Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย องอาจ เดชา


 


 


 






 


"...แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อข้อมูลข่าวสารภาคประชาชน ซึ่งเราพยายามที่จะสร้าง "วิทยุชุมชน" บอกว่าเป็นสื่อของภาคประชาชนเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อบอกสภาพเรื่องราวของความเป็นจริงที่เป็นเนื้อหาให้ชาวบ้านได้รับรู้ แต่นั่นไม่มีเลย เพราะถ้าคุณพูดตามผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจอยู่บอกว่าเธอจะต้องพูดเหมือนฉัน ถ้าอีกคนพูดไม่เหมือนแต่ไปพูดอีกรูปแบบหนึ่ง ก็แสดงว่าเป็นปฏิปักษ์ เขาก็จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงตรงนี้เฉือนทันที จึงถือว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงนี้ เป็นตัวที่รุนแรงที่สุดมากกว่าตัวอื่นๆ..."


           


 


 


จากกรณีที่นายบุญจันทร์ จันหม้อ หัวหน้าจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน 90.75 MHz ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยต่อ "สำนักข่าวประชาธรรม" ว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการและอาสาสมัครผู้ดำเนินรายการของจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนและชมรมกะเหรี่ยงสัมพันธ์ ปรากฏว่ามี ร.ต.ชวลิต ศิริทรัพย์ เจ้าของวิทยุชุมชนฮอด เรดิโอ ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามาแจ้งต่อที่ประชุมว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านจะจัดรายการวิทยุชุมชนเป็นภาษากะเหรี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ กอ.รมน.ไม่อนุญาต จะอนุญาตเฉพาะภาษากลางและภาษาคำเมืองเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกปิดสถานี


 


นายบุญจันทร์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้านอย่างมาก เพราะการสั่งห้ามพูดภาษากะเหรี่ยงออกอากาศรายการวิทยุเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิในการสื่อสารของประชาชน อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นชาวบ้านก็ยุติการจัดรายการออกอากาศเป็นภาษากะเหรี่ยงเป็นการชั่วคราว พร้อมกันนั้นได้ประสานไปยังอำเภอฮอดถึงกรณีคำสั่งดังกล่าวก็ได้รับคำตอบว่าทาง กอ.รมน.มีคำสั่งดังกล่าวจริงโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง


 


ล่าสุด "มนตรี อิ่มเอก" จากวิทยุชุมชนสันป่าตอง FM 89.00 เมกกะเฮิร์ตซ์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ ได้พูดคุยกับ "ประชาไท"ถึงเรื่องผลกระทบของคนท้องถิ่น เมื่อ กอ.รมน.มีคำสั่งปราม ห้ามวิทยุชุมชนพูดภาษาถิ่น รวมไปถึง พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งจะกระทบต่อภาคประชาชนโดยตรง


 


0000


 


ประชาไท - ช่วยเล่ากรณีที่ กอ.รมน.มีคำสั่งวิทยุชุมชนหลายพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ ห้ามพูดภาษาถิ่น


มนตรี - ปัญหามันเริ่มตรงที่จุดปฏิบัติการวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน ช่วงที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์การเคลื่อนไหวในพม่าก็มีกลุ่มกะเหรี่ยงที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วย และวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนปกติก็ใช้ภาษากะเหรี่ยงจัดรายการวิทยุด้วย ซึ่งเรียกว่ากะเหรี่ยงโพล่ง เพราะฉะนั้น อาจทำให้รัฐบาลไทยคิดไปเองว่า กลัวว่าทางคนจัดรายการภาษากะเหรี่ยงจะไปพูดถึงเหตุการณ์ที่ลุกฮือในพม่า แล้วมันจะเกิดการปลุกระดม ระดมพลอะไรกันหรือเปล่า


 


พอเกิดอาการแบบนี้ เมื่อมีวิทยุชุมชนสถานีไหนที่พูดภาษาถิ่นโดยเฉพาะภาษากะเหรี่ยงเหมือนกัน ก็จะเข้าไปปราม ทั้งที่จริงๆ ไม่เกี่ยวกันเลย มันคนละเรื่องกัน เพราะพวกเขาเป็นคนพื้นเมืองที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่ อ.ฮอด กันมานานแล้ว แต่ว่าสายสัมพันธ์ของเขาก็จะมีกะเหรี่ยงต่างๆ ที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนฝั่งตะวันตกของเราบ้าง ตั้งแต่ราชบุรี จนถึงเชียงใหม่ ตาก แต่พวกเขาก็ไม่ยุ่งอะไรเกี่ยวกับการเมือง ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นคนในพื้นที่ แต่การที่จะใช้วิทยุเพื่อการเมืองในพม่านั้นไม่มีหรอก เพราะหลังจากที่คุยกับนายสถานีและผู้บริหารสถานี หลายอย่างที่ออกมาเขาต้องการที่จะสื่อว่ามีคนที่อยู่ในบ้านเขาที่ยังเข้าใจภาษากะเหรี่ยงโพล่งอยู่ และไม่ต้องการให้ภาษามันสูญหายเพราะว่ามันเป็นภาษา เป็นเอกลักษณ์ของเขา 


