Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 ก.ค. 50 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นำโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. เปิดเวทีประชุม "วิพากษ์และแสดงจุดยืนร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550" ระหว่างวันที่ 14 - 15 ก.ค. ณ บ้านนานาชาติบางกอกรามาเพลส (บ้านสิริรามาเพลส) กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรประชาชนทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคจำนวนกว่า 100 คน จาก 15 องค์กรเข้าร่วม


 


จากการที่ร่างรัฐธรรมนูญปี  2550 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 และต้องให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ถือเป็นการทำประชามติอนุมัติรัฐธรรมนูญโดยประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว กป.อพช. และองค์กรเครือข่าย ซึ่งได้จัดกิจกรรมเพื่อเสนอข้อคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างต่อเนื่อง จึงจัดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างรอบด้าน เพื่อกำหนดจุดยืนของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่างๆ และเป็นฐานในการตัดสินใจว่าจะลงประชามติ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550  


 


 



 


การระดมความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เริ่มต้นเมื่อเวลา 10.00 น.โดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่าถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายทักษิณ ส่วนฝ่ายที่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายเผด็จการทหาร ทั้งที่ในความเป็นจริงคนทั่วไปยังต้องการทางเลือกอื่นที่มากกว่านี้ พร้อมชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเวทีว่าภาคประชาชนต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมองเหมือนกันหมด แต่ควรมีอุดมการณ์เดียวกัน


 


"การประกาศจุดยืนของ กป.อพช. นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของประชาชน เพราะเป็นสิทธิในการวินิจฉัยของบุคคล ถามว่ารัฐธรรมนูญเลวมากไหมก็ไม่ใช่ ถึงดีแต่ก็ไม่มาก จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกัน" นายจอนกล่าว


 


จากนั้นเป็นการสรุปเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยนายสวิง ตันอุด สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า ตัวแทน ส.ส.ร. แต่ละกลุ่มล้วนนำเสนอและผลักดันข้อกฎหมายเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง เป็นการแข่งขันเพื่อแย่งพื้นที่ อำนาจ และแก้ปัญหาของกลุ่มตัวเองให้มากที่สุด


 


ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้จบเพียงลายลักษณ์อักษร แต่ต้องต่อสู้ต่อไปทั้งทางกฎหมาย นโยบาย และแนวทางในการปฏิบัติ ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มีจุดอ่อนอยู่อีกมากโดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ถูกลดทอนลงทั้งในส่วนของการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ไปส่วนภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นมาโดยที่อำนาจยังคงอยู่กับตัวแทนส่วนกลางที่ไปนั่งอยู่ในท้องถิ่นอย่างผู้ว่าฯ และนายอำเภอ และการปกครองส่วนท้องถิ่น


 


เดิมกรรมการสรรหาขององค์กรอิสระประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย แต่ปัจจุบันอำนาจส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ศาล ที่ถือเป็นฮีโร่ของปวงชนชาวไทยในสถานการณ์ที่ประชาชนไม่สามารถพึ่งพานักการเมือง หรือเอ็นจีโอได้ ซึ่งทำให้มีแนวโน้มในการเลือกชนชั้นนำในวงราชการเข้ามามากขึ้น ปิดโอกาสของภาคประชาชน


 


"รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดท่ามกลางฝ่ายราชการ ฝ่ายทหารที่เป็นอมาตยาธิปไตย จึงไม่แปลกที่คนกลุ่มนี้จะมีพื้นที่มากในรัฐธรรมนูญ ใครที่เพ้อฝันแบบปี 40 ไม่มีจริง บรรยากาศตอนนั้นเป็นการปฏิรูปการเมือง แต่ตอนนี้เป็นการชูหางทหารเพื่อสร้างประชาธิปไตย"


 


นอกจากนี้นายไพโรจน์ยังได้แบ่งดุลอำนาจทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 ออกเป็น 3 เส้า คือ นักการเมืองผู้ถูกควบคุมกำกับตรวจสอบมากยิ่งขึ้น ฝ่ายราชการที่มีพื้นที่ทางอำนาจมากขึ้น และอำนาจของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญ 50 เป็นการต่อสู้ของอำนาจ 3 ฝ่าย ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกหรือนโยบายต่างๆ ซึ่งในอนาคตหากมีการรวมอำนาจแล้วภาคประชาชนอาจต้องถูกปล่อยให้โดดเดี่ยว


 


ต่อมา ช่วงบ่ายเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นของเครือข่ายต่างๆ ต่อเรื่องการรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการยกเหตุผลถึงที่มาและข้อดีข้อเสียของเนื้อหาในส่วนต่างๆ มีความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งที่เป็นส่วนตัว เป็นของกลุ่มตัวแทน และความคิดเห็นต่อการแสดงจุดยืนของ กป.อพช.


