Skip to main content
sharethis

โดย    พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ


 


 



รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม เว็บมาสเตอร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 







 


สิทธิเสรีภาพของสื่อนับเป็นกระจกสะท้อนประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี


 


ในช่วงหลังการทำรัฐประหารที่ผ่านมา พื้นที่ทางสื่อ เว็บไซต์ หลายพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เช่นเดียวกับเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชุมชนวิชาการขนาดใหญ่ของเมืองไทยที่มีคนเข้าไปอ่านกว่า 2 - 2.5 ล้านครั้งต่อเดือนถูกเจ้าหน้ากระทรวงไอซีทีปิดไปรอบหนึ่ง ก่อนศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองให้เว็บไซต์ดังกล่าวกลับมาเปิดได้อีกครั้ง


 


และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา "ประชาไท" ร่วมกับโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ได้มีโอกาสสนทนากับ รองศาสตราจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีและเว็บมาสเตอร์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


จากการสนทนาหนนี้ อาจารย์สมเกียรติได้บอกเล่าถึงพื้นที่การสื่อสารในสังคมไทย และชวนผู้อ่าน "ประชาไท" จินตนาการถึง "คลื่นลูกที่ 3" ที่จะมาปฏิรูปการเมืองไทยพร้อมร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับลงขัน" ขึ้นมาใหม่ หลังการฟัดกันของคลื่นลูกที่ 1 และคลื่นลูกที่ 2 จบลง


 


"คลื่นลูกที่ 3" นี้ มาได้อย่างไร เป็น "คลื่นใต้น้ำ" อย่างที่ผู้หลายคนพูดถึงหรือเปล่า มาฟังการอาจารย์สมเกียรติ ไขปริศนา "คลื่นลูกที่ 3" นี้กัน


 


 


ประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิดเว็บ มาในปัจจุบันนี้เปิดเป็นทางการได้แล้วใช่ไหม


ตอนนี้ โดยหลักการแล้ว เว็บไซต์ www.midnightuniv.org ได้รับการคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองกลางกรุงเทพฯ ให้สามารถเปิดเว็บไซต์ได้อีกครั้งหนึ่ง แต่คำพิพากษาจริงๆ จะอยู่ช่วงเดือนธันวาคม ตอนนี้ที่เราเปิดได้เพราะศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้เปิดเว็บไซต์ โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT ให้ดำเนินการแจ้งให้ ISP ทุกแห่งยุติการปิดกั้น และแจ้งให้ศาลทราบภายในวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา


 


จากตรงนี้อาจารย์คิดอย่างไรในประเด็นของสิทธิ เสรีภาพของสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ดี หรือหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อยู่ในสถานการณ์ที่น่าพอใจหรือไม่ และมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไร


คิดว่าภายใต้ คมช. ซึ่งแปรรูปมาจาก คปค. อีกที มีประกาศ คปค. ฉบับที่ 5/2549 ว่าด้วยการให้อำนาจของกระทรวงไอซีที สามารถยับยั้ง หักห้าม ยุติ หรือทำลายเครือข่ายเว็บไซต์ได้ ถ้าเกิดเครือข่ายเว็บไซต์นั้นเป็นอันตรายต่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการรอนสิทธิของคนที่ทำสื่อหรือเสรีภาพในการแสดงออก ตราบใดที่ประกาศ คปค. ฉบับที่ 5/2549 นี้ยังอยู่ คนที่ทำด้านสื่อโดยรวมจะถูกรอนสิทธิไม่ให้สามารถมีเสรีภาพในการแสดงออกในการสื่อสารได้อย่างเต็มที่ครับ


 


เป็นข้อจำกัด


ใช่ครับ


 


ถ้าพูดถึงประกาศ คปค. ฉบับที่ 5 มันจะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยมีปัญหาอย่างไร ถ้ากฎอัยการศึก ยังอยู่


มันทำให้การแสดงออกของสื่อ การแสดงออกทางวิชาการ มีโอกาสถูกปิดกั้นได้ โดยให้กระทรวงไอซีทีเป็นเครื่องมือใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือของกระทรวงไอซีทีบล็อก ใช้ในการปิดกั้น


