Skip to main content
sharethis

ระหว่างที่มาตรการต่างๆ กำลังดำเนินการปรับปรุงให้รัดกุมยิ่งขึ้นหลังเปิดเอฟทีเอกับประเทศจีน ทั้งการปรับปรุง-ขยายห้องแล็บตรวจสินค้า และการออกประกาศเพื่อควบคุมสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรนำเข้า

แต่ผักผลไม้จีนก็ยังคงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้าประเทศไทยเพื่อมาอวดโฉม บนแผงในตลาดใกล้บ้านเราทุกวัน มีทั้งผลไม้ยอดฮิตอย่าง แอปเปิ้ล สาลี่ เมล็ดทานตะวัน และผักต่างๆ เช่น หอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม กะหล่ำ บร็อคเคอรี่ ฯลฯ และบางชนิดก็กำลังถูกจับตามองในเรื่องสารเคมีตกค้าง

สินค้าเหล่านี้โดยหลักๆ แล้วจะล่องลำน้ำโขงผ่านมาทางด่านเชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นท่าเรือที่เพิ่งเปิดทำการได้ไม่นานนัก ส่วนใหญ่มาจากมณฑลทางตอนใต้ของจีนอย่างยูนานหรือคุนหมิง ส่วนผลผลิตจากภาคอื่นของประเทศจีนนั้นจะคุ้มค่ากว่าหากขนส่งทางทะเลมาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบังหรือท่ากรุงเทพฯ

ช่วงที่ด่านเชียงแสนคึกคักขวักไขว่ไปด้วยเรือบรรทุกสินค้าจากจีนจะเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก หรือราวเดือนตุลาคม-ธันวาคม โดยจะมีเรือเทียบท่าเฉลี่ยสูงสุดถึงวันละ 20-25 ลำ บรรทุกลำละประมาณ 100-150 ตัน

ส่วนฤดูแล้งช่วงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่เงียบเหงา เพราะลำน้ำโขงในช่วงน้ำลดจะเต็มไปด้วยโขดหินและเกาะแก่ง ต้องใช้เพียงเรือลำเล็กๆ ในการลำเลียงสินค้าซึ่งก็มีผลผลิตออกมาไม่มากนัก

แต่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนสินค้าที่ขนส่งระหว่างไทย-จีน และนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสนที่อาจจะเกิดขึ้นราวต้นปีหน้า ก็อาจทำให้เกิดการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อให้การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ขนาด 150-300 ตันเป็นไปโดยสะดวกในทุกฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วสินค้าที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจะต้องผ่านด่านศุลกากรของกระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบสินค้า ส่วนที่ดูแลในเรื่องความปลอดภัยของอาหารจะมี 2 ส่วนคือ ด่านอาหารและยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะตรวจสอบการปนเปื้อนต่างๆ ในสินค้าอาหาร และด่านตรวจพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูแลเรื่องโรคพืช ศัตรูพืชที่อาจติดมากับสินค้าเกษตรนำเข้า รวมถึงการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรส่งออกของไทย

ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีด่านอาหารและยา 24 แห่ง และมีด่านตรวจพืช 31 แห่ง โดยทั้งสองส่วนนี้ ต่างคนต่างตรวจสอบ บางจุดที่ไม่ใช่จุดสำคัญอาจมีเฉพาะด่านใดด่านหนึ่งเท่านั้น

นางศรีนวล กรกชกร ผู้อำนวยการกองงานด่านอาหารและยา อย. ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของด่านอาหารและยาจะมีการสุ่มตรวจสอบสารเคมีตกค้างในสินค้าทุกรายและทุกรอบที่นำเข้าจากจีน โดยใช้ชุดทดสอบหรือ Test kit ในเบื้องต้น หากพบสารตกค้างมากก็ต้องส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ
อย่างไรก็ตาม ด่านอาหารก็มีการสุ่มตรวจสินค้าที่ห้องปฏิบัติการอยู่เป็นระยะ

แม้ชุดทดสอบจะเป็นการตรวจสอบที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดในเวลานี้ แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นักวิทยาศาสตร์ของกรมวิชาการเกษตรเองก็ยังยืนยันว่าความถูกต้องมีไม่ถึง 30%เพราะหากสารเคมีที่ตกค้างอยู่ไม่เข้มข้นจริงก็ไม่สามารถตรวจพบได้

ทั้งที่ขอบข่ายงานว่าด้วย "อาหาร" นั้นกว้างใหญ่ไพศาล แต่เจ้าหน้าที่งานด่านอาหารและยาก็มีไม่มากนัก ผอ.กองงานด่านอาหารและยายอมรับว่า ต้องจ้างลูกจ้างชั่วคราวมาช่วยงานกว่า 30 คน เพราะเจ้าหน้าที่ของอย.มีเพียง34 คน กำลังทั้งหมดนี้ดูแลด่านได้10 แห่ง คือบริเวณกรุงเทพฯ, ปริมณฑล, ปาดังเบซาร์และสะเดา จ.สงขลา ที่เหลืออีก 14 แห่งทั่วประเทศก็ต้องใช้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดไปพลาง

"ด่านตรวจพืช" จึงต้องเข้ามาช่วยเก็บข้อมูล โดยสุ่มตัวอย่างของสินค้าเกษตรไปตรวจที่ห้องแล็บของกรมวิชาการเกษตรด้วยอีกทาง

