Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


อาห์มาดิเนจัด (popular ซะ)


 


 



บุช : เดี๋ยวเหอะ เดี๋ยวก็ "เชอร์ชิล" ซะให้เข็ด


 


 



รัมสเฟลด์...รวย-เครียด-กินเหล้า...รวย-เครียด-กินเหล้า...0-2 หรือ 0-3 ดี wa?


 


 



อาสัด (ต้องถอดแว่นตา-ถึงจะอ่านออก)


 


  


 


Middle East Uncensored


 


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 


วิกฤติแถวเลบานอนยังไม่จบ แต่ถึงตอนนี้...อิหร่านก็กลับมาร้อนเป็นข่าวพาดหัวอีกรอบ


 


22 สิงหาคม อิหร่านออกมาให้คำตอบ "ปฏิเสธ" ที่จะระงับโครงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม และหลัง 31 สิงหาคม (เส้นตายที่ให้ไว้) คณะมนตรีความมั่นคงจะมีการหารือแนวทางจัดการกับอิหร่านอีกที  อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของยูเอ็นดูอ่อนลงไปมาก (สงครามเลบานอนที่ผ่านไปหมาดๆ ทำให้หลายฝ่ายยังไม่พร้อมสำหรับสถานการณ์เผชิญหน้าตอนนี้เท่าไหร่) ขณะที่อเมริกาอาจจะต้องลุยเดี่ยวกับมาตรการ "แซงก์ชันนอกคณะมนตรีความมั่นคง" ในสถานการณ์ที่รัสเซียกับจีนไม่ยอมเอาด้วย


 


แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่ "ฉากหน้า" ของ"ปาหี่นิวเคลียร์อิหร่าน" เท่านั้น (อารมณ์เดียวกับ "ปาหี่ WMD อิรัก")


 


"ของจริงข้างหลัง" ที่หลายฝ่ายยังถกเถียงกันไม่เสร็จมีอยู่ว่า


 


อเมริกาพร้อมแค่ไหนสำหรับ "การใช้กำลังทางทหาร" กับอิหร่าน ในเมื่อทหารตัวเอง "ติดหล่ม" อยู่ในอิรัก?


 


อเมริกาเลิกล้มความคิดที่จะบอมบ์อิหร่านรึยัง หลังความพ่ายแพ้ของอิสราเอลต่อเฮซบอลเลาะห์?


 


อเมริกาคิดจะโจมตีอิหร่านเมื่อไหร่? ก่อนหรือหลังการเลือกตั้งมิดเทอมเดือนพฤศจิกายน?


 


ยังคงต้องจับตากันไปเรื่อยๆ และยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ในประเด็นเหล่านี้ แต่หนึ่งในคนที่เชื่อว่า อเมริกายังไม่เลิกล้มความคิดที่จะบอมบ์อิหร่านก็คือ ซีมัวร์ เฮิร์ช เพียงแต่เขาสันนิษฐานว่า มันจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่น่าจะเกิดขึ้นก่อนบุชหมดวาระ (ปลายปี 2008) มากกว่า


 


ซีมัวร์ เฮิร์ชจะซื้อหวยถูกมั้ย? หรือซีมัวร์ เฮิร์ชก็แค่นักข่าวที่ชอบขายข่าวร้ายๆ? ไม่มีใครรู้ แต่เราจะมาลองฟังทัศนะของเขาดู ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับฝ่ายข่าวกรองมากว่าครึ่งชีวิต 14 สิงหาคม หลังจากรายงาน "Watching Lebanon : Washington"s interests in Israel"s war" ของเขา (ชิ้นที่เราเพิ่งแปลไป) โพสต์ในเว็บไซต์นิวยอร์คเกอร์ เขาได้ให้สัมภาษณ์รายการ Democracy Now! ของ เอมี กูดแมน ในวันเดียวกัน เกี่ยวกับอเมริกา-เลบานอน-อิหร่าน-ซีเรีย เป็นการขยายความบทความชิ้นนั้น


 


ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่มีการแปลมาเพียงบางส่วน ส่วนที่หายไปคือส่วนที่ซ้ำๆ กับงานเขียน และส่วนที่เฮิร์ชอธิบายไม่เคลียร์เกี่ยวกับกรณี "อิหร่าน-คอนทรา" ในอดีต - ไม่มีอะไรเด็ดๆ แน่นอนค่ะ ("อิหร่าน-คอนทรา" ขอเก็บไว้ไปอธิบายยาวๆ ทีเดียววันหลัง)


 


เฮิร์ชเป็นนักข่าว "หมาเฝ้าบ้าน" มืออาชีพ เขาไม่ใช่ปัญญาชนซ้ายอย่างที่คุณจะไปคาดหวังให้มาตั้งคำถาม radical เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่านหรือเรื่องอื่นๆ ได้ แต่สิ่งที่เฮิร์ชจะให้เราได้ดี ก็คือข้อมูลลึกๆ วงใน-อินไซด์ผู้มีอำนาจพวกนั้นมากกว่า อ่านหนุกๆ แต่มีสาระค่ะ -  และสำหรับนักอ่านฮาร์ดคอที่อยากเห็นบทวิเคราะห์จริงจังเกี่ยวกับอิหร่าน เราจะมีอิหร่านแบบเนื้อๆ ไม่มังสวิรัติ มาฝากกันสัก 2-3 ชิ้น สลับกับเลบานอนหรืออะไรสักอย่างที่มันเละๆ ไปหมดช่วงนี้ เดี๋ยวดิฉันขอดูจังหวะอีกทีนะคะ  o


 


0 0 0


 


 



 ซีมัวร์ เฮิร์ช : ขอโทษนะครับ ผมชอบ "นั่งผับ" ไม่ชอบ "นั่งเทียน"


 


 


เมื่อ "จอร์จ บุช" อยากเป็น "วินสตัน เชอร์ชิล" (เอาเข้าไป) 


 


 


กูดแมน : ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้มั้ย...ว่าจนถึงตอนนี้ สิ่งที่คุณรู้มาเกี่ยวกับผลประโยชน์ของวอชิงตันในสงครามครั้งนี้คืออะไร?