 


ฉะนั้นจริงๆ ก็คือภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน กฎอัยการศึก และประกาศ คปค. ไม่เฉพาะฉบับที่ 5/2549 แต่ประกาศ คปค. ทุกฉบับควรจะเลิกได้แล้ว เพราะปัจจุบันเรากำลังมีคณะรัฐบาลใหม่ และเราอยู่ภายใต้กรอบมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว มันขัดแย้งกันนะ มาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว กับ คปค.ฉบับที่ 5


 


ฉะนั้น 2 ฉบับนี้ถ้าไปถึงศาล ศาลก็จะงงเหมือนกัน ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะว่าธรรมนูญว่าด้วยการให้สิทธิ เสรีภาพ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งรัฐบาลไทยไปเซ็นสัญญา แต่ประกาศฉบับที่ 5/2549 กลับเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ มันขัดแย้งกัน ผมว่าศาลก็คงยุ่งยากใจพอสมควร ถ้าไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก, ประกาศ คปค. ฉบับนี้หรือทั้งหมด


 


เมื่อเรามีรัฐบาลชั่วคราวแล้ว ดังนั้นมีกฎระเบียบต่างๆ ที่มันขัดแย้งกัน


ควรจะต้องยุติลงหรือทำให้มันหมดอายุลงไป


 


แต่ปัจจุบันประกาศ คปค. ทุกฉบับก็ยังอยู่จริงๆ เราไม่ได้มีแค่ 39 มาตราในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนะ เราต้องบวกประกาศ คปค. ทุกฉบับด้วย


 


 


 










 


"ผมคิดว่าแปลกๆ นะเมืองไทยมันเป็น Paradox หรือมันกลับหัวกลับหาง คนที่พูดถึงประชาธิปไตยและอยากปฏิรูปกลับกลายเป็นทหาร ตลกไหมครับ พอทหารปรากฏตัวพร้อมรถถังกลับมีดอกกุหลาบ ส่วนคนทำงานสื่อที่ยืนอยู่กับความเป็นกลางกลับไปเข้าร่วมกับรัฐบาล นักวิชาการที่เคยพูดถึงประชาธิปไตยหลายคน ตอนนี้ก็เป็นเพียงแค่นักประชาธิปไตยน้ำลาย ดูแล้วก็ไม่ต่างไปจากเนยที่ไหลเข้าเครื่องบด คุณคิดลองคิดดูสิมันกลับตาลปัตรสิ้นดี มันเป็นเรื่องอะไรที่วิปริตพอสมควร"


 


สถานการณ์สื่อน่าจะดีขึ้นไหม ถึงแม้จะมีประกาศ คปค. มีกฎอัยการศึกอยู่


มันจะดีขึ้นได้ไงครับ (หัวเราะ) จริงๆ แค่ประกาศ คปค. ข้อนี้ สื่อไม่กล้าทำอะไรแล้ว อีกประการหนึ่งตัวสื่อเองค่อนข้างเข้าแถวเป็นระเบียบอยู่แล้วตอนนี้ พูดติดตลกก็คือ ค่อนข้างเซ็นเซอร์ตัวเองด้วย


 


ในส่วนเว็บไซต์ต่างๆ เครือข่ายสื่อต่างๆ มีผลกระทบเยอะไหม เพราะมีเว็บไซต์โดนปิดหลายที่


ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีผลกระทบมาก อย่างเช่น เว็บไซต์ของเครือข่าย 19 กันยา โดนบล็อกหลายครั้ง ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ถูกบล็อก ประชาไทออนไลน์ไม่ถูกบล็อก แต่ถูกก่อกวนทำให้ปั่นป่วนในกระดานข่าวอะไรต่างๆ เท่าที่ผมทราบก็คือว่า เว็บไซต์ของเอกยุทธ (อัญชัญบุตร) ไทยอินไซเดอร์โดนบล็อก โดนปิดกั้น โดนแฮก โดนก่อกวน


 


ในส่วนของสื่ออื่นๆ ข้อมูลที่สื่อต่างๆ ไม่ได้ลงมากมายกรณีแท็กซี่พลีชีพ นี่เป็นอย่างไร


