Skip to main content
sharethis

ปัจจุบัน ความตื่นตัวในการลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขายได้ราคาดี โดยผลปาล์มดิบมีราคาดังนี้ ปาล์มทะลาย  2.20-2.35 บาท/กก. และปาล์มร่วง  2.50-3.00 บาท/กก. (สำนักงานกรมการค้าภายใน จ.กระบี่ 30 มิ.ย. 2549) นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนเป็นวาระสำคัญแห่งชาติในการส่งเสริมให้นำมาผลิตเป็นแหล่งพลังงานทดแทน "ไบโอดีเซล" เพื่อลดภาระการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ   ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายในการใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซลในปี พ.ศ. 2555 วันละ 8.5 ล้านลิตร หรือ 3,100 ล้านลิตร/ปี   โดยมีการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มตามแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ปี พ.ศ. 2549-2552 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ 4 ล้านไร่


สำหรับภาคใต้นั้นเริ่มมีการนำปาล์มน้ำมันมาปลูกเมื่อปี พ.ศ.2512 ในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และตรัง ซึ่งสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้นั้น มีความเหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าภาคอื่นๆ  เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 150 มิลลิเมตร ต่อเดือน หรือ 1,800 มิลลิเมตร ต่อปี และมีช่วงแล้งสั้น ไม่เกิน 2-3 เดือน ต่อปี จึงมีความสมดุลกับปริมาณน้ำที่ปาล์มใช้ต้นละ 5-7 ลิตรต่อวัน


 


ปาล์มและการหายไปของป่าพรุ


 


การที่ต้นปาล์มใช้น้ำในปริมาณมาก จึงมีความกังวลว่าการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มทั่วประเทศ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐดังกล่าว โดยที่ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมพื้นที่อย่างชัดเจนนั้น จะนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรพื้นที่ เช่น การรุกที่สาธารณะเพื่อปลูกปาล์ม อีกทั้งมีผลกระทบทั้งในแง่ระบบนิเวศน์ อาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำใต้ดินลดลง เกิดความแห้งแล้งในอนาคต และส่งผลกระทบต่อพืชอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลกระทบที่อาจขยายไปสู่ วิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งผลักดันให้ประชาชนซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยต้องอพยพออกไปจากชุมชนเดิม กลายเป็นเหยื่อความยากจนจากโครงการของรัฐ ที่เอื้อประโยชน์ให้เพียงคนกลุ่มน้อยในสังคมเท่านั้น


 


กรณีตัวอย่างเรื่องการใช้ประโยชน์ป่าพรุบาเจาะ  จ.นราธิวาส เพื่อส่งเสริมการเกษตร โดยนิคมสหกรณ์บาเจาะ กองสหกรณ์นิคม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 และต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวเขตที่ดินใหม่ ประมาณ 90,000 ไร่ ในปี พ..2536 และมีการสำรวจวงรอบกันเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา มีพื้นที่โครงการฯ ทั้งสิ้น 87,419 ไร่ เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำการเกษตร โดยมีการขุดร่องระบายน้ำออกจากป่าพรุ เพื่อให้น้ำในพรุแห้ง แล้วนำพื้นที่มาจัดสรรให้ประชาชนได้ใช้ทำประโยชน์ทางการเกษตร


 


อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดินพรุ มีสภาพเป็นดินกรด หรือดินเปรี้ยว ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ จำเป็นต้องมีกระบวนการในการปรับดินโดยการใช้ปูนขาวผสมเพื่อให้ดินมีความเป็นกลาง ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถรับมือได้กับค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพดินให้เอื้อต่อการเพาะปลูกได้ในระยะยาว ทำให้กลายเป็นที่นาร้าง และที่ดินมีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ไปให้กับบุคคลอื่น ซึ่งพื้นที่ดินพรุและนาร้างของนิคมสหกรณ์บาเจาะ และปิเหล็ง จ.นราธิวาส รวมกับพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดินบางส่วน เมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันปลูกปาล์มกว่า 29,000 ไร่ (ประชาชาติธุรกิจ 21/11/2548) อย่างไรก็ตาม การปลูกปาล์มน้ำมันมีการลงทุนสูง ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถลงทุนปลูกปาล์มได้


 


นายอิบราเฮ็ม ชาวบ้านนาฮีม ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการจัดสรรพื้นป่าพรุเพื่อการเกษตร ซึ่งต่อมาพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นสวนปาล์มว่า การขุดคลองระบายน้ำในป่าพรุบริเวณนิคม อ.บาเจาะ ในช่วง 2-3 ปีแรกยังไม่เห็นผลกระทบอะไรชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้เริ่มแห้ง เป็นผลให้กระจูด    ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับ กก  ชอบขึ้นในที่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่าพรุ ในจังหวัดนราธิวาสจะมีเป็นพื้นที่ของกระจูดจำนวนมาก โดยเฉพาะในตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ และตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ หายไปเป็นจำนวนมาก


 


วัฒนธรรมท้องถิ่นกับป่าพรุ


 