 


เฮิร์ช : เมื่อคุณพูดถึงวอชิงตัน คุณจำเป็นต้องพูดถึง ดิก เชนีย์ ผมบอกคุณได้แบบไม่ลังเลเลยว่า วอชิงตันก็คือออฟฟิศของเชนีย์ คุณจะพูดว่ามันเป็นบ้านของพวกนีโอคอนในวอชิงตันก็ได้ - เพราะผู้ช่วยของเชนีย์และคนที่ใกล้ชิดกับเขาจำนวนหนึ่งต่างก็มีบทบาทอยู่ในทำเนียบขาว ไม่ว่าจะเป็น เอลเลียต เอเบริมส์, เดวิด เวิร์มเซอร์ หรือคนอื่นๆ


 


ตามความเข้าใจของผมก็คือ ด้วยการผลักดันจากทำเนียบขาวไปที่เพนตากอน กองทัพของเรา กองทัพอากาศของเราพยายามมาเป็นปีแล้ว ที่จะวางแผนโจมตีอิหร่านด้วยแคมเปญทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ให้สำเร็จ ซึ่งงานนี้ ก็ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ในเพนตากอนชนิดที่ว่า...บาดเจ็บกันไปทั้งสองฝ่ายตามมา ในเรื่องพื้นๆ เกี่ยวกับวิธีการทำสงครามนั่นแหละ คนพวกนั้นได้แต่หมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับแผนการโจมตีอิหร่าน ฝ่ายนาวิกโยธิน ทัพเรือ ทัพบก บอกว่าไม่ไหว เราเริ่มแคมเปญทิ้งระเบิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันจะจบลงด้วยการต้องเอาทหารไปถมอีกกับการสู้รบภาคพื้นดิน แล้วแผนการที่ว่าก็ไม่ไปไหนสักที ซึ่งเรื่องพวกนี้...ก็อย่างที่ผมเคยเขียนไปเยอะแล้ว


 


จนกระทั่ง ฤดูใบไม้ผลินี้ ท่ามกลางสภาวะชะงักงัน กองทัพอากาศของอเมริกาก็เลยหันหน้าไปหากองทัพอากาศอิสราเอล ภายใต้การนำของ พลโทแดน ฮาลูทซ์  - ซึ่งผมเข้าใจว่า เขาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของอิสราเอลที่มาจากกองทัพอากาศนะ -  และฮาลูทซ์ก็เป็นอีกคนที่เชื่อในเรื่องการโจมตีทางอากาศเหมือนๆ กัน กองทัพแต่ละฝ่ายต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน ในที่สุดพวกเขาก็ได้ข้อสรุปออกมา แล้วไอเดียที่ว่านี้ - การโจมตีเฮซบอลเลาะห์ด้วยแคมเปญทางอากาศ strategic bombing ของอิสราเอล - ก็ได้รับความสนใจจากเชนีย์ งานนี้ ผมคงบอกคุณไม่ได้ว่าบุชยืนอยู่ตรงไหน แต่คุณอาจจะพอสรุปได้ว่าเขาต้องเอาด้วยกับเชนีย์แน่ เพราะทุกอย่างที่เขาทำในช่วงที่ผ่านมามันฟ้องชัดเจน


 


ตามที่เชนีย์คิด มันคล้ายๆ กับว่า สงครามครั้งนี้...ทำหนึ่งได้ถึงสาม อะไรประมาณนั้น อันดับแรกก็คือ เราสามารถประเมินได้ว่า strategic bombing ในกรณีนี้จะให้ผลอย่างไร ขนาดไหน อย่างที่เราก็รู้ว่า กองทัพอากาศอิสราเอลมีนักบินชั้นยอดอยู่แล้ว ถ้าพวกเขาเข้าไปในเลบานอนและสามารถระเบิดเฮซบอลเลาะห์ให้กระเจิงออกมาจากรังหมาจิ้งจอก หรือรังอะไรสักอย่างใต้ดินได้ มันจะส่งผลบวกเต็มๆ ทันทีต่อความทะเยอทะยานของบุชกับเชนีย์ที่ฝันอยากจะจัดการกับอิหร่านมานาน  และผมไม่คิดว่าประธานาธิบดีคนนี้ของเรา จะก้าวลงจากออฟฟิศโดยปล่อยอิหร่านทิ้งไว้แบบนี้...แบบที่เขาเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามในเรื่องนิวเคลียร์


 


อันดับสองก็คือ แน่นอนว่า คุณไม่สามารถจะโจมตีอิหร่านได้ ถ้าไม่จัดการกับจรวดหรือมิสเซิลของเฮซบอลเลาะห์เสียก่อน คุณโจมตีอิหร่านเมื่อไหร่ เฮซบอลเลาะห์พร้อมที่จะระเบิดไฮฟาหรือเทลอาวีฟทันที ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นสิ่งที่ต้องเอาออกไปก่อน และสาม ถ้าคุณกำจัดเฮซบอลเลาะห์และนัสราลลาห์ ก็เท่ากับว่า คุณกำจัดการก่อการร้าย คนที่พวกเขาเชื่อว่า - อย่างที่ ริชาร์ด อาร์มิเทจ พูดน่ะ - ผู้ก่อการร้ายกลุ่ม A


 


และบนพื้นฐานวิธีคิดแบบนี้เอง พวกเขาถึงเห็นว่ามันมีประโยชน์มากมายในการที่อิสราเอลจะเดินหน้า มันเลยมีการพบปะและติดต่อกันอย่างคึกคักถี่ยิบตามมา


 


กูดแมน : คุณเขียนว่า อิสราเอลบอกเราว่า "มันจะเป็นสงครามราคาถูกแต่มีประโยชน์หลายอย่าง" คุณอ้างถึงคำพูดของที่ปรึกษารัฐบาลคนหนึ่งซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอล


 


เฮิร์ช : ชัวร์ เชื่อเถอะ ผมว่าอิสราเอลคิดแบบนั้นแน่ๆ  และสำหรับผมแล้ว ยังมีอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ถ้าเรามองย้อนหลังไปไม่ต้องไกล เราก็จะสามารถเจอได้กับอาการมองโลกในแง่ดีบนความหลงผิดเหมือนๆ กรณีนี้ นั่นก็คือ ตอนที่เราคิดจะบุกอิรักน่ะแหละ คุณจะบอกว่า...นี่มันน้องๆ อิรัก หรือจะบอกว่า deja-vu เลยก็ได้ แล้วแต่อยากจะใช้คำไหน อิสราเอลหลงคิดว่ามันจะง่าย


 


