Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 30 พ.ค.50 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม เครือข่ายเยาวชนทั่วประเทศประสานความร่วมมือกับเครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศ จัดเทวีเยาวชนสัมมนา คัดค้านกฎหมายจับเด็กแต่งงาน เพื่อการนำเสนอความคิดในแง่มุมของเยาวชนต่อการแก้ไขปัญหาข่มขืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 และ 277 โดยมีผู้ร่วมพูดคุยเป็นเยาวชนจากเครือข่ายเยาวชนต่างๆ ณ ห้องประชุม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


สืบเนื่องมาจากการประชุมกลุ่มเยาวชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้วิเคราะห์และวิพากย์ถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ซึ่งครอบคลุมถึงการแก้ไขปัญหาการข่มขืนเด็กและเยาวชนซึ่งถูกยกร่างแล้วเสร็จไป พร้อมกับมาตรา 276 ซึ่งว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 18 เมษายนโดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีผลกระทบโดยตรงได้มีส่วนร่วมในการยกร่าง


 


ประเด็นหลักที่เสนอในวงพูดคุยวันนี้คือปัญหาของเด็กหญิงที่ต้องแต่งงานกับผู้ที่ฉุดคร่าข่มขืนกระทำชำเราตน จากวรรคหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศมาตรา 277 ที่ว่า


 


"ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก ถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุมากกว่าสิบสามปีแต่ไม่ยังเกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป"


 


มีการให้ข้อมูลว่าการที่เด็กแต่งงานทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้นจะเป็นผลเสียต่อระบบอนามัยเจริญพันธุ์ในร่างกายที่ยังไม่เติมโตเต็มที่ และคำว่ายินยอมที่ระบุไว้ในข้อกฎหมายนั้นเป็นการยินยอมของใคร ผู้ปกครองหรือว่าตัวเด็กเอง ตรงนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เด็กส่วนใหญ่อยากเรียนไม่ได้อยากแต่งงาน ไม่ได้อยากแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้  นอกจากนี้เด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะจะเป็นปัญหาต่อการสร้างครอบครัวและเลี้ยงดูลูก


 


"การข่มขืนเป็นการถูกกระทำที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เต็มใจ แต่การระบุให้เด็กแต่งงานกับคนที่ข่มขืนตนมันก็เหมือนกับเป็นการเปิดช่องทางให้เด็กถูกข่มขื่นได้ต่อไปตลอดชีวิต" น.ส.วาสนา พรหมเสนา หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าว


                                     


การแต่งงานคือการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำความผิดในระยะยาวตามความคิดของผู้ใหญ่ ที่มองการแต่งงานเป็นการแก้ปัญหา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการแต่งงานกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่คนที่กระทำผิด แต่ความเจ็บช้ำนั้นกลับยังคงอยู่กับผู้ถูกกระทำ ซึ่งกรณีความเจ็บช้ำทางร่างกายและจิตใจในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงในเวทีนี้


 


ในการพูดคุยมีการแสดงความเห็นด้วยต่อการใช้คำว่า "เด็ก" เพื่อแทนทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย เพราะเด็กทั้งชายหญิงอาจถูกละเมิด และกระทำความรุนแรงได้เหมือนกัน อีกทั้งการขยายคำนิยามคำว่า "ข่มขืน" ซึ่งไม่ควรหมายความเพียงการสอดใส่อวัยวะเพศกับอวัยวะเพศ แต่หมายถึงการใช้อวัยวะหรืออุปกรณ์อื่นด้วย นอกจากนี้การข่มขืนอาจไม่ได้เกิดจากกามอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นการกลั่นแกล้ง ความคึกคะนอง หรือการแสดงอำนาจที่เหนือกว่า


 


"เด็กอยากมีเพศสัมพันธ์แต่ไม่อยากแต่งงาน" และ "การมีเพศสัมพันธ์ด้วยความรัก" คือประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในสถานการณ์ของวิถีชีวิตคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน ที่พฤติกรรมทางเพศมีความหลากหลายมากขึ้น และมีเสนอเกี่ยวกับการที่จะทำอย่างไรไม่ให้การแก้ข้อกฎหมายเปิดโอกาสให้เด็กคิดว่าสามารถมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้


 


ซึ่งในวงสนทนาได้มีข้อเสนอให้การศึกษาเรื่องเพศศึกษาไม่เป็นเรื่องที่ถูกปิดกั้น โดยต้องมีการเผยแพร่อย่างทั่วถึง โดยไม่ใช่เพียงเฉพาะในเรื่องของเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย แต่ควรพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมด้วย


 


"เชื่อว่าเด็กทุกคนมีความคิด และควรมีสิทธิในการเลือกในการตัดสินใจ เพียงแต่ต้องได้รับความรู้อย่างถูกต้องและรอบด้าน เพื่อนใช้ในการตัดสินใจ ส่วนผลที่ออกมาคือสิ่งที่เค้าจะเป็นคนเลือกเอง" นายกิตติพันธ์ กันจินะ ตัวแทนจากเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net