Skip to main content
sharethis

การเมือง


ผบ.ทอ. เชื่อ ซื้อเครื่องบินขับไล่สวีเดนไม่กระทบความสัมพันธ์มะกัน


เว็บไซต์แนวหน้า -พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) และรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวออกมาจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ตัดพ้อถึงการที่กองทัพอากาศไปซื้อเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ JAS-39 C/D(Gripen) ของสวีเดนแต่ไม่ซื้อจากอเมริกาว่า การใช้เครื่องของใครเป็นเอกสิทธิ์ของประเทศเราที่จะพิจารณาในสิ่งที่เหมาะสม เพราะเราไม่ได้ขอฟรี อีกทั้งเราใช้เงินของเราในการจัดซื้อ และในการพิจารณาจัดซื้อนั้นเราไม่ได้ทำเพียงในระยะเวลาสั้นๆ เพราะเราทำมาในระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรประมาณ 3-4 ปี อย่างไรก็ตามในส่วนของงบฯประมาณถึงแม้เราจะซื้อเครื่องบินแบบอื่นแต่ในการจัดซื้อก็จะได้จำนวนเท่านี้เช่นเดียวกัน เพราะราคาเครื่องบินขับไล่ในโลกนี้มีแต่ราคาจะแพงขึ้นอย่างมากๆ



 


เมื่อถามว่าเครื่องบินขับไล่ของสวีเดนมีสมรรถนะไม่แตกต่างจากเครื่องบินขับไล่ที่เรามีอยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวชี้แจงว่า สมรรถนะใกล้เคียงกันมากแต่เครื่องบินรบสำหรับสกัดกั้นมีความสำคัญอยู่ที่เรด้าที่จับวัตถุได้ในระยะไกลๆ และสามารถเลือกเป้าหมายได้ พร้อมกับระบุได้ว่าใครคือข้าศึกหรือศัตรู และเมื่อตัดสินได้ว่าเป็นศัตรูก็จะยิงโดยจรวดในระยะที่ไกลโดยที่เป้าหมายถูกต้อง เมื่อถามว่าในอนาคตจะซื้อได้มากกว่า 1 ฝูงหรือไม่ ผบ.ทอ. กล่าวว่า ก็ขึ้นกับสถานการณ์ในอนาคต แต่โดยทั่วไปเราจะจัดหาเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยี ซึ่งมุ่งหวังเพื่อการในการป้องปรามและในการรบเมื่อจำเป็น


 



เมื่อถามว่าจะมีปัญหาอะไรกับสหรัฐหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า คงไม่มีปัญหา เพราะเรากับสหรัฐฯก็เป็นมิตรที่ดีต่อกันและเราก็ซื้อกับประเทศที่เป็นมิตรของสหรัฐฯเช่นกัน อย่างไรก็ตามเครื่องบินขับไล่ล็อตแรกที่จะซื้อจากสวีเดน 6 ลำมีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะถือว่าใช้งบฯมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของประเทศที่จะลงทุนเพื่อการพร้อมรบและผลของการป้องปราม ถ้าเห็นความจำเป็นและจะมีการเพิ่มก็เป็นภาระของกองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหม และรัฐบาลในอนาคตต่อไป เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายท้วงว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์น่าจะซื้อในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเหมาะสมกว่า ผบ.ทอ. กล่าวว่า เรื่องของความมั่นคงรอไม่ได้


 


 


"นาม" รับ "หล่อเล็ก"ทำหนังสือขอคำแนะนำรถดับเพลิงจริง โยน คตส.ชี้ขาดจันทร์นี้


เว็บไซต์แนวหน้า - นาย นาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวยอมรับว่า นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่ากทม.ได้ส่งหนังสือมาถึงตนจริงโดยสอบถามว่ากทม.ควรดำเนินการอย่างไรในโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง ควรจะยกเลิกสัญญาการซื้อขายหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้นายอภิรักษ์ก็เคยส่งหนังสือสอบถามมายังคตส.แล้วและคตส.ก็ตอบกลับไปว่าไม่สามารถตอบได้เพราะอยู่ในขั้นตอนการไต่สวน อย่างไรก็ตามเมื่อส่งหนังสือสอบถามมาอีกครั้งตนก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคตส.วันจันทร์ที่22ต.ค.เพื่อพิจารณาว่าควรจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ


 


 


คตส.เตรียมแจ้งข้อกล่าวหา'ทักษิณ' เพิ่มอีก5โครงการพ.ย.นี้


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น-แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแผ่นดินโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นประธาน เปิดเผยว่า การชี้แจงของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ (19 ต.ค.) อ้างว่าทำตามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่ได้ส่งเรื่องมาให้ และทุกอย่างทำตามระบบ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ ไม่ได้กล่าวพาดพิงบุคคลอื่น หรือให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนมากนัก


 


ส่วนความคืบหน้าในการทำงานเรื่องดังกล่าว แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้เตรียมสรุปเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม คตส. ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ใน 5 โครงการ อาทิ โครงการดาวเทียมของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม การปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลทหารพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท ของธนาคารเพื่อการนำเข้าและการส่งออก (เอ็กซิมแบงก์) เป็นต้น


 


นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะแยกเป็นหลายกรณี เช่น การดำเนินการระบบเชื่อมต่อสัญญาณ (โรมมิ่ง) และการแก้ไขสัญญาข้อตกลง ลดส่วนแบ่งรายได้ของค่าบริการแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือ Prepaid โดยโครงการเหล่านี้จะถือว่าเป็นคดีเกี่ยวกับสัมปทานของรัฐ ซึ่งจะเข้าข่ายขัดกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100(2)


 


สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (2) ระบุว่า ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลควบคุมตรวจสอบหรือดำเนินคดี


 


 


ศาล รธน. มีคำสั่งยุบพรรคพลังธรรม ไม่ส่งหลักฐานใช้จ่ายเงิน


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น- ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรครักษ์แผ่นดินไทย และพรรคธัมมาธิปไตย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (5) เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 35 ซึ่งไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปี 2548 ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด และแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายในเดือนมีนาคม ของปี 2549 นอกจากนี้ มีคำสั่งยุบพรรคพลังธรรม ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (5) เนื่องจากพรรคพลังธรรม ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 62 โดยไม่จัดส่งเอกสารหลักฐานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ในรอบปี พ.ศ.2548 ให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยจัดส่งเฉพาะแบบรายงานการใช้จ่ายเงินเท่านั้น


 


ทั้งนี้ ในปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีการสั่งยุบพรรคการเมือง รวม 9 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคไทยรักไทย พรรคสันติภาพไทย พรรครวมพลังไทย พรรครักษ์แผ่นดินไทย พรรคธัมมาธิปไตย และพรรคพลังธรรม อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมว่าด้วยการมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตั้งแต่เริ่มจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ในปี 2541 จนถึงปัจจุบัน มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้วรวมทั้งสิ้น 90 พรรค และยังคงมีเรื่องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 พรรค ได้แก่ พรรคไทยช่วยไทย และพรรคธรรมชาติไทย


 


 


พ่อ "ลีเดีย" ฟ้องไทยโพสต์ เรียก 100 ล้าน


ผู้จัดการออนไลน์ -จากกรณีที่คอลัมน์ เล่าหลังไมค์ ของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในตอนที่ชื่อว่า "ผู้หญิงสามคนกับหนังสือ 3 เล่ม" ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว "วิสุทธิธาดา" ของนักร้องสาว "ลีเดีย ศรัณย์รัตน์" จากค่ายอาร์เอสฯ นั้น


         


ล่าสุดมีรายงานว่า ผู้เป็นพ่อของนักร้องหญิง "นายไชยยันต์ วิสุทธิธาดา" ได้ส่งทนายทำการฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้งทางอาญาในข้อหาหมิ่นประมาท รวมทั้งทางแพ่งโดยมีการเรียกเงินเป็นจำนวนที่สูงถึง 100 ล้านบาท


