Skip to main content
sharethis

ประชาไท-17 พ.ย. 49 เมื่อวันที่ 16 พ.ย. โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเข้าใจมนุษย์ (ผู้หญิง)" โดยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะต้องเข้าใจมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะก้าวย่างการเติบโตของเพศหญิงที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองอย่างจริงจัง และตระหนักรู้ถึงความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง แล้วปรับเปลี่ยนโครงสร้างนั้นให้เกิดการปฏิบัติจริงไปตามการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก


                                   


กรวิภา วินลาส แกนนำขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงการเข้ามามีส่วนของผู้หญิงในกลไกใหญ่ของประเทศหรือเรื่องของการเมืองที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลงด้วย เพื่อให้เกิดสังคมในลักษณะที่ว่า Partnership Model หรือรูปแบบสังคมแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทั้งสองเพศ เพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก


 


"ทุกวันนี้สังคมที่เราอยู่เป็นสังคมที่เรียกว่าสังคมแบบ Domination หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันถูกวิจิตรสร้างสรรค์บรรจงขึ้นมาจากวิถีการคิดแบบผู้ชาย สิ่งที่แนว Domination พยายามที่จะทำก็คือการลากผู้หญิงกลับไปในยุค 200 ปีที่ผ่านมา กลับไปสู่ยุคทาสหรือถ้าจะไกลกว่านั้นก็จะทำ เป็นสังคมที่คนครึ่งหนึ่งของประเทศใช้วิธีคิดมาครอบงำคนอีกครึ่งหนึ่ง หรือใช้ความเป็นเพศชายครอบงำจิตเภท การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้อำนาจแบบนี้จึงจะต้องถูกเปลี่ยน ถ้าการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี การสร้างกลไกทางการเมืองก็ดี ถ้าไม่สร้างเพื่อที่จะไปเปลี่ยนอำนาจตรงนี้ การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เป็นเพียงการถ่ายโอนอำนาจของ Dominater กลุ่มหนึ่งไปสู่ Dominater อีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง สังคมจึงต้องเปลี่ยน" กรวิภา กล่าว


                                  


กรวิภา วีลาส  กล่าวต่อว่า ตอนนี้สังคมแบบ Dominater Model เริ่มมีปัญหาจากปรากฏการณ์การล้มสลายของระบอบทักษิณ และได้เสนอ Model ที่คิดว่าเหมาะสมคือสิ่งที่เรียกว่า Partnership Model คือโมเดลที่คนจะต้องมีหุ้นส่วนทั้งหญิงและชาย เป็นการขับเคลื่อนแบบใช้เครือข่ายร้อยเรียงคนในสังคมมาร่วมกัน เป็นโมเดลของการจัดสัมพันธ์ทางอำนาจที่ต้องขับเคลื่อนผ่านกระบวนการเชื่อมโยงคนทั้งสองเพศ เพราะฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สิ่งที่จะขับเคลื่อนต้องมีผู้หญิงอยู่ด้วย ซึ่งไม่ใช่การยึดอำนาจจากผู้ชาย แต่ Partnership Model เป็นการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อคนทั้งสองเพศสามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่


 


ด้านรสนา โตสิตระกูล ได้กล่าวว่า Dominater Model คือความเป็นบุรุษ ความแข็ง ความมีประสิทธิภาพ ซึ่งสังคมไทยมีมากเกินไปจนทำให้เสียดุลยภาพทางสังคม สังคมก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโลกที่พัฒนาบนฐานความคิดแบบผู้ชายที่เน้นการแข่งขันที่เป็นพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมมันกำลังไปถึงทางตัน ดังนั้นผู้หญิงจึงมีความสำคัญในการปฏิรูปการเมืองต่อไป แต่ถ้าผู้หญิงขึ้นมาเพื่อแย่งชิงอำนาจแทนที่บุรุษมันก็ไม่มีประโยชน์


 


รสนา โตสิตระกูล ยังกล่าวถึงภาวะของการเป็นผู้หญิงที่น่าจะเข้ามาจัดการอะไรในหลายๆเรื่องได้ในมิติที่แตกต่างว่า "ความแตกต่างระหว่างชายหญิงที่สำคัญที่สุด คือผู้หญิงให้กำเนิดชีวิตเพราะฉะนั้นผู้หญิงจะมีความเป็นแม่ และความเป็นแม่โดยธรรมชาติต้องปกป้องดูแลลูก พยายามทำให้ทุกสิ่งอย่างมันอยู่ในสภาพที่ตนสามารถควบคุมดูแลได้ เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงยึดพื้นที่และสนใจชีวิตมากกว่าผู้ชายที่ดำเนินนโยบายไปเรื่อยแสวงหาความยิ่งใหญ่ไปเรื่อย ไม่สนใจความสมบูรณ์ของเศรษฐกิจ"


 


ในขณะที่สุทธินี เมนะประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ได้กล่าวถึงมาตรการลงลึกของการมีส่วนร่วมของประชาชน (ผู้หญิง) โดยการวางเค้าโครงสัดส่วนการบริหารจัดการบ้านเมืองอย่างน้อย 30เปอร์เซนต์หากเป็นไปได้ กล่าวคือ ควรใช้มาตรการวางกรอบสัดส่วนและระบุไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกี่ยวกับแนวนโยบายต่างๆ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องสร้างกรอบกำหนดว่าควรจะเป็นชายหรือหญิง และให้ผู้หญิงเข้าไปมีสวนร่วมไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ การเมืองต่างๆ เช่น การกำหนดในพระราชบัญญัติว่า พรรคการเมืองควรส่งหญิงไปกี่คน หรือแค่จัดแค่ชายหรือหญิง หากว่าพรรคไม่ได้กำหนดหรือส่งทางภาครัฐอาจจะตัดงบประมาณสนับสนุนพรรค


 


สุทธินี เมนะประภา กล่าวอีกว่า "ผู้หญิงต้องปฏิวัติตัวเอง หาตัวเองให้เจอและนำไปสู่การปฏิบัติจริง ต้องมีการสนับสนุนชักจูงผู้หญิงด้วยกัน ต้องมีมาตรารองรับที่ชัดเจนและให้เกิดความเป็นจริงมากขึ้น ต้องไปชักจูงคนอื่นมาเป็นแนวร่วม โดยเฉพาะพม่าต้องเสนอเรื่องมุมมองของผู้หญิงในเรื่องการเมือง แสดงจุดยืน สร้างผลงานเป็นรูปธรรม ประเมินให้มีคุณค่าสามารถจัดการได้ทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การเงิน โดยมีต้นทุนอาศัยความเป็นแม่และเป็นจุดแข็งของผู้หญิง นอกจากนี้ หาสื่อที่สนับสนุนเรื่องผู้หญิง การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่าคิดแต่ว่าการเมืองต้องเป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงเป็นผู้เลือกตั้งอย่างเดียว"


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net