Skip to main content
sharethis

ข้อถกเถียงเรื่องของความเหมาะ ไม่เหมาะ /ทำได้ หรือไม่ได้ /ผิดกฎหมาย หรือไม่ผิด ?
คงดำเนินไป ต่อกรณีโรงแรมหรูหลายแห่งในเชียงใหม่นำสัญลักษณ์ของวัดมาจำลองเพื่อใช้งานแบบโรงแรม

สิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามและยังคงคาดเดาคำตอบคือทำไม ผู้ประกอบการถึงทำเช่นนั้น ?

หากนักลงทุนทำความเข้าใจมุมของนักอนุรักษ์อาจจะเข้าใจประเด็นที่ฝ่ายนี้ถามหาความเหมาะสม และเช่นกันหากมุมของการอนุรักษ์ได้รับรู้เหตุผลของผู้ลงทุน ปัญหาอาจไม่บานปลายและอาจมีจุดกึ่งกลางซึ่งเข้าใจและปรับตัวเข้าหาสิ่งที่ถูกต้องกันได้

แม้เชียงใหม่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยมานาน แต่เราให้บริการกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางถึงล่างมาโดยตลอด ปีนี้เป็นช่วงขาขึ้นที่การลงทุนระดับสูงหลั่งไหลเข้ามา

โรงแรม 5 ดาวจึงเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเรา
มุมมอง ความต้องการของคนกลุ่มนี้จำเป็นที่เราต้องศึกษา

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำการวิจัยเรื่องอุตสาหกรรมโรงแรมของประเทศไทย อันเป็นหนึ่งในการวิจัยด้านการท่องเที่ยวภายใต้โครงการมูลค่าเพิ่มในประเทศของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย มีคำอธิบายประเด็นนี้กับ "พลเมืองเหนือ" ได้อย่างน่าสนใจ

"เดิมเชียงใหม่เราไม่มีโรงแรมระดับ 5 ดาวเลย ทำให้คนมีเงินมากๆ ไม่คิดจะมาเที่ยวเชียงใหม่ เพราะไม่มีที่พักในระดับที่เขาสนใจ เมื่อก่อนเรามีเวสทิน และโฟร์ซีซั่นที่เป็นระดับ 5 ดาว แต่ตอนนี้เวสทินก็ลงมาอยู่ในระดับที่เชอราตันบริหาร ก็เหลือ 5 ดาวอยู่โรงแรมเดียว แต่เชียงใหม่กำลังเป็นขาขึ้นด้วยนโยบายหลายอย่าง ผู้ประกอบการก็เลยมาลงทุนโรงแรม 5 ดาวเพิ่มหลายแห่ง ดาราเทวีเป็นหนึ่งในนั้น และเชิญแมนดารินที่จัดการบริหารเครือโอเรียลเต็ลมาบริหาร ดาราเทวีโดยโอเรียลเต็ลไม่ได้เป็นผู้ลงทุน ซึ่งการมี 5 ดาวมาลงทุนก็เป็นการยกระดับตลาดการท่องเที่ยวของเชียงใหม่เพิ่มขึ้น"

ความเป็น 5 ดาวที่ยกระดับนั้น มิได้หมายความว่าโรงแรม 1 - 2 - 3 ดาวไม่ดี แต่อยู่ที่ระดับของการให้บริการ 1 ดาวอาจสะอาดเป็นสากลได้ เพียงแต่ไม่มีอาหารเช้า และ 5 ดาวไม่ได้หมายความว่าจะต้องใหญ่โต ลงทุนสูง แต่หมายถึงระดับของการให้บริการที่ลูกค้าพึงพอใจสูงสุดต่างหาก

"สิ่งที่ลูกค้า 5 ดาวคาดหวังแรกคือความสะอาด ชนิดที่ว่าจิ้งจกต้องไม่มี ขอบหน้าต่างห้ามมีฝุ่นจับ ไม่ได้หมายความมีฝุ่นนิดหน่อยแล้วสกปรกนะ แต่มันไม่สะอาดน่ะ เรื่องของความสะดวกปลอดภัยต้องมีอยู่แล้ว ที่สำคัญบริการจะต้องดีมาก บางที่ถึงขั้นบนโต๊ะอาหารหูถ้วยกาแฟต้อง 45 องศากับจานเวลาลูกค้าจะหยิบก็พอดีไม่ต้องเอื้อมเลยทีเดียว เป็นโรงแรมประเภทคิดให้ลูกค้าเบ็ดเสร็จหมด บางที่มีโพรไฟล์ของลูกค้ารู้ว่าคุณผู้ชายชอบอะไร คุณผู้หญิงชอบช็อคโกแลตรสไหนทีเดียว ดังนั้นผู้เข้าพักเขาจ่ายคืนละไม่ต่ำกว่าคนละ 10,000 บาท ย่อมคาดหวังความสะดวกสบายที่เลอเลิศ"

