Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง


 


 



 


 


ในสังคมที่ "ไม่มีความเสมอภาค" ในสังคมที่ "คนไม่เท่ากัน" นั้น ... เราทั้งหลายกำลังเผชิญหน้ากับ "สงครามชนชั้น" อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะ "สงครามการแย่งชิงทรัพยากร" ระหว่างประชาชนธรรมดาที่ร่วมกันเป็นเจ้าของในชุมชน กับฝ่ายที่ต้องการนำทรัพยากรเหล่านั้นไปสร้างกำไรเพื่อคงไว้ซึ่งความห่างทางชนชั้นอยู่อีกเรื่อยๆ


 


และถ้าขึ้นชื่อว่า "สงคราม" แล้วล่ะก็ ความสูญเสียก็ต้องเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ... และที่มันถูกจำกัดมุมมองให้เป็นเพียงความสูญเสียธรรมดาๆ ก็เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วมันมักจะเป็นความสูญเสียของฟากฝั่งของคนที่ไร้อำนาจ - ไร้พลัง เป็นความสูญเสียของฝ่าย "ประชาชนธรรมดา" ที่เป็นปฏิปักษ์กับ รัฐ , นายทุน และชนชั้นที่ได้ประโยชน์จากสังคมที่ยังเหลื่อมล้ำเป็นอยู่ อย่างในปัจจุบันนี้


 


ในมุมกลับกัน ถ้าหาก  ข้าราชการ , นักการเมือง , มหาเศรษฐีร้อยล้าน , ดารา , ชนชั้นสูง , อภิสิทธิ์ชน ... ใครซักคนดันเกิดมา "ตายห่า" แบบฉุกละหุกละก้อ ... นั่นแหละจะเป็นความสูญเสียที่พวกเขาเหล่านั้นเรียกว่าเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ --- มันจะกลายเป็นเรื่องที่กล่าวขวัญกันไปทั้งเมือง คุณจะได้ติดตามอย่างเกาะติดจากการสอพลอชนชั้นเหล่านั้นของสื่อกระแสหลัก กดประสาทให้คุณมีอารมณ์ร่วม ซึ้งแบบว่าถ้าโคตรพ่อโคตรแม่คุณตาย คุณก็อาจไม่เศร้าซึ้งได้ขนาดนั้น


 


แต่ถ้าหากคนติดดิน ตีนดำๆ ซักคนสองคนหรือมากกว่านั้น ตายในการทำสงครามชนชั้น ตายเพื่อปกป้องห้วยหนองคลองบึง ตายเพื่อแกป้องที่ทำกิน ตายเพื่อปกป้องการแย่งชิงทรัพยากรชุมชนจากนายทุนและรัฐแล้วล่ะก้อ ... การได้เป็นข่าวออกโทรทัศน์ซัก 20 วินาทีในช่วงข่าวภูมิภาคหรือข่าวอาชญากรรม ก็ถือว่าบุญโขแล้ว !


 


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ "ประชาชนธรรมดา" ได้ลุกขึ้นสู้กับการเข้ามาขโมยทรัพยากรจาก รัฐ , นายทุน และชนชั้นที่ได้ประโยชน์จากสังคมที่ยังเหลื่อมล้ำ และก็อย่างที่ทราบๆ กันว่า "ประชาชนธรรมดา" มักที่จะตายอย่างง่ายๆ และไม่ค่อยได้รับความสนใจนัก จากสังคมส่วนใหญ่ ( เพราะสื่อกระแสหลักของไทยชอบความตายที่ "pop" )


 


แต่กระนั้นคน หนุ่ม-สาว , เด็ก-แก่ ก็ไม่เลยที่จะคิดหยุดลุกขึ้นสู้ เมื่อพวกเขาหลังชนฝา รวมถึง "มนุษย์ผู้ที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม" ทั้งหลาย ก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกหลังชนฝา ...


