Skip to main content
sharethis

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา


 


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 เวลา 9.00-12.30 น. แพทยสภาได้จัดการเสวนาเรื่องนโยบายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของพรรคการเมือง ณ ห้องประชุมสยามมกุฏราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ มาเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นพ.วินัย วิริยะกิจจา รองหัวหน้าพรรคชาติไทย, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน, นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ ผู้แทนพรรคเพื่อแผ่นดิน และนพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ รองเลขาธิการแพทยสภา โดยมี พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา


 


การเสวนาเริ่มจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความฝันอันสูงสุดคือ ทำ


อย่างไรให้คนไทยป่วยน้อยลง และมีสุขภาพดี และได้อ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง สสส. (กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) โดยเอาเงินมาจาก "ภาษีบาป" คือ ภาษีเหล้าและบุหรี่ เอาองค์กรเอกชนมาสนับสนุน สสส. และเป็นผู้ผลักดันกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพ คือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้ประชาชนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพ สนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยในภาคเกษตร เช่น ควบคุมการใช้สารเคมี ความปลอดภัยในการใช้แรงงาน ดูแลปัญหาโรคเอดส์ การติดเชื้อ


 


ในส่วนของนโยบายในอนาคต นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าพรรคของตนและจะส่งเสริมการทำงานสาธารณสุขเชิงรุก โดยสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ให้บันทึกประวัติสุขภาพครอบครัว และจะสนับสนุนนโยบายหลักประกันสุขภาพ โดยเพิ่มเงินค่าหัวเป็น 2,300 บาท ทั้งอาจจัดให้มีการร่วมจ่าย แต่ควรเป็นการจ่ายล่วงหน้า ซึ่งไม่จ่ายในขณะรับบริการ เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าใครไม่จ่ายจะได้รับบริการไม่ดี


 


นอกจากนี้ ยังมีนโยบายแก้ปัญหาบุคลากรไหลออกด้วย ส่วนระบบอื่นๆ เช่น ระบบประกันสังคม จะให้เป็นอิสระ โปร่งใสมากขึ้น เพิ่มเงินเข้าระบบมากขึ้นและให้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ด้านการจัดบริการก็จะให้มีการหารายได้เพิ่มขึ้น เช่นการเก็บค่าบริการจากห้องพิเศษ หรือให้มีระบบประกันพิเศษเสริม ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลภาครัฐ พัฒนาระบบบริการอุบัติเหตุและฉุกเฉินและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง แก้ปัญหาการฟ้องร้องโดยระบบไกล่เกลี่ย และจัดตั้งกองทุนชดเชยโดยไม่เกี่ยวกับการรับผิดและคดีอาญา การจัดระบบบริการการแพทย์ใหม่ ไม่แก้ไขพ.ร.บ.วิชาชีพโดยไม่แจ้งให้ผู้ประกอบวิชาชีพทราบ


 


ต่อมา นพ.วินัย วิริยะกิจจา รองหัวหน้าพรรคชาติไทย อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า กลไกทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดให้ข้าราชการปฏิบัติตาม ฉะนั้นการจะแก้ไขระบบบริการทางการแพทย์จะต้องอาศัยกลไกทางการเมือง โดยข้าราชการเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการทำตามนโยบายของพรรคการเมืองให้ประสบความสำเร็จ และพรรคชาติไทยจะส่งเสริมการปฏิรูประบบบริการทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงทางสุขภาพเพื่อให้สังคมมีความสุขโดยดูแลทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เจ็บป่วย ผู้พิการ และการแพทย์ควรมีคุณค่าที่ประชาชนตระหนักได้ นั่นคือคนจนควรได้รักษาฟรี แต่คนมั่งมีต้องร่วมจ่าย(ส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพที่มี co-payment หรือการร่วมจ่าย) และจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลสุขภาพของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน จะยกสถานะของสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลชุมชน โดยให้ท้องถิ่น (เทศบาล) ดูแล โดยจัดสรรงบประมาณ บุคลากรโดยเน้นระบบคุณภาพ คุณธรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น


 


ต่อมา นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ ผู้แทนพรรคเพื่อแผ่นดินได้กล่าวถึงประชาชนผู้รับบริการว่า ให้ประชาชนร่วมสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ ได้แก่โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ โรคหลอดเลือดในสมองและโรคมะเร็ง โดยมะเร็งเต้านม ประชาชนสามารถตรวจเองได้ในเบื้องต้น หรือสามารถวัดความดันได้เอง


 


กรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน พรรคเพื่อแผ่นดินจะแก้ไขโดยส่งเสริมให้มีการผลิตแพทย์ในระดับตำบล ส่งเสริมให้พยาบาลมาเรียนแพทย์เพิ่มขึ้น ป้องกันและแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของหมอและบุคลากรสาธารณสุขดีขึ้นเพื่อให้มีหมอดี ยาดี และระบบบริการที่ดีตั้งแต่บริการอุบัติเหตุและฉุกเฉิน การเพิ่มงบประมาณรายหัว และเมื่อถามว่าทำอย่างไรจึงจะมีหมอในชนบท โดยเฉพาะหมอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะใช้นโยบายการปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยเพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัว ในระบบประกันสังคมและในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเน้นระบบบริการทางการแพทย์ที่ทั่วถึงครอบคลุมประชาชนคนไทยทั้งประเทศ


