Skip to main content
sharethis

โดย...นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


 


คลื่นใต้น้ำที่เป็นบ่อเกิดขอความหวาดวิตก เกรงว่าจะก่อตัวกลายเป็นสินามิทางการเมืองนั้น เป็นกลุ่มก๊วนหรือพวกใดกันแน่


 


ใครๆ ต่างก็พูดถึงคลื่นนี้ แต่ดูเหมือนความหมายของคลื่นใต้น้ำของแต่ละกลุ่มแต่ละพวกก็แตกต่างกัน


 


บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่าทางการเมืองที่ฝังรอยแค้นจากการเสียผลประโยชน์และเสียฟอร์ม


 


บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มปฏิเสธทหารบนเส้นทางประชาธิปไตย ไม่ต้องการรัฐบาลทหารและเรียกร้องให้เลือกตั้งโดยเร็ว


 


บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และกำลังวิพากษ์รัฐบาลเพื่อต่อรองผลประโยชน์


 


แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกกว่าพื้นผิว คลื่นใต้น้ำที่ว่า แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย


 


1. กลุ่มนักวิชาการ นักประชาธิปไตยที่ยืนหยัดไม่เอารัฐประหาร แต่ก็ไม่ต้องการระบอบเก่า เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหววิพากษ์ระบอบทักษิณมาก่อนด้วย แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ก็ประกาศไม่เอาด้วย เพราะเห็นว่าไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย คลื่นของกลุ่มนี้บริสุทธ์และตรงเผง แต่ก็ไร้ทางออกว่าควรจะทำเช่นไรกับสถานการณ์อันล่อแหลม


 


2. กลุ่มการเมืองอำนาจเก่า คลื่นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าคือกลุ่มคนที่อยู่ในกลไกระบอบเก่ามานาน มีฐานรวมถึงกลุ่มองค์กรวิชาชีพที่มีสื่ออยู่ในมือด้วย


 


3. กลุ่มที่สถาปนาตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย ระบุว่าเคลื่อนไหวโดยส่วนตัว แต่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองอำนาจเก่า


 


4. กลุ่มคนอกหัก ซึ่งต้องจับตา เช่นกลุ่มข้าราชการที่ถูกโยกย้าย กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการและนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งจะทวีแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ


 


คลื่นใต้น้ำ ไม่ได้ก่อตัวขึ้นในนามพรรคการเมืองแบบตรงไปตรงมา คำพูดของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่ว่าการตั้งประเด็นคลื่นใต้น้ำว่าเกี่ยวกับไทยรักไทยนั้นเลื่อนลอย ทำให้พรรคเสียหาย


 


แน่นอนว่า พรรคไทยรักไทย ไม่ได้มีมติโดยคณะกรรมการบริหารพรรคให้สร้างคลื่นใต้น้ำ เหมือนกับไม่มีมติให้จ้างพรรคเล็ก แต่แน่นอนว่า รักษาการหัวหน้าพรรคไม่อาจรับประกันได้ว่าองคาพยพที่รวมตัวกันเป็นพรรคไทยรักไทยมีกลุ่มคนอยู่หลายประเภท และเป็นกลุ่มที่เข้าสังกัด 4 กลุ่มที่นิยามคลื่นใต้น้ำกันทั้งสิ้น


 


ไทยรักไทยหลังอดีตนายกฯทักษิณลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค ก็มีองค์ประกอบที่หลากหลายที่ก่อให้เกิดกระแส ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนใกล้ชิด วงใน ที่แน่นอนว่า กระแสคลื่นจะส่งผลต่อการดำรงอยู่ของพวกเขา เพราะย้อนหลังไปยามสถานการณ์แหลมคม กล่มวงในเหล่านี้มีบทบาทสำคัญป้อนข้อมูล ชี้นำเป่าหู พยุงตัวให้ "ทักษิณสู้ๆ " เพียงเพื่อความอยู่รอดของตัวเองเป็นสำคัญ กลุ่มนี้ยังปรากฏให้เห็นเป็นนักแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวในคราบนักประชาธิปไตยเที่ยวไปร้องเรียน ยื่นหนังสือทำตัวเป็นคลื่นต้านรัฐบาลอยู่สม่ำเสมอ และปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวกับพรรค


 


ใต้เงาไทยรักไทยยุคนี้ ยังมีกลุ่มนักธุรกิจและนักการเมืองท้องถิ่น ที่เคยอิ่มหมีและมีอำนาจคับภูธร ทำมาหากิจกับโครงการรัฐบาลชุดก่อนจนพุงกาง ในพื้นที่ภาคเหนือคือตัวอย่างที่ชัดเจนทั้งฐานการเมืองท้องถิ่น กับกลุ่มที่ทำมาหากินกับเมกกะโปรเจ็กต์ การสูญเสียบ่อเงินบ่อทองต้องรอวันทวงคืน และแน่นอนว่ายังมีสมาชิกพรรคที่ภายใต้ข้อมูลที่ตนมี ยังคงศรัทธาเชื่อมั่นและรอวันกลับมาของทักษิณ ชินวัตรแบบบริสุทธิ์ จริงใจ การติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างคนกลุ่มนี้กับกลุ่มแกนนำจึงเป็นสายโยงใยรอวันคลื่นรวมตัวกันเพื่อซัดฝั่งให้ทลาย


 


การซัดฝั่งของคลื่นใต้น้ำ หรือขบวนการต่อต้านรัฐบาลได้เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ฉับพลันนับแต่การรัฐประหารครั้งแรก ที่มีการระดมชาวบ้านจากภาคอิสานเข้ากรุงเทพ กระแสข่าวในต่างแดนรวมถึงการจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่ไม่สำเร็จ


 


แต่หลังแกนนำคนสำคัญถูกปล่อยตัวคลื่นใต้น้ำมีการก่อตัวอีกระลอกโดยเฉพาะในพื้นที่ฐานเสียงเดิม ทำให้แนวคิดการแบ่งโซนเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกจึงต้องเกิดขึ้น


 


คงไม่ใช่เรื่องยากต่อผู้นำรัฐบาลที่เข้าใจยุทธวิธีคลื่นใต้น้ำ และเชื่อว่ามีอยู่จริง เพราะยุทธวิธีที่ปรากฏออกมาต่อการทวงอำนาจคืนขณะนี้คลับคล้ายกับการปรับยุทธวิธีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาใช้


 


"รับ-ยัน-รุก"


 


ขั้นตอนการ "รับ" คือจุดเชื้อไฟรักษามวลชน วิธีการเผาโรงเรียน แจกใบปลิว ประชุมลับ และปล่อยข่าว เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลหรือทหารคุมไม่ได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้สถานการณ์ของคลื่นใต้น้ำอยู่ในขั้นรับนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดอันเป็นฐานเสียงเก่าของภาคเหนือและอิสาน ไม่ต่างจากสถานการณ์ป่าล้อมเมือง และล่อแหลมต่อการจุดติด


 


เมื่อบ่มสถานการณ์ได้ที่ต้องขยับสู่ขั้นยัน และขยายแนวร่วม ขั้นตอนนี้ประมาทมิได้เด็ดขาด เพราะจะเกิดการรวมตัวระหว่างกลุ่มที่เคลื่อนไหวขั้นแรก กับแนวร่วมสถานการณ์ผู้เรียกร้องวิถีประชาธิปไตยโดยบริสุทธิ์ นั่นคือกลุ่มที่คัดค้านการรัฐประหาร และจะมีแนวร่วมจากกลุ่มอกหักและได้รับผลกระทบจากนโยบายใหม่ทันที


 


และขั้นสุดท้ายเมื่อสถานการณ์สุกงอม เชื่อกันว่า อดีตผู้นำจะกลับมาในภาพนำประชาชนสู้กับทหารอย่างแตกหัก !!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net