ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ความรุนแรงและสันติวัฒนธรรมในสังคมไทย

บรรยายพิเศษในงานสัมมนา "อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี"
ณ โรงแรม เดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
3 มิถุนายน 2548

---------------------------------------------------------------

เวลาเราพูดถึงความรุนแรงมีวิธีเข้าใจมากมาย บางคนเห็นทางกายภาพ เช่น การทุบตี ฆ่ากัน ยิงกัน แต่อีกขั้นของความรุนแรงคือ ทางด้านจิตใจ เช่น การทอดทิ้งไม่ดูแล รวมถึงการทำลายน้ำใจกัน" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง "ความรุนแรงและสันติวัฒนธรรมในสังคมไทย" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

การบรรยายดังกล่าว ถือเป็นช่วงสำคัญของเวทีสัมมนาเรื่อง "อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี" ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจัดขึ้นเพื่อความเข้าใจต่อสังคม และเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ วันที่ 3-4 มิถุนายน ณ โรงแรม เดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรง โดยสามารถแยกเป็นชั้นของความรุนแรงได้ 3 ชั้น คือ ตัวบุคคล โครงสร้างทางสังคม และเงื่อนไขทางวัฒนธรรม รวมทั้งยังเสนอแนวทางสันติวัฒนธรรมที่มีผลต่อสังคมไทย และความเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ

ความรุนแรง 3 ระดับชั้น
ตัวตน: รูปธรรมของความรุนแรง

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า "ความรุนแรงมีลักษณะเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ที่เรามองเห็นได้ชัดไปจนถึงความรุนแรงที่เรามองไม่เห็น ในชั้นแรกคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล เช่น อาชญากรรม เราจะเห็นบาดแผลและผลทางกาย และมีบางกรณีที่ไม่ได้เห็นผลทางกายเพียงอย่างเดียว เช่น การคุกคามทางเพศในที่ทำงานซึ่งไม่ใช่เป็นการรังแกทางกายโดยตรง ความรุนแรงลักษณะนี้มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้กระทำอย่างชัดเจน ซึ่งอาจบางครั้งเกิดจากเจตนาหรือไม่เจตนา หรือบางครั้งอาจมองไม่เห็นเหยื่อ เช่น ลูกเมีย พ่อแม่ ทั้งที่พวกเขาต่างต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ"

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่าง ความรุนแรงที่มีทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ว่า ผู้กระทำอาจเป็นคนหรือกลุ่มบุคคล เช่น นักเรียนตีกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชายแดนภาคใต้ มีคนยิงกันรายวัน โดยรวมมีผู้ตายอย่างน้อย 600 ราย และบาทเจ็บกว่าพันคน เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 3,400 ครั้ง นั่นเป็นความรุนแรงทางตรง ที่มีคนกระทำต่ออีกฝ่ายหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด ส่วนการระเบิดที่ผ่านมาทำให้พระบาดเจ็บก็ถือว่าพระเป็นเหยื่อของความรุนแรง

สำหรับกรณีที่ตากใบเมื่อ 27 ตุลาคม 2547 ก็ถือเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเหยื่อถึง 1,300 คน เพราะพวกเขาถูกจับกุมคุมขัง และระหว่างการเดินทางต้องเสียชีวิตถึง 78 ราย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบเพราะตายในขณะจับกุม กรณีนี้คนที่ทำเจตนาหรือไม่ไม่ทราบได้แต่ก็สามารถพิจารณาได้ แต่ผลก็คือมีคนตายเกิดขึ้น

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากสิ่งที่เห็นแล้ว สิ่งที่ไม่เห็นก็คือ ลูกเมียของคนที่โดนทำร้าย ถูกอุ้ม หรือถูกสังหาร พวกเขาเหล่านั้นถือว่าเป็นเหยื่อความรุนแรง เช่น ลูกเมียของคนมุสลิมที่ถูกฆ่าใน สามีเขาเสียชีวิต เมื่อถามว่าอยากได้อะไร เขาตอบว่าอยากได้จักรเย็บผ้า นั่นสะท้อนว่าสิ่งที่หายไปไม่ใช่สามี แต่เป็นหลักประกันชีวิตที่เสียหายไป เพราะสามีถือเป็นเครื่องมือสร้างอาชีพของเขา