แต่ยังมีอีกประเด็นที่ผมอยากจะพูด เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะดุดใจผมอย่างแรงทันทีที่ผมได้เห็นวิธีการบอมบ์ชุดแรกของอิสราเอล ผมรู้สึกโดยสัญชาติญาณว่า มันมีบางอย่างที่ไม่ค่อยจะธรรมดาแล้วนะ เพราะหนึ่งในแผนของกองทัพอากาศเท่าที่ผมรู้มา แต่ไม่เคยเขียนถึง ก็คือปฏิบัติการ  shock and awe นั่นเอง การทิ้งบอมบ์แบบมโหฬารตระการตาลงไปยังที่ไหนก็ตามที่เราเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ กระหน่ำโจมตีอย่างหนักติดกัน 36 ชั่วโมง เอาให้ประชาชนต้องหนีไปหลบภัยอยู่ใต้ดิน มันไม่ได้พุ่งเป้าไปที่พลเรือน แต่จะโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่าง บอมบ์ถนน บอมบ์โรงไฟฟ้า โรงประปา อะไรก็ตาม


 


หลังจากนั้น 36 ชั่วโมงผ่านไป ประชาชนก็จะโผล่ออกมาจากบังเกอร์และหันไปดูสิ่งที่เหลือไว้รอบๆ ในมุมมองของพวกนีโอคอน คนพวกนั้นจะพูดกันว่า "โอ มายก็อด มุลลาห์ทำเราแล้วสิ พวกมุลลาห์ที่ปกครองประเทศเราไงล่ะ ทำให้เราต้องเป็นแบบนี้ เราจะต้องล้มล้างและตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่ใช่พวกบ้าศาสนาขึ้นมาแทน" นี่คือสิ่งที่พวกเขาเคยคิดกันเมื่อปีที่แล้ว มันมาจากขั้วหนึ่งในเพนตากอน ขั้วพลเรือน และเช่นกัน มาจากค่ายเชนีย์


 


ด้วยเหตุนี้ ตอนที่ผมเห็นฉากกระหน่ำซัลโวชุดแรกของอิสราเอล เป้าหมายแรก ผมจำได้ชัดเลย เพราะพวกเขากำจัดเส้นทางจราจรทางอากาศเป็นอันดับแรก พวกเขาทำให้พลเรือนหมดโอกาสที่จะเดินทางหนีด้วยเครื่องบิน แล้วก็ตามมาด้วยไฮเวย์ ถนน และปั๊มน้ำมัน แม้ว่าโดยพื้นฐานพวกเขาจะต้องการตัดขาดเลบานอนตอนใต้ แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาทำลายล้างระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคอย่างหนักก็คือ ความคิดที่ว่า พวกคริสเตียนกับซุนนีจะลุกขึ้นมาต่อต้านเฮซบอลเลาะห์ - ซึ่งเป็นชีอะต์ - และมันก็จะเป็นรางวัลอย่างดีในการโจมตีครั้งนี้ และนำไปสู่สิ่งดีๆ ที่คิดไว้อีกมาก


 


กูดแมน : คุณพอจะเล่าเรื่องนี้ทั้งหมดเรียงตามลำดับเวลาก่อน-หลังให้เราฟังหน่อยได้มั้ยคะ? อย่างเช่นการพบปะกันของอิสราเอลกับวอชิงตันที่เกิดขึ้นก่อนการจับตัว (capture) ทหารทั้งสองคนไป


 


เฮิร์ช : ผมไม่ได้รู้อะไรมากมายขนาดนั้นหรอกนะ เพราะในเมืองนี้ ในวอชิงตัน ในทำเนียบขาว มันเป็นที่รู้กันดีว่า มีความลับถูกกีดกันเอาไว้เยอะแยะ ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บุชเกี่ยวข้องกับแผนนี้โดยตรงมากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนว่า ตามอำนาจหน้าที่ เขาต้องเป็นคนสั่งเดินหน้านโยบายนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมพอจะประเมินเอาเองได้อย่างมากที่สุดก็คือ เมื่อฤดูใบไม้ผลินี้ มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดถึงพริกถึงขิงในเพนตากอน เรื่องออปชันหนึ่งในการโจมตีอิหร่าน ซึ่งก็ได้แก่ การใช้นิวเคลียร์บอมบ์อิหร่าน นั่นเอง ถึงขนาดทหารระดับนายพลต้องลุกขึ้นมางัดข้อกับทำเนียบขาวพอสมควรเลยทีเดียว และนี่เองที่ผมคิดว่า มันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความอ่อนแอทางการเมืองของคณะผู้บริหารบุช จนถึงจุดนี้ ในที่สุด ออปชันหรือทางเลือกที่จะใช้นิวเคลียร์กับอิหร่านก็ถูกโยนทิ้งไป


 


อิหร่านไม่ใช่เรื่องบนดิน แต่อิหร่านหมายถึงใต้ดิน ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ตามที่มีการกล่าวหาอิหร่านนั้น อย่างที่ผมเขียนไปแล้วว่า - เราไม่สามารถหาหลักฐานอะไรมาพิสูจน์ได้เลยว่าอิหร่านมีโครงการผลิตอาวุธจริงๆ -  แต่ถึงอย่างไร แน่นอนว่า พวกเขากำลังทำการวิจัยกันอยู่ในอิหร่าน และพวกเขาก็อาจจะมีความตั้งใจในเรื่องนี้อยู่ก็ได้ เพียงแต่สิ่งต่างๆ มันฝังลึกลงไปใต้ดิน ฝังอยู่ใต้หิน 75 ฟุต หรืออะไรที่ว่าน่ะแหละ เราทุกคนต่างก็ได้ยินมาแบบนี้ จนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิ เมื่อนิวเคลียร์ออปชันถูกผลักทิ้งไปจากโต๊ะ พวกเขาก็มีปัญหาให้ต้องคิดกันใหญ่ว่า จะทำยังไงกับความลึก 75 ฟุต โจมตีระบบต่างๆ ใต้นั้นแล้วรับประกันว่ามันจะเห็นผล และจุดนั้นเอง ที่กองทัพอากาศของเราเอาเรื่องนี้ไปหารือกับกองทัพอากาศอิสราเอล เพราะอิสราเอลมีอาวุธที่เราส่งไปให้อยู่แล้ว ที่ผ่านมา เราได้ส่งอาวุธล็อตใหญ่ไปให้อิสราเอลเป็นระเบิดบังเกอร์บัสเตอร์ขนาดยักษ์ 5,000 ปอนด์ และอิสราเอลก็ได้ทำวิจัยมากมาย เกี่ยวกับไอเดียที่จะใช้อาวุธแบบต่างๆ อย่างเช่น การใช้ระเบิดวางซ้อนกัน 2-3 อัน 


 