ถ้ามาดูเรื่องแท็กซี่พลีชีพ ผมได้ข่าวจากเพื่อนนักข่าวที่กรุงเทพฯ เขาคุยให้ฟังว่า คุณนวมทอง ไพรวัลย์ หลังจากที่ได้พลีชีพเพื่อประชาธิปไตยด้วยการแขวนคอข้างที่ทำการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้ว หลังจากนั้นคุณจอม เพ็ชรประดับ ในรายการไอทีวีซึ่งเคยทำเทปในการสนทนาระหว่างคุณนวมทอง ไพรวัลย์ กับ คุณจอม เพ็ชรประดับ เอามาออกอากาศ หลังจากออกอากาศแล้วในคืนนั้นเองก็ถูกคำสั่งให้ยุติไม่ให้ออกอากาศซ้ำอีก และเพิ่มกำลังทหารเข้าไปควบคุม ITV เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำหรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย


 


ซึ่งอันที่จริงผมคิดว่ากรณีแบบนี้เป็นการปิดพื้นที่สื่อ ซึ่งสื่อควรจะมีเสรีภาพในการรายงานสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่เป็นจริงในสังคมของเรา และคิดว่าและการปิดกั้นสื่อแบบนี้ นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อภาคประชาชนที่จะรับรู้ข้อเท็จจริง ตัวของรัฐบาลเองก็จะหมดพื้นที่ของตัวเองลงไปด้วย ในการรับรู้ข่าวและกระแสที่มันสั่นสะเทือนอยู่


 


คือยิ่งปิดกั้น


รัฐบาลเองก็จะเสีย


 


แล้วก็จากกรณีคุณนวมทอง อันที่จริงกองทัพหนุนหลังรัฐบาลอยู่ทั้งสามเหล่าทัพ พร้อมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับกรณีของคุณนวมทองผมคิดว่าเป็นกรณีเล็กน้อยในเชิงเปรียบเทียบ และการที่พลังมหึมาแบบนี้ กลัวเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องตลก อันที่จริงก็คือควรเปิดพื้นที่สื่อทั้งหลายให้มันนำเสนอข้อเท็จจริงในสังคมที่เกิดขึ้น เพราะสังคมที่ดีคือสังคมที่โปร่งใส ไม่ใช่สังคมที่ถูกบล็อก ถูกปิดกั้น ไม่มีสังคมไหนที่ประกาศความเป็นประชาธิปไตยและทำแบบนี้


 


ผมคิดว่าแปลกๆ นะเมืองไทยมันเป็น Paradox หรือมันกลับหัวกลับหาง คนที่พูดถึงประชาธิปไตยและอยากปฏิรูปกลับกลายเป็นทหาร ตลกไหมครับ พอทหารปรากฏตัวพร้อมรถถังกลับมีดอกกุหลาบ ส่วนคนทำงานสื่อที่ยืนอยู่กับความเป็นกลางกลับไปเข้าร่วมกับรัฐบาล นักวิชาการที่เคยพูดถึงประชาธิปไตยหลายคน ตอนนี้ก็เป็นเพียงแค่นักประชาธิปไตยน้ำลาย ดูแล้วก็ไม่ต่างไปจากเนยที่ไหลเข้าเครื่องบด คุณลองคิดดูสิมันกลับตาลปัตรสิ้นดี มันเป็นเรื่องอะไรที่วิปริตพอสมควร


 


 


 









 


"ผมคิดว่าสังคมไทยเติบโตขึ้นมาจากลัทธิชาตินิยมที่คิดว่าผู้นำเป็นคนแก้ปัญหา ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาใดก็ตามเกิดขึ้นเรามักจะเรียกหาผู้นำหรือคนใดคนหนึ่งมาแก้ปัญหาแทนเรา สังคมในลักษณะนี้มันเป็นสังคมที่ถ้าพูดก็คือว่า ... น่าจะยุติบทบาทในลักษณะนี้ไปได้แล้ว ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่อำนาจปวงชนชาวไทย การแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทน ต้องใช้หลักการตามระบอบประชาธิปไตย มิใช่ใช้อำนาจพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น"