อ.มิ่งสรรพ์อธิบายว่า ดาราเทวีอยู่ในประเภทของ บูติคโฮเท็ล (BoutiQue hotel) ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ของโรงแรมขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 150 ห้องที่ตกแต่งอย่างสวยงามสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่ทำให้ตัวเองแตกต่างไปจากที่อื่น สร้างความประทับใจ มีแหล่งท่องเที่ยวของตัวเอง บางที่มีประวัติศาสตร์พิเศษเช่นสร้างจากคุ้มหรือวังเก่าแห่งหนึ่งที่ถนนสุริวงศ์ กรุงเทพ และกำลังตีตลาดธุรกิจโรงแรมโลกอยู่

"ตลาดโรงแรมโลกถูกคุมด้วยอเมริกา ทางเอเชียจะขยายแล้วทำใหญ่ๆ 450 ห้องด้วยเงินทุนหลายพันล้านบาทไม่ได้ ฝรั่งก็ไม่อยากอยู่ ก็หันมาหาโรงแรมขนาดเล็กที่สร้างความประทับใจให้คนเข้าพัก ในไทยก็มีหลายแห่ง เช่นบันยันทรี ภูเก็ต เชดี ภูเก็ต สันติบุรีที่สมุย หรือโฟร์ซีซั่น เชียงใหม่ ซึ่งโรงแรมประเภทนี้ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีมาก ค่าใช้จ่ายต่อคน 250-500 ดอลลาร์ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูง 75 - 80 % และที่จะมาคู่กับบูธิคโฮเท็ลนี้คือเรื่องของสปา เอเชียที่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าไป"

ดาราเทวี มิใช่ที่แรก สำหรับเชียงใหม่คือรีเจนท์ ซึ่งปัจจุบันคือโฟร์ซีซั่นย่านแม่ริม เมื่อเริ่มสร้างก็เกิดความเห็นต่างเรื่องการนำคนและควายมาทำนาให้นักท่องเที่ยวชม แต่ภายหลังก็คลี่คลาย และในมุมของอาจารย์มิ่งสรรพ์ ก็เห็นว่าเป็นสถานที่ลงตัว ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย อยู่ในบรรยากาศแบบไทย และไม่มีสิ่งใดที่ขัดวัฒนธรรมพื้นถิ่น

และขณะนี้ที่เชียงรายก็มีอานันธารา ซึ่งปรับจากโรงแรมบ้านโบราณให้เป็น 1 ใน 50 ท็อปของโรงแรมโลก เป็นการจำลองความรู้สึกวัดเข้ามาซึ่งคนพื้นถิ่นอาจรู้สึกขัดเหมือนเดินเข้าวัด แต่สำหรับฝรั่งนั่นคือสิ่งที่อลังการสุดๆ ทำให้ขณะนี้หลายโรงแรมได้ใส่บรรยากาศวัดเข้าไปเช่น แทมมารีน วิลเลจ ,ราชมรรคา รวมทั้งดาราเทวี ที่บาหลีก็มีการใช้สถาปัตยกรรมบาหลีที่มีรากจากศาสนาฮินดูเข้าไปด้วย

"เป็นการดึงศูนย์รวมความงามที่สุดในล้านนามาอยู่ด้วยกัน แต่ปัญหาคือศิลปกรรมล้านนา เป็นศิลปกรรมที่รับใช้ศาสนา สิ่งก่อสร้างศาสนาสถานที่สวยงามเชื่อมโยงอย่างมีปรัชญามีความคิดด้านศาสนามาเกี่ยวข้องทำให้ทุกอย่างมีความหมาย เมื่อโรงแรมได้นำมาอยู่ในกิจกรรมที่ปุถุชนใช้ก็เลยเกิดความรู้สึกของคนพื้นเมืองว่าไม่เหมาะสม แล้วความพอดีของจุดนี้อยู่ตรงไหน"

ทางออกของเรื่องนี้ อ.มิ่งสรรพ์มองว่า ควรจะได้ร่วมพูดคุยและพิจารณาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาและปรับเปลี่ยนให้อยู่ในจุดที่รับได้ เช่นการจำลองวิหารหากเป็นที่ประชุมยังพอรับได้ แต่หากเป็นที่กินข้าว กินไวน์ก็ไม่ควร นำพระพุทธรูปไปประดับก็ไม่เหมาะสัญลักษณ์ทางศาสนาอย่างดึงไปในที่ต่ำต้องอธิบายกันต่อ เพื่อที่ทำให้หลายๆ โรงแรมได้ปรับปรุงโรงแรมของตัวเองให้ดีขึ้นด้วย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมต้องพึ่งพาคนในพื้นที่ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องปรับเปลี่ยน

"นักท่องเที่ยว 5 ดาวมีทั้งประเภทที่เขาแสวงหาความแท้จริงและความถูกต้อง ถ้าเขารู้ว่าไม่แท้จริง ก็ไม่ชอบที่จะอยู่ แต่บางประเภทก็สนใจแค่เปลือกนอก เห็นว่าสวยดีก็พอ แต่ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศ เราน่าจะให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวว่าคืออะไร ให้เขาเข้าใจถูกต้องว่าแต่ละสิ่งสำคัญอย่างไรในวัฒนธรรมของเรา เพื่อที่เขาจะกลับไปด้วยความประทับใจและความรู้จริง" อ.มิ่งสรรพ์กล่าว

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net