แล้วเรื่องราวต่างๆ ก็เริ่มขึ้น - จะว่าไปแล้ว การที่กองทัพอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกองทัพอิสราเอล ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วล่ะ การวางแผนร่วมกัน การใช้ข้อมูลข่าวกรองร่วมกัน มันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เรากับอิสราเอลใกล้ชิดกันอย่างมาก ทั้งการข่าว การทหาร สารพัดที่จะร่วมมือกัน - ในที่สุด ไอเดียเรื่องนี้ ก็ผุดขึ้นมา มันเข้าไปสู่เพนตากอน มันขึ้นไปถึงโดนัลด์ รัมสเฟลด์ แล้วมันก็ไปถึงเชนีย์ ซึ่งปฏิกิริยาของเขาก็คือ "เป็นความคิดที่เยี่ยมมาก มาช่วยกันดันเรื่องนี้ดีกว่า"


 


กูดแมน : คุณพูดถึง เอลเลียต เอเบริมส์ แล้วคุณก็พูดถึงบทบาท โดนัลด์ รัมสเฟลด์ ไว้ด้วย


 


เฮิร์ช : มันมีมุมที่น่าสนใจทีเดียวเกี่ยวกับรัมสเฟลด์ คือ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นตรงกันในเรื่องนี้หรอกนะ แต่ เอมี คุณก็รู้ว่าผมอายุขนาดนี้แล้ว ผ่านอะไรมาเยอะแล้ว เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเมืองนี้มานานเต็มที โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา มีคนเยอะแยะไปหมดเปิดปากพูดกับผม เล่าอะไรต่ออะไรให้ฟัง และนี่เป็นครั้งแรก ที่ดูเหมือนรัมมีจะไม่ค่อยเห็นด้วย ผมได้ยินมาอย่างนี้ จริงๆ แล้ว มีบางคนถึงกับออกปากเลยว่า เขาเริ่มจะกลายเป็น รอเบิร์ต แมคนาแมรา (Robert McNamara) เข้าแล้ว ถ้าคุณยังจำได้ แมคนาแมรา อดีตรัฐมนตรีกลาโหมในยุคเคนเนดีและยุคจอห์นสัน เขาเคยเป็นผู้สนับสนุนสงครามเวียดนามคนสำคัญ เป็นหนึ่งในหัวหน้าเซลส์แมน-นักขายสงครามเวียดนาม-ก็ว่าได้ ในยุค 60 จนกระทั่งในปี 1967 เขาเริ่มถอดใจว่ามันไม่มีทางชนะ จากนั้นเขาก็ถูกดันออกไปพ้นทาง และถูกจับไปวางไว้ที่ธนาคารโลก (ปี 1968)


 


รัมสเฟลด์เป็นกังวลเรื่องทหารอเมริกัน 150,000 คนในอิรัก (136,000 คน) ซึ่งพร้อมจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำได้ง่ายๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอิรักแพ้ไปแล้ว ขณะที่ในอัฟกานิสถาน มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ที่นั่น มันคล้ายๆ กับว่าตอนนี้เราได้คะแนน 0 - 2 จากสนามรบทั้งสองแห่ง ด้วยเหตุนี้รัมสเฟลด์เลยไม่แฮ็ปปี้กับนโยบายนี้ กับการเข้าไปทำสงครามยืดเยื้อกับนัสราลลาห์ในเลบานอนใต้ - - เอ่อ สำหรับ นัสราลลาห์ เนี่ย ผมคิดว่าเขาเป็นตัวของตัวเองนะ ไม่มีใครรู้คำตอบจริงๆ ในเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่า นัสราลลาห์เป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาต้องการจะทำอะไร ผมไม่คิดว่าซีเรียหรืออิหร่านจะเป็นฝ่ายชักใยควบคุมเขาได้ เหมือนอย่างที่วอชิงตันหรือทำเนียบขาวเชื่อว่าทุกอย่างต้องตรงมาจากอิหร่าน ไม่ว่าใครที่เคยพบนัสราลลาห์ และจากการที่ผมเคยเจอเขาสองสามครั้ง ผมว่าเขาเป็นคนออกไปทางน่าเกรงขาม ไม่ใช่คนที่ใครจะควบคุมได้ง่ายๆ


 


กูดแมน : ซีมัวร์ เฮิร์ช คุณไปเจอเขามาเมื่อไหร่?


 


เฮิร์ช : ก็ได้เจอกันเยอะพอสมควร ผมหมายถึง ผมยังเคยสัมภาษณ์เขาลงในนิตยสารนิวยอร์คเกอร์ และผมก็เพิ่งไปเจอเขามาเมื่อฤดูหนาวนี่เอง


 


กูดแมน : ในเลบานอน?


 


เฮิร์ช : ใช่


 


กูดแมน : คุณช่วยบรรยายให้ฟังหน่อยได้มั้ย ว่าเขาดูเป็นยังไง...ในเซนส์ของคุณน่ะ?


 


เฮิร์ช : ผมว่าเขาเป็นคนเคร่งศาสนานะ  แต่ในเซนส์ที่...ยังไงดีล่ะ? คือ ผมมีโอกาสได้เจอกับผู้นำศาสนามาหลายคน ผมยังเคยเจอ  Archbishop O'Connell   ในนิวยอร์คนี่เอง เขาเป็นหนึ่งในคนแบบนี้ คนที่คุณจะรู้สึกว่า - สำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าแบบผมเนี่ยนะ - หลังคุณได้พบปะกับคนแบบนี้แล้ว คุณจะจากเขามาด้วยความรู้สึกเหมือนกับว่า มันต้องมีอะไรบางอย่างแน่ๆ อยู่ในศาสนา พวกเขาถึงได้อุทิศตัวและมีศรัทธาอย่างแรงกล้าขนาดนี้ อย่างนัสราลลาห์เนี่ย เขาดูเป็นคนที่มีความศรัทธาอย่างมาก แต่นัยน์ตาเขาไม่ได้เย็นชาไร้ความรู้สึกนะ นัยน์ตาเขามีชีวิต แล้วเขาก็ดูมีอารมณ์ขันด้วย


 


เหตุผลที่ผมได้พบเขาครั้งแรก คือผมต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทั่วโลกอยู่แล้ว และส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่พวกนั้นก็อยู่ในตะวันออกกลาง ตอนที่สงครามอิรักเริ่มต้น คนพวกนี้มาพูดเชียร์ให้ผมไปเจอนัสราลลาห์ ด้วยเหตุผลที่ว่า คนๆ นี้ล่ะ ในฐานะที่เขาเป็นชีอะต์...เขาจะบอกผมได้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในอิรัก เพราะเขามีความใกล้ชิดกับผู้นำชีอะต์ในอิรัก ใกล้ชิดกับซิสตานี (อยาตอลลาห์ อาลี อัล-ซิสตานี - ผู้นำทางจิตวิญญาณของชีอะต์ที่มีบารมีสูงสุดในอิรัก) รวมทั้งใกล้ชิดกับพวกที่มีอำนาจบารมีในอิหร่านด้วย เพราะฉะนั้นในฐานะนักข่าว ผมก็ย่อมต้องไป แล้วสิ่งที่คุยกันส่วนใหญ่ตอนนั้นก็เป็นเรื่องของอิรัก