 


"มนุษย์ผู้ที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม" หลายคนเลือกที่จะเดินบนเส้นทางอันตราย เหมือนกับการเลือกไปสู่หนทางแห่งความตาย ในสมรภูมิแห่งสงครามชนชั้น  เช เกวาร่า , จิตร ภูมิศักดิ์ , วีระชนเดือนตุลา ฯลฯ


 


และ "พิทักษ์ โตนวุธ" เป็นอีกหนึ่งคน ที่ได้ตายในสงครามชนชั้น , สงครามการแย่งทรัพยากรระหว่าง "ประชาชนธรรมดา"  กับ รัฐ , นายทุน และชนชั้นที่ได้ประโยชน์จากสังคมที่ยังเหลื่อมล้ำ  เมื่อ 6 ปีก่อน ...


 


0 0 0


 


พื้นที่บ้านชมภู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ตั้งอยู่ในหุบเขาบริเวณป่าชายขอบอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือเป็นป่าเขา ส่วนทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นพื้นที่ราบ


 


จากสภาพความสมบูรณ์ทางธรรมชาติของพื้นที่ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร หล่อเลี้ยงชีวิตราษฎรที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง ราษฎรบ้านชมภูรักและหวงแหนแผ่นดินอันเป็นมรดกตกทอดจากธรรมชาติ จึงช่วยกันอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยว


 


ที่ผ่านมาชาวบ้านชมภูมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสงบสุข ท้องฟ้าสว่างสดใสไร้ฝุ่นควัน  ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชะอุ่ม จนกระทั่งวันหนึ่งกลุ่มนายทุนซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นและต่างถิ่น มองเห็นช่องทางฉกฉวยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ต.ชมพู ไม่นานนักโรงโม่หิน   2 โรง ก็เกิดขึ้นในตำบลที่เคยเงียบสงบ ?


 


นับแต่นั้นมาความสงบสุขในดินแดน แห่งนี้ก็มลายหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาแทนคือความอึกทึกครึกโครมจากเสียงการระเบิดภูเขา แต่เช้า จดเย็น เสียงรถบรรทุกห้อตะบึงเข้า-ออกตลอดทั้งวัน ฝุ่นละอองจากโรงโม่หินฟุ้งกระจายไปทั่วผืนฟ้าก่อนร่วงหล่นปกคลุมไปทั่วหมู่บ้าน อากาศบริสุทธิ์ กลายเป็นมลพิษทำลายสุขภาพคนในท้องถิ่น


 


ชาวบ้านที่เคยชินกับสภาพความสงบสุขรับไม่ได้กับกระแสความเจริญที่สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน ในที่สุดชาวบ้านก็หมดสิ้นความอดทน หันหน้าเข้าปรึกษากันเพื่อเรียกร้องความสงบสุขในท้องถิ่นให้กลับคืนมา ไม่ช้าการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมก็บังเกิดขึ้น


 


ปี 2540 ชาวบ้านชมภู หมู่ 3 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันตั้งชื่อกลุ่มว่า คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำชมภู (คอลภ.) มีจุดประสงค์ให้ทางราชการเพิกถอนใบอนุญาตโรงโม่หิน 2 โรง ที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและแหล่งต้นน้ำลำธาร


 


การชุมนุมของชาวบ้านอาจไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย  หากปราศจากแกนนำหรือที่ปรึกษาที่มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงเดินทางไปขอร้อง นายพิทักษ์  โตนวุธ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์       ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ช่วยเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู


 


พิทักษ์ นักศึกษาหนุ่มไฟแรงรับอาสาเป็นแกนนำพาชาวบ้านชมภูไปยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ปลดข้าราชการท้องถิ่นที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งให้ประกาศยกเลิกกิจการโรงโม่หินและให้ขนย้ายของออกภายใน


 


นอกจากนี้ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภูได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อนายอำเภอเนินมะปรางให้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณที่    ตั้งโรงโม่หินใน ต.ชมพู และ อ.เนินมะปราง


 


