Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (2ส.ค.50)  เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารออกแถลงการณ์ กรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเครือข่าย 19 กันยาฯ ระบุว่า สนช.ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารไม่มีอำนาจหรือความชอบใดๆ ในการถอดถอนบุคคลในองค์กรอิสระ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถือเป็นบุคคลธรรมดาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรที่จะต้องออกมายืนยันและปกป้องสิทธิในการแสดงออก การชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ไม่ใช่ออกมาประณามการใช้สิทธิและสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


รายละเอียดของแถลงการณ์ มีดังนี้


 


 






 


แถลงการณ์


"สภาตรายาง" ไม่มีสิทธิถอดถอนจรัล, คณะกรรมการสิทธิฯ พึงตระหนักถึงศักดิ์ศรีแห่งตน


 


ตามที่ สนช. จำนวนกว่า 90 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอให้ถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกจากตำแหน่ง โดยใช้ข้ออ้างว่า นายจรัลตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาอันสืบเนื่องจากการชุมนุมในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 และเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลและระบอบการเมืองปัจจุบัน นอกจากนั้นยังหมิ่นเหม่ต่อการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นผู้นำในการขับไล่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์


ต่อกรณีที่เกิดขึ้น "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" มีความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


1. สนช. ชุดปัจจุบัน เป็น "สภาตรายาง" ที่ถูกแต่งตั้งคณะจากคณะรัฐประหาร ที่ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549  ไม่มีอำนาจหรือความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่จะมาถอดถอนใครก็ตามที่อยู่ในองค์กรอิสระที่เกิดจากและเป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญปกครองชั่วคราว 2549 ของคณะรัฐประหาร ในมาตรา 5 จะให้ สนช. ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภาก็ตาม เพราะมีฐานความชอบธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


2. ข้อกล่าวอ้างในการถอดถอนที่ว่า นายจรัลไม่เป็นกลางเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลและระบอบการเมืองปัจจุบัน ไม่สามารถเป็นเหตุผลของ สนช. ในการถอดถอนบุคคลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยได้ เพราะบุคคลที่อยู่ในหรือมาจากระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องออกมาป้องกันและต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยการรัฐประหาร ซึ่งหมายถึง รัฐบาลและระบอบการปกครองนี้ด้วย


ดังนั้น พวก สนช "สภาตรายาง"  ต่างหาก ที่ควรพิจารณาทบทวนตัวเองว่า เมื่อได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้อย่างไร และจะทำหน้าที่ออกกฎหมายบังคับใช้กับคนทั่วประเทศหรือถอดถอนคนอื่นได้อย่างไร


3. นอกจากนั้น ข้อกล่าวอ้างว่า การกระทำของนายจรัลหมิ่นเหม่ต่อการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นเพียงข้ออ้างที่ครอบจักรวาล เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดคุ้มครองหรือให้อภิสิทธิ์แก่พลเอกเปรมในฐานะองคมนตรีเหนือคนอื่นๆ แต่อย่างใด, การแสดงความเห็นทางการเมืองของพลเอกเปรมนั้นเป็นเพียงความเห็นของคนธรรมดา หาใช่ความเห็นของ "องคมนตรี" ซึ่งมีหน้าที่ "อย่างจำกัด" ไม่ ดังนั้นจึงสามารถที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนกับบุคคลสาธารณะอื่นๆ


4. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ควรที่จะต้องออกมายืนยันและปกป้องสิทธิในการแสดงออก การชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ไม่ใช่ออกมาประณามการใช้สิทธิและสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ


             ส่วนกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการสอบสวนหรือดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และที่สำคัญที่สุด คือ ควรตระหนักถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แห่งตนเองที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่ตกเป็นเครื่องมือหรือยอมจำนนต่อการ "เล่นงาน"  ทางการเมืองต่อศัตรูของพวกคณะรัฐประหารและ "สภาตรายาง" อย่าง สนช.


 


 


เชื่อมั่นในพลังประชาชน


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


2 สิงหาคม 2550


 


 


 






 


รายละเอียดการเสนอญัตติถอดถอน "จรัล ดิษฐาอภิชัย" โดย สนช.


 


ที่มา :  http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9500000089963


 


สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
       
       


1 สิงหาคม 2550



       เรื่อง เสนอญัตติถอดถอนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นายจรัล ดิษฐาอภิชัย)
       
       กราบเรียน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
       

       สืบเนื่องจากกรณี นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา อันเกิดจากข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาสั่งการหรือยั่วยุปลุกระดมให้กลุ่มบุคคลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดี โดยเป็น 1 ใน 9 แกนนำกลุ่มการเมืองที่ใช้ชื่อว่า "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" หรือ "นปก." และตลอดระยะเวลา 1 เดือนมานี้ ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมือง และแถลงข่าวหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ความเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่กลับประกาศตนชัดเจนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และระบอบการเมืองปัจจุบัน ทั้งเข้าร่วมกับขบวนการที่มีเจตนารมณ์และการกระทำที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาล และระบอบการเมืองปัจจุบันของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 9 ต้องการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นอิสระ เป็นกลาง และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน
       
       นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และพวก ยังร่วมกันนำมวลชนไปขับไล่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ก่อเหตุจลาจลวุ่นวายขึ้นที่ถนนราชดำเนินนอก และบริเวณสี่เสาเทเวศร์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 อันหมิ่นเหม่อย่างยิ่งต่อการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       พวกข้าพเจ้า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอันมีนามตามข้างท้ายนี้ จึงขอเสนอญัตติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 5 บัญญัติให้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ดำเนินกระบวนการถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ต่อไป แม้ว่าขณะนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันทั้งหมดใกล้จะหมดอายุลง โดยกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง หากปล่อยให้ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อยู่ในตำแหน่งต่อไป จะนำความเสียหายมาให้การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรและประเทศชาติ อีกทั้งเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ชัดเจนต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในระยะต่อไปอีกด้วย
       
       



       จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
       
       



                                                              ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
       
                                                                .....................................
       
                                                                   นายคำนูณ สิทธิสมาน
                                                                          ผู้เสนอญัตติ
       

       
       **หมายเหตุ - มี สนช.ร่วมลงนามเสนอญัตติทั้งหมด 88 คน


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net