Skip to main content
sharethis

19 ก.ย. 2549 เมื่อวันที่ 18 กันยายน อาสาสมัครกรีนพีซประท้วงการใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตของบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ "ฮิวเลตต์ แพคการ์ด" หรือเอชพี รายงานเรื่อง 'Toxic Chemicals in Computers Exposed' ของกรีนพีซ ระบุผลการทดสอบชี้ชัดคอมพิวเตอร์เอชพีมีสารเคมีเป็นพิษสูงที่สุดหลายชนิด เมื่อเทียบกับอีก 4 ยี่ห้อที่ทดสอบ ได้แก่ เอเซอร์ แอปเปิ้ล เดลล์ และโซนี่ โดยเฉพาะสารเคมีกลุ่ม PBDEs (ประเภทหนึ่งของสารทนไฟโบรมีนหรือ BFRs) รวมทั้งสาร decaBDE ในปริมาณสูงที่สุด และสูงกว่ายี่ห้ออื่นมาก อีกทั้งยังพบตะกั่วสำหรับบัดกรีในคอมพิวเตอร์เอชพีด้วย


 


สารเคมีจำนวนมากที่ตรวจพบในคอมพิวเตอร์พกพาหลายยี่ห้อ ซึ่งรวมทั้งสารตะกั่ว และ BFRs เป็นอันตรายต่อชีวิต และตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสาร PVC ที่ตรวจพบยังก่อให้เกิดปัญหาต่อการจัดการขยะเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นแหล่งสารคลอรีนซึ่งยึดติดกับสารอินทรีย์ในขยะทั่วไป


ดร.เควิน บริกเดน จากศูนย์ปฎิบัติการวิจัยของกรีนพีซ หนึ่งในคณะผู้ตรวจสอบตัวอย่างสารพิษในคอมพิวเตอร์ และรวบรวมข้อมูลให้กับรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า ระหว่างกระบวนการตรวจสอบเพื่อหาสารพิษในคอมพิวเตอร์ได้พบความจริงประการหนึ่งคือ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ประเภทแม็ค (Mac) หรือพีซี หากมองข้ามดีไซน์ทันสมัยของคอมพิวเตอร์เหล่านี้ จะพบว่าคอมพิวเตอร์ทุกยี่ห้อต่างมีส่วนประกอบของสารเคมีเป็นพิษ


 


นอกจากนี้ ข้อความบนเว็บไซต์ของเอชพีมีที่ระบุว่าเอชพีได้เลิกใช้สาร decaBDE หลายปีมาแล้ว พบว่าเป็นเพียงการโกหกเท่านั้น เนื่องจากผลทดสอบของกรีนพีซแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสารเคมีชนิดนี้ยังปรากกฎอยู่ในคอมพิวเตอร์ของเอชพี


 


การโกหกครั้งนี้ทำให้เอชพีถูกลดอันดับใน การจัดอันดับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดอันดับบริษัทคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือตามนโยบายด้านสารเคมีและการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งการปฏิบัติจริงตามข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เอชพีเคยอยู่อันดับสามแต่ปัจจุบันหล่นมาอยู่อันดับหก และได้คะแนน 4.7 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งต่ำกว่าจากเดิมที่เคยได้ 5.7 เมื่อเดือนที่แล้ว

กิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เป็นที่น่าเป็นห่วงว่า แทนที่บริษัทชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์จะเดินหน้าในการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการเลิก
ใช้สารเคมีเป็นพิษในผลิตภัณฑ์ แต่กลับปฏิบัติในทางตรงกันข้าม


 


"เอชพีถือว่าสอบตกและล้มเหลวในการจะเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม"


 


ขณะนี้ในทุกประเทศที่มีผลิตภัณฑ์วางขาย ยังไม่มีบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใดเลย ที่มีระบบรับคืนสินค้าระดับโลก จากผู้บริโภคเมื่อไม่ใช้แล้ว ความเสี่ยงในการแพร่กระจายสารเคมีเป็นพิษจากผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงตกอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นแหล่งรองรับขยะพิษเหล่านี้


กรีนพีซเรียกร้องให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีอายุการใช้งานนานขึ้น และง่ายต่อการรีไซเคิล ทั้งยังต้องยกเลิกการใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิต ทั้งสารทนไฟโบรมีน และพลาสติกพีวีซี ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ใดที่มีผลิตภัณฑ์ปลอดจากสารเคมีเป็นพิษเหล่านี้ทั้งหมด กิตติคุณ กล่าว

อนึ่ง คอมพิวเตอร์ที่กรีนพีซซื้อมาทดสอบ ได้แก่


Acer Aspire 5670 Series (5672WLMi)


Apple MacBook Pro


Dell Latitude D810


Hewlett Packard (HP) Pavillion dv4000 Series (dv4357EA)


Sony VAIO VGN-FJ Series (FJ180)


 


สำหรับตะกั่วนั้น เป็นอันตรายต่อมนุษย์มาก เช่นเดียวกับต่อสัตว์และต้นไม้ จะสะสมในร่างกายได้โดยการสัมผัสหลายครั้ง และมีผลกระทบต่อระบบประสาทซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาในเด็ก ตะกั่วเป็นหนึ่งในสารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้ภายใต้ระเบียบ RoHSของสหภาพยุโรป


 


ส่วนสารทนไฟโบรมีน (BFRs) เป็นสารทนไฟโบรมีนที่ใช้ในแผ่นวงจรและในเคสพลาสติก ไม่สามารถสลายตัวได้ง่ายเพราะฉะนั้นจึงสะสมในสิ่งแวดล้อม การสัมผัส BFRs บางชนิดเป็นเวลานาน (สารในกลุ่ม PBDEs บางชนิด) เคยพบว่าเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางสมองที่ผิดปกติในสัตว์ และเป็นไปได้ว่าส่งผลต่อความทรงจำในระยะยาว การเรียนรู้และพฤติกรรม  


 


สาร BFRs บางชนิดแทรกแซงระบบการทำงานของระบบฮอร์โมนไทรอยด์และเอสโตรเจน การปรากฏของสาร PBDE และ TBBPA หรือสารเคมีอื่นที่มีโบรมีนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถก่อให้เกิดสารไดออกซินโบรมีนและฟิวแรนเมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ถูกนำไปหลอม เผาในโรงเผาขยะหรือเผาในที่โล่ง  สารไดออกซินโบรมีนและฟิวแรนอาจมีความเป็นพิษเทียบเท่ากับสารไดออกซินคลอรีนและฟิวแรน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในสารเคมีที่อันตรายที่สุดแม้ในความเข้มข้นเพียงเล็กน้อยก็ตาม


 


 


 


ข้อมูลเพิ่มเติม


รายงานของกรีนพีซ "Toxic chemicals in computers exposed" สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.to/publications_pdf/LaptopReport.pdf


 


เอชพีได้ระบุในเวบไซต์ว่าได้เลิกใช้ decaBDE ไปแล้วhttp://www.hp.com/hpinfo/globalcitizenship/environment/productdesign/materialuse.html#RoHS


 


ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับเอชพีและการจัดอันดับปรับปรุงใหม่สามารถดูได้ที่


http://www.greenpeace.org/raw/content/international/press/reports/greener-electronics-hp-ranking.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net