Skip to main content
sharethis

โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข adtu06@yahoo.com


 


 


การประกาศเว้นวรรคทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร เป็นเพียงเกมการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มพลังทางสังคมกลุ่มต่างๆได้ขับเคี่ยวต่อสู้กันอย่างดุเดือดในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถือกำเนิดขึ้นมาโดยอาศัยจุดร่วมเพียงประการเดียวนั้นคือ ความไม่พอใจต่อระบอบทักษิณที่ครอบงำอำนาจการเมืองและใช้อำนาจทางการเมืองไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจของพวกพ้อง จนทำให้กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลากหลายกลุ่มได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นกลางนั้นต่างพากันออกมาขับไล่ทักษิณ ชินวัตรให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


อันที่จริงการเมืองไทยนั้นทำการขายชาติ และนำประเทศไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมครอบโลก ภายใต้ความคิดความเชื่อของตลาดการค้าเสรี เกิดขึ้นมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เพียงแต่ระบอบทักษิณได้ใช้อำนาจการเมืองทำการเร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยไปประเคนมอบให้ทุนนิยมสากล ที่มีสิงคโปร์เป็นทุนนิยมนายหน้า จนทำให้อุดมการณ์แบบชาตินิยมบ่มเพาะตัวขึ้นมาในกลุ่มชนชั้นกลางอย่างรวดเร็วและกลายเป็นพลังขับเคลื่อนโค่นล้มทักษิณให้พ้นตำแหน่งทางการเมืองในที่สุด ในขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการปรากฏตัวขึ้นมาของชนชั้นกลางที่จะปกป้องรักษาสมบัติของชาติแม้แต่น้อย


 


เช่นเดียวกันกับการฟื้นฟูและการใช้อุดมการณ์การเมืองแบบเก่าที่เป็นจารีตนิยม มาโจมตีระบอบทักษิณ อาจได้ผลเพียงแค่การสร้างกระแสความไม่พอใจที่มีตัวระบอบทักษิณ แต่มันมีอันตรายที่จะทำให้อำนาจการครอบงำของกลุ่มการเมืองจารีตนิยมกลับมาอยู่เหนือประชาธิปไตยของประชาชนอีกครั้ง การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยจึงได้แค่เปลี่ยนจากทุนนิยมผูกขาดไปสู่การผูกขาดการเมืองแบบจารีตนิยม


 


ความเป็นชาตินิยมผสมผสานกับจารีตนิยมแบบเก่า ไม่อาจเป็นอุดมการณ์ที่เป็นทางเลือกของสังคมได้ และอาจนำความเสียหายในระยะยาวมาสู่ประชาธิปไตยของประชาชนได้เช่นกัน ปรากกฎการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาจึงเป็นได้แต่เพียงการปลุกกระแสแห่งความชิงชังที่มีต่อรัฐบาลทักษิณ แต่ได้กลบเกลื่อนเนื้อแท้ของระบบทักษิณ ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีค่าเพียงแค่การเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมืองเท่านั้น


 


ระบอบทักษิณโดยเนื้อแท้แล้วก็คือ กลุ่มชนชั้นทุนนิยมผูกขาดที่เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมครอบโลก ซึ่งได้รวมตัวกันก่อรูปขึ้นมาเป็นพรรคไทยรักไทย และเข้าไปยึดครองอำนาจการเมือง การประกาศรื้อระบอบทักษิณให้สิ้นซากของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ใหญ่หลวงและไม่ใช่เพียงแต่แค่การทำลายอำนาจการเมืองของทักษิณและพวกพ้องเท่านั้น แต่หมายถึงการที่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรืออีกความหมายนัยหนึ่งก็คือ การสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นมาด้วย


 


การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของชนชั้นกลาง ทำให้พวกเขาตื่นตัวทางการเมืองและมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในขณะที่กรรมกรและชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นอิสระและเป็นจริงได้ ดังนั้นจึงถูกครอบงำด้วยข้อมูลข่าวสารจากระบอบทักษิณ เป็นหลัก ดังนั้นคนกลุ่มนี้จำนวนไม่ใช่น้อยจึงสนับสนุนระบอบทักษิณและต้องหลั่งน้ำตาร่ำไห้เมื่อต้องสูญเสียนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่าทักษิณ ชินวัตรลงไป


 


หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะพึงพอใจเพียงแค่การเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมืองและทำการปฏิรูปทางการเมืองเชิงกลไกที่ เฉพาะเจาะจงเพียงประเด็นความโปร่งใสและการตรวจสอบ แต่กลับละเลยต่อการก้าวไปสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อปลดปล่อยพลังของชนชั้นล่างที่ถูกระบบทุนนิยมผูกขาดครอบงำอยู่ ย่อมเป็นเคลื่อนไหวทางการเมืองเพียงเพื่อประโยชน์สุขของชนชั้นกลางและชั้นนายทุนในสังคมไทยเท่านั้น


 


พลังของกรรมกรและชาวนา และคนยากจน จึงเป็นได้แค่พลังที่ถูกลากดึงไปเป็นเพียงหางเครื่องทางการเมืองของพวกนายทุนและถูกนำไปเป็นข้ออ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจการเมือง แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่มีตัวตนทางการเมืองที่แท้จริง ไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองแต่อย่างใด ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองจึงต้องมุ่งไปที่การปลดเปลื้องพันธการของชนชั้นล่าง และจะต้องไม่ลืมมิติทางเศรษฐกิจและการดำรงอยู่ของคนกลุ่มชนชั้นทางเศรษฐกิจ


 


หากต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่นำมาสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จึงควรที่จะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญที่จะต้องเปลี่ยนแปลงฐานความคิดแบบเสรีนิยม และจารีตนิยมแบบเก่า มุ่งสู่การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของชนชั้นล่าง การประกันรายได้ให้คนชั้นล่าง การสร้างรัฐสวัสดิการสังคม การประกันสิทธิเสรีภาพของการรวมตัวและเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจการเมือง การสร้างอำนาจการต่อรองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชนชั้นล่าง


 


การมุ่งเน้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มุ่งไปที่การราวีและกำจัดในตัวบุคคลให้พ้นไปจากอำนาจการเมือง โดยปราศจากการนำเสนอทางออกที่เป็นเนื้อหาทางการเมือง และเศรษฐกิจเพื่อไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริงแล้ว ผลงานที่ชื่นชมได้จะมีแต่เพียงแค่การเอาชนะคะคานและการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่ดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเดิมเท่านั้น


 


การขับเคลื่อนทางการเมือง เพียงเพื่อเอาชนะคะคานระหว่างขั้วอำนาจ หรือเป็นหรือเป็นไปตามกระแสอารมณ์ที่ถูกปลุกปั่นขึ้นมา โดยปราศจากการพิจารณาผลกระทบที่จะตามมาภายหลังย่อมมีอันตรายต่อการพัฒนาประชาธิปไตยได้เช่นกัน ดังเช่นสถานการณ์การเมืองที่เข้าสู่ภาวะตีบตัน ไร้ทางออก และนำมาสู่ความขัดแย้งแตกแยกที่รุนแรง จนในที่สุด เกิดภาวะสังคมที่แตกสลายและทำให้การพัฒนาทางการเมืองหยุดชะงัก การแสดงออกทางประชาธิปไตย ดังเช่นการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงที่มีคุณค่านั้นกลับกลายพียงเทคนิคทางการเมือง เพราะเป้าหมายสุดท้ายนั้นไปจบลงเพียงแค่ขอให้เกิดขั้วอำนาจการเมืองแบบใหม่ที่ไม่สนใจในเนื้อหาใหม่และโครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่


 


การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง จึงไม่ได้แตกต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังพฤษภาทมิฬปี 2535 ที่เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากฝ่ายทหารมาสู่กลุ่มทุนผูกขาดทางเศรษฐกิจ และที่มันอาจจะเลวร้ายไปกว่านี้ก็คือการฟื้นตัวขึ้นมาของการเมืองแบบจารีตนิยมแบบเก่า ที่เห็นความสำคัญกันอยู่เพียงแค่ตัวบุคคลมากกว่าพลังประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง


 


การเมืองแบบรัฐสภาในประเทศไทยมีอายุยืนยาวนานกว่า 74 ปีแล้ว ควรจะเป็นภาวะแบบใหม่ที่มีความเข้มแข็งเพียงพอที่ประชาชนเจ้าของอธิปไตยที่แท้จริงนั้นจะเป็นผู้กำหนดชี้อนาคตของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การปลุกพลังของประชาชนที่ยิ่งใหญ่แต่การเรียกร้องการแก้ไขปัญหาไปจบเพียงแต่ขอให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือมีคณะรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะมองปัญหากันที่ตัวบุคคลมากกว่าโครงสร้างและขาดการพิจารณาถึงภววิสัยของพัฒนาการเมืองที่ดำรงอยู่ การแตกหักในภาวะที่การเมืองยังไม่พร้อม นำมาสู่ภาวะตีบตันในขณะนี้ ไม่ว่าจะจบลงที่ การประกาศให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน เป็นโมฆะ ดังที่หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ การเมืองจะยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้นไปอีก มีปมเงื่อนเพิ่มขึ้นมาอีก


 


การรื้อระบอบทักษิณ ซึ่งหมายถึงการรื้ออำนาจทางเศรษฐกิจไปด้วยนั้นจึงไม่อาจกระทำได้เพียงชั่วข้ามคืน ข้ามวัน ระบอบการเมืองประกอบไปด้วยอุดมการณ์การเมือง โครงสร้างกลไกทางการเมือง สถาบันสังคม ความเกี่ยวโยงกับอำนาจทางเศรษฐกิจและชนชั้นต่างๆในสังคม การรื้อระบอบทักษิณภายใต้ความจำกัดด้านต่างๆ จึงนำมาสู่การเผชิญหน้า ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ และไม่ได้ให้คำตอบถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นการรื้อระบอบทักษิณมีความจำเป็นต้องพิจารณาถึง ความพร้อมทางการจัดตั้งของประชาชนทางการเมืองรวมทั้งรูปแบบเนื้อหาการเมืองแบบใหม่ ที่จะเข้ามาแทนที่ระบอบทักษิณ


 


หลังจากการเว้นวรรคทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว และภายหลังจากการประชุมของศาลยุติธรรมที่จะกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้แล้ว การเมืองยังคงสั่นคลอนกันต่อไป เพราะอย่างไรเสีย กติกาเดิมภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันยังคงเดินหน้าต่อไปอีก แต่ละฝ่ายยังสามารถอ้างเอาความชอบะรรมของฝ่ายตนเองได้อีกต่อไป การต่อสู้ขับเคี่ยวของกลุ่มขั้วอำนาจต่างๆยังยืดเยื้อต่อไปอีก


 


การเตรียมการที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะนี้จึงควรมุ่งไปที่ การปฏิรูปทางการเมือง ด้วยการนำเสนอประเด็นสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งไปสู่การจำกัดไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการเมือง และการครอบงำองค์กรอิสระ ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลทางการเมือง การกำหนดแนวนโยบายของรัฐที่มุ่งสู่การประกันรายได้ของประชาชนกลุ่มคนชั้นล่าง การประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล และอีกหลายประเด็นด้วยกัน ล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจที่หนักหน่วงทีเดียว และต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมในหลายด้านๆ ด้วยกันจึงหวังว่า การเคลื่อนไหวเพื่อรื้อระบอบทักษิณนั้นจะไม่ใช่เป็นเพียงเกมการเมืองของการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่ซ้ำซากทางประวัติศาสตร์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net