 


แต่เห็นว่า หลายส่วนในสังคมไทยเขาบอกว่าเขาก็ไม่เห็นด้วยในหลักการ แต่การแก้ปัญหาไม่ให้สูญเสียคือต้องทำแบบนี้ ใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สองความคิดนี้ในสังคมไทยมันขัดแย้งอย่างไร


สังคมไทยเติบโตขึ้นมาจากลัทธิชาตินิยมที่ผู้นำเป็นคนสร้าง และพวกเราจำนวนมากคิดว่าผู้นำเป็นคนแก้ปัญหา ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาใดก็ตามเกิดขึ้นเรามักจะเรียกหาผู้นำหรือคนใดคนหนึ่งมาแก้ปัญหาแทนเรา สังคมในลักษณะนี้มันเป็นสังคมที่ถ้าพูดก็คือว่า เป็นสังคมดูดนมแม่ (ไม่โตสักที) ... น่าจะยุติบทบาทในลักษณะนี้ไปได้แล้ว ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่อำนาจปวงชนชาวไทย การแก้ปัญหาเป็นเรื่องของตัวเรา และต้องใช้ความอดทน ต้องใช้หลักการตามระบอบประชาธิปไตย มิใช่ใช้อำนาจพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น


 


ไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการเท่านั้น สื่อจำนวนมาก ประชาชนจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการแบบนี้ในการเปลี่ยนแปลง แม้จะบอกว่ามันเป็นการแก้ปัญหาก็ตาม


 


การแก้ปัญหาที่ถูกต้องในระบอบนี้คือการแก้ปัญหาด้วยความอดทน อาศัยช่องทางตามระบอบกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ได้ดำเนินการมาพอสมควรโดยใช้กระบวนการยุติธรรมไปจัดการกับความขัดแย้ง ไปจัดการกับความฉ้อฉล ไปจัดการกับความทุจริต ซึ่งสังคมต้องอดทนรอ ไม่ใช่เรียกหาผู้นำแล้วแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบเร่งรัดแบบนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยเลย


 


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นโมเดลประชาธิปไตยของสังคมไทยหรือเปล่า หรือสังคมไทยก็เป็นแบบนี้คือมันก็เป็นวัฏจักร เป็นวงจรการแก้ปัญหาอย่างนี้ตลอด


คิดว่ามันเป็นวงจรที่ซ้ำซาก มันเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ที่เราเรียกหาผู้นำในการแก้ปัญหาเสมอ ฉะนั้นจริงๆ ก็คือผมกำลังเสนอว่า เมื่อไหร่เราจะยุติระบอบที่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ เพราะว่าประชาธิปไตยในตัวมันเองคืออำนาจปวงชนชาวไทย เราต้องพยายามที่จะเพิ่มอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ พยายามทำให้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวงการการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมีความโปร่งใส


 


คิดว่าสังคมไทยจะเป็นแบบนี้อีกนานไหม


คราวนี้เท่าที่ปรากฏการณ์ที่เราเห็น มีคนค่อนข้างมากพอสมควรออกมาแสดงปฏิกิริยาต่อต้านในเชิงสัญลักษณ์หลายอย่าง เช่นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเองไม่เห็นด้วยกับกฎอัยการศึก ไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญการปกครองเราก็แสดงออกจนกระทั่งเราถูกบล็อกเว็บไซต์ของเรา กลุ่มอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเครือข่าย 19กันยา ไปเผาธรรมนูญที่หน้าที่ทำการ คปค. ก็เห็นได้ชัด และมีอีกหลายๆ กลุ่ม เดินทางไปประท้วงที่สยามพารากอนก็ดี หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในการทำรัฐประหารก่อนหน้านี้


 


แล้วการรัฐประหารคราวนี้จะเห็นว่าพลังทางประชาธิปไตยของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่ถูกบล็อกจำนวนหนึ่งตามบ้านนอกตื่นตัวพอสมควร ผมคิดว่าการใช้วิธีการพิเศษแบบนี้มันเริ่มหมดความหมายไปเรื่อยๆ และประชาชนเริ่มไม่ใยดีกับมัน กล้าที่จะออกมาประท้วง กล้าที่จะออกมาสวนกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ


 


คิดว่าปรากฏการณ์อย่างนี้ ถ้าย้อนไปดูรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พูดเรื่องสิทธิ เสรีภาพค่อนข้างเยอะ สิ่งนี้ถือว่าเป็นผลของประชาธิปไตยที่มันลงรากลึกลงไปในช่วง 10 กว่าปีหลังพฤษภาทมิฬ


ผมคิดว่าถ้าจะพูดเรื่องนี้ เราต้องมองถึงอดีต ถึง 14 ตุลาคม 2516 เลย คือการเติบโตของพลังชนชั้นกลาง ซึ่งอาจจะมีทุนนิยมเสริมอยู่ด้วยนะ


 


เราต้องมองถึงอดีต เพราะคนที่ออกมาต่อต้านคนการทำรัฐประหารคราวนี้ ค่อนข้างเต็มไปด้วยผู้คนหลายกลุ่ม หลายชนชั้น เฉพาะปี 2540 มีผลไหม ผมคิดว่าประชาชนรากหญ้า ก่อนและหลังปี 2540 โตมาก แต่พลังชนชั้นกลางที่โตอย่างต่อเนื่องเขาก็เป็นพลังอีกสายหนึ่งหรืออีกแกนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดผลในการประท้วง ในการสวนกระแสกับการทำรัฐประหาร


 


จริงๆ ก็คือว่าเราไม่น่าจะมองปัจจัยปี 2540 กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นี้เท่านั้น แต่ต้องมองถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวกว่านั้นอีกที่ชนชั้นกลางโตออกมาเรื่อยๆ ประกอบกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากด้วย


 


แต่ว่าก็มีอำนาจพิเศษ กระบวนการพิเศษเข้ามาโดยตลอด แล้วทีนี้คิดว่าสังคมไทยจะเป็นแบบนี้ตลอดไปไหม


อันที่จริงมันน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วอายุมันจะสั้นลงไปเรื่อยๆ คุณสังเกตไหมครับ คปค. ประกาศกับประชาชน เมื่อวันที่ 19 กันยายน ประมาณ 4-5 ทุ่ม ว่าได้ทำการรัฐประหาร และจะอยู่เพียงแค่ 14 วัน แต่ผลจากการต่อต้านทั้งหมดทำให้ คปค. เหลืออายุเพียงแค่ 12 วัน และรีบถ่ายโอนไปเป็นคณะรัฐบาลชุดใหม่โดยมีคุณสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี และผมคิดว่าการที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศว่าจะมีอายุประมาณ 1 ปี 5 เดือนเนี่ย ผมคาดการณ์ว่าอายุไม่ถึงอีก


 


 


 









 


"ผมอยากจะเรียกว่าเป็นพลังประชาธิปไตยของคลื่นลูกที่ 3 หมายความว่าคลื่นลูกที่ 1 ก็คือสถาบันที่มีมาแต่เดิม สถาบันทหาร สถาบันข้าราชการ คลื่นลูกที่ 2 นักธุรกิจการเมือง หรือนักการเมืองมืออาชีพ คลื่นลูกที่ 3 คือคลื่นประชาชนและคนที่ควรจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือพลังคลื่นลูกที่ 3 นี้"


 


 


หลายๆ คนมองว่ารัฐบาลนี้จะอยู่เกิน ทำไมอาจารย์มองว่าจะไม่ถึง


คิดว่าอายุจะไม่ถึง คือพลังประชาธิปไตยตอนนี้ หรือแม้แต่นักการเมืองที่โอกาสประชุมกันเกิน 5 คน ดังที่รัฐบาลชุดนี้อนุญาตแล้วให้มีกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น คุณจะเห็นว่านักการเมืองหลายคนเริ่มแสดงออกพอสมควร ทั้งหมดนี้ เมื่อคืน (คืนวันที่ 2 ..) ถ้าเราดูคุณเสนาะ เทียนทอง พูดค่อนข้างจะชัดเจน ในการพูดถึง ...เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบเสนาะ เทียนทองละกัน คือกล้าออกมาพูดน่ะ


