Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม - บทสนทนาที่ลังกาวี "มหาธีร์ โมฮัมหมัด" ผู้ประสานเจรจา ดับปัญหาไฟใต้


จากเว็บไซต์สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


จันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2549


 


เส้นทางสันติภาพชายแดนภาคใต้ กำลังมีผู้ถากถาง บุกเบิกเป็นทางเดินแห่งอนาคต ด้วยการพูดคุยกับแกนนำ อดีตแกนนำ และผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยหลายกลุ่ม หลายขบวนการ เพื่อทราบถึงความต้องการในการร่วมกันสร้างเส้นทางแห่งสันติ ซึ่งการพบปะพูดคุยนี้ ผ่านมาแล้วหลายครั้งในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน และผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการประสานให้มีการพบปะพูดคุยกันก็คือ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย


กว่า 1 ปีที่ดาโต๊ะมหาธีร์ เป็นผู้ประสานการพบปะ พูดคุยกับทุกฝ่าย เขาสรุปอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยเกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งต้องการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่แกนนำขบวนการในอดีต และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ต้องการเพียงแค่การรักษาอัตลักษณ์ ทั้งด้านวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตที่ผูกโยงศาสนาเข้าไว้เท่านั้น พวกเขาต้องการความชัดเจนเหล่านี้จากรัฐบาลไทย


พลันที่เราย่างทางเหยียบแผ่นดินเกาะลังกาวีของมาเลเซีย ในช่วงใกล้ค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา รถของสถานกงสุลไทยประจำเกาะลังกาวี นำพาคณะของเราอันประกอบด้วย ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ Sydney Morning Herald จาก ประเทศออสเตรเลีย พร้อมผู้ช่วยชาวไทยและผู้สื่อข่าวจากสถาบันข่าวอิศรา มายังสถานกงสุลไทยประจำเกาะลังกาวี ซึ่งอยู่ภายใน Kampung Tok Senik Resort ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาของเกาะลังกาวี ที่นั่นเราพบกับ ดาโต๊ะ ชาร์ริล เอสเคย์ บิน อับดุลละห์ กงสุลไทยกิตติศักดิ์ ประจำเกาะลังกาวี ออกมาต้อนรับที่อาคารทำการกงสุล


ดาโต๊ะ ชาร์ริล ให้ข้อมูลสังเขปแก่เราถึงรายละเอียดของประเด็นการเจรจา อันจะมีเนื้อบรรจุในรายงาน แผนสันติภาพและการพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ภาคใต้ของไทย (Join Peace and Development for South of Thailand) โดยกลุ่มศึกษาปัญหาภาคใต้ PERNADA GLOBAL PEACE ORGANIZATION (PGPO) ซึ่งมี ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นประธาน ก่อนจะนำพาเราลัดเลาะเนินเขาฝ่าสายฝนไปยังบ้านพักรับรองของ ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด ที่อยู่ห่างจากสำนักกงสุลไปไม่ไกลนัก


ดร.มหาธีร์ มายืนรอรับต้อนรับเราหน้าปากทางเข้าเรือนรับรองไม้หลังใหญ่ยาวรูปแบบง่ายๆ ตามแบบสถาปัตยกรรมมลายูท้องถิ่น  อดีตนายกรัฐมาเลเซียในวันนี้ยังคงเปี่ยมไปด้วยบารมี สังเกตได้จากผู้มารอร่วม "ละศีลอด" และรับประทานอาหารค่ำร่วมกันมีทั้ง ข้าราชการ, นักธุรกิจชาวมาเลเซีย รวมถึงข้าราชการไทยบางคนที่ได้รับเชิญอย่างไม่เป็นทางการมาด้วย


ในวัย 70 ปีเศษ ดร.มหาธีร์ ยังคงกระฉับกระเฉง ทว่าสงบสำรวมและน่าเกรงขาม เขาปลีกเวลาก่อนละศีลอดที่มุมหนึ่งของเรือนรับรองเพื่อให้พูดคุย รวมถึง ดาโต๊ะ ชาร์ริล เอสเคย์ บิน อับดุลละห์ กงสุลไทยกิตติศักดิ์ ร่วมฟังการพูดคุยซักถามอดีตผู้นำมาเลเซีย



ดร.มหาธีร์ ได้ตอบทุกประเด็นอย่างมั่นใจ  ราบเรียบและก้องกังวาน ท่ามกลางสายฝนในช่วงเดือนรอมฎอนที่กระหน่ำลงมา จนเราต้องตั้งใจฟังคำตอบอย่างจดจ่อชนิดคำต่อคำเมื่อบทสนทนาเริ่มขึ้น


๐ ที่มาที่ไปของแผนการนี้ เริ่มขึ้นได้อย่างไร


กระบวนการนี้ได้เริ่มมานานแล้ว ผมเป็นห่วงประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ผมคิดว่าผมสามารถทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง จึงมีการจัดพูดคุยกันทั้งในกัวลาลัมเปอร์และที่อื่นๆ