ชาวบ้านเอากระจูดมาทำเป็นเสื่อ และสินค้าหัตถกรรมอื่นๆ เช่น กระเป๋า หมวก เป็นอาชีพเสริมในช่วงฤดูมรสุม เพราะจะงดทำการประมง แต่ตอนนี้อาชีพดังกล่าวหายไป ชาวบ้านจำนวนมากได้รับผลกระทบต้องเป็นคนว่างงาน หรือบางคนหาทางออกโดยการรับจ้างทั่วไป ผู้ชายไปเป็นลูกจ้างเรือประมงของมาเลเซีย ผู้หญิงไปทำงานรับจ้างที่ประเทศมาเลเซีย เป็นแม่บ้าน หรือลูกจ้างในร้านอาหาร


 


 "วัฒนธรรมท้องถิ่นเริ่มหายไป เดี๋ยวนี้เยาวชนไม่มีการสืบสานความรู้ในการทำกระจูด มีเพียงโครงการพระราชดำริของพระบรมราชินีนารถ ที่เข้ามาส่งเสริมการทำหัตถกรรมจากกระจูด อย่างไรก็ตาม กระจูดที่นำมาผลิตเป็นงานหัตถกรรมในปัจจุบันต้องนำเข้าโดยการซื้อจากพื้นที่อื่น เพราะใน อ.บาเจาะ กระจูดแทบจะหาไม่ได้แล้ว"


 


นางซัยนะ ซือแม สมาชิกกลุ่มกระจูดหมู่บ้านนาฮีม ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวว่า แต่ก่อนพื้นที่ป่าพรุเป็นที่สาธารณะที่เราไปหากระจูดได้  แต่ทุกวันนี้กลุ่มแม่บ้านที่ยังทำอาชีพหัตถกรรมจากกระจูดต้องออกไปหากระจูดจากพื้นที่อื่น เช่น บ้านปิเหล็ง บ้านกูแบซาลอ และบ้านจะแนะ  ห่างออกไปจากหมู่บ้านนาฮีมประมาณ 20-30 กิโลเมตร ซึ่งยังมีกระจูดธรรมชาติ หรือชาวบ้านมีความจำเป็นต้องซื้อกระจูดเพิ่มบางส่วน เพราะจำนวนกระจูดมีอย่างจำกัด โดยขายมัดละ 100 บาท


 


"กระจูดที่ซื้อมาบางครั้งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ แต่บางครั้งจำเป็นต้องซื้อ เพราะกระจูดในพื้นที่เดิมซึ่งเคยขึ้นตามธรรมชาติไม่มีแล้ว ความจริงแล้วกระจูดกับปาล์มนั้นอยู่ด้วยกันได้ แต่ปัญหาคือ คนที่ทำสวนปาล์มก็ตัดกระจูดทิ้ง เพราะกลัวว่าจะไปรบกวนต้นปาล์ม อีกทั้งเมื่อมีการจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตรให้กับประชาชนแล้ว พื้นที่เดิมที่เคยเป็นป่าพรุสาธารณะก็อยู่ในครอบครองในกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ประกอบกับชาวบ้านก็ไม่สามารถรุกล้ำเข้าไปเก็บกระจูดได้"


 


นายธนิต หนูยิ้ม นักวิชาการป่าไม้ ส่วนงานวัฒนวิจัย สำนักวิชาการกรมป่าไม้ กล่าวตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ที่ให้พรุบาเจาะเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้ป่ากลายสภาพไป เนื่องจากมีการส่งเสริมการทำการเกษตร จึงมีการขุดคูคลองเพื่อระบายน้ำในป่าพรุให้แห้ง แล้วจัดสรรเป็นพื้นที่ทางการเกษตรแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติกระจูดเป็นพืชตระหญ้าชนิดหนึ่ง มีความต้องการแสงมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่กระจูดจะเติบโตได้ในบริเวณป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์มากๆ เพราะป่าพรุจะมีความทึบ แสงผ่านเข้าไปได้น้อย แต่เหตุผลที่กระจูดลดจำนวนลง  น่าจะเกี่ยวกับการขุดยกร่องระบายน้ำในป่าพรุ เพราะกระจูดเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก เมื่อน้ำแห้งกระจูดก็ย่อมลดลงด้วย"


 


ผศ.นุกูล รัตนดากุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ป่าพรุมีความสำคัญกับวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากเป็นฐานทรัพยากรที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ มีอาหารตามธรรมชาติที่ชาวบ้านหาเลี้ยงชีพได้ ทั้งปลาต่างๆ และพืชสมุนไพรในป่าพรุ รวมทั้งชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่ทำนาพรุด้วย นอกจากนี้ป่าพรุยังเป็นเรื่องราวของตำนาน วัฒนธรรมของของคนในท้องถิ่น แต่โครงการต่างๆ ที่เข้าไปรุกพื้นที่ป่าพรุ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้


 


นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเรื่องปาล์มที่จะเกิดขึ้น เพราะโดยธรรมชาติมันมีพลังในการดูดซับน้ำในปริมาณมาก จึงเป็นไปได้ว่าการปลูกปาล์มมากๆ จะทำให้น้ำใต้ดินแห้ง แหล่งน้ำหายไป


 


"ปัญหาของปาล์มคือ การปลูกในจำนวนที่มากเกินไป จะไปทำลายแหล่งอาหารของชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ไปยึดสิทธิของคนจน ดังนั้นในการกระทำอะไร เราต้องเคารพภูมินิเวศน์ สร้างการมีส่วนร่วม เคารพภูมิสังคม ปรึกษาหารือว่าจะทำอะไรกัน เคารพคนที่อยู่ในพื้นที่ ต้องให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม การพัฒนาไม่ต้องรีบก็ได้ ต้องกันพื้นที่ทางวัฒนธรรมเอาไว้บ้าง ชาวบ้านไม่ควรถูกกดดัน กรณีป่าพรุที่ อ.บาเจาะ เป็นกรณีตัวอย่างเรื่องการพัฒนา มันเจ็บปวดมาก เมื่อชาวบ้านถูกกดดัน ทำให้เกิดความตรึงเครียด สุดท้ายก็นำมาสู่ปัญหา"


 


พลังงานทดแทน ที่ไม่ทำลายทรัพยากร และท้องถิ่น


 


แม้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการส่งเสริมการปลูกปาล์ม เราจะยอมเสี่ยงเพื่อแลกกับความสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของพื้นในประเทศจำนวนมาก ซึ่งมีค่าประเมินไม่ได้ อันเป็นพื้นที่ทางสังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของเรา


 


รศ.ดร.ธีระ เอกสมทราเมษฐ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวแสดงความเห็นว่า ในอนาตคปาล์มน้ำมันจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นแหล่งพลังงานสำรอง ซึ่งไม่คิดว่าจะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้ำใต้ดิน และความแห้งแล้ง แม้ว่าปาล์มจะเป็นพืชที่ใช้น้ำในปริมาณมาก แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาความชุ่มชื้นเอาไว้ได้ด้วยการคายน้ำออกมา สร้างความชุ่มชื้นและเป็นปัจจัยในการเกิดฝนด้วย


 


พื้นที่ภาคใต้มีความเหมาะสมกับการปลูกปาล์ม อย่างไรก็ตามการทดลองปลูกปาล์มในภาคอื่นๆ ซึ่งมีปัจจัยด้านปริมาณน้ำฝนแตกต่างจากภาคใต้นั้น จำเป็นต้องระวังเพราะจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ได้ เช่น ภาคอีสานที่มีปริมาณน้ำฝนน้อย รวมทั้งน้ำใต้ดินมีไม่มาก หากมีการปลูกปาล์มในพื้นที่ชุ่มน้ำจะทำให้น้ำใต้ดินแห้ง และนำมาสู่ปัญหาน้ำท่วมได้


 


นอกจากนี้การปลูกปาล์มยังต้องคำนึงถึงการขยายพื้นที่ด้วย หากไม่มีการวางมาตรการที่ชัดเจนอาจนำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นได้ ต้องควบคุมไม่ให้มีการรุกที่ป่าหรือที่สาธารณะอื่นๆ ดังนั้น การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในปัจจุบันควรใช้พื้นที่เดิม โดยการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์มาปลูกปาล์มแทน หรือใช้พื้นที่ที่เคยปลูกพืชชนิดอื่น ที่ให้ผลกำไรไม่คุ้มค่าหันมาปลูกปาล์มน้ำมันแทน


 


"เกษตรกรต้องตัดสินใจเองว่าควรเปลี่ยนจากพืชเดิมมาปลูกปาล์มหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลต่างๆ มาพิจารณา เพราะไม่สามารถชี้นำว่าควรปลูกหรือไม่ควรปลูก อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปนั้นการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในการปลูกพืชทางเศรษฐกิจนั้น มีปัจจัยทางตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ตัดสินใจว่าของพื้นที่ของตนเองปลูกพืชอะไร แต่โดยส่วนตัวคิดว่าปาล์มจะมีความสำคัญมากในอนาคต ด้านการเป็นแหล่งพลังงานสำรองทดแทนของประเทศ"


 


ความคิดเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสปาล์มน้ำมันที่เป็นตัวแทนความหวังเรื่องพลังงานทดแทนในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของนโยบายนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งรายงานการศึกษาโดยภาพรวมเรื่องผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปาล์มจะคุ้มค่าหรือไม่กับหายนะมืดที่มองไม่เห็น ที่อาจเกิดตามมา ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปลูกปาล์มน้ำมันนั้น แท้จริงแล้วตกอยู่ที่ใคร เพราะที่ผ่านมานั้น ผลลัพธ์จากการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวนั้น นำมาซึ่งความสูญเสียที่มักเป็นคนระดับรากหญ้าเป็นคนรับชะตากรรมอย่างที่ไม่อาจเลือกได้เสียทุกที.


 


ทิพย์อักษร มันปาติ


สำนักข่าวประชาธรรม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net