 


เขาจำเป็นที่จะต้องออกมาพูดภาษาเขาให้คนได้รู้กันว่าจะทำอย่างไรถึงจะใช้การสื่อสารเพื่อรักษาขนบประเพณี แต่มันอาจแลดูเหมือนกับว่าเป็นภาษาที่คนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง


 


ทางทหารสั่งให้หยุดออกอากาศภาษากะเหรี่ยงเลยหรือ?


คล้ายๆ ไปปรามว่าไม่พูดได้ไหม ขอให้พูดแต่ภาษาคำเมือง(ภาษาเหนือ) หรือภาษาไทย เพื่อลดปัญหาที่จะล่อแหลมในเรื่องต่างๆ เพราะเขาฟังไม่รู้เรื่องกันเท่านั้นเอง แต่พวกเราก็บอกว่าไม่จำเป็น ในส่วนของเครือข่ายสื่อภาคประชาชนก็บอกว่า ทำต่อไป พูดภาษาถิ่นของตัวเองต่อไป ไม่ต้องไปสนใจ


 


หรือที่จริงแล้วทางทหารหวั่นเรื่องทางการเมือง ประเภทที่กลัวระบอบทักษิณจะกลับมา?


คงจะไม่ถึงขั้นนั้น เพราะที่นั่นมันจะเป็นกลุ่มน้อยๆ ไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องการเมืองเท่าไหร่ แต่ที่สำคัญเป็นเรื่องของความมั่นคงมากกว่า ที่เขาคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่


 


มีอีกหลายจุดใช่ไหม ที่ กอ.รมน. เข้าไปปรามห้ามใช้ภาษาถิ่น?


ใช่ ที่อำเภอฝาง ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนที่อยู่ติดชายแดน เขาอาจจะถูกสอดส่องอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่การที่จะเข้ามากำหนดว่า ห้ามเปิดนะ ให้ปิดนะ ในลักษณะของการข่มขู่นี้ถือว่าไม่ถูกต้อง จะว่าไปตัวรัฐเองกำลังเลือกปฏิบัติ ผมขอต่อว่าเลยว่าความสามารถของตัวเองในเรื่องนี้ยังไม่มี  แต่ก็ตัดปัญหาเลยคือไม่ให้เขาออกอากาศ ผมก็เคยคุยกับหัวหน้าของกองกิจการพลเรือนกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเขาดูแลในเรื่องของวิทยุ คุยกันแล้วว่าแต่ละพื้นที่มันน่าจะมีเรื่องของการสื่อสารของท้องถิ่นที่ชาวบ้านทั่วไปมีสิทธิที่จะได้ใช้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีใครมาบังคับหรือว่าอยู่ในการครอบงำของใคร 


 


อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยุเพื่อความมั่นคงมันไม่น่าจะเกิด ทหารทำผิดอยู่แล้วในลักษณะที่ว่าวิทยุชุมชนมันน่าจะเป็นของชุมชน  แล้วคุณเป็นหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะเป็นหน่วยงานราชการทหาร การที่เหมารวมมันไม่ถูกต้อง เพื่อให้อยู่ภายใต้โครงอำนาจของคุณ มันก็ไม่ใช่วิทยุที่อิสระ


 


พูดถึงสถานีวิทยุชุมชนที่เข้าไปอยู่ในเครือข่ายของทหาร ตอนนี้มีเยอะไหม ?


เยอะ ทั้งภาคเหนือนี่เขาก็พยายามที่จะใช้อำนาจนะ ถ้าหากว่าไม่ยอมเขา ก็อาจจะถูกกดดันอะไรต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพภาคที่ 3 เอง ที่พิษณุโลกก็เหมือนกับอีกหลาย ๆ ที่ที่ถูกมองว่า อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคุณเชื่อทหาร คุณยังเกาะคลื่นทหารอยู่ ออกโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ของทหารอยู่ คุณก็จะได้สิทธิ์ว่าจะไม่มีใครทำอะไรคุณ


 


ช่วยยกตัวอย่างบางสถานีได้ไหม ?


ก็มีเครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อความมั่นคง หรือ กอรมน. ซึ่งมีคนบางกลุ่ม แต่ไม่ขอเอ่ยนามที่ได้อุปโลกน์ตัวเองมาเป็นประธานและพยามยามที่จะไปปลุกเร้าให้ทุกคนเข้ามาอยู่ภายใต้ของเขา พอใครไม่เข้ากลุ่มก็พยายามที่จะเข้าไปข่มขู่ นี่ถือว่าเป็นลักษณะที่เอาตัวเอง เอาวิทยุชุมชนไปอิงในอำนาจ เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจมากในเครือข่ายสื่อภาคประชาชน เพราะพวกเราที่เป็นวิทยุชุมชนที่แท้จริงที่มีหลักการหลักเกณฑ์ต่างๆ ของวิทยุชุมชน


 


เพราะว่า หนึ่ง ในเรื่องของความมั่นคง เราไม่แตะอยู่แล้ว สอง ในเรื่องของการโฆษณาหรือในการสื่อสารที่จะส่งผลในเรื่องของการเมือง ผลประโยชน์ ก็เหมือนกันมันไม่มีอยู่แล้ว เรามีแต่ลักษณะการพูดสื่อสารที่สร้างความเข้าใจ ในเรื่องของความถูกต้อง เหมือนปรัชญาของนักข่าวที่จะนำเสนอในเรื่องที่เป็นความจริง และการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ มันก็ต้องอยู่ที่คนฟัง เชื่อหรือไม่เชื่อมันอยู่ที่เขา แต่ไม่ใช่ไปนำความคิด ไปชักจูงเขา แต่ที่วิทยุชุมชนเข้าไปเป็นเครือข่ายของทหาร ก็เพราะว่าเขากลัวว่าถ้าหากว่ามีใครมาทำอะไรเขา เขาจะลำบาก เพราะฉะนั้น เขาจะต้องไปหาคนมาปกป้อง


 


วิทยุชุมชนอย่างเราไม่สนหรอกเรื่องเหล่านี้ เท่าที่ดูๆ นะ ไม่มีเลยดีกว่า เข้าใจว่าทางสายทหารหรือสายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ก็รู้ว่า พวกเรานี่เป็นสื่อภาคประชาชนที่ต้องการใช้สื่อเพื่อการพัฒนาจริงๆ ค่อนข้างปลอดจากเรื่องการเมือง และเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ


 


แล้วตอนนี้เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือได้คุยกันไหมว่าจะแก้ปัญหายังไง กรณีที่มีวิทยุชุมชนบางสถานีไปอิงกับอำนาจทหาร ?


เราก็คุยกัน แต่คิดว่าเขาคงไม่แตะเรา อีกอย่างเครือข่ายวิทยุชาวล้านนาก็ดี เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ ต่างก็มีปรัชญาแนวเดียวกันคือแนวคิดไม่มีโฆษณา เพราะถ้ามันปลอดจากการโฆษณา ผลประโยชน์มันก็ไม่มี เขาก็ไม่อยากมาเล่น เหมือนกับมันฟรี เขาก็เลยอยากไปบีบเอากับพวกที่มีรายได้และคลื่นสูงๆ


 


การร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.. …


ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ?


ตอนนี้ที่กำลังนำเสนอ คือ เขาตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 40 ออก ในการที่จะมีคณะกรรมการวิทยุชุมชน หรือ ควช.ซึ่งมาดูแลแต่ไม่ครอบคลุม ส่วนระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช.ซึ่งจะมีบทบาทดูแลจัดการคลื่นวิทยุต่างๆ มันน่าจะมีคณะกรรมการ หรือคณะทำงานที่เกิดขึ้นมาหลายๆ ส่วน เข้ามาดูในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเนื้อหารายการ เรื่องของเทคนิควิธีการส่งกระจายเสียง ที่จะไม่ให้กวนวิทยุการบินอะไรต่างๆ เอามารวมกัน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ ตอนนี้มันเหมือนกับการร่างจาก สนช. เข้าไปให้มี ควช. ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เพราะอยู่ๆ ก็มีการถูกส่งเข้าไปให้มีการพิจารณา กฤษฎีกาตีความแล้วก็ส่งกลับมา เข้าไปครั้งหนึ่งแล้วก็เอาออกกลับมาให้แก้ไข พอแก้ไขเสร็จแล้ว ในขั้นของกฤษฎีกามันก็ถูกตัดออก ซึ่งไม่แน่ใจว่า กสทช.จะถูกตัดออกเมื่อไหร่ 