          


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำธุรกิจ ของครอบครัวนายไชยยันต์นั้น แม้นักร้องหญิงจะยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ไม่มีหนี้สิน ทว่าจากการเปิดเผยของหนังสือพิมพ์มติชนรายสัปดาห์ได้ระบุว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันทั้ง 3 แห่งของเขาคือ สนามไดร์ฟกอล์ฟ, สอง ธุรกิจให้เช่าอพาร์ตเมนต์ และสาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลิ้มเจริญก่อสร้าง จนถึงปี 2549 นั้นมียอดหนี้สินประมาณ 25 ล้านบาท


 


 


เศรษฐกิจ


สำนักงานสถิติเผยครึ่งปีแรกคนไทยรายได้ต่อหัวเพิ่ม-กระจายรายได้ดีขึ้น


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น -นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2550 ซึ่งผลสำรวจเบื้องต้น 6 เดือนแรก (ม.ค. - มิ.ย.) จำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 26,000 ครัวเรือน พบว่า รายได้ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 18,823 บาท มีรายจ่ายของครัวเรือน เฉลี่ยเดือนละ 14,424 บาท ส่วนหนี้สินของครัวเรือนพบว่า เกินครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 62.3 มีหนี้สิน คิดเป็นหนี้สินเฉลี่ย 113,389 บาทต่อครัวเรือนทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการซื้อบ้าน/ที่ดินใกล้เคียงกันคือร้อยละ 32.7 และ 32.0 ตามลำดับ รองลงมาใช้ทำการเกษตรร้อยละ 15.9 และใช้ทำธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตรร้อยละ 14.4 สำหรับหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้น


 


ทั้งนี้หากเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือน ปี 2550 รายภาค พบว่า กรุงเทพ ฯ และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 36,096 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกัน คือ 24,344 และ 152,199 บาท ตามลำดับ และมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ร้อยละ 67.4 และพบว่า ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีรายได้ ค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่ำสุด แต่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงถึงร้อยละ 83.9 ซึ่งจะมีผลทำให้มีสัดส่วนของรายได้ที่เหลือสำหรับการเก็บออมและชำระหนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ (ภาคใต้ / เหนือ / กลาง อยู่ระหว่างร้อยละ 78-80)


 


และเมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า ครัวเรือนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 43,497 บาท รองลงมา ได้แก่ ครัวเรือนของผู้ดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตร เสมียน/พนักงาน/ผู้ให้บริการ และผู้ปฏิบัติงานในขบวนการผลิต (26,177 19,166 และ 14,041 บาท ตามลำดับ) และรายได้ต่ำสุด คือครัวเรือนคนงานเกษตร 9,639 บาท และพบว่าครัวเรือนอาชีพใดมีรายได้สูง ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูงเช่นเดียวกัน


 


การเปลี่ยนแปลงรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือน ปี 2549 - 2550 พบว่า รายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากปี 2549 โดยรายได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่ารายจ่าย คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่าย/รายได้ลดลงจากร้อยละ 80.5 ในปี 2549 เป็น 76.6 ในปี 2550 ส่วนภาวะการเป็นหนี้ของครัวเรือนมีแนวโน้มดีขึ้น คือจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงจากร้อยละ 64.4 ในปี 2549 เป็น 62.3 ในปี 2550 และจำนวนเงินที่เป็นหนี้ก็ลดลงเช่นเดียวกัน คือ ลดลงจาก 116,585 เป็น 113,389 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทำให้จำนวนหนี้สินต่อรายได้ลดลงจาก 6.6 เท่า ในปี 2549 เป็น 6.0 เท่า ในปี 2550


 


ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการกระจายรายได้ของครัวเรือน ปี 2549 - 2550 พบว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50.4) ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งของรายได้เพียงร้อยละ 5.7 ของรายได้ประชาชาติ


 


แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ความเหลื่อมล้ำของรายได้มีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 5.7 ในปี 2550 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดกลับมีส่วนแบ่งของรายได้ลดลงจากร้อยละ 50.9 เป็นร้อยละ50.4 และพบว่าค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านการกระจายรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศ มีค่าลดลงเช่นกัน คือจาก 0.439 ในปี 2549 เป็น 0.427 ในปี 2550


 


สำหรับรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 5,245 ในปี 2549 เป็น 5,569 บาท ในปี 2550 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มคือ ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 1,111 เป็น 1,321 บาท และครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 16,574 เป็น 17,429 บาท หรือคิดเป็น 13.2 เท่าของครัวเรือนกลุ่มแรก ซึ่งทำให้ช่องว่างของรายได้ระหว่างคนจน(กลุ่มที่ 1) และคนรวย(กลุ่มที่ 5) ลดลงจากปี 2549 (ปี 2549 รายได้กลุ่มที่ 5 มากกว่ากลุ่มที่ 1 14.9 เท่า)


 


 


ไฟเขียวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1-7 บาท หลังค่าครองชีพพุ่งจนกู่ไม่กลับ


ผู้จัดการออนไลน์- คณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีนี้ 1-7 บาท กทม.ปรับขึ้น 3 บาท จังหวัดที่ปรับต่ำสุด 1 บาท มี 10 จังหวัด สูงสุด 7 บาท คือ จังหวัดภูเก็ต


 


วันนี้(19 ต.ค.) นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางว่า คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้มีมติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2551 แล้ว โดยพิจารณาจากค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมี 20 จังหวัดไม่เสนอขอปรับขึ้น อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ปัตตานี อำนาจเจริญ อุบลราชธานี สงขลา ศรีสะเกษ ยะลา ลำปาง สุโขทัย เป็นต้น ซึ่งทางฝ่ายลูกจ้างเป็นฝ่ายขอเสนอเอง เนื่องจากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่าสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง


 


ส่วนจังหวัดที่ขอปรับขึ้น 1 บาท มี 10 จังหวัด อาทิ ตราด พิจิตร สระแก้ว พิษณุโลก มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ปรับ 2 บาท มี 17 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง ตรัง กาญจนบุรี สระบุรี


 


ปรับขึ้น 3 บาท มี 20 จังหวัด เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่าง ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุรสาคร นนทบุรี จาก 191 บาท เป็น 194 บาท


 


จังหวัดที่ปรับขึ้น 4 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ เพชรบุรี เลย ระยอง และสิงห์บุรี


 


จังหวัดที่ปรับขึ้น 5 บาท มี 2 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา


 


ส่วนจังหวัดที่ปรับขึ้นสูงสุด 7 บาท คือ จังหวัดภูเก็ต จาก 186 บาท เป็น 193 บาท และสำหรับจังหวัดที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ จังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากต้องตรวจสอบคุณสมบัติอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง


 


ประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนาม ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2551


 


 


ต่างประเทศ


ผู้นำ'อียู'ตกลงกันได้สัญญากำหนดอนาคตของกลุ่ม


ผู้จัดการรายวัน- เอเอฟพี/รอยเตอร์ - บรรดาผู้นำของ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) ประสบความสำเร็จภายหลังต่อรองกันจนดึกดื่นในคืนวันพฤหัสบดี(18) จนสามารถเห็นชอบร่วมกันในเนื้อหาของร่างสนธิสัญญาว่าด้วยอนาคตของอียูฉบับใหม่ ที่จะนำมาทดแทนร่างธรรมนูญอียู ซึ่งไม่ผ่านการลงประชามติในหลายชาติสมาชิกจนล้มครืนไปเมื่อ 2 ปีก่อน


 