"ปู่เลี้ยงหลาน 5 คน ลูกชายตายไป ก็เท่ากับว่าพวกเขาได้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางตรง ซึ่งรัฐมักมุ่งการช่วยเหลือไปที่ตัวผู้กระทำ ดังนั้นการแก้ไขที่ถูกต้องไม่ใช่เพียงเจ้าหน้าที่สนใจปราบปรามว่าใครเป็นคนกระทำ แล้วก็ไปไล่ล่าจับกุมอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เหยื่อเหล่านี้สมควรต้องเยียวยาช่วยเหลือต่อไป" ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

โครงสร้างสังคม: เหตุแห่งความรุนแรง
รศ.ดร. ชัยวัฒน์ อธิบายต่อว่า สำหรับขั้นต่อมามีเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรง คือโครงสร้างทางสังคม เช่น กรณีข่มขืน เมื่อสังเกตดูตัวบุคคลที่กระทำการข่มขืน จะพบว่ามาจากโครงสร้างแบบหนึ่ง เช่น เป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอ่อนแอ มีปัญหา ไม่ค่อยมีการศึกษา มาจากครอบครัวแตกแยก หรือแม้แต่เคยเป็นเหยื่อของความรุนแรง

กล่าวโดยรวม โครงสร้างที่เป็นเงื่อนไขความรุนแรง มีทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ครอบครัว และสังคม อาจรวมถึงสื่อต่างๆ ด้วย ซึ่งทุกมิติล้วนทำงานเป็นปัจจัยร่วมกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันและกล่าวโทษด้านใดด้านหนึ่งได้

"ผมว่ามันไร้สาระ ผมไม่เคยเชื่อว่ามีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุของความรุนแรง แต่มันทำงานร่วมกัน ถ้าจะหยุดความรุนแรงก็ต้องหาว่าปัจจัยเหล่านี้ทำงานร่วมกันอย่างไร" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้ยกตัวอย่างกรณีฆ่าข่มขืนว่า สังคมไทยเรียกร้องให้ใช้กฎหมายที่เข้มงวดจัดการกับผู้กระทำ เช่น ตอน หรือ ประหาร เป็นต้น แต่ปัญหาก็คือ การข่มขืนไม่ได้ยุติลงโดยเฉพาะมองมุมด้านโครงสร้าง เพราะผู้กระทำเป็นผลมาจากเงื่อนไขปัจจัยการผลิตหลายอย่าง เขาไม่ใช่หล่นมาจากสุญญากาศ แม้จะจัดการได้แต่คดีก็ยังไม่จบ เพราะเงื่อนไขการผลิตคนเป็นอย่างเดียวกันยังมีอีกมาก

ถ้าหากต้องการแก้ปัญหานี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์เสนอว่า การที่จะแก้ไขความรุนแรงได้นั้น ต้องมองโจทย์ให้มากกว่านี้ โดยต้องตั้งคำถามและให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงโครงสร้างทุกด้าน

วัฒนธรม: นำพาความรุนแรง
สำหรับเงื่อนไขสุดท้ายคือด้านวัฒนธรรม โดยทำงานในฐานะปัจจัยให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงในสังคม ทั้งที่เป็นการกระทำของคน องค์กรหรือสถาบัน โดยวัฒนธรรม ทำให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ยอมรับได้ และสังคมก็พลอยเห็นดีเห็นงามไปด้วย

"ผมทำงานอยู่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานเด็ก เขาขาหักแขนหักมาหาผมเพราะถูกรถชน เนื่องจากลงมาเล่นบนถนน ผมจึงคิดสร้างสนามเด็กเล่นให้เขา การที่เขาออกนอกบ้านก็เพราะที่บ้านพ่อแม่ ทำงานรับจ้างรายวัน วันไหนไม่มีใครจ้างก็ไม่มีเงิน สามีกินเหล้าแล้วก็พาลเตะลูกเมีย ทำให้เด็กอยู่บ้านไม่ได้" รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีเล่าให้ฟัง

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "40 % คู่สมรสไทยมีความรุนแรงระหว่างกัน นั่นเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมเพราะมีอะไรบอกว่าถูก ทำแล้วอยู่ได้และสังคมยอมรับ โดยมักบอกว่าเรื่องของผัวเมียอย่ายุ่ง แสดงว่ามันมีขอบเขตบางอย่างมองว่าเป็นเรื่องถูก นั่นแหละคือความรุนแรงในวัฒนธรรมซึ่งสังคมยอมรับ เป็นเพราะระบบวัฒนธรรมให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงบางลักษณะ"

สิ่งที่สังคมยอมรับความรุนแรงคือส่วนเสี้ยวทางวัฒนธรรมบางอย่าง เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนใจดี โอบอ้อมอารีเป็นจำนวนมากแต่จะอธิบายอย่างไรต่อความรุนแรงที่เกิดต่อเด็ก ซึ่งทุกวันนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งอายุของเด็กที่ต่ำลง แต่มีระดับความรุนแรงที่สูงขึ้น

"ความรุนแรงมีสารพัด ทั้งตี ทุบหัว ขว้างลงพื้น ของกินที่นำมาทรมานอีกสารพัด เช่น แมลงสาบ ประจำเดือน สังคมไทยเป็นสังคมพุทธมีด้านเมตตาแต่ก็มีความรุนแรงอยู่ด้วย สองด้านนี้จะอธิบายอย่างไร มีส่วนเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมหรือไม่ เราเห็นเด็กเป็นเพียงวัตถุที่อยากทำอะไรก็ได้หรือเปล่า" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ตั้งข้อสงสัย

ทั้งนี้ อาจารย์เสนอเพิ่มเติมว่า ต้องดูที่ชั้นของความรุนแรง เพราะคนมาจากโครงสร้างและส่วนเสี้ยวทางวัฒนธรรม เช่น การซ้อมผู้ต้องหาเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ สำหรับบางคนมองว่าเขาเป็นผู้ต้องหาก็คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ ถือเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมดังกล่าว คือการทำร้ายฝ่ายตรงข้ามที่เรามองว่าเป็นศัตรู เห็นว่าเขาไม่ใช่คน แล้วสิ่งที่ตรงข้ามที่จะมายับยั้งและยุติความรุนแรงคือ สันติวัฒนธรรม

สันติวัฒนธรรม: ทางออกทางเดียวของสังคมไทย
ความรุนแรงคือการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหากทำร้ายเพราะเขาเป็นศัตรู แต่สันติวัฒนธรรมคือสิ่งที่ตรงข้ามกับความรุนแรงทางวัฒนธรรม ซึ่ง ดร.ชัยวัฒน์ ได้แบ่งการอธิบายเป็น 2 ประเด็น คือ สันติวัฒนธรรมต้องทำให้คนในสังคมใส่ใจโดยไม่ลอยตัวจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น และการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่ประชาชน

"ประการแรก ต้องทำให้คนในสังคมรู้สึกรู้สากับความรุนแรงที่ถูกต้อง เพราะเรามักรู้สึกเฉยๆ คิดว่าไม่ใช่เรื่องของกู เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เกี่ยวข้อง ลูกเขาไม่ใช่ลูกเรา เป็นเรื่องภายในครอบครัวไม่เกี่ยวกับเรา ถ้าสังคมยังมองแบบนี้ก็เป็นปัญหา จำเป็นต้องทำให้ความรุนแรงเป็นปัญหาของเราด้วย ต้องเห็นปัญหาร่วมกัน เราจะได้ทำอะไรกันบ้าง" ดร.ชัยวัฒน์ เสนอ

ด้านสิทธิของเหยื่อ ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า บางครั้งมองไม่เห็นชัดว่าใครเป็นเหยื่อ เพราะเราไม่ได้ยินลูกเมียเขาร้องไห้ ลูกหลานเขาอยู่อย่างไร ไม่ได้ยินว่าเจ้าหน้าที่บุกมาบ้าน ไม่รู้ความเดือดร้อน และยังเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา จึงต้องหาทางให้สังคมรู้สึก ไม่ใช่มองเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา ต้องทำให้เห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้นการรายงานจึงสำคัญ เพื่อทำให้สมาชิกในสังคมรู้สึกรู้สาขึ้นมาบ้าง ไม่ใช่อยู่เฉยๆอีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น สันติวัฒนธรรมคือการเปิดเผยความจริงเป็นด้านกลับของความรุนแรง การรับรู้ความเจ็บปวดของสังคม การทำให้คนอื่นเป็นสัตว์ร้ายหรือศัตรูหรือการมองว่าคนอื่นไม่ใช่คน เป็นการทำงานของวัฒนธรรมแท้ๆ เช่นการกำหนดด้าน พฤติกรรม ผิวพรรณ การนับถือศาสนา จะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในที่สุด

"การมองว่าผู้ร้ายไม่ใช่มนุษย์ตั้งแต่ต้น การทรมานจึงเป็นเรื่องปกติ สันติวัฒนธรรมคือการทำให้เห็นว่าคนรอบๆ ตัวเราเป็นคนทั้งนั้นแม้จะแตกต่างจากเรา ต้องคิดว่าทำอย่างไงให้เกิดความสัมพันธ์ในฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน" ดร.ชัยวัฒน์ เสนอมุมมอง

