Skip to main content
sharethis

1 ก.ย. 2549 ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงกรณีที่อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งออกมาคัดค้านการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่า การจัดอันดับครั้งนี้ เพื่อเปิดเผยข้อมูลที่สาธารณะมีสิทธิรับรู้ข้อมูลของมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ในการเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่จะศึกษาต่อได้ และเพื่อให้มหาวิทยาลัยนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนากระตุ้นการผลิตงานวิจัยของสถาบัน  และนำมาใช้ประกอบการสร้างกติกาในการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้กับสถาบันอุดมศึกษา


 



ทั้งนี้ สกอ.ยืนยันว่า ดัชนีชี้วัดที่นำมาใช้จัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย ครอบคลุมทุกด้าน เป็นสากล และการเก็บข้อมูลก็น่าเชื่อถือ หากเมื่อใดที่ระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) นำระบบฐานข้อมูลออนไลน์ของมหาวิทยาลัยไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ แล้วยังมีสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ส่งข้อมูลมาให้ สกอ.ก็จะถูกจัดกลุ่มอยู่ในประเภทมหาวิทยาลัยที่ไม่มีข้อมูล ซึ่งจะส่งผลต่อตัวเลขการจัดสรรงบประมาณที่ต่ำก็จะว่ากันไม่ได้


 


หากสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งไม่ยอมรับก็ไม่เป็นไร แต่คิดว่ามันน่าเชื่อถือได้ เพราะถึงสกอ.ไม่จัดอันดับก็มีคนอื่น ประเทศอื่นมาจัดอันดับให้เราตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้นแทนที่จะให้คนอื่นมาทำ เราก็ทำของเราเองโดยให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ส่งข้อมูลมาเอง สกอ.เพียงนำมาวิเคราะห์ต่อ และคณะผู้วิจัยนี้มาจากหลายมหาวิทยาลัยดีกว่าให้ต่างประเทศมาจัดอันดับ แล้วมหาวิทยาลัยที่น่าจะติดไม่ติดอันดับ เพราะได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง


 


ส่วนเรื่องการยอมรับในดัชนีชี้วัดนั้น ใครไม่เชื่อก็สามารถโต้เถียงกันในทางวิชาการ เพราะผู้วิจัยเองได้นำดัชนีที่ใช้ไปสอบถามความเห็นกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยหลายแห่งก่อนนำมาใช้จริง อย่างไรก็ดี ตัวดัชนีนี้ไม่มีอะไรที่จะเป็นสากล และไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งดัชนีที่ใช้ในปีนี้แล้ว เมื่อถึงปีหน้าก็ต้องมีการปรับใหม่เช่นกัน


 



ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.ไม่ได้ปฏิเสธการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย แต่คัดค้านที่จะให้ สกอ.เป็นผู้จัด เพราะแม้ สกอ.จะเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่เชี่ยวชาญและไม่มีภารกิจเรื่องนี้ ผู้ที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่จัดอันดับได้ดีที่สุดน่าจะเป็นสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ดัชนีชี้วัดที่ สมศ. นำมาใช้ก็ครอบคลุมทุกเรื่อง


 


ขณะที่ดัชนีชี้วัดที่ สกอ.นำมาวัดนั้นเท่าที่ทราบมี 2 เรื่องคือ การเรียนการสอน และการวิจัยเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมภารกิจของมหาวิทยาลัย รวมทั้งข้อมูลที่นำมาจัดอันดับเน้นฐานข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งไม่สามารถสะท้อนผลงานของมหาวิทยาลัยได้ทุกศาสตร์ ที่สำคัญข้อมูลที่นำมาจัดอันดับไม่มีความสมบูรณ์ ซึ่ง สกอ.ก็ยอมรับแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมยังจะทำอยู่


 


"ถ้า สกอ.ยังยืนยันที่จะประกาศผลการจัดอันดับอาจจะกระทบอย่างร้ายแรงต่อความเชื่อถือมหาวิทยาลัยไทย และจะทำให้เกิดความปั่นป่วนในมหาวิทยาลัยได้ เพราะเมื่อประกาศไปแล้วจะต้องมีคนนำไปอ้างอิงจะถูกหรือผิดไม่ทราบ และโดยส่วนตัวผมเห็นว่าผลที่ประกาศไปจะมีผลเสียมากกว่าผลดี อีกอย่างอีก 1 เดือนเลขาธิการ กกอ. ก็จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่มหาวิทยาลัยที่ยังอยู่จะต้องมาขัดแย้งกัน" อธิการบดี มธ. กล่าว