ร่าง "สนธิสัญญาลิสบอน" ฉบับนี้ มีสาระสำคัญของร่างธรรมนูญอียูแทบทุกอย่าง อาทิ การให้มีประธานอียูที่ดำรงตำแหน่งค่อนข้างยาวนาน แทนระบบผลัดกันประเทศละ 6 เดือนดังปัจจุบัน, การมีหัวหน้าด้านนโยบายการต่างประเทศซึ่งมีอำนาจขึ้นกว่าเดิม, การลดขอบเขตของกิจการที่จะต้องได้เสียงเป็นเอกฉันท์จากทุกชาติสมาชิก, การให้สภาทั้งของอียูและของแต่ละชาติสมาชิกมีบทบาทมากขึ้น เป็นต้น แต่ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้จะไม่พูดถึงธงอียู หรือเพลงประจำอียู ดังที่เคยใส่ในร่างธรรมนูญ จนทำให้ถูกโจมตีว่า เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะสร้างอียูให้กลายเป็นรัฐเหนือรัฐขึ้นมา


 


บรรดาผู้นำอียูจะลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ในวันที่ 13 ธันวาคม และหากชาติสมาชิกทั้งหมดให้สัตยาบันรับรอง ก็จะมีผลบังคับใช้ในปี 2009


 


 


ธนาคารโลกขอความร่วมมือภาคเอกชนช่วยสนับสนุนกลุ่มประเทศยากจนที่สุด


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค -นายโรเบิร์ต เซลลิค ประธานธนาคารโลก ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ของอังกฤษ ฉบับวานนี้ว่า เขาได้เริ่มหารือกับกลุ่มบริษัทเอกชนเป้าหมายแล้ว และได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี และว่าถ้าแผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จจะช่วยขยายฐานเงินทุนสนับสนุนกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดดังกล่าว นายเซลลิค ซึ่งเป็นอดีตผู้แทนการค้า และอดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐ กล่าวด้วยว่า นโยบายใหม่ดังกล่าวของเขาจะช่วยประสานกิจกรรมต่าง ๆ ของธนาคารโลกเข้ากับเครือข่ายของประชาคมโลก พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า นโยบายนี้จะผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของธนาคารโลก


 


อย่างไรก็ตาม นโยบายริเริ่มดังกล่าวของนายเซลลิค ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มกองทุนของสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอดีเอ) ผู้สนับสนุนเงินกู้แก่กลุ่มประเทศยากจนที่สุดในนามของธนาคารโลก เป็น 2 เท่า ให้อยู่ในระดับ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 119,000 ล้านบาท) ถูกโจมตีจากบรรดาองค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) และนักเศรษฐศาสตร์บางรายว่า เป็นแผนการที่ชี้โพลงให้เกิดการทุจริตในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับไอดีเอ เช่น อาจนำไปสู่การรับสินบนของเจ้าหน้าที่ไอดีเอ จากกลุ่มนายทุนที่หวังผลประโยชน์จากโครงการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศผู้รับความช่วยเหลือ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความได้เปรียบเชิงธุรกิจแก่บริษัทธุรกิจในกลุ่มประเทศร่ำรวยด้วย


 


 


รัฐบาลทหารพม่าตั้งคกก.ร่างรธน.ลดกระแสกดดันจากนานาชาติ


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น- รัฐบาลพม่าประกาศเรื่องนี้ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐ เมื่อค่ำวานนี้ โดยอ้างว่า ได้ดำเนินการอีกขั้นหนึ่งในกระบวนการโร้ดแม็พ เพื่อประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีในอนาคต ด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญที่ล่าช้ามานานหลายปีแล้ว ประกอบด้วยคณะกรรมการ 54 คนที่มีทั้งแพทย์ คณาจารย์ที่เกษียณแล้ว โดยมีผู้พิพากษาสูงสุดเป็นประธาน และมีอัยการสูงสุดเป็นรองประธาน แต่ไม่ได้ระบุว่าคณะกรรมการชุดนี้จะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญกันเมื่อใด


 


การประกาศมีขึ้น ท่ามกลางกระแสกดดันจากนานาชาติที่ต้องการให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการปราบปรามฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล และให้จัดการเจรจากับนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านที่ยังถูกจองจำไว้ในบ้านพัก หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และมีผู้ถูกจับกุมหลายพันคน ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพม่าระบุว่ามีนวนผู้เสียชีวิตอาจมีถึง 200 ราย


 


 


ประชาชนหลายหมื่นคนอพยพหนีความรุนแรงในพม่า


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค-กลุ่มองค์กรพันธมิตรด้านมนุษยธรรม (ทีบีบีซี) ออกแถลงการณ์วันนี้ระบุว่า การทารุณกรรม การโจมตีของทหาร และการสุ่มจับของเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนต้องละทิ้งบ้านเรือนดังกล่าว โดยผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ชนบทต่าง ๆ ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นสมรภูมิรบระหว่างกองกำลังรัฐบาลพม่า กับกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงในนามของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) มาตลอดเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ประชาชนไร้ที่อยู่แล้วราว 500,000 ราย


 


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มเคเอ็นยูลดจำนวนฐานที่มั่นในบริเวณดังกล่าวเหลือเพียงฐานกำลังใกล้แนวชายแดนไทย-พม่าเท่านั้น แต่กระนั้นสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในพม่าทำให้ประชาชนยังคงละทิ้งบ้านเรือนหนีภัยคุกคามจากรัฐ ทีบีบีซีเรียกร้องให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เอาใจใส่ต่อชะตากรรมของกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวพม่าเหล่านี้ด้วย นอกเหนือจากความพยายามกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าเปิดการเจรจากับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศ


 


 


ฝรั่งเศสยังคงเผชิญกับการนัดประท้วงหยุดงานของพนักงานรถไฟต่อเนื่องเป็นวันที่ 2


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค-การนัดประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานรถไฟในฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านโครงการปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 20 นาฬิกาของวันพุธตามเวลาท้องถิ่นหรือ 1 นาฬิกาของวันพฤหัสบดีตามเวลาในไทย ในวันนี้มีรายงานว่าพนักงานของปารีส เมโทรและเรทพ์ 2 บริษัทผู้ประกอบการกิจการรถไฟในกรุงปารีส ยังคงนัดประท้วงหยุดงานกันต่อไปอีก 24 ชั่วโมง แต่เอสเอนซีเอฟการรถไฟของรัฐบาลฝรั่งเศสระบุว่า ได้เรียกร้องให้พนักงานของบริษัทดังกล่าว กลับมาทำงานตามปกติ ขณะที่รถไฟยูโรสตาร์ซึ่งวิ่งระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ก็ยังเปิดบริการอยู่ เพื่อไม่ไห้กระทบกับการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกนัดชิงอันดับที่ 3 ระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสกับทีมชาติอาร์เจนติน่าในคืนวันนี้และนัดชิงชนะเลิศที่ระหว่างทีมชาติอังกฤษกับแอฟริกาใต้ในวันพรุ่งนี้ซึ่งจะแข่งที่สนามในกรุงปารีส


 


ด้าน นาง ซาโกลีน โรยาล ซึ่งเคยเป็นตัวแทนพรรคสังคมนิยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนเมษายน วิจารณ์ว่าโครงการปฏิรูประบบบำนาญที่ประธานาธิบดี นิโคสาส์ ซาโคซี แสดงความมั่นใจเหลือเกินได้กลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงความไม่ไว้วางของประชาชนและการความหยิ่งทะนงตนของประธานาธิบดี


 


สำหรับการนัดประท้วงหยุดงานเพื่อต้อต้านการปฏิรูประบบบำนาญในฝรั่งเศสเมื่อวานนี้ นอกจากสหภาพแรงงานรถไฟแล้วยังมีพนักงานการไฟฟ้าและพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งเข้าร่วมด้วย ส่งผลให้หลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และพิพิธภัณฑ์ต้องปิดทำการ ขณะที่ชาวฝรั่งเศสต้องหันไปใช้ระบบขนส่งอย่างอื่นแทน โดยเฉพาะโครงการจักรยานสาธารณะหรือเวลิบที่จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว


 


ส่วนผลการสำรวจของสื่อในฝรั่งเศส ระบุว่าจำนวนผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการนัดประท้วงหยุดงานครั้งนี้ อยู่ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net