์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

"คณาธิปไตย" ท่าพระจันทร์ ทำให้ธรรมศาสตร์ขาดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน "วิชาการ" และนี่เป็นสถานการณ์ "ร้ายแรงที่สุด" ในปัจจุบัน

นี่เป็นปัญหาของธรรมศาสตร์และการศึกษาของชาติ

และก็น่าเชื่อว่าพิษร้าย หรือ "โรคคณาธิปไตย" นี้ ได้แพร่หลายไปสู่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง หากไม่มีการแก้ไขมหาวิทยาลัยและการศึกษาของเราก็จะตกต่ำลงไปยิ่งกว่านี้

แทนที่ธรรมศาสตร์และหรือมหาวิทยาลัยโดยทั่ว ๆ ไป จะเป็น
"สถาบันของการศึกษา เพื่อการศึกษา โดยนักการศึกษา"

เราจะเป็นเพียง "ฐานที่มั่นของกลุ่มคน หรือไม่ก็พรรคการเมืองและนักการเมือง กลายเป็นแหล่งของผลประโยชน์ของ "คณาธิปไตย" ของพรรคพวกเพื่อนฝูงเพียงหยิบมือเดียวที่
"คนใน (ลาก) คนนอก เข้ามาผสม ทำการหมุนเวียนเปลี่ยนกันตักตวงผลประโยชน์"

สิ่งที่เราน่าจะต้องทำ และผลักดัน "เฉพาะหน้า" ในการขจัด "คณาธิปไตย" ในเวลานี้ให้จงได้ คือ 5 ประการ ดังต่อไปนี้

1. ปฏิวัติสภามหาวิทยาลัยให้มี "ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาคม มีความโปร่งใส" มี "การเมืองดี" แทน "คณาธิปไตย ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก" แทนการ "ท๊อปดาวน์" แทน "การแอบ" และแทน "การเมืองไม่ดี"

2. ปฏิรูปสภามหาวิทยาลัย ให้กลายเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ "นโยบาย" อย่างแท้จริง ตามแบบของนานาอารยะ ที่ มีการประชุมสภาฯ เพียงปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง แทนการ "บริหาร" ประจำที่ประชุมปีละถึง 12 ครั้ง หรือทุกเดือน ๆ

3. ห้ามนักการเมืองเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย และห้ามนายกสภาฯ กรรมการสภาฯอธิการบดี รองอธิการ คณบดี และ ผอ. เป็นฝักเป็นฝ่ายกับนักการเมืองและพรรคการเมือง

4. กำหนดโควต้าและวาระสำหรับการดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ กรรมการสภาฯ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี และ ผอ. ห้ามสืบทอดอำนาจ หรือ "เวียนเทียน" ตำแหน่งเป็นอธิการบดีแล้วโยกย้ายไปเป็น นายกสภาฯ หรือโยกย้าย เป็น ผอ. เป็นคณบดี เป็นรองอธิการบดี เป็นอธิการบดี ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้จักจบ ทั้งนี้โดยไม่ "ทำงาน" วิชาการ และไม่ให้ความเอาใจใส่ต่อ "การเรียนการสอน" ของนักศึกษา

5. กำหนดให้ "นักศึกษา" เข้าไปมี "ส่วนร่วม" ในการตรวจสอบการทำงานของสภามหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของการศึกษาอย่างแท้จริง เน้น "ความเป็นเลิศ" ในการเรียนการสอน และวิชาการ แทนธุรกิจการค้า หรือธุรกิจการเมือง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net