Skip to main content
sharethis

ประชาไท -  27 เม.ย. 50  ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ IPCC คณะทำงานที่ 3 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ สัปดาห์หน้า  กรีนพีซมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียให้ร่วมมือกันหยุดยั้งหายนะจากภาวะโลกร้อน โดยลดเลิกการให้การอุดหนุนทางการเงินต่อพลังงานฟอสซิลโดยเร็ว และตั้งเป้าหมายที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายสำหรับพลังงานหมุนเวียน พร้อมบังคับให้มีมาตรฐานด้านประสิทธิภาพที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุปกรณ์ อาคาร และยานพาหนะที่ใช้พลังงานทุกรูปแบบ


 


การประชุม IPCC ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ มุ่งหาแนวทางในการยุติภาวะโลกร้อนเป็นสำคัญ


 


"ในขณะที่เรารณรงค์เพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในปริมาณมหาศาล และพยายามลดการใช้พลังงานสกปรกในประเทศกำลังพัฒนา  เราต้องรับประกันด้วยว่าประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนต่อไปได้ โดยไม่มีปัญหาจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนมาซ้ำเติม ประชากรของประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก"  สเวน เทสเก ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กรีนพีซสากลกล่าว 


 


เทสเก เป็นผู้ร่วมเขียนรายงาน "ปฏิวัติพลังงาน : อนาคตพลังงานที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออก" ซึ่งนำมาเผยแพร่ในการสัมมนาวันนี้


 


จากผลงานการจัดทำร่วมกันระหว่างกรีนพีซสากล และสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนแห่งยุโรป หรือ EREC ระบุว่า พลังงานหมุนเวียนผนวกกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดสามารถลดความต้องการพลังงานของโลกลงได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2050  แผนการปฏิวัติพลังงานฉบับนี้มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลงร้อยละ 50 ภายใน 43 ปีข้างหน้า และจัดหาพลังงานที่ปลอดภัยและเป็นไปได้ รวมทั้งคงไว้ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมั่นคง


 


"สำหรับประเทศไทย การไปถึงเป้าหมายของการลดปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ อนาคตพลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัยได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายด้านพลังงานหมุนเวียนมาบังคับใช้ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อกำหนดรับประกันราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังต้องเร่งขจัดอุปสรรคจากระบบราชการและระบบเศรษฐกิจที่ขัดขวางการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนด้วย"  ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและภูมิอากาศของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว และเสริมว่า "พลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ต้องแข่งขันกัน หากรัฐบาลลดการให้การอุดหนุนทางการเงินต่อพลังงานฟอสซิล และนำหลักการที่ว่า "ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย" มาใช้"


 


รายงานฉบับนี้พิจารณาถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และให้ความสำคัญกับข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจของแผนการปฏิวัติพลังงาน นอกจากนั้นยังมุ่งให้ความสนใจกับข้อตกลงสำคัญในเรื่องระบบโครงสร้างทางพลังงาน ซึ่งจะเกิดขึ้นจากภาครัฐบาล สถาบันการลงทุน และบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการด้านสาธารณูปโภค


 


"แผนการปฏิวัติพลังงานนี้เกิดขึ้นเพราะโลกกำลังร้องขอแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในเรื่องการจัดหาพลังงานที่เหมาะสมต่อความต้องการ โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน  เราแสดงให้เห็นว่า โลกเราสามารถมีพลังงาน หมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเราสามารถบรรลุความต้องการและความมีประสิทธิภาพทางพลังงานได้  เราสามารถทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเราต้องลดการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่เป็นอันตรายและก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น ถ่านหิน และนิวเคลียร์" วอน เฮอร์นานเดซ ผู้อำนวยการฝ่ายงานรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปทิ้งท้าย


 


 


สำเนาของรายงาน "ปฏิวัติพลังงาน : อนาคตพลังงานที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออก" สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.greenpeace.org/energyrevolution และ www.energyblueprint.info


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net