 


อย่างไรก็ตาม กลับมาที่รัมสเฟลด์ต่ออีกนิดนะ ประเด็นของผมก็คือ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อิหร่านมีอิทธิพลอย่างมหาศาลในอิรัก ตอนนี้อิรักอยู่ภายใต้อิทธิพลของชีอะต์ และของอิหร่านที่เป็นชีอะต์ ผมคิดว่าที่รัมสเฟลด์ไม่สบายใจก็คือ สงครามที่ยืดเยื้อกับนัสราลลาห์จะทำให้อิหร่านซึ่งสนับสนุนเฮซบอลเลาะห์อยู่แล้ว หันมาบีบทหารอเมริกาในอิรัก


 


กูดแมน : คุณเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่อเมริกาปฏิเสธข้อเสนอเจรจาของซีเรียในการดีลกับปัญหาการก่อการร้าย ช่วยเล่าตรงนี้ให้ฟังหน่อยได้มั้ย? เพราะเราคงไม่สามารถพูดเรื่องเลบานอนหรืออิรักในรัฐบาลนี้ได้ โดยไม่กล่าวถึงซีเรียและอิหร่าน


 


เฮิร์ช : โอ ฟังนะ เอมี นี่คือรัฐบาลที่เอาแต่ปฏิเสธที่จะเจรจากับคนที่ตัวเองไม่ชอบหน้ามาตลอด คุณรู้มั้ยว่าทำไม ผมไม่เข้าใจพวกเขาจริงๆ ตอนที่ลูกผมยังเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ในเนิร์สเซอรีเนี่ย พวกเด็กผู้ชายก็ต้องมีเรื่องตีกันอยู่แล้วใช่มั้ย ครูก็จะไปดึงตัวเด็กสองคนที่กำลังสู้กันมา แล้วบอกว่า "เธอสองคนมาจับมือกันซะ แล้วกลับไปเล่นต่อในกองทรายตามเดิม" แล้วพวกนั้นก็ไป แต่เรากลับมีประธานาธิบดีที่ไม่ยอมคุยกับอิหร่าน แม้ว่าอิหร่านอยากจะคุยด้วย มีรายงานเรื่องนี้เยอะแยะเต็มไปหมด นอกจากนี้ พวกเขาก็ไม่คิดจะคุยกับซีเรียเช่นกัน


 


ผมเคยสัมภาษณ์ประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล-อาสัด (Bashar al-Asad) อยู่สองสามครั้ง และครั้งหลังๆ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาบอกผมด้วยความเจ็บปวดว่า - อือม์ ตอนนั้นคือปี 2005 นะ - เขาเขียนจดหมายถึงจอร์จ บุช และรู้สึกว่าเขาจะหยิบให้ผมดูด้วย จดหมายนั้นเขียนทำนองว่า "มาเป็นมิตรกันเถอะ มาคุยกันดีกว่า เราต่างก็มีหลายๆ อย่างร่วมกัน เราสามารถช่วยคุณได้ โดยพื้นฐานแล้ว ทั้งเราและอิหร่าน เราต่างก็ช่วยคุณได้มากกว่าประเทศไหนในเรื่องของอิรัก ทำไมคุณไม่ให้โอกาสเราล่ะ? เราไม่ต้องการให้มี "โซมาเลีย" เกิดขึ้นที่พรมแดนของเราสักนิด เราไม่สนใจที่จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายตรงนั้น" แต่ทำเนียบขาวไม่เชื่อคำพูดเหล่านี้ เขาบอกว่า ไม่มีการตอบจดหมายกลับมา ทูตของเขาในวอชิงตัน อีหมัด มุสตาฟา (Imad Mustafa) ถูกตัดขาดโดดเดี่ยวอย่างสิ้นเชิง การเจรจาอย่างที่ทำเนียบขาวหรือ คอนโดลีซซา ไรซ์ พยายามจะพูดว่าเราเปิดการเจรจากับอิหร่าน หรือซีเรีย คุณรู้มั้ย มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย มันเป็นแค่การพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่มีใครจริงจังหรือใช้ความพยายามอะไรทั้งสิ้น


 


อย่างที่ผมเคยเขียนในนิวยอร์คเกอร์ หลายปีมาแล้ว ซีเรียคือหนึ่งในผู้ช่วยคนสำคัญของเรา หลังจากถูกอัล-ไคดาโจมตี เพราะพ่อของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน อาสัดคนพ่อน่ะ  (Hafez Al-Assad - เสียชีวิตปี 2000) เป็นคนที่ไม่ถูกโรคกับพวกจีฮัดดิสต์ เขาไม่ชอบ Muslim Brotherhood  (เป็นมูฟเมนท์ของอิสลามซุนนีที่มีกำเนิดในอียิปต์ยุค 20 ก่อนที่แพร่ไปสู่ประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ - เราจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ Muslim Brotherhood  และฮามาสมานำเสนอเต็มๆ วันหลัง) พวกนั้นเป็นศัตรูกับเขา และเขาก็มีข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับ Muslim Brotherhood ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับอัล-ไคดาอย่างมาก จริงๆ แล้ว หลัง 9/11 เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับอัล-ไคดาจากข้อมูลของซีเรียมากกว่าทุกประเทศเลย ประธานาธิบดีอาสัด (คนลูก - ประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2000) ยอมให้เราเข้าถึงแฟ้มข้อมูลจำนวนมากมายหลายพันแฟ้ม ผมเคยเขียนเรื่องนั้นเมื่อปี 2002 หรือ 03 เนี่ยแหละ ในนิวยอร์คเกอร์ ผมจำได้ว่าผมยังโควทคำพูดของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสของซีเรียไว้ด้วยว่า "เราเต็มใจที่จะเจรจาแม้แต่ในเรื่องความช่วยเหลือที่คุณต้องการเกี่ยวกับเฮซบอลเลาะห์ เราอยากเห็นคุณชนะในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย"


 