 


รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สกอ.ควรบอกข้อจำกัดของตัวชี้วัดและจัดอันดับไปตามข้อจำกัด เพราะมหาวิทยาลัยจะมีความพร้อมและภูมิหลังภารกิจแตกต่างกัน หากนำมาเปรียบเทียบกันอาจเกิดความเข้าใจผิด เหมือนกับเอานักมวยคนละรุ่นมาเทียบกัน


 


ด้าน ผศ.ดร.ศิโรจน์  ผลพันธิน อธิการบดี มรภ.สวนดุสิต กล่าวว่า อย่าไปกังวลมากกับการจัดอันดับครั้งแรกของมหาวิทยาลัยไทย และต้องคิดว่าเป็นการสะท้อนความเป็นจริงว่าตัวเองพร้อมหรือไม่พร้อม หากจะโต้แย้งก็จะมีได้เรื่อยๆ สำหรับการนำ มรภ.ไปรวมแล้วจัดกลุ่มครั้งนี้ ยอมรับได้เมื่อรวมกันแล้วจะไปมีข้ออ้างว่าเป็นมหาวิทยาลัยใหม่คงไม่ถูก และเมื่อกลุ่มที่ได้ครั้งแรกออกมาไม่ดีก็กลับไปพัฒนา


 


ทั้งนี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปี 2548 ถือเป็นปีแรก แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ ดีเลิศ ดีเยี่ยม ดี พอใช้ และต้องปรับปรุง จัดเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชนบางส่วน ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาส่งข้อมูลมาให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพียง 51 แห่ง จากมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมด 138 สถาบัน



 


 


 


ผลการจัดอันดับ


 


กลุ่มมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน


 


ใช้เกณฑ์การประเมินจากอัตราส่วนนักศึกษาต่ออาจารย์ 20% บุคลากร 20% งบประมาณ 20% ความเป็นนานาชาติ 10% และการได้รับรางวัล 10% คิดคะแนนเต็มที่ 80 คะแนน เนื่องจากข้อมูลด้าน Student selectivity จากคะแนนเอนทรานซ์ไม่ครบถ้วนสำหรับมหาวิทยาลัย


 


มหาวิทยาลัยที่จัดอยู่ในกลุ่มดีเลิศ มีคะแนนการประเมินมากกว่า 75 คะแนน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดล


 


กลุ่มดีเยี่ยม มีคะแนนประเมินอยู่ในช่วง 70-74 คะแนน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ


 


กลุ่มดี มีคะแนนประเมินอยู่ในช่วง 65-69 คะแนน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


 


กลุ่มพอใช้ มีคะแนนประเมินอยู่ในช่วง 60-64 คะแนน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ


 


กลุ่มที่ต้องปรับปรุง มีคะแนนประเมินน้อยกว่า 60 คะแนน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ วิทยาลัยบัณฑิตบริหารธุรกิจ วิทยาลัยตาปีและมหาวิทยาลัยเทพกษัตริย์ตรี


 


กลุ่มมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย


 


ใช้เกณฑ์การประเมินจากงบประมาณ 20% บุคลากร 20% ผลงาน 45% และบัณฑิตศึกษา 15% รวม 100 คะแนน


 


มหาวิทยาลัยที่จัดอยู่ในกลุ่มดีเลิศ มีคะแนนการประเมินมากกว่า 75 คะแนน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


 


กลุ่มดีเยี่ยม มีคะแนนประเมินอยู่ในช่วง 70-75 คะแนน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


 


กลุ่มดี มีคะแนนประเมินอยู่ในช่วง 65-69 คะแนน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง


 


กลุ่มพอใช้ มีคะแนนประเมินอยู่ในช่วง 55-64 คะแนน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


 


กลุ่มที่ต้องปรับปรุง มีคะแนนประเมินน้อยกว่า 55 คะแนน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาลัยตาปี และวิทยาลัยบริหารธุรกิจ


 


 


เรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ คมชัดลึก และเดลินิวส์


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net