 


ก่อนหน้านี้คุณจะเห็นว่าหลังการรัฐประหาร กลุ่มการเมืองที่เป็นกลุ่มการเมืองมืออาชีพแบบนี้จะหลบ แต่ตอนนี้ เท่าที่เห็นหลายๆ เสียง ทั้งนักวิชาการ ชนชั้นล่าง สื่อบางฉบับ เว็บไซต์หลายเว็บไซต์และกลุ่มนักการเมือง ได้ออกมาพูดในลักษณะที่ต้องการประชาธิปไตย ไม่ว่าใครจะมองว่าอายุยาวกว่า 1 ปี 5 เดือน แต่ผมคิดว่าจากสถานการณ์แวดล้อม ผมเองคาดการณ์ว่าอายุน่าจะสั้นกว่านี้ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่


 


และผมจะคาดการณ์ต่อไปว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 นี้คงจะไม่ได้ใช้ คงจะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 เลย


 


ในส่วนของรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคน 35 คน รวบรัดเลยนะไม่ต้องพูดถึงสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คน คือรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคน 35 คน ที่พยายามจะทำให้ประชาธิปไตยเชื่องลง จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุสั้น เพราะว่าเมื่อคุณได้เคยใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งค่อนข้างเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีพอสมควร แม้ไม่ถึงกับดีที่สุด แล้วต่อมามาถูกร่างโดยคน 35 คน ซึ่ง 10 คนเป็นคนของ คมช. ด้วย แล้ว 25 ที่คัดมาจาก 2,000 คนก็เป็นคนของฝ่ายคุณ โดยไม่ต้องไปงงกับสูตรคณิตศาสตร์ที่ได้มา ฉะนั้นมันจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มันเหลือที่รับน่ะ (หัวเราะ)


 


หมายความว่ากระบวนการที่จะยกร่างกันไม่เป็นประชาธิปไตย


ไม่เป็นเลย


 


และฉบับที่ 18 อาจไม่ได้ใช้ อาจจะได้ใช้ฉบับที่ 19 เลย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรหรือมาอย่างไร แต่ฉบับที่ 18 คงจะอายุสั้น


 


พูดแบบนี้เหมือนจะเชื่อว่าประชาธิปไตยไทยพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มันมาไกลแล้ว


คิดว่าจริงๆ มันหยุดยั้งไม่ได้แล้ว มันเป็นยีนส์ประชาธิปไตย มันเริ่มปลูกฝังขึ้นมาและเติบโตพอสมควร แล้วคุณกลับไปสู่วิธีการเดิมๆ วิธีการโบราณ วิธีการที่มันขัดแย้งกับโลกาภิวัฒน์จะทนอยู่ได้ขนาดไหน อันที่จริงก่อนหน้านี้ผมเคยเปรียบเทียบว่า เราอยู่ในโลกยุคดิจิตอล แล้วย้อนกลับมายุคอนาล็อค แต่ตอนนี้น่าจะเปรียบเทียบว่าขบวนรถไฟโลกาภิวัฒน์มันไปไกลแล้ว แล้วคุณก็กระโดดลงมาเริ่มที่จะใช้เกวียนเหรอ ผมไม่แน่ใจ มันจะไปยังไง ผมเดาไม่ออก แต่คิดว่าคงจะหมดอายุในเร็ววันแน่ๆ ในเร็ววัน รัฐธรรมนูญหรือรัฐบาลแบบนี้ มันต้องกลับไปสู่ครรลองของประชาธิปไตย


 


