Skip to main content
sharethis

ภาคใต้—25 มิ.ย. 2549 "สุวัจน์" สั่ง "สภาพัฒน์" จัดทำโรดแมป ลงทุนพัฒนาอ่าวภูเก็ต ย้ำหนุนท่องเที่ยว 3 จังหวัดอันดามัน ขีดเส้นตาย 3 สัปดาห์ต้องเสร็จ เผยเตรียมถมทะเลภูเก็ต ชงลูกให้หน่วยงานรัฐดูแลผลประโยชน์ที่ดินผืนใหม่ เปิดช่องยกให้เอกชนลงทุน ติงระวังเจอปัญหาน้ำ - ขยะเกลื่อนเมือง เอกชนกลัวโครงการแท้ง หวั่นภูเก็ตเสียโอกาสเป็นศูนย์กลางการประชุม


 


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2549 ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารจัดการที่ดิน รูปแบบการบริหารจัดการการลงทุน กิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน


 


ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต นำเสนอว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่ถมออกไปในทะเล ถือเป็นที่ดินสาธารณะ หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถขอใช้ประโยชน์ในที่ดิน ต่อกระทรวงมหาดไทย ถ้ากระทรวงมหาดไทยเห็นชอบ ให้เสนอขออนุมัติใช้ที่ดินจากคณะรัฐมนตรีต่อไป


 


ส่วนกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต จะเน้น 2 เรื่องหลัก คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดการประชุมสัมมนาและแสดงสินค้า (MICE) และตลาดกลุ่มเรือยอชต์ (MARINA) ซึ่งเป็นไปตามที่ที่บริษัทที่ปรึกษาเคยศึกษาไว้เมื่อหลายปีก่อน


 


สำหรับรูปแบบการลงทุนในโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต มี 2 รูปแบบ คือ ให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าของโครงการและให้เอกชนเข้ามาลงทุน 100% หรือรูปแบบที่จะให้ท้องถิ่นกับหน่วยงานจากส่วนกลาง ประกอบด้วย บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ และเอกชนลงทุนร่วมกัน


 


จากนั้นที่ประชุม ได้มอบหมายให้สำนกฃักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยอยู่บนพื้นฐานการสนับสนุนการท่องเที่ยว 3 จังหวัดอันดามัน คือ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา โดยคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชน โดยกำหนดให้จัดทำโรดแมปสรุปรูปแบบการลงทุนให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป


 


นายสุวัจน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นว่า เป็นโครงการที่ดีและมีผลในการขยายฐานด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภูเก็ตและอันดามัน รวมทั้งภาคเอกชน ประชาชนให้การสนับสนุน และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก กิจกรรมภายใต้โครงการนี้ จะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมตลาด MICE และตลาดเรือยอชต์ ประกอบด้วย ศูนย์ประชุม สถานที่แสดงสินค้า โรงแรมที่พัก กิจกรรมเกี่ยวกับมารีน่า จากการที่รัฐบาลลดภาษีเรือยอชต์ ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เดินทางเข้ามาภูเก็ตมากขึ้น


 


นายสุวัจน์ เปิดเผยว่า เพื่อให้การผลักดันโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำโรดแมปสรุปรูปแบบการดำเนินโครงการว่า การลงทุนรูปแบบใดที่เหมาะสม เช่น ถ้าให้เอกชนลงทุนจะให้เวลาลงทุนกี่ปี หน่วยงานของรัฐจะเข้าไปสนับสนุนอะไรบ้าง ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่น มีกฎหมายอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายการร่วมทุนของเอกชนในกิจการของรัฐ หน่วยงานใดควรรับผิดชอบโครงการ โดยที่ประชุมให้เวลาไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อที่ประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต จะได้สรุปเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีว่า โครงการนี้สมควรที่จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่


 


ร.ท.ภูมิศักดิ์ หงษ์หยก กรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเอกชนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนสร้างศูนย์ประชุมในจังหวัดภูเก็ต แต่หน่วยงานของรัฐมีโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต มีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอยู่ด้วย เอกชนจึงไม่มั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน ทำให้ภูเก็ตเสียโอกาส สำหรับโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต จะเน้นกิจกรรมประชุมสัมมนาและแสดงสินค้า ถือเป็นโครงการที่ดี แต่ชั่วชีวิตตนไม่ทราบว่าจะได้เห็นโครงการนี้หรือไม่


 


 "ที่ผมเป็นห่วง คือ ปัญหาน้ำและขยะที่จะตามมาจากโครงการ เทศบาลนครภูเก็ตมีเตาเผาขยะรองรับได้วันละ 250 ตัน ตอนนี้ปริมาณขยะเกินความสามารถเตาเผาขยะที่มีอยู่จะรองรับได้ มีการของบประมาณ 1,000 ล้านบาท มาดำเนินการก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรมาให้ โครงการวางไว้สวยหรูแต่โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต รวมทั้งเมื่อมีการพัฒนาโครงการอ่าวภูเก็ตแล้ว ก็น่าที่จะพัฒนาพื้นที่รอบอ่าวภูเก็ตให้มีความสวยงามด้วย เพราะเทศบาลนครภูเก็ตได้ศึกษาและวางแผนการพัฒนาไว้แล้ว" ร.ท.ภูมิศักดิ์ กล่าว


 


สำหรับโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ เมื่อครั้งประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดพังงา และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น มีตนเป็นประธาน มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net