Skip to main content
sharethis

โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร


 


 


หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้จะมีดอกไม้พรั่งพรูมาติดปลายกระบอกปืนจากทั่วสารทิศ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงคัดค้านการรัฐประหารก็ดังระงมไปทั่ว ที่น่าแปลกคือ ไม่ว่าฝ่ายคัดด้านหรือสนับสนุน ต่างก็อ้างว่าขั้วตนเป็นประชาธิปไตย


มีความพยายามนิยามจัดกลุ่มกันจากหลายฝ่ายว่า ขั้วทางการเมืองขณะนี้แบ่งออกเป็นสองขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน ขั้วหนึ่งสนับสนุนคณะรัฐประหาร อีกขั้วหนึ่งคัดการการรัฐประหาร ตลอดจนมีการโยงแบบเหมารวมว่า ขั้วตรงข้ามทั้งสองสะท้อนคู่ขัดแย้งทางการเมืองก่อนรัฐประหาร ได้แก่ ขั้วสนับสนุนรัฐประหารคือขั้วต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ส่วนขั้วต่อต้านรัฐประหารคือขั้วสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ


ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว อย่างน้อยหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมอำนาจในสังคมไทยหลายลักษณะด้วยกัน


หากมองย้อนกลับถึงยุคหลังประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยพล..เปรม ติณสูลานนท์ หลายคนคงไม่ปฏิเสธการวิเคราะห์ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ที่ว่า อำนาจนอกระบบราชการเริ่มแข็งแรงขึ้น ดังนั้นในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา นายทุนท้องถิ่น นายทุนระดับชาติ และนายทุนข้ามชาติต่างก็ค่อยๆเข้ามามีส่วนในกระบวนการกำหนดนโยบายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน 'พลังคนชั้นกลาง' ก็เข้ามาอยู่ในกระบวนการทางการเมืองชัดเจนขึ้น จนสามารถเป็นกำลังหลักในการล้มคณะรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2535 และแน่นอนว่า ผลพวงที่สำคัญประการหนึ่งของการเติบโตของอำนาจนอกระบบราชการก็คือนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณ ชินวัตร


หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สิ่งที่เรียกกันว่า 'ประชาธิปไตยแบบไทยๆ' นั้น แตกดอกออกผลมาด้วยกันอย่างน้อย 4 แบบ


1. 'ประชาธิปไตยสากล' ยึดหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็นที่แตกต่าง เชื่อมั่นในกระบวนการใช้อำนาจผ่านระบบรัฐสภา ผู้บริหารที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และหลักกฎหมาย วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบนี้ยอมไม่ได้ที่จะมีการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประชาชน ไม่ยอมให้อำนาจของอภิสิทธิ์ชนใดๆ อยู่เหนืออำนาจของประชาชน


ประชาธิปไตยแบบนี้จึงคัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างที่สุด และมองเห็นการรัฐประหารไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างอันใด เป็นความล้าหลัง ทำให้ประเทศไทยถอยหลังไปอย่างน้อย 14 ปี (17 พฤษภาคม 2535) 30 ปี (6 ตุลาคม 2519) หรือแม้แต่ 70 ปี (24 มิถุนายน 2475)


2. 'ประชาธิปไตยอำนาจนิยม' ใน 'ยามปกติ' จะยอมรับหลักการ(แทบ)ทุกประการของประชาธิปไตยแบบสากล แต่ขณะเดียวกันก็ยอมให้มีการ 'เว้นวรรค' ของประชาธิปไตยได้ชั่วครั้งชั่วคราวใน 'ยามวิกฤติ' เป้าหมายที่สำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนในวัฒนธรรมอำนาจแบบนี้คือ ความสามัคคี เชื่อว่าการแทรกแซงเพื่อขจัดความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นพักๆ ดีกว่าปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินไปในวิถีทางอำนาจของปวงชน


ประชาธิปไตยแบบนี้จึงยอมรับอำนาจนอก-และ-เหนืออำนาจของปวงชน ซึ่งเชื่อว่าอยู่เหนือความขัดแย้ง ประชาธิปไตยแบบนี้จึงเป็นวัฏจักร กลับไปกลับมาระหว่างการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้ง


3. 'ประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี' ประชาธิปไตยแบบนี้อาศัยการเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา และกฎหมายเป็นเครื่องมือ หากแต่วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบนี้ไม่ได้มีหลักการของประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายในตัวเอง แต่อาศัยกลไกแบบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจทางการเมืองเพื่อถึงที่สุดแล้วคือการพัฒนาทุนนิยม มีการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่ชนบท แต่ก็เพียงเพื่อสร้างฐานเสียงและสร้างกลไกเพื่อครอบงำทางการเมืองและธุรกิจในระดับชาติ


ประชาธิปไตยแบบนี้จึงอาจละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนได้โดยถูกกฎหมายแม้จะไม่ชอบธรรม ตัวอย่างที่น่าจะใกล้เคียงกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบนี้ที่สุดได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า 'ระบอบทักษิณ'


4. 'ประชาธิปไตยภาคประชาชน' ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับอำนาจของปวงชน แต่ไม่เชื่อในระบบการเลือกตั้งและรัฐสภา มากเท่ากับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพึ่งตนเองของท้องถิ่น วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบนี้มองว่าระบบรัฐสภาในกรอบของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ได้ให้หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ การเมืองางตรงในลักษณะองค์กรประชาชน (NGOs) และการชุมนุมเรียกร้องบนท้องถนน จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกประการหนึ่งของประชาธิปไตยแบบนี้


หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ความขัดแย้งหลักของการเมืองไทยมีรากฐานมาจากความแตกต่างของระหว่าง วัฒนธรรมประชาธิปไตยทั้ง 4 แบบ ก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ความตึงเครียดเกิดจากการที่ประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี ได้ครอบงำพื้นที่อำนาจของประชาธิปไตยสากล ประชาธิปไตยอำนาจนิยม และประชาธิปไตยภาคประชาชน เกือบจะโดยสิ้นเชิง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ หากดูเฉพาะส่วนผสมของผู้สนับสนุนการชุมนุมต่อต้านทักษิณ เราจะพบว่าพันธมิตรประชาชนฯนั้นประกอบไปด้วยทั้ง 'อำนาจนิยม' 'ภาคประชาชน' และปีกของ 'ทุนนิยมเสรี' ที่ต้องการล้มอำนาจทักษิณ


แต่ในกระบวนการของการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อปีกว่าๆที่ผ่านมา การแบ่งขั้วตรงข้ามระหว่าง 'ท้ากสินออกไป' กับ 'ท้ากสินสู้ๆ' ถูกยกระดับกลายมาเป็นขั้ว 'คุณธรรม/บารมี' กับ 'ระบอบทักษิณ' และบดบังความหลากหลายของวัฒนธรรมประชาธิปไตยไทยที่มีมากกว่า 2 ขั้ว


ความมักง่ายของฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านทักษิณจึงเหมารวมเอา 'ประชาธิปไตยสากล' เข้าไปอยู่ในพวกเดียวกันกับ 'ทุนนิยมเสรี' กลายเป็นว่า ใครคัดค้านการชุมนุมล้วนเป็นพวกทักษิณกันไปหมด ในทางกลับกัน การชุมนุมนี้ก็ถูกประณามอย่างรุนแรงโดย 'ประชาธิปไตยสากล' ที่ก็รวบหัวรวบหางเหมาเอาบรรดา 'ภาคประชาชน' กับ 'อำนาจนิยม' ว่า 'ไม่เป็นประชาธิปไตย' เพราะยอมรับการแทรกแซงชั่วคราวของระบบอำนาจนิยม


การแยกขั้วดังกล่าวยังคงสืบเนื่องมาจนกระทั่งหลังการรัฐประหาร มีการเหมารวมเอากลุ่มเรียกร้อง 'ประชาธิปไตยสากล' เข้าไปไว้ในกลุ่มเดียวกันกับ 'พวกทักษิณ' และถูกกล่าวหาว่าเป็นการดิ้นของระบอบเก่า ขัดขวางกระบวนการรื้อฟื้นความสามัคคี ในขณะที่หลังการรัฐประหาร กลุ่ม 'ประชาธิปไตยสากล' ก็ยังคงเหมาประณาม 'ภาคประชาชน' ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย


ในแง่หนึ่ง การแยกขั้วนับเป็นเครื่องมืออันสะดวกสำหรับการที่แต่ละฝ่ายจะเชือดเฉือนและห้ำหั่นกันด้วย 'ประกาศ/คำสั่ง' และ 'แถลงการณ์' แต่ขณะเดียวกัน ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า การแบ่งขั้วทั้งโดยฝ่ายสนับสนุนคณะรัฐประหารและฝ่ายคัดค้านคณะรัฐประหารนี้ จะนำไปสู่การทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นอมนุษย์ (de-humanized) และเปิดเงื่อนไขให้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง (victimization) เกิดการละเมิดสิทธิหรือกระทั่งการใช้ความรุนแรงเข้าทำร้ายกัน ไม่ว่าจะในนามของกฎหมายหรือกฎหมู่


วัฒนธรรมการใช้อำนาจที่อิงกับระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยมีหลายลักษณะ แม้ว่าต่างก็มีจุดร่วมกันที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยสากล แต่เมื่อประกอบเข้ากับวัฒนธรรมอำนาจในสังคมไทยแล้ว วัฒนธรรมประชาธิปไตยไทยกลายเป็นประชาธิปไตยพันธุ์ทางได้หลากหลาย


กล่าวเฉพาะ 'ระบอบทักษิณ' เอง อีกไม่นานระบอบทักษิณในโฉมหน้าใหม่ จะหน้าหยก หน้ามน หรือหน้าเบี้ยว ก็จะยังคงหวนกลับมาอีกอย่างแน่นอน เพราะกระแสลมทุนนิยมโลกนั้นพัดกระหน่ำทำลายได้แม้กระทั่งกำแพงเบอร์ลิน ม่านเหล็ก ม่านไม้ไผ่ พัดกระเด็นไม่เว้นแม้มังกรน้อยเวียดนามใกล้บ้านเรา


หากเราไม่มีขันติธรรมและเชื่อมั่นในอำนาจของปวงชนอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การหวนกลับไปเว้นวรรคแล้วเริ่มต้นวัฏจักรประชาธิปไตยกันใหม่อีก บนราคาของความสูญเสียเลือดเนื้อที่ เพียงไม่ถึงปีก็ถูกกลบลืม ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ


ในฐานะคนเล็กคนน้อยคนหนึ่ง ที่สมัครใจว่าจะไม่ยืนจุดใดตายตัว ผู้เขียนไม่อาจเรียกร้องให้ใครหยุดเชื่อมั่นศรัทธาในวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบใดได้ ขอเพียงให้ต่างฝ่ายต่างลดการมุ่งครอบงำกันและกัน และถอยกลับไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของตนก่อนการรัฐประหารโดยเร็วที่สุด


 


                                                      


 


จาก คอลัมน์108 วิถีทัศน์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 27 กันยายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net