Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพ่อแม่-เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จะทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดจากการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบแอดมิสชัน


 


บ่ายวันที่ 10 พ.ค. เครือข่ายพ่อแม่-เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจัดการเสวนาเรื่อง"ทางออกของ O-NET  A-NET ADMISSION ค่าเล่าเรียน"  ณ ห้องประชุม C5 วิทยาลัยนวัตกรรม ชั้น 5 อาคารหอสมุดเดิม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  


 


นายสมบัติ วงศ์กำแหง เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่านักเรียนที่ได้รับความเสียหายจากการตรวจและประกาศผลการทดสอบโอเน็ต-เอเน็ต ที่ผิดพลาด สามารถฟ้องศาลปกครองเรียกค่าเสียหายจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้


 


แม้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะไม่มีเรื่องของการทุจริตมาเกี่ยวข้อง แต่ตามกฎหมายความประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ถือเป็นการละเมิดทางปกครอง สามารถฟ้องศาลปกครองเรียกค่าเสียหายได้ รวมทั้งสามารถยื่นฟ้อง สกอ.ได้ด้วย


 


ส่วนจะสามารถฟ้องร้องให้ยกเลิกระบบแอดมิชชันหรือไม่นั้น ถ้าพิสูจน์ว่า กระบวนการในการออกนโยบายนี้ไม่ชอบโดยกฎหมาย ศาลปกครองจะทำการยกเลิกคำสั่งหรือนโยบายดังกล่าว แต่ถ้าการออกนโยบายดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว ไม่สามารถยกเลิก แต่หากพิสูจน์ได้ว่า แม้ถูกต้องแต่นำมาใช้โดยไม่พร้อม ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียหาย สามารถขอความคุ้มครองให้ศาลชะลอการนำมาใช้ไว้ก่อนจนกว่าจะมีความพร้อม


 


นายณัฐพงศ์ จันทรศิริ นักเรียนชั้น ม.6 กล่าวถึงเกณฑ์การสอบในระบบแอดมิสชันที่จัดให้นักเรียนสอบโอ-เน็ต หรือแบบทดสอบมาตรฐานแห่งชาติ ในกลุ่มวิชา ภาษาไทย สังคม อังกฤษ คณิตและวิทยาศาสตร์ ทั้งๆที่ก่อนการประกาศใช้วิธีนี้เมื่อกลางปีที่แล้ว ระบบการศึกษาไทยยังเป็นแบบเลือกเรียนตามความถนัด สายวิทย์ฯ, ศิลป์, ภาษา เมื่อทุกคนต้องสอบทุกวิชา จึงต้องเรียนกวดวิชาในวิชาที่ไม่ได้เรียน จึงถือเป็นการส่งเสริมการเรียนกวดวิชาทางอ้อมทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาการ มีความพยายามจะลดการเรียนกวดวิชามาตลอด


 


สำหรับแนวทางแก้ไขที่ตัวแทนนักเรียนเสนอไว้คือ ปรับมาตรฐานการเรียนรู้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในแต่ละโรงเรียน  เช่น  การอบรมครู  และการสอบวัดความรู้ในรายวิชาของตน และลดค่า GPA ไม่ให้เกิน 10%


เพื่อป้องกันการที่มาตรฐานในแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน ทั้งนี้ต้องปรับมาตรฐานการออกข้อสอบและการตรวจข้อสอบให้เหมาะสมด้วย


 


นายคณิต เกื้อกูลวานิช นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า การจัดการศึกษาแบบนี้เป็นการสนับสนุนให้เยาวชนเป็น "เป็ด" คือรู้ทุกอย่างแต่ไม่ถนัดสักอย่าง และยังเป็นการปิดกั้นโอกาสที่ทุกคนจะได้ฝึกความถนัดเฉพาะอย่างด้วย ทั้งนี้ การสอบที่ยากขึ้น ทำให้นักเรียนเครียดมากขึ้นด้วย


 


ทั้งนี้เครือข่ายฯ จะทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในวันที่ 15 พฤษภาคม เพื่อให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีความผิดพลาดที่เกิดจากการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัย ระบบแอดมิสชัน ที่เกิดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.), คณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และกระทรวงศึกษาธิการ และนำเรื่องส่งให้ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net