และนี่ก็คือพฤติกรรมอันน่าสยอง-น่าอึ้ง-น่าตะลึงของคนในทำเนียบขาว...ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในการบริหารของพวกเขาน่ะนะ คุณรู้มั้ย ผมไม่คิดว่าในบรรดาพวกเรา...จะมีใครสามารถหายใจหายคอแบบโล่งๆ ได้เลยจนกว่าจะถึงปี 2009 หรือถึงพิธีเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่น่ะแหละ อย่างเรื่องนี้...มันชัดเจนไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้าเราเข้าถึงซีเรียหรือมีการเจรจาตั้งแต่ตอนนั้น - คือข้อมูลตรงนี้ผมรู้แต่ไม่เคยเขียนถึงนะ เพราะตอนนั้นกำลังเขียนเรื่องอื่นอยู่ - คือถ้าเรามีการเจรจากับซีเรียตั้งแต่ตอนนั้น สำหรับผม ไม่ต้องสงสัยเลยนะว่าอิสราเอลก็สนใจอยากจะร่วมวงพูดคุยกับซีเรียเช่นกันในปี 2003 แม้แต่ในประเด็นขัดแย้งที่เจรจายาก อย่างเรื่อง ที่ราบสูงโกลาน ด้วยซ้ำ - - แทนที่เราจะชักจูงให้มีการหันหน้าคุยกัน เรากลับไปบั่นทอนความต้องการที่จะเจรจาของอิสราเอลแทน


 


กูดแมน : ทำไม?


เฮิร์ช : ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ผมสันนิษฐานว่า...เราอาจจะไม่อยากเห็นเพื่อนของเรามีการเจรจากับศัตรูของเรา


 


กูดแมน : คุณเคยเขียนไว้ในปี 2003 เกี่ยวกับการที่อเมริกาบอบม์ขบวนรถในซีเรีย ซึ่งหตุการณ์ครั้งนั้นได้กลายมาเป็นปัจจัยที่ทำลายความพยายามของซีเรียที่จะสื่อสารกับวอชิงตันไปตลอดกาล


 


เฮิร์ช : มันไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว คือตอนนั้นน่ะ...มันใช่ ซีเรียรู้สึกอย่างนั้น แต่ตอนหลัง ประธานาธิบดีอาสัด ก็มีความพยายามที่จะเจรจาอีกครั้งในปี 2005 จดหมายที่เขาให้ผมดูเนี่ย...มันเพิ่งเขียนขึ้นนะ เขาพยายามจะเมคคอนแทคกับวอชิงตัน เพราะว่าในความคิดของเขา เขามีอะไรจะออฟเฟอร์ให้กับทางเราเยอะมากในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้วิกฤติในอิรัก อย่าลืมว่า วิกฤติในอิรัก...มันก็เป็นวิกฤติสำหรับซีเรียด้วย มีผู้ลี้ภัยอิรักประมาณ 400,000 -500,000 คน อาศัยอยู่ในกรุงดามัสกัสและที่ต่างๆ ในซีเรีย แถมช่วงหลังนี้ ซีเรียยังต้องรองรับผู้ลี้ภัยชาวเลบานิสอีกประมาณ 200,000 คน เพราะฉะนั้น อสังหาริมทรัพย์ในซีเรียตอนนี้ มันไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ หรือเป็นเจ้าของได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว


 


เรื่องน่าตลกก็คือ ขณะที่เราทนซีเรียไม่ได้ ไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วย กลับมีทุนต่างประเทศไหลเข้าไปในซีเรียแบบถล่มทลายเป็นครั้งแรก เพราะอะไร? น้ำมันบาร์เรลละ 75 ดอลลาร์ ทุกประเทศแถวอ่าวเปอร์เชียแทบจะใช้เงินอาบแทนน้ำอยู่แล้ว พวกนั้นไม่รู้จะเอาเงินที่ไหลเข้ามาทุกวันไปทำอะไรดี พวกเขาไม่อยากลงทุนในอเมริกาอีกแล้วตอนนี้ เพราะมีบางส่วนที่บริจาคเงินทำการกุศลแล้วชื่อของพวกเขาต้องไปติดอยู่ใน watch list ของอเมริกา มีนักลงทุนในหลายประเทศกลัวกันว่า ถ้าพวกเขานำเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ที่สะสมไว้ไปลงทุนในอเมริกาหรือในอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกา พวกเขาอาจจะถูกยึดทรัพย์ได้ในข้อหาเป็นผู้ช่วยเหลือหรือรู้เห็นเป็นใจกับการก่อการร้าย พวกเขาก็เลยเอาเงินมาทุ่มใส่ซีเรียกันใหญ่ ช่วงที่ผ่านมานี้ แถมยังทุ่มใส่เลบานอนอีกด้วย แต่ตอนนี้ที่เลบานอนต้องยุติไปแล้ว


 


กูดแมน : บ็อบ แพรี (Bob Parry) เขียนที่ Consortium News ไว้ว่า พวกนีโอ-คอนในอเมริกาต่างหาก ที่ผลักดันอิสราเอลเรื่องการโจมตีเฮซบอลเลาะห์-ให้ไปไกลเกินกว่าความต้องการจริงๆ ของอิสราเอล คุณเห็นด้วยกับเขามั้ย?


 


เฮิร์ช : อิสราเอลหลายๆ คนที่ผมไปคุยด้วยต่างก็พูดว่า "ฟังนะ มันอาจจะมีข้อให้สงสัยได้ว่า เราถูก (อเมริกา) ผลักดันในเรื่องจังหวะเวลา แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ อิสราเอลต้องการจะโจมตีอยู่แล้ว" คือ ผม...เอ้อ - - บ็อบ แพรีอาจจะพูดถูกหลายอย่างในเรื่อง "อิหร่าน-คอนทรา"  เพียงแต่ข้อมูลที่ผมได้มามันไม่ตรงกับเขา แต่แน่นอนมันมีการตัดสินใจบางอย่าง อย่างที่ผมเขียนไปแล้วในบทความ อเมริกาบอกอิสราเอลว่า...ทำเร็วดีกว่าทำช้า เราต้องการให้มันเกิดขึ้นก่อนประธานาธิบดีจะหมดวาระ - - ซึ่งหมายถึง การกำจัดเฮซบอลเลาะห์ทิ้งไปเพื่อที่จะกำจัดอิหร่านตามมา


 


กูดแมน : สองสามเดือนที่แล้ว คุณเขียนรายงานชิ้นที่ชื่อว่า "The Iran Plans : How Far Will the White House Go?" พูดถึงแผนบอมบ์อิหร่านของอเมริกา ตอนนี้คุณคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นยังไง ไปถึงไหนแล้ว ระหว่างอเมริกากับตะวันออกกลาง?


 


เฮิร์ช : เอ่อ...ผมคิดว่า เราคงไม่สามารถที่จะมองเรื่องนี้และใช้วิธีคิดที่มีเหตุผลใดๆ เข้าไปจับและหาข้อสรุปได้ เพราะง่ายๆ เลยก็คือ มันไม่ใช่สิ่งที่บุชกับเชนีย์อยากจะทำ อย่างที่ผมบอกแล้ว พวกนั้นต้องการ...ล้มอิหร่านทิ้งไป พวกเขาไม่ต้องการเจรจา พวกนั้นเชื่อว่าอิหร่านเป็น "อักษะแห่งความชั่วร้าย" เพราะฉะนั้น พูดตรงๆ เลย ความวิตกของผมก็คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในขั้นต่อไป - คือผมไม่คิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งปลายปีนี้ มันเป็นไปไม่ได้ - สิ่งที่ผมวิตกมากๆ ก็คือ มันจะเกิดขึ้นตอนที่จอร์จ บุช ตกอยู่ในสถานะเป็ดง่อยต่างหาก อย่างที่มีคนเล่าให้ผมฟังว่า ในการพูดคุยส่วนตัว จอร์จ บุช มักจะพูดถึง วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ถ้าคุณจำได้ หลังจากเชอร์ชิลนำอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็เริ่มหันหลังให้เขา เขาไม่เป็นที่ชื่นชมมากเท่าไหร่จนกระทั่งอีกหลายปีต่อมา ผมคิดว่าบุชมองตัวเองแบบนี้ "ผมรู้ว่าผมคิดถูก แต่คนพวกนั้นกลับไม่ค่อยยอมเชื่อผม แต่ถึงยังไง ผมก็จะทำสิ่งที่ผมเชื่อว่ามันถูกต้องให้ได้ อาจจะใน 30 ปี หรือ 50 ปีข้างหน้า พวกเขาถึงจะยอมรับว่า ผมคือประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด - อย่างที่ผมเชื่อว่าผมเป็น" และนี่แหละ คือสิ่งที่เรามีจริงๆ ตอนนี้ ในฐานะผู้นำของเรา


 


กุดแมน : แล้ว คอนโดลีซซา ไรซ์ อยู่ตรงไหน งานนี้?


 


เฮิร์ช : ถ้าจะให้เดา ผมคิดว่าเธอน่าจะฉลาดพอที่จะรู้ทิศทางความเป็นไปในเรื่องนี้นะ  - ทริปสุดท้ายที่เธอต้องไปตะวันออกกลาง (เพื่อเจรจาหาข้อยุติเรื่องอิสราเอล-เลบานอน) ผมเขียนไว้ว่าเธอไม่อยากจะไป เพราะเธอรู้ว่าตัวเองไม่มีอะไรจะไปออฟเฟอร์ใครทั้งสิ้น และก่อนหน้านี้ ผมจำได้ว่ามีเรื่องหนึ่งที่ตีพิมพ์ในนิวยอร์คไทมส์ที่ว่า เธอมีการสื่อสารกับคนของเธอว่า เชนีย์กำลังวางแผนคิดร้ายกับเธอยังไง อย่างในกรณีทริปตะวันออกกลางที่ว่านี้ เอลเลียต เอเบริมส์ ซึ่งเดินทางไปกับเธอด้วย ก็คอยโทรศัพท์ไปรายงานทำเนียบขาวถึงเรื่องราวต่างๆ ลับหลังเธอตลอด


 


คุณถามผมถึงเอเบริมส์ใช่มั้ย? เอเบริมส์เป็นคล้ายๆ กับ...ปัญญาชนผู้มีบทบาทคนสำคัญ (key intellectual player) ในนโยบายนี้ ที่มีเชนีย์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย เขาไม่ได้อยู่ในออฟฟิศของเชนีย์ เขาทำงานขึ้นตรงกับประธานาธิบดี เขาเป็นผู้ช่วยพิเศษในสภาความมั่นคงแห่งชาติ และไม่ต้องสงสัยเลยว่า อิทธิพลของเอเบริมส์มันมหึมามหาศาลแค่ไหน...ในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด o


 


0 0 0


 


หมายเหตุปิดท้าย (การแท้งของแผน "นุกอิหร่าน")


"แผนโจมตีอิหร่าน" ช่วงที่ผ่านมาของอเมริกา มีทั้งแบบ nuke และบอมบ์ด้วยอาวุธธรรมดา แผนนุกอิหร่านเคยเป็นกระแสที่ร้อนแรงมากเมื่อต้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้แผนนี้จะตกระป๋องไปแล้วตั้งแต่ปลายเมษายนที่ผ่านมา แต่ก็มีแง่มุมน่าสนใจให้พูดถึง ดิฉันจะขอหยิบยกเนื้อหาจากรายงาน 2 ชิ้นของซีมัวร์ เฮิร์ช มาอธิบายในจุดนี้สั้นๆ ดังต่อไปนี้ (เฮิร์ชมีรายงานดีๆ เกี่ยวกับอิหร่านมาตั้งแต่ปี 2005)


 


1- The Iran Plans : Would President Bush go to war to stop Tehran from getting the bomb? (นิวยอร์คเกอร์ 17 เมษา/โพสต์ 8 เมษา 2006) เฮิร์ชเขียนถึงการถกเถียงกันในเรื่องแผนโจมตีอิหร่านระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเพนตากอน-วอชิงตัน ซึ่งตอนนั้น "นิวเคลียร์ออปชัน" ยังคงเป็นทางเลือกหนึ่งอยู่บนโต๊ะ และนี่เป็นแผนการคร่าวๆ  :


 


เดือนที่แล้ว (มีนา) ในเอกสารที่เสนอต่อที่ประชุมด้านความมั่นคงตะวันออกกลางในเบอร์ลิน พันเอก แซม การ์ดิเนอร์ (Colonel Sam Gardiner) นักวิเคราะห์ของทหาร ซึ่งเคยสอนหนังสืออยู่ที่ National War College ก่อนที่จะลาออกจากกองทัพอากาศ ปี1987 ได้ให้ข้อมูลโดยประเมินเกี่ยวกับเป้าหมายต่างๆ ที่อเมริกาจะต้องทำลาย ในการโจมตีโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน ดูจากภาพถ่ายดาวเทียม การ์ดิเนอร์ประเมินว่า มีเป้าหมายที่จะต้องโจมตีไม่ต่ำกว่า 400 จุด


 


เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า : นักวางแผนของกองทัพคงจะไม่ยอมหยุดแค่นั้น อิหร่านอาจจะมีโรงงานผลิตสารเคมี 2 แห่ง เราคงจะโจมตีมันด้วย และเราอาจจะต้องถล่มระบบขีปนาวุธพิสัยกลางของมัน ที่มีการขยับไปไว้ใกล้ๆ อิรักมากขึ้น เมื่อไม่นานนี้ นอกจากนี้ ยังมีสนามบินที่มีเครื่องบินจอดอยู่ในโรงเก็บอีก 14 แห่ง เราก็คงจะต้องถล่มมันด้วย และเราก็คงจะต้องโจมตีปัจจัยต่างๆ ที่จะคุกคามการขนส่งทางเรือในบริเวณอ่าวตามมาอีก ซึ่งหมายถึงเราต้องถล่มไซต์ต่างๆ ที่มี cruise-missile และเรือดำน้ำแบบดีเซลของอิหร่านเช่นกัน...เป้าหมายบางส่วนที่ว่านี้ เป็นเป้าหมายที่ยากเกินไปที่จะโจมตี (ทางอากาศ)  แม้ว่าจะใช้อาวุธที่ประสิทธิภาพในการเจาะทะลวงก็ตาม อเมริกาจึงจำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการของหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมด้วย


 


ในแผนดั้งเดิมซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของกองทัพ-แผนที่ทางเพนตากอนได้นำเสนอต่อทำเนียบขาวเมื่อ "ฤดูหนาวนี้" มีการเสนอให้ใช้ ระเบิดนิวเคลียร์ อย่างเช่น ระเบิด B61-11 เพื่อทำลายไซต์นิวเคลียร์ใต้ดินของอิหร่าน เป้าหมายหนึ่งก็คือ โรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม (ด้วยวิธี Gas Centrifuge) ซึ่งเป็นโรงงานหลักของอิหร่านที่ นาทานซ์ (Natanz) 200 ไมล์ตอนใต้ของเตหะราน...การกำจัดเป้าหมายที่นาทานซ์ จะทำให้ความก้าวหน้าในด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านต้องเสื่อมถอยขนาดใหญ่ แต่อาวุธปกติทั่วไปที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ (conventional weapon) ย่อมไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะทำลายโรงงานที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินและหิน 75 ฟุตได้ผล โดยเฉพาะในกรณีที่มีการใช้คอนกรีตเสริมความแข็งแกร่ง


 


ระเบิด B61-11 มีสรรพคุณยังไง? ต่อไปนี้คือข้อมูลเบื้องต้นที่ดิฉันเรียบเรียงมาจากเว็บ GlobalResearch


 


ระเบิด B61-11 เป็น "ระเบิดนิวเคลียร์บังเกอร์บัสเตอร์" มีคุณสมบัติเจาะทะลวงใต้ดิน พัฒนาในยุค 90 และเริ่มเข้าสู่กองทัพในปี 1997 แรงระเบิดสามารถเลือกได้หลายขนาดตั้งแต่น้อยกว่าหนึ่งกิโลตันถึง 1000 กิโลตัน ที่คาดว่าจะนำมาใช้ที่อิหร่านคือแรงระเบิดต่ำ 10 กิโลตัน (เทียบกับฮิโรชิมา 15 กิโลตัน) ระเบิดรุ่นนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับหินแข็งๆ ปัญหาของมันก็คือ จากการทดสอบ มันสามารถเจาะทะลวงพื้นดินแห้งๆ ได้แค่ 20 ฟุต (เมื่อทิ้งมาจากความสูง 40,000 ฟุต) การระเบิดในที่ตื้นของมันจะก่อให้เกิดหลุมขนาดใหญ่และการแพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสีที่กินวงกว้าง ถ้ามีการใช้อาวุธนี้ในเขตเมืองของอิหร่าน ไม่เพียงแต่จะสร้างความสูญเสียกับพลเรือนอิหร่านอย่างมหาศาลเท่านั้น ตะวันออกกลางหลายประเทศจะได้รับผลกระทบไปด้วย 


 


2- Last Stand : The military"s problem with the President"s Iran policy (นิวยอร์คเกอร์ 10 กรกฎา/โพสต์ 3 กรกฎา 2006) เฮิร์ชพูดถึงแผนใหม่ที่ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์แล้ว อย่างไรก็ตาม แผนใหม่นี้ก็ยังให้เกิดการถกเถียงอย่างร้อนแรงในเพนตากอนอยู่ดี (ดีเบตแผนนี้มีอะไรน่าสนใจมาก ดิฉันอาจจะแปลให้อ่านวันหลัง) แต่วันนี้จะโควทจุดจบของแผนนุกอิหร่านมาให้อ่านแทน :


 


ช่วงปลายเดือนเมษายน เหล่าผู้นำในกองทัพ นำโดย พลเอกปีเตอร์ เพซ (Marine General Peter Pace) เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ เมื่อทำเนียบขาวต้องเลิกล้มความตั้งใจเดิมๆ สำหรับแคมเปญโจมตีอิหร่านซึ่งรวมเอาการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่โรงงานในนาทานซ์เอาไว้ด้วย โรงงานขนาดมหึมานี้มีส่วนที่สร้างลึกลงไปใต้ดินถึง 75  ฟุต ออกแบบเพื่อกระบวนการผลิตแร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะนาดใหญ่ (50,000 centrifuges) "บุชกับเชนีย์ เอาจริงเอาจัง ซีเรียสสุดๆ กับแผนนิวเคลียร์นี้" อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสบอกผม "แล้วเพซก็กล้าลุกขึ้นชนกับพวกเขา โลกก็เลยหมุนกลับ โอเค นิวเคลียร์ออปชัน ตกไป ผลกระทบในทางการเมืองของมัน-ไม่สามารถยอมรับได้" ขณะเดียวกัน ก็มีนายทหารที่เกษียณแล้วอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีพลตรีสองนายที่เคยไปรบในอิรักรวมอยู่ด้วย ได้แก่  พอล อีตัน (Paul Eaton) และ ชาร์ลส์ สวอนแนก จูเนียร์ (Charles Swannack, Jr.) ก็ได้เริ่มออกมาพูดโจมตีรัฐบาลในเรื่องวิธีการทำสงครามในอิรัก มันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันพอดี ช่วงเวลาที่ว่านี้ ก็เลยถูกคนในเพนตากอนจำนวนมากเรียกมันว่า "การปฏิวัติเดือนเมษา" (the April Revolution)


 


นุกอิหร่านจึงต้องแท้งไปด้วยเหตุฉะนี้ แต่ "บอมบ์เละอิหร่าน" (strategic bombing) ยังเป็นออปชันที่ต้องคุยกันต่อ  - ตราบใดที่...เอ้อ..."เชอร์ชิล-เชนีย์" ยังอยู่ในออฟฟิศค่ะo


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net