 


คนสุดท้าย คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมในการนำระบบ 30 บาทมาใช้เป็นครั้งแรกในรัฐบาลทักษิณ ได้กล่าวยอมรับว่าระบบ 30 บาทมีทั้งผลดีและผลเสียที่จะต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาต่อไป และกล่าวอ้างว่าประเทศไทยมีข้อบกพร่องเรื่องข้อมูลสารสนเทศ (สถิติและข้อมูลผู้ป่วยหรือข้อมูลอื่นๆ รวมทั้งข้อมูลด้านการเกษตร และอื่นๆ) ที่ไม่ทันสมัย ไม่ตรงกัน และไม่ถูกต้อง ทำให้เป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการรวมทั้งการที่ระบบ 30บาทไม่ดีพอ ก็เป็นเพราะข้อมูลสารสนเทศไม่ดี แต่ก็ได้ยอมรับว่ามีความขาดแคลนด้านงบประมาณ บุคลากรสมองไหล เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และประชาชนมากขึ้น มีการฟ้องร้องมากขึ้น และยอมรับว่าประชาชนที่ได้รับยาและการรักษาฟรีนั้น ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของยาและการรักษา มาใช้บริการเกินความจำเป็น และไม่ต้องรับผิดชอบดูแลสุขภาพชองตนเองและผลักภาระมาให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มากเกินไป ควรจะให้ประชาชนมีความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพตนเองด้วย


 


หลังจากการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองครบทั้ง 4 พรรคแล้ว มีคำถามและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากพรรคการเมืองต่างๆ และบางคำถามก็ไม่ได้ถามเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลา ซึ่งจะขอสรุปคำถามและข้อเสนอแนะดังนี้


 


1.ปัญหาแพทย์ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนนั้น นอกจากเป็นเพราะภาระงานที่มากเกินไปแล้ว ปัญหาสำคัญ คือ เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำมาก เมื่อเทียบกับค่าตอบแทนในภาคเอกชน ทำไมผู้บริหารจึงไม่ปรับเปลี่ยนเงินเดือนของแพทย์ (ที่รักษาชีวิตและสุขภาพของประชาชน) ให้เท่ากับเงินเดือนของผู้พิพากษาหรืออัยการที่รักษาความยุติธรรมของประชาชนบ้าง (อยากรู้ว่า ชีวิต และความปลอดภัยในสุขภาพนั้นสำคัญน้อยกว่าความยุติธรรมหรืออย่างไร) ทั้งๆ ที่แพทย์ทำงานหนักทั้งกลางวันกลางคืน จึงมีผู้ถามว่าถ้าตัวแทนพรรคทั้งหลายได้เป็นรัฐบาลจะทำการขึ้นเงินเดือนให้แพทย์ในราชการหรือไม่ ข้อนี้ หลายๆ พรรคก็บอกว่าน่าจะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคชาติไทย


 


2.เลขาธิการแพทยสภาเป็นห่วงเรื่องการฟ้องแพทย์ในคดีอาญา อยากให้มีการออก พ.ร.บ.คุ้มครองแพทย์ที่ปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพไม่ให้ต้องถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญา ซึ่ง นพ.วินัย วิริยะกิจจา เห็นด้วยว่าถ้าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว ก็ไม่ควรถูกฟ้องในคดีอาญาเหมือนอาชีพอื่นๆ


 


3.นพ.วินัย วิริยะกิจจาได้บอกว่าถ้าพรรคชาติไทยได้เป็นรัฐบาลจะแยกข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจาก กพ.เป็น กสธ. เพื่อจะได้บริหารจัดการในเรื่องตำแหน่งและค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อภาระงาน


 


4.มีผู้เสนอความเห็นเรื่องงบประมาณไม่พอ บุคลากรลาออก และประชาชนไม่สร้างสุขภาพแต่ผลักภาระมาโรงพยาบาลเกินความจำเป็น พรรคการเมืองก็มีความเห็นตรงกันว่าจะต้องเพิ่มเงินเข้าระบบมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถบอกว่าจะกระตุ้นให้ประชาชน "สร้างสุขภาพ" ได้อย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งบอกว่าควรให้ประชาชนร่วมจ่าย แต่ไม่ได้กล่าวถึงวิธีการโดยละเอียดว่าจะร่วมจ่าย แค่ไหน อย่างไร


 


5.การแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคในการรับบริการแก่ประชาชนในชนบทนั้น มีการกล่าวว่า ถึงจะมีแพทย์ประจำสถานีอนามัยซึ่งจะยกสถานะเป็นโรงพยาบาลชุมชน แต่ก็อาจทำให้แพทย์อยู่ไม่ได้ถ้าต้องรับผิดชอบคนเดียว 24 ชั่วโมงตลอดปี เพราะแพทย์ต้องทำงานเป็นทีมจึงจะอยู่ได้


 


6.การแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่จะเร่งผลิตแพทย์นั้น ต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐาน ความรู้และทักษะของแพทย์ด้วย และทำอย่างไรจะแก้ปัญหาแพทย์และพยาบาลสมองไหลไปอยู่เอกชนได้


 


7.มีคำถามฝากไปถึงพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลว่าให้แก้ไขระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการของแพทย์และบุคลากรอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของค่าตอบแทนในