Skip to main content
sharethis

โดยรวมแล้วข้อเสนอกฎหมายคุ้มครอง TK-FL มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองและการกำหนดเจ้าของสิทธิ (Right Owner) ซึ่งยึดหลักร่วมกันเพื่อการดำรงคงอยู่และการสืบสานวัฒนธรรม เป็นการคุ้มครองสิทธิของชุมชนด้านการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

กล่าวคือ เป็นการกำหนดสิทธิร่วม (Communal Property) เพื่อจัดการร่วมกับรัฐในรูปแบบการจัดการเชิงซ้อนและส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญา ซึ่งต้องกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์การเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้อย่างชัดเจน โดยขณะนี้โครงการศึกษาฯ ได้จัดทำข้อเสนอในกฎหมายดังกล่าวแล้วบางส่วน

ข้อเสนอเชิงรุกและตั้งรับ
สำหรับผลสรุปของโครงการศึกษาการคุ้มครองTK-FL มีข้อเสนอในเชิงตั้งรับเกี่ยวกับการกำหนด
ให้แสดงหลักฐาน การจัดทำฐานข้อมูล ในการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการใช้ TK-FL เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรพิจารณาอย่างน้อย 2 ประการ เกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประการแรก คือ ข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูลอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการแสวงหา และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านได้ง่ายขึ้น สำหรับประการต่อมา ปัญหาอันเนื่องมาจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล อาจเกิดปัญหาในการตรวจสอบและพิจารณาในสิทธิบัตรได้

สำหรับข้อเสนอในเชิงรุกนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบกฎหมายเฉพาะ (sui generic system) ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพและเงื่อนไขของการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ และการพัฒนาส่งเสริมTK-FLของไทย โดยคำนึงถึงบริบทของสภาพปัญหาทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

นอกเหนือจากเครื่องมือทางกฎหมายแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป ได้แก่ เครื่องมือทางสังคม เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ความใส่ใจและตระหนักร่วมกันของทุกภาคส่วนสังคม ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องเร่งผลักดันกฎหมายป่าชุมชน ซึ่งถือเป็นการจัดการทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แต่ละชุมชนดูแล ซึ่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญไทย ในการจัดการดูแลทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกับภาครัฐ เพราะถือว่ากฎหมายป่าชุมชนเป็นกรณีตัวอย่างที่สอดคล้องกับการจัดการกับ TK-FL

ประเทศไทยใครกำหนด?
ประเด็นการถกเถียงระหว่าง กระบวนการหรือทางเดินกับจุดหมายที่มุ่งหวัง เป็นความหลากหลายที่ควรประสานสอดร้อยกัน ในการคุ้มครอง TK-FL นั้น นอกจากจะเกี่ยวพันธ์กับแง่มุมทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์ และความสัมพันธ์บนเวทีระหว่างประเทศแล้ว มุมมองด้านกฎหมายนับเป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยไปกว่ากัน

นันทน อินทนนท์ ผู้พิพากษาจากศาลฎีกา มองประเด็นดังกล่าวว่า "ขึ้นอยู่กับกฎหมายของเรามากกว่า บ้านเรายังมีข้อถกเถียงกันน้อย วัตถุประสงค์ TK-FL มีขึ้นเพื่อรักษาให้คงอยู่ต่อไปได้ ข้อเสนอระหว่างประเทศเป็นเพียงข้อเสนอเพื่อสร้างระบบในการขออนุญาต ที่จะนำมาใช้ให้สอดคล้องกับระบบที่เราจัดสร้าง"

นอกจากนี้ นันทน มองว่าปัญหาใหญ่ก็คือ การนำระบบอนุญาตในการเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ แต่ขาดความเคารพ และเมื่อนำมาใช้แล้วไม่มีการจัดสร้างแทนเพื่ออนุรักษ์ สำหรับการกระทำทางพาณิชย์กลับไม่ส่งเสริมให้ TK-FL คงอยู่ ขณะที่ FTA กำลังเข้ามา ซึ่งทำให้เรากำหนดเงื่อนไขอย่างอื่นไม่ได้

ด้าน ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
กลับมองว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่มาหลังสุด ก่อนอื่นต้องตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมไทยก่อน ถ้าหากมีเชิงนโยบายชัดเจนกฎหมายจะตามมาเอง เราก็จะไปต่อสู้บนเวทีระหว่างประเทศได้

สอดคล้องกับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ที่มองว่า TRIPs เป็นเพียงการจัดมาตรฐานขั้นต่ำ สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือโครงสร้างระบบใหม่ไม่เอื้อต่อสังคมที่เกื้อกูลกัน ตอนนี้ต้องรับนำความคิดเห็นเพื่อศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอในวงที่กว้างและนำไปดำเนินการต่อสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กฎหมายเป็นตัวประสานงาน

ขณะที่ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน สถาบันการจัดการเพื่อการพัฒนาชนบทและสังคม มองว่า ปัญหาการจัดการดังกล่าวเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่หาผลประโยชน์ผูกขาดความรู้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเราควรเอาความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาประเทศ โดยนำความรู้ทางด้านจิตใจ ภูมิปัญญาต่างๆ มาใช้รักษาตัวให้อยู่รอดแบบสุขสงบจะเป็นการดีกว่า

"แนวคิดคุ้มครอง TK-FL ทำให้ระบบลิขสิทธิ์อ่อนตัวลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างภูมิปัญญาเดิม รัฐบาลของประเทศนั้นก็จะเอาส่วนต่างเป็นผลประโยชน์ ในขณะที่เรากำลังพยายามป้องกันตัวเองถ้าเราเดินตามเกมโดยไม่รู้เท่าทัน เราก็จะกลายเป็นพวกงกกันทั้งประเทศ ดังนั้นเราจึงควรร่วมกันแบ่งปันความรู้เพื่อประโยชน์ที่แท้จริง" ศ.ดร.อภิชัย เสนอทางเลือก

ก่อนก้าวสู่เวทีโลก
"ในการดำเนินการควรจัดลำดับความสำคัญของประเภท TK-FL ควรเร่งรัดการดำเนินงาน คือ ที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหาร เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา" บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หัวหน้าโครงการฯ แสดงความกังวลถึงสภาวการณ์ข้างหน้า

นับเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนากำลังประสบปัญหา จากการที่ต่างชาตินำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้โดยที่มิได้รับอนุญาต และไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กลับคืนให้แก่ชุมชนผู้เป็นเจ้าของภูมิปัญญา นอกจากนี้องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก(WIPO) เป็นแกนกลางเวทีระหว่างประเทศที่เน้นเชิงธุรกิจแสวงหาประโยชน์

โดยที่ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้พยายามผลักดันให้มีการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นทุกประเภทให้อยู่ภายใต้ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า หรือ TRIPs Agreement เพื่อแก้ไขปัญหาการนำทรัพยากรทางชีวภาพไปแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เหมาะสม และเพื่อให้มีการรับรองและคุ้มครองสิทธิของสมาชิก ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ขณะเดียวกัน ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เสนอความเห็นว่า "ไทยจะมีส่วนในการกำหนดทิศทางในเวทีระหว่างประเทศได้ จำเป็นต้องมีจุดเชื่อม แต่ปัญหาระหว่างทางก็คือ เรายังไร้แนวทางและไม่ชัดเจน เช่น กฎหมายและนโยบาย การจะคุ้มครองและเผยแพร่ เราต้องหาเส้นแบ่งให้ได้ว่าจะคุ้มครองเผยแพร่หรือแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ"

โดย ดร.วิลาวรรณ กล่าวต่อไปว่า "เป็นเรื่องยากหากเราจะหาว่าชุมชนไหนเป็นเจ้าของ หรือชุมชนไหนพัฒนาขั้นตอนมาเชิงประวัติศาสตร์ เรามีปัญหาเชิงชี้ชัด เช่น รับมรดกมาจากประเทศเพื่อนบ้านหรือเปล่า เรื่องนี้คงใจร้อนไม่ได้ ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งทำได้โดยกฎหมาย แนวทางที่ดีคือเล็งกฎหมายบางอย่างไว้ในใจ และหาจุดร่วมในองค์ประกอบเดียวกัน"

วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เสนอว่าปัจจุบันเรายังไม่มี
การคุ้มครองภูมิปัญญาที่เข้มแข็งและระบบฐานข้อมูลที่ดีพอ ทั้งยังต้องสร้างหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ในสิ่งที่จะกลับเข้าสู่ชุมชน

สำหรับทางออกของประเทศไทยตอนนี้คือ ต้องสร้างความตื่นตัวขึ้นมา โดยเริ่มมองสิ่งที่เรามีอยู่และก้าวต่อไปพร้อมๆ กับการเสนอบนเวทีระหว่างประเทศ ขณะที่ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้กำหนดระหว่างคนไทยหรือรอชาวต่างชาติมาชี้ออนาคต

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net