ทั้งนี้ สันติวัฒนธรรมทำให้เห็นว่าคนรอบตัวเราล้วนเป็นคนเหมือนกัน หากแต่ยังเห็นเขาเป็นเพียงวัตถุ และเป็นเครื่องมือไปสู่อย่างอื่นเพื่อค้นหาหลักฐานและสืบพยานแล้ว เมื่อนั้นสังคมก็จะยังรู้สึกเฉยๆ อย่างที่ผ่านมาคนทำผิดเราไม่เคยถามหาสาเหตุ การที่สังคมรู้สึกเฉยๆ จึงทำให้ความรุนแรงยังดำรงอยู่

หนทางสู่อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ
การสร้างวัฒนธรรมที่จะอำนวยให้เกิดสันตินั้น สังคมต้องมีลักษณะร่วมและยอมรับคุณค่าบางอย่างทางวัฒนธรรม เช่นการอ่อนน้อมถ่อมตน การให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของผู้อื่น การควบคุมตนเองไม่ใช้ความก้าวร้าวรุนแรง

ดร.ชัยวัฒน์ ชี้แจงเพิ่มว่า ต้องลดการใช้สุรายาเมาเพราะจะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลก เพราะสุรามีความสัมพันธ์กับการควบคุมตนเอง รวมไปถึงการใช้กลไกควบคุมทางสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความก้าวร้าวรุนแรง

"เพราะอะไรที่ทำให้สังคมเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังมีการเหยียดย่ำศักดิ์ศรี เช่น คัมภีร์อัลกุรอ่านของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมมักมองว่าเป็นการเหยียดศักดิ์ศรีมากที่สุด เพราะจะถือว่าคัมภีร์คือถ้อยคำของพระเจ้า แต่สิ่งที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมคือเห็นความเชื่อของคนอื่นไม่สำคัญ พร้อมที่จะดูถูกคนดูแคลน" ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ สามารถบอกว่าการปฏิบัติเช่นใดไม่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะยอมรับหลักการนี้หรือไม่

ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายอีกว่า กรณีทนายสมชายที่หายตัวไปเมื่อ 12 มีนาคม ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เขากำลังทำคือร่างจดหมายในกรณี 4 มกราคม 2547 กรณีปล้นปืนว่าผู้ต้องหาถูกทรมานให้รับสารภาพ ทนายสมชายบอกว่าการกระทำนี้ผิด ซึ่งเขาต้องการทำให้สังคมรู้สึกรู้สากับความรุนแรง ไม่ว่าทำกับใครก็ล้วนแต่ผิดทั้งนั้น จำเป็นต้องทำบางอย่างเพื่อแก้ไขสิ่งเหล่านี้โดยสันติวัฒนธรรม แต่ผลที่ตามมาทนายสมชายกลับถูกตอบโต้จากความรุนแรง เมื่อเขาหายไปจึงสะท้อนว่าคนต่อสู้ตามครรลองกฎหมายแต่กลับไม่สามารถสู้ได้ ในที่สุดจึงทำให้ทนายสมชายกลายเป็นสัญลักษณ์บางอย่างในสังคม

สำหรับอนุสัญญานั้นสัมพันธ์กับสันติวัฒนธรรมต่อต้านการทรมานฯ ต้องการให้ประเทศมาบอกว่าการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ถูกต้อง สังคมยอมรับหลักการนี้หรือเปล่า ถ้าเรารับอนุสัญญา ก็ต้องแสดงบทบาทระหว่างประเทศ ดูในประเทศตนเองด้วย หากการทรมานไม่เกิดขึ้น ปัญหาอื่นๆ ก็จะทุเลาลงได้ ทั้งนี้ ระดับนานาชาติแม้สำคัญแต่ก็ยังไม่พอ ถ้ายังลดปัญหาความรุนแรงในประเทศไม่ได้ หากไม่แก้ที่ต้นเหตุของปัญหาความรุนแรง

ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวตอนท้ายว่า "ตอนนี้คนไทยเชื่อว่าจะใช้วิธีการรุนแรงอย่างไรก็ยอมรับได้ ซึ่งมันเป็นประเด็นทางวัฒนธรรม ที่มีมานานและยังดำรงอยู่ ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะรับหรือไม่รับอนุสัญญาดังกล่าว แต่ถ้าพฤติกรรมของคนไทยยังไม่เปลี่ยน เงื่อนไขในความรุนแรงก็ยังคงอยู่ต่อไป"

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท