Skip to main content
sharethis

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช     
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


จุดเริ่มต้นของความเลวร้ายที่ครอบงำนักกฎหมายมาเป็นเวลาหลายทศวรรษก็คือคำสอนของ John Austin ที่ว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ เเละ Hans Kelsen ที่ว่า เมื่อมีการทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารนั้นกลายมาเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริง1 สองคำสอนนี้ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำรัฐประหารในประเทศไทยในอดีต รวมทั้งรัฐประหาร 19 กันยายนด้วย ทั้ง ๆ ที่นักปราชญ์ทั้งสองมิได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมให้มีการทำรัฐประหารเเต่ประการใด ที่ Austin สอนว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐธิปัตย์นั้นก็ด้วยในเวลานั้น การสร้างรัฐสมัยใหม่จำต้องอาศัยกฎหมายเป็นรากฐาน ส่วนที่ Kelsen ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารเนื่องจากว่า Kelsen เป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศ ท่านจึงพยายามอธิบายว่า การทำรัฐประหารหาได้มีผลกระทบต่อความสืบเนื่อง (Continuity) ของรัฐไม่ เพราะคณะรัฐประหารได้กลายเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริงที่เรียกว่า de facto government


ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดยพลโท ผิณ ชุณหะวัณ ล้มล้างรัฐบาลพลเรือน นับเเต่นั้น การเมืองไทยก็เข้าสู่วงจรอุบาทเรื่อยมา บวกกับความชาญฉลาดของบรรดาเนติบริกรที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายคอยร่าง "ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว" ตลอดจนบรรดา "ประกาศ" เเละ "คำสั่ง" ของคณะรัฐประหาร ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเเก่ผู้มีอำนาจเเละตัดช่องทางมิให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายเเละความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ออกโดยอำนาจปืน โดยไม่ใยดีกับหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน เเละความเป็นอิสระของตุลาการเเต่ประการใด โดยเนติบริกรนี้ได้เรียนรู้ว่า หากนำคำสอนของนักปราชญ์ทั้งสอนท่านมารวมกันได้เเล้ว ก็จะได้เเก่นคำสอนขั้นสุดยอด คำสอนที่ว่านี้ก็คือ "กฎหมายคือ สิ่งที่เขียน" เเล้วเนติบริกรก็เเปรหลักการที่ว่านี้เป็นความเลวร้ายที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นข้อๆ เช่น


1. ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเเม้จะเป็นการฆ่าประชาชน (สมัยรสช.)


2. ออกกฎหมายนิรโทษกรรมบรรดาการกระทำทั้งที่เป็นอดีตเเละอนาคต (สมัยคมช. โปรดดูธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2549 มาตรา 36 เเละ 37) ซึ่งโดยปกติเเล้ว วัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรมเป็นการไม่เอาผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เเต่คราวนี้เนติบริกรได้บิดเบือนหลักการของนิรโทษกรรมให้ขยายถึงการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


3. ออกกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษอย่างรุนเเรงอย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่ให้เข้าข่ายโทษอาญา 5 สถานเป็นอันใช้ได้


4. ออกกฎหมายยุบศาลรัฐธรรมนูญ เเล้วตั้งตุลาการเฉพาะกิจ (ad hoc tribunal) เเล้วนั่งออกบังลังก์วินิจฉัยคดี โดยที่ไม่ต้องสวมครุยเเละมิได้ทำในนามพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจตุลาการ โดยรัฐธรรมนูญของไทยตั้งเเต่ฉบับเเรก2จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 25403 ได้รับรองว่า การตัดสินคดีของศาลต้องทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์เท่านั้น จนอาจกล่าวได้ว่า การตัดสินคดีของศาลโดยพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นราชนิติประเพณีของประเทศไทย


อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2549 มาตรา 2 บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล…" และมาตรา 18 ยังบัญญัติต่อไปอีกว่า " ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์…" ปัญหาก็คือ คดียุบพรรคนั้นมิใช่เป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยศาล เนื่องจาก "ตุลาการรัฐธรรมนูญ"มิใช่ "ศาลรัฐธรรมนูญ"4 อีกทั้งการทำคำวินิจฉัยยังไม่ปรากฏว่าทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์อีกด้วย จึงมีประเด็นน่าขบคิดว่าการทำคำวินิจฉัยดังกล่าวจะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือไม่


5. ตั้งองค์กรเฉพาะกิจอย่างคตส. (องค์กรเเบบนี้ในสมัยรสช. ก็มี) ซึ่งจะเเต่งใครก็ได้ ไม่เว้นเเม้เเต่บุคคลที่เคยมีท่าที ทรรศนะคติ ที่เป็นปฎิปักษ์ต่อบุคคลที่จะถูกตรวจสอบ โดยไม่ใส่ใจต่อสาธารณชนที่จะตั้งคำถามสงสัยเกี่ยวกับความเป็นกลางเเละปราศจากอคติของคตส. อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของคำสั่งของคตส.


6. ออกคำสั่งเเละประกาศที่มาริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเเละสื่อสารมวลชนอย่างมากมาย โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษชนเเละสิทธิพลเมืองที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีของสนธิสัญญาเเต่อย่างใด


7. กำหนดค่าตอบเเทนเเละผลประโยชน์อื่นๆ ให้กับพวกคณะรัฐประหาร


ฯลฯ


สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นสามารถทำได้สบายๆ เพียงการออกกฎหมาย (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของคำประกาศ คำสั่ง ฯลฯ) มารองรับเท่านั้น หลักที่ว่า "กฎหมายคือ สิ่งที่เขียน" เป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก เเต่การยอมรับโดยปราศจากการคัดค้านหรือวิจารณ์ต่อคำสอนดังกล่าวนับเป็นความชั่วร้ายยิ่งกว่า ผู้เขียนไม่เเน่ใจว่า ถึง ณ วันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสื่อมวลชน จะตระหนักถึงความเลวร้ายของคำสอนดังกล่าวเเละบรรดาเนติบริกรเเล้วหรือยัง หรือยังยอมรับอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหารอยู่เพียงเพื่อความสะใจที่ล้มอดีตนายกได้ นั่นหมายความว่า วิธีคิดของสังคมไทยกำลังอยู่บนพื้นฐานความคิดว่า "เป้าหมายอธิบายวิธีการ" (end justified means)


บทส่งท้าย


สังคมไทยอาจลืมไปว่า เเม้จะทำลายอดีตนายกลงได้ เเต่สังคมไทยก็ได้ทำลายหลักนิติรัฐ เเละระบอบประชาธิปไตย รวมตลอดถึงความเสื่อมอย่างรุนเเรงที่ต่อหลายสถาบันไม่ว่าจะเป็น ความเป็นกลางของสื่อมวลชนทุกเเขนง ความกล้าหาญของนักวิชาการ ความเชื่อมั่นของตุลาการ ความเป็นที่เคารพขององคมนตรี ความไม่ยอมรับในสายตาของต่างประเทศ (ยกเว้นประเทศพม่า) เเละที่ขาดไม่ได้คือสถาบันทหาร ลงไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งคุณค่าที่เสียไปเหล่านี้เป็นราคาที่เเพงเกินกว่าที่ทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มคนคนเดียว หรือว่าสังคมไทยเกลียดชังอดีตนายกทักษิณถึงขนาดยอมเเลก (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) กับสิ่งเหล่านี้ หรือสังคมไทยคิดว่า หากไม่มีอดีตนายก คุณค่าดังกล่าวก็สามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้ เพียงเพื่อจับ "เสือ" ตัวเดียว เราถึงกับเผา "ป่า" เชียวหรือ การปลูกป่า (หลักนิติรัฐเเละประชาธิปไตย) มิใช่ทำได้โดยง่าย ต้องใช้เวลาหลายสิบปี เเต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า หากประชาชนยังขาดวัฒนธรรมหรือจิตใจอย่างประชาธิปไตยที่ยอมรับความเเตกต่างทางความคิด เชื่อมั่นในกลไกของรัฐสภา อดทนรอคอยให้ระบบเเก้ไขปัญหาตามครรลองของมันเอง (ซึ่งเเน่นอนต้องใช้เวลาระดับหนึ่ง) เเละยังมี "บรรดาเนติบริกร" ที่พร้อมจะขายวิญญาณรับใช้เผด็จการทหารเเล้ว ก็เป็นที่เชื่อได้เลยว่า ในอนาคต "รัฐประหาร" จะยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกนาน เพียงเเต่ขอให้มี "เสือ" เกิดขึ้น มหกรรมการ "เผาป่า" ก็จะตามมา ถึงเวลานั้น สังคมไทยคงโทษใครไม่ได้ นอกจากตนเองที่ยอมเชื้อเชิญเเละสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน……

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net