อย่างหนึ่งที่ผมพูดได้เลยก็คือพวกเขาไม่ได้เรียกร้องเอกราช ไม่ได้เรียกร้องการปกครองตนเอง พวกเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่ก็รู้สึกว่า การอยู่ในประเทศไทยนั้นมันไม่มีความชัดเจนสำหรับพวกเขา บางครั้งกองทัพก็ใช้ความรุนแรงกับพวกเขา และบางทีเมื่อเกิดเหตุใดๆ ขึ้น มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกี่ยวกับมุสลิมมาเลย์เสมอไป มีบางกลุ่มที่ดูเหมือนคอยฉกฉวยโอกาสจากปัญหาความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องของอาวุธ


๐ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องเอกราชตามที่พูดจริงหรือ


ตอนที่ผมคุยกับพวกเขา พวกเขาบอกว่า ไม่ได้เรียกร้องเอกราช แน่นอนว่า มันมีกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่ม แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกร้องเอกราชนะ


ผมยังพูดเลยว่า ความรุนแรงไม่ได้ช่วยอะไรหรอก ไม่มีทางที่รัฐบาลไทยจะยกดินแดนให้พวกเขาแน่ เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องยอมรับความจริงข้อนี้ ทางที่ดีที่สุดคือการเจรจาขอให้เจ้าหน้าที่ไทยปฏิบัติกับพวกเขาดีขึ้น และขณะนี้พลโทไวพจน์ ศรีนวล (ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย หรือศรภ. กองบัญชาการทหารสูงสุด ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ) ที่เข้ามาดูแล ท่านก็เป็นคนดีมาก เป็นผู้ที่เน้นการพูดคุยถึงสันติและท่านยืนยันว่า พวกเขาจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีกับการอยู่ในประเทศไทย


ผมหวังว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่แผนสร้างสันติภาพ แต่ก็โชคร้ายนะ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลไทย เราก็เลยไม่รู้ว่าจะไปเจรจากับใคร แต่ถึงอย่างไร ผมก็เชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์  ตระหนักถึงสิ่งนี้ดี พวกเขาจึงไม่ได้ปฏิเสธและดูเหมือนตอบรับด้วย แต่ผมก็คิดว่าทั้ง 2 คนต้องการรอดูอะไรบางอย่างก่อน


ถึงอย่างไรเสีย ผมก็ยังคงติดต่อกับพวกเขานะ และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าอกเข้าใจมากขึ้น ทางเราก็จะได้สรุปการหารือ แต่ก่อนอื่น ผมไม่สามารถรับรองว่าความรุนแรงจะหมดไป เพราะบางครั้งเหตุรุนแรงก็ไม่ได้เกิดจากพวกเขา แต่เป็นพวกอาชญากรทั้งหลายที่ต้องการฉกฉวยผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


๐ แล้วผลที่ได้จะเป็นอะไรหากแผนสันติภาพนี้ประสบความสำเร็จและทั้ง 2 ฝ่ายร่วมลงนาม


ผมคิดว่า แน่นอนหละ ความรุนแรงมันจะจำกัดลง คือมันมีความมั่นคงมากขึ้น ผมคิดว่า รัฐบาลไทยน่าจะเตรียมพื้นที่รองรับข้อเรียกร้องของกลุ่มมุสลิมมาเลย์ แต่ถือว่าเป็นพลเมืองไทย เพราะว่ากลุ่มนี้พวกเขาต้องการใช้ภาษาของเขาเอง


อันที่จริงทางตอนเหนือของมาเลเซีย ก็มีคนเชื้อสายไทยนะ แต่เราไม่เคยบังคับให้พวกเขาเป็นคนมาเลย์ เราให้พวกเขาดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ศาสนา และทุกอย่าง ผมจึงเชื่อว่า หากรัฐบาลไทยทำอย่างนี้บ้าง มันก็จะเกิดความสงบขึ้นได้  และอีกอย่าง จะต้องมีการพัฒนาเพราะพวกเขามีฐานะยากจนข้นแค้นมาก โรงเรียนก็มีสภาพทรุดโทรม พวกเขาไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นจะต้องมีความช่วยเหลือหยิบยื่นเข้าไป อนุญาตให้พวกเขาได้เรียนภาษามาเลย์ซึ่งเป็นภาษาที่พวกเขาคุ้นเคย แต่ก็ให้พูดภาษาไทยด้วย


๐ สิ่งที่คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ชายแดนภาคใต้ของไทยต้องการ คืออะไร


พวกเขากังวลเกี่ยวกับเรื่องศาสนา การแสดงออกทางศาสนา การมีมัสยิด ความปลอดภัยในขณะที่พวกเขากำลังประกอบพิธีทางศาสนา หรือการเผยแผ่ความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้ พวกเขาอยากให้ใช้ภาษามาเลย์สื่อสาร แต่ก็แน่นอน ต้องเรียนภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาทางการ


ผมว่าต้องให้เหมือนฝั่งมาเลย์นะ ที่นี่เรามีโรงเรียนที่สอนภาษาจีน แต่ก็ต้องเรียนภาษามาเลย์ด้วย สำหรับของไทย ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะทำได้ แต่ผมคิดว่ารัฐบาลในกรุงเทพฯ น่าจะตระหนักถึงสิ่งนี้แล้ว


ก่อนหน้านี้ ผมได้เริ่มติดต่อพูดคุยกับรัฐบาลไทยและพวกเขาก็รู้ปัญหา ผมคิดว่ารัฐบาลไทยจะเข้าใจประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทีแรกผมก็คิดว่าพวกเขาต้องการเรียกร้องเกี่ยวกับการตั้งรกราก เรื่องของการปกครองตนเอง หรือการแยกตัวเป็นอิสระ แต่พอได้คุยด้วย ผมก็แปลกใจไม่น้อยเพราะข้อเรียกร้องนั้นไม่ได้มากมาย แต่ความรู้สึกของพวกเขาสิ มันยิ่งใหญ่ พวกเขารู้สึกด้วยว่า น่าจะมีกองกำลังที่เป็นมุสลิมมาช่วยดูแลพวกเขาในพื้นที่ให้มากกว่านี้


เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและฝ่ายปกครองต่างก็รับรู้และเข้าใจถึงปัญหา ผมว่ามันควรจะมีหน่วยงานพิเศษ  ให้ชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงปัญหาที่พวกเขามี สิ่งนี้สำคัญมากนะครับ ในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มันเคยมีหน่วยงานแบบนี้ (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต.) และมันก็ถูกยุบ แต่มันควรฟื้นขึ้นมาใหม่


๐ ในขณะนี้ บีอาร์เอ็น ก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก แล้วมันจะมีการเคลื่อนไหวอื่นๆ อีกไหม


มันก็มีกลุ่มหัวรุนแรงที่อยากได้ไปทุกๆ อย่าง แต่ก็นั่นแหละ มันต้องดูคนส่วนใหญ่ด้วยนะ คนก่อเหตุที่ทางไทยจับได้ ก็ไม่ใช่ตัวใหญ่หรือจับมาได้ก็เพียงแค่แพะ ผมเคยคุยกับคุณอานันท์ ปันยารชุน ท่านบอกว่า การไม่เรียกร้องเอกราชเป็นสิ่งที่ดี ยกเว้นว่ามันจะมีข้อเรียกร้องอื่นๆ เกิดขึ้นแทน ซึ่งรัฐบาลไทยก็ต้องจัดการให้ได้ อย่างไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านในพื้นที่ก็ต้องยอมบ้างนะและการเจรจาก็จะได้เริ่ม


๐ อะไรที่ควรยอม


ก็ควรเคารพกฎหมายที่จัดทำโดยรัฐบาล


๐ ควรมีเจ้าหน้าที่มุสลิมหรือไม่


ใช่ เราต้องการให้มีหน่วยงานพิเศษ(ศอ.บต) มันควรมีหน่วยงานแบบนี้ คือควรมีที่ให้ชาวบ้านได้ร้องเรียน


ผมคิดว่าการต่อสู้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับใครเลย ประชาชนก็ถูกฆ่าตาย คือบางครั้งประชาชนถูกฆ่าโดยคนกันเอง ทหาร หรือตำรวจ ก็เพราะพวกเขาอยากให้เกิดความสงบสุขขึ้น และมีงานมีการทำ


ผมดีใจนะที่จะได้พูดว่า หากผมสามารถช่วยสร้างสันติสุขให้เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และผมก็เต็มใจอย่างมากด้วยที่จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้น


ในเดือนธันวาคมปีก่อน มีการจัดประชุมใหญ่ขึ้นมา ซึ่งที่ประชุมได้พูดถึงสงครามที่ก่อโดยอาชญากรและมีประชาชนเป็นเหยื่อ เรื่องนี้มันไม่ถูกต้อง และไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาด้วย อันที่จริง มันต้องมานั่งคุยกัน ปรึกษาหารือกัน ตั้งอนุญาโตตุลาการสำหรับปัญหานี้ ไม่ใช่สงครามที่ฆ่าฟันประชาชน


เรื่องที่บอกว่าอิสลามโยงกับเหตุรุนแรงนั้น ผมว่าไม่ใช่หรอก ไม่ใช่แต่มุสลิม ใครก็ตามหากถูกแย่งดินแดน ก็คงจะลุกขึ้นสู้ หรือใครที่ถูกกดขี่ ก็ต้องลุกขึ้นสู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ หากถูกกดขี่มันก็ต้องลุกขึ้นสู้ หากเขาไม่มีทางสู้แรงกดดัน มันก็จะนำมาซึ่งวิธีการแบบก่อการร้าย และจำไว้เลยนะว่า ด้วยแรงกดดันนี้จึงทำให้พวกเขาเป็นพวกก่อการร้าย


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net