 


"ในส่วนตัว คิดว่าต้องรับเพราะกลัวทหาร และไม่มั่นใจว่าจะมีการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ ซึ่งก็ต้องไปต้องสู้เพื่อแก้ไขในกฎหมายลูกกันต่อไป" ตัวแทนจากเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพกล่าวแสดงความเห็นในการรับร่าง


 


ตัวแทนเครือข่ายผังเมืองกล่าวว่า การเลือกรับและไม่รับในเครือข่ายเองถือเป็นอิสระบุคคล แต่โดยส่วนตัวแล้วจำใจรับ เพราะไม่อยากให้ คมช. มีทางเลือก จึงต้องใช้สิทธิที่มีในตรงนี้ ไม่ไปสู้ในสิ่งที่มองไม่เห็นที่คมช.เลือกให้


 


"รับเพราะอยากให้ลูกบอลอยู่ในเท้าเรา เพื่อเอาไปตีจุดอ่อนที่เผด็จการมี การที่ กป.อพช.ไม่ว่าจะไปให้คำตอบต่อสังคมว่าจะรับหรือไม่รับ ก็เป็นการเลือกกาในสิ่งที่ คมช.ให้เลือก เหมือนเราไปรับลูกกระบวนการอยู่แล้ว" ตัวแทนเครือข่ายผังเมืองกล่าว


 


นอกจากนี้ยังเสนอเพิ่มเติมว่าหากคำตอบที่จะให้คือการไม่รับต้องตอบเป็น 2 เด้ง คือ ไม่รับทั้งเนื้อหาและที่มาที่มาจากการรัฐประหาร อีกทั้งฉบับใหม่ที่จะมีต่อไปที่มาก็จะต้องไม่ใช่จากรัฐบาลรัฐประหารด้วยเช่นกัน


 


ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ตัวแทนเครือข่ายโลกาภิวัตน์ กล่าวถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เครือข่ายติดตามว่า มาตรา 190 ว่าด้วยเรื่องการทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศนั้นมีเจตนารมณ์ที่ดี เพราะเป็นจุดยืนที่กำหนดมาจากภาคประชาชน ไม่ใช่ใครให้มา แต่ก็ยังปรากฏหลุมพรางที่จะทำให้เนติบริกรตีความกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อีก อย่างไรก็ตาม การพิจารณารับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถดูเพียงบางประเด็นได้ จะต้องดูในภาพรวมด้วย โดยส่วนตัวจึงเห็นว่า กป.พอช.ควรจะมีจุดยืนไม่รับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มาตรา 190 ที่ค่อนข้างเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมนั้นเป็นหลักที่ต้องยืนยันต่อไปอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะผ่านหรือไม่


 


"ผมพูดแทนเครือข่ายไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่า กป.อพช.ควรมีจุดยืนไม่รับ และอธิบายเหตุผลในความไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแต่บอกไม่รับโดยการอ้างแหล่งที่มาไม่ถูกต้อง บทพิสูจน์ของการปฏิวัติรัฐประหารคือรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่โดยใช้งบประมาณมากมายแต่ทำได้เพียงไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ 40" นายจักรชัยกล่าว


 


ส่วนตัวแทนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยกล่าวถึงจุดยืนของ กป.อพช. ว่าคือการบูชาประชาธิปไตย ชูธงอยู่แล้วว่าไม่เอาเผด็จการ รัฐธรรมนูญ 50 ก็รู้อยู่แล้วว่ามีที่มาจากอะไร และจากหลักการควรทำอย่างไร

 


 "เมื่อข้าพเจ้าขึ้นขี่อยู่บนคอท่าน ข้าพเจ้าจะทำตัวให้เบาที่สุดแม้จะต้องถอดเสื้อผ้าจนตัวเปลือยเปล่า ขอเพียงแต่ไม่ต้องลงจากหลังท่าน" นายเดช พุ่มคชา นักกิจกรรมเพื่อสังคม กล่าวถึงการสืบทอดอำนาจของ คมช. ที่จะยังคงมีอยู่แม้จะบอกรับหรือไม่รับร่าง


 


นายเดชกล่าวต่อว่า การที่ระบุว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่เมื่อพิจารณาดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ประชาชนเข้าถึงได้กี่อำนาจ ทั้งหมดคือนาฏกรรมหลอกลวงประชาชน กป.อพช. ต้องทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ ผลที่จะเกิดขึ้นอีก 10 - 50 ปี ข้างหน้าให้ชัดเจน อธิบายถึงข้ออ่อนของรัฐธรรมนูญ 50 ส่วนประชาชนจะตัดสินใจอย่างไรอำนาจจะเป็นของประชาชน ภาคประชาชนควรต่อสู้อย่างเป็นกระบวน อย่าห่วงแต่ประเด็นของตนเอง


 


ในการแสดงความคิดเห็นยังไม่มีข้อสรุปของจุดยืนของ กป.อพช.ที่ชัดเจน แต่ก็มีการพูดคุยกันว่า กป.อพช.ต้องมีการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนเพื่อยืนหยัดเจตนารมณ์ในการก่อตั้งที่ว่า ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างประชาธิปไตยกินได้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม


 


หลังจากนั้นเป็นการประชุมร่วมกันของตัวแทนเครือข่าย กป.อพช. วิเคราะห์เนื้อหาสำคัญและประมวลข้อเสนอต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพื่อหาข้อสรุปจุดยืนภาคประชาชนกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยจะมีการแถลงข่าว ในวันอาทิตย์ที่ 15 ก.ค. เวลา 11.00 น.


 


 


------------------------------------


หมายเหตุ  รายงานชิ้นนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนของคุณจักรชัย โฉมทองดี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2550 เวลา 18.00 น. อันเนื่องมาจากความผิดพลาดของประชาไท กองบรรณาธิการเรียนขออภัยคุณจักรชัย และผู้อ่านมา ณ ที่นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net