 


ถ้าเป็นแบบนั้นถือว่าอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้มันล้นฟ้ากับการทำงานสองอย่าง คือ ให้การดูแลวิทยุชุมชนจากเคเบิ้ลทีวี ถามว่าคนที่อยากได้คือเคเบิ้ลใช่ไหม เพราะเขาจะได้รับการยอมรับเขาจะได้ทำมาหากินได้ถูกต้องตามกฎหมาย เขายอมไม่ได้ถ้าเสียค่าต่างๆ เยอะแยะ เขาต้องการที่จะกำหนดว่าเอกชนขนาดเล็กก็สามารถทำได้ เคเบิ้ลไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนายทุนขนาดใหญ่  แต่เมื่อมันถูกตัด เขาก็ต้องไม่พอใจแน่นอน


 


อีกส่วนหนึ่งที่มันมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าให้มีการแบ่งวิทยุชุมชนออกเป็น 3 ประเภท 1.วิทยุชุมสายสาธารณะ 2. วิทยุเพื่อการบริการชุมชน 3. วิทยุทางธุรกิจ ทั้ง 3 ส่วน แม้จะไปดูเหมือนกับมีคำว่าวิทยุชุมชนอยู่ แต่ว่ามันไม่มีตัว มันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตอนนี้มันก็เหมือนกับ งูกินหาง


 


รัฐบาลชุดนี้พยายามที่จะตั้งอะไรไว้แล้วก็บอกว่ามันมี แต่ความจริงแล้วมันไม่มี ซึ่งมันเหมือนงูกินหางของมันไปเอง ไม่ถูกต้อง ภายใต้การบอกว่าเป็นวิทยุชุมชน แต่ที่ออกไปมันกลับกลายเป็นวิทยุธุรกิจ นั่นก็เหมือนกับที่ ดร.จิรพร บอกไว้ว่า นี่คือการตัดต่อพันธุกรรมของสื่อ


 


ในส่วนของสื่อและวิทยุชุมชนเราคิดว่า ประเด็นก็คือ ถ้าไม่ให้มันมีตามมติคณะรัฐมนตรีที่เคยกำหนดไว้ในรัฐบาลชุดก่อนมันก็ไม่ถูกต้องแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นก็จะทำให้สิทธิของภาคประชาชนในการนี้มันเสียหายไป แต่พอมารัฐบาลชุดใหม่ปัญหากลับหนักกว่าเดิม อีกทั้งในส่วนของมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เดิมนั้นได้พูดถึงสัดส่วนที่ภาคประชาชนจะมีคือ 20% แล้วมันหายไปไหน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มันไม่มีเลย


 


แล้วถ้า พ.ร.บ. ความมั่นคงบังคับใช้ มันจะมีผลกระทบมากไหม ?


ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ถ้ามันมีขึ้นมาก็หมายความว่า มีคนคนเดียวที่มีอำนาจแล้วสั่งได้เลย แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อข้อมูลข่าวสารภาคประชาชน ซึ่งเราพยายามจะบอกว่า "วิทยุชุมชน เป็นสื่อของภาคประชาชนเพื่อถ่วงดุลอำนาจ" ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าคุณพูดตามผู้มีอำนาจ หรือผู้มีอำนาจอยู่บอกว่าจะต้องพูดเหมือนฉัน ถ้าอีกคนพูดไม่เหมือน แต่ไปพูดอีกรูปแบบหนึ่ง ก็แสดงว่าเป็นปฏิปักษ์กัน เขาก็จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงตรงนี้เฉือนทันที แต่ถือว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงนี้ เป็นตัวที่แรงที่สุดมากกว่าตัวอื่นๆ


           


ถ้าถามว่า พวกเราทำอะไรบ้าง ก็ทั้งดิ้นรน ผลักดัน ส่งหนังสือ ยื่นหนังสืออะไรต่างๆ แต่เราทำได้แค่นี้แต่ว่ายังมีวิทยุชุมชนอื่น หรือที่บอกว่าตนเองเป็นวิทยุชุมชนเขาไม่ได้เคลื่อน เราก็พยายามบอกเขาว่า ถ้าคุณนิ่งนะ คุณตาย เขาก็ไม่เชื่อ เขารอ ก็ตามใจเขา แต่พวกเราในฐานะที่ทำงานที่จะใช้สื่อเพื่อการทำงาน อย่างน้อยก็ต้องเรียกร้องให้การสื่อสารอย่างเสรีกลับคืนมาเท่านั้น


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net