แหล่งข่าวในกรมวิชาการเกษตรเล่าให้ฟังว่า การเริ่มตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออกนั้น เพิ่งเริ่มมีผลอย่างจริงจังหลังนโยบายอาหารปลอดภัย (food safety) โดยครม.มีมติออกมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546 ให้อย.รับผิดชอบสินค้าที่เกี่ยวกับอาหารภายในประเทศทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรนำเข้าด้วย และเพิ่งมามีผลแบ่งงานจากหน่วยตรวจพืชอย่างชัดเจนในเดือนตุลาคม 2546 ทำให้หน่วยตรวจพืชมีหน้าที่หลักเฉพาะการตรวจโรคพืช ศัตรูพืช ในสินค้านำเข้า ส่วนสินค้าส่งออกทั้งหมดยังอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยตรวจพืชเช่นเดิม

"อย่างไรเราก็ยังเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์อยู่ดีเหมือนที่ทำก่อนหน้านี้ ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงและไม่มีอำนาจไปจัดการกับผู้ประกอบการ แต่เราก็แจ้งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เขารู้ว่ามันมีสารตกค้างอะไรบ้าง เพราะการตรวจจากห้องแล็บของเราให้ผลแม่นยำกว่าการตรวจเบื้องต้นที่ทำอยู่" แหล่งข่าวระบุ

ส่วนงานการตรวจพืชนั้น นายบรรจงศักดิ์ ภักดี หัวหน้าด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า สามารถตรวจสอบที่ด่านได้เลย เพราะเป็นการตรวจสอบด้วยตาเปล่าว่ามีแมลงศัตรูพืช วัชพืช ติดมากับสินค้าหรือไม่ ส่วนดินหรือสิ่งจำกัดที่นำมาทำพันธุ์ เช่น พวกหัวมันฝรั่ง ต้องส่งตรวจที่แล็บซึ่งมีประจำอยู่ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ ส่วนสนนราคาค่าวิเคราะห์ก็ราว 3,000 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง

สำหรับด่านเชียงแสนนั้นจะส่งไปยังห้องแล็บของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่อ.เมือง จ.เชียงราย หรือไม่ก็ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต1 จ.เชียงใหม่ ซึ่งเริ่มมีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรเริ่มส่งเสียงโวยออกมาบ้างแล้วว่า ไม่ทันการจนทำให้พืชผักเน่ากลางทาง

"เจ้าหน้าที่เราทำงานกัน 24 ชั่วโมง ช่วงที่สินค้าออกมาก เราต้องวิ่งเก็บตัวอย่างวันละเกือบ 30 ราย ซึ่งส่วนที่ถูกร้องเรียนว่าช้า มันช้าตรงกระบวนการวิ่งไปเก็บตัวอย่างที่แหล่งผลิต และยังมีปัญหาที่พ่อค้าก็ทยอยรับซื้อของ จึงต้องรอจนครบก่อนแล้วจึงสุ่มตรวจ ทั้งที่ใช้เวลาในแล็บจริงๆ เพียง 6-7 ชั่วโมงเท่านั้น" นายบรรจงศักดิ์กล่าว

นายบรรจงศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในส่วนของสินค้าส่งออกมีประกาศกำหนดชัดเจนให้สินค้าเกษตร 12 ชนิด ที่จะส่งออกไปยัง 7 ประเทศต้องได้รับการตรวจรับรองจากกรมวิชาการเกษตร

"งบประมาณ 449 ล้าน กรมวิชาการเกษตรนำมาปรับปรุงแล็บที่มี และสร้างใหม่อีก 3 แห่ง รวมทั้งที่เชียงแสนด้วย อาจจะช่วยให้การตรวจสอบเป็นไปได้ง่ายขึ้น ตอนนี้เซ็นสัญญากับบริษัทก่อสร้างแล้ว คาดว่าคงเสร็จภายใน 8 เดือน" หัวหน้าด่านตรวจพืชเชียงแสนกล่าว

ด่านต่างๆ ถือเป็นจุดแรกที่จะตรวจสอบความปลอดภัยจากสินค้าจากร้อยประเทศพันเมืองก่อนกระจายสู่ผู้บริโภค สถานการณ์ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ประจำเพียงไม่กี่คน ห้องปฏิบัติการที่สร้างใหม่จะแล้วเสร็จอีก 8 เดือน ประกาศว่าด้วยหนังสือรับรองการปลอดสารเคมีจากต้นทางเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีก 3 เดือนจึงจะมีผลบังคับใช้ และอีกฉบับหนึ่งว่าด้วยการปรับค่าสารเคมีตามมาตรฐานสากลกำลังดำเนินการ ฯลฯ

ในขณะที่ประเทศไทยได้เจรจาเอฟทีไปแล้วกับบางประเทศ และกำลังจะเจรจากับอีกหลายประเทศ เฉพาะประเทศจีนที่แม้ยังไม่มีผลสมบูรณ์เต็มที่ก็ยังทำให้สินค้าเกษตรเพิ่มเข้ามาอย่างก้าวกระโดด ช่างเป็นการวิ่งไล่จับกันที่น่าหวาดเสียวจริงๆ ....สำหรับผู้บริโภคไทย.

อัคนี จินตบำรุง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net