สำนักงานที่ดินอำเภอเนินมะปราง รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ตั้งโรงโม่หินในท้องที่ตำบลชมพู ต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินที่ตั้งโรงโม่หิน ที่มี นายประยูร จักรภัทรกุล ปลัดอำเภอเนินมะปรางเป็นประธาน ได้ข้อสรุปดังนี้คือ


 


ที่ตั้งโรงโม่หินมีนางเป็นผู้ประกอบกิจการระเบิดและย่อยหิน มีกำหนด 5 ปี สิ้นสุดอายุการอนุญาตเดือน ต.ค. 2544 ที่ดินตั้งโรงโม่หินมีหลักฐานการถือครองที่ดิน ส.ค.1 หมู่ที่ 1 ตำบลชมพู อ.เนินมะปราง เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่


 


แม้จะได้รับคำตอบแล้วแต่ประเด็นความขัดแย้งยังไม่สิ้นสุด เมื่อฝ่าย คอลภ. เห็นว่า การพิจารณาครั้งนี้ ตัวแทนคณะกรรมชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิจารณาการชี้เขตที่ดิน


 


พิทักษ์ ได้นำชาวบ้านเข้ายื่นเรื่องต่ออำเภอเนินมะปราง ให้พิจารณาเรื่องเอกสารสิทธิของโรงโม่หินอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2544 คราวนี้คณะกรรมการยอมให้นายพิทักษ์และแกนนำชาวบ้านเข้าร่วมประชุม ณ ที่ว่าการอำเภอเนินมะปราง


 


ในวันเดียวกันนั้น เวลาประมาณ 17.00 น. มีคนร้าย 2 คน ขี่รถจักรยาน ยนต์ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม.ประกบยิง นายพิทักษ์ โตนวุธ แกนนำนักอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู ผู้นำชาวบ้านต่อต้านโรงโม่หิน ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับบ้านพร้อมกับ นายแวะ สมใจ ที่บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่นายพิทักษ์เป็นแกนนำในการประท้วงโรงโม่หิน ใน ต.ชมพูมาตั้งแต่ปี 2539 และการเป็นผู้นำในการขับไล่ผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่ง


 


 






 


ประวัติโดย ย่อของ "โจ" - พิทักษ์ โตนวุธ
นักศึกษาแกนนำคัดค้านโรงโม่หินบ้านชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก




พิทักษ์ โตนวุธ เป็นคนบุรีรัมย์โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2514 บิดาชื่อ นายสมชาย โตนวุธ มารดาชื่อ นางก้วง โตนวุธ สมรสกับนางยุภาภรณ์ โตนวุธ มีบุตร 1 คน ชื่อเด็กหญิง หงษ์พิชฌา โตนวุธ

ประวัติการศึกษาและการทำงาน

พ.ศ.2526 เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนห้วยศาลา หลังจากจบชั้นประถมได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาต่อที่วัดตลาดโพธิ์ จนสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค (นักธรรมเอก)

พ.ศ.2534 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ พร้อมทั้งบวชหน้าไฟให้มารดา สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค ในขณะเดียวกันก็สามารถสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน

พ.ศ.2538 ลาสิกขาบทเพื่อศึกษาทางโลก โดยเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นสมาชิกชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม

พ.ศ.2539 เป็นคณะกรรมการบริหารชมรมฯ ในตำแหน่งเลขานุการ ขณะที่ทำงานได้มีการประสานงาน และร่วมทำกิจกรรมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน(คอทส.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)

พ.ศ.2540 ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมอนุรักษ์ฯนโยบายปีนี้เน้นที่การศึกษาเรื่อง สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรและวิถีคนอยู่กับป่า ในช่วงนี้ได้เกิดกระแสการต่อสู้ คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ที่มีแนวการวางท่อผ่านผืนป่าบริเวณ จ.กาญจนบุรี ทางคณะทำงานชมรมฯ ซึ่งมีการประสานงานกับ คอทส. อยู่แล้ว และกรณีนี้ก็สอดคล้องกับแนวนโยบาย จึงมีมติลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อศึกษาและร่วมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-พม่านี้ด้วย จากนั้นได้รับการติดต่อ จากนักศึกษาปริญญา โท ม.รามคำแหง ให้ลงพื้นที่บ้านชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เนื่องจากโรงโม่ที่ดำเนินการอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดฝุ่นละอองซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใกล้เคียง ทางชมรมฯจึงลงศึกษาปัญหา พร้อมทั้งได้จัดค่ายเยาวชนขึ้นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พ.ศ.2541 เป็นที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู (คอลภ.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้เพิกถอนโรงโม่ ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งก่อความเดือดร้อน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งต้นน้ำ ลำธาร เป็นแกนนำในการร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน

พ.ศ.2543 ริเริ่มโครงการปลูกป่าและแนวทางเกษตรปลอดสารพิษ รวมทั้งโครงการพิพิธภัณฑ์บ้านชมภู ร่วมคัดค้านในกรณีที่โรงโม่ขออนุญาตดำเนินการต่อ หลังจากที่จังหวัดมีคำสั่งให้ยุติสัมปทาน และเกิดความขัดแย้งกับผู้ใหญ่บ้าน จนถึงขั้นเรียกร้องให้ขอถอดถอนตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านโดยเร็ว

พ.ศ.2544 มอบตัวที่ สภอ.เนินมะปราง จากรายชื่อผู้มอบตัวทั้งหมด 14 คน ติดตามคดีการขนย้ายของโรงโม่ คดีจวนผู้ว่าฯ และคดีถอดถอนผู้ใหญ่ ยื่นหนังสือถึงนายอำเภอเรื่อง ขอทราบลายละเอียดการขอถอดถอนผู้ใหญ่และขอแต่งตั้งให้ตนเองเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ดินโรงโม่ รวมถึงกองทุน SIF ซึ่งได้ดำเนินเรื่องขอทุนไว้

17 พ.ค.2544 นายพิทักษ์ โตนวุธ ถูกลอบสังหาร ด้วยอำนาจอิทธิพลมืด ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านานปิดฉากชีวิตนักอนุรักษ์ที่ต่อสู้เพื่อประชาชน .....!!!


ที่มา :


พิทักษ์ไว้บนแผ่นดิน , ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง


 


 


 


0 0 0


 


17 พฤษภาคม พ.ศ. 2550  6 ปีการเสียชีวิตนายพิทักษ์ โตนวุธ แกนนำชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งถูกลอบสังหารหลังจากออกมาต่อต้านโรงโม่หินที่ทำลายธรรมชาติ ขณะนี้ศพของเขายังถูกเก็บไว้เพื่อประจานขบวนการยุติธรรมในบ้านเมืองนี้


         


โดยในวันครบรอบการเสียชีวิตของ พิทักษ์ โตนวุธ ในปีนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดงานเหมือนเคย โดยปีนี้มีข้อเรียกร้อง 4 ประเด็น คือ


 


1.ให้ย้ายโรงโม่หินออกไปจากพื้นที่ เพราะแม้ทางการมีคำสั่งห้ามโรงโม่หิน 2 แห่ง แต่ปรากฏว่ายังมีการดื้อแพ่งและไม่ยอมย้ายออกไป


 


2.ถามหาตัวคนร้ายและความคืบหน้ากรณีสังหารนายพิทักษ์


 


3.ประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพราะในหลายพื้นที่ควรอนุรักษ์ไว้


 


4.เผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบ หากมีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำชมภู


 


การตายของ พิทักษ์ โตนวุธ จะไม่เสียเปล่า ... เพราะขณะนี้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นสู้โดยไม่มีเขาเป็นปีที่ 6 แล้ว และยังคงจะสู้ต่อไป ตราบจนความเป็นธรรมจะบังเกิด ชั่วลูก ชั่วหลาน !


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net