คือจริงๆ แล้ว คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเองคิดว่าบทบาทของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ของรัฐบาลชั่วคราว ควรมีบทบาทเพียงแค่จัดให้มีการเลือกตั้งอย่างยุติธรรมเท่านั้นเอง รัฐบาลชุดนี้ไม่มีสิทธิหรืออำนาจใดๆ อันชอบธรรมในทัศนะของพวกเราคือในการที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ อันที่จริงคือควรจะจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างยุติธรรม แล้วจัดการกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ให้เป็นไปตามกลไกของกระบวนการยุติธรรมด้วย! ไม่ได้ใช้อำนาจพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น ทุกสิ่งถ้าทำอย่างโปร่งใส มีความชอบธรรมทุกอย่าง รัฐบาลชุดนี้จะผ่านไปได้อย่างสวยงาม แล้วจะเป็นประวัติศาสตร์อันหนึ่งของสังคมไทยที่มีรัฐบาลชุดหนึ่งที่แก้ปัญหา แม้จะมาโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนับถึงวันนี้คุณแก้อะไรไม่ได้แล้วต้องปล่อยให้มันเป็นไป แต่ให้เป็นไปในแบบที่ประชาชนสามารถกำกับและควบคุมได้ตามต้องการ นั่นก็คือต้องการให้รัฐบาลชุดนี้เพียงแค่จัดให้มีการเลือกตั้งแบบยุติธรรม และจัดการกับนักการเมืองที่ฉ้อฉลหรือทุจริตตามกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน


 


รัฐบาลนี้มีอำนาจถึงกับสามารถประกาศรื้อกฎหมายบางฉบับขึ้นมาใช้ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นจริงๆ ลองพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 คือตอนนี้มันอยู่ในธรรมนูญชั่วคราว 39 มาตรา คุณใช้ธรรมนูญนี้เพื่อจัดการเลือกตั้งก็พอ หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ปล่อยให้นักการเมืองกับประชาชนร่วมกันร่าง


 


อันที่จริงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความคิดมานานแล้วที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนลงขัน ไม่ใช่ลงขันเงินทองนะ ลงขันความคิด สติปัญญาจากทุกภาคส่วน ใครก็ตามที่เป็นประชาชนไทย มีสัญชาติไทย คุณสามารถที่จะร่วมลงขันในการเขียนถึงปัญหาของคุณมาให้เรา ผ่านกระดานข่าวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือตู้ไปรษณีย์ที่เราเปิดรับ แล้วเราจะมีนักกฎหมายมหาชนที่จะจัดหมวดหมู่แล้วสร้างเป็นมาตราให้คุณเอง แล้วอย่างนี้ผมคิดว่าองค์กรต่างๆ ภาคประชาชนทำได้ทั้งหมด


 


ตอนนี้เราเปิดรับอยู่ และจะเปิดตัวกระดานร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการวันที่ 10 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ


 


มองว่าประชาชนจะกลับมาปฏิรูปการเมืองเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ


ผมอยากจะเรียกว่าเป็นพลังประชาธิปไตยของคลื่นลูกที่ 3 หมายความว่าคลื่นลูกที่ 1 ก็คือสถาบันที่มีมาแต่เดิม สถาบันทหาร สถาบันข้าราชการ คลื่นลูกที่ 2 นักธุรกิจการเมือง หรือนักการเมืองมืออาชีพ คลื่นลูกที่ 3 คือคลื่นประชาชนและคนที่ควรจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือพลังคลื่นลูกที่ 3 นี้.


 


 


 


 


 


 







ประชาไทย้อนหลัง : สัมภาษณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน "หลังรัฐประหาร"


 


 


สัมภาษณ์ : สมเกียรติ ตั้งนโม ปฏิวัติครั้งนี้เปรียบเสมือนนิทานเรื่อง สิงโตกับหมาจิ้งจอกแย่งชิงกินไก่ 25 ก.ย. 49


สัมภาษณ์นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "ไม่ว่าใครมีอำนาจเราต้องคุมมันให้ได้" 29 ก.ย. 2549


คุยกับ รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม อีกครั้ง หลังฉีก รธน.ชั่วคราว  2 ต.ค. 2549


 


สัมภาษณ์ : นิธิ ย้ำ "เราต้องสร้างสื่อทางเลือกเพื่อคนไทยให้มากขึ้น" 6 ต.ค. 2549


คุยกับอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ "ปฏิรูปการเมืองด้วยเวทีร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนาน" 7 ต.ค. 2549


ช่างตัดผม" (มหาชน) สมชาย ปรีชาศิลปกุล : "สังคมไทยทุกวันนี้ไม่อนุญาตให้ใครเขียนกฎหมายแทนคนอื่น" 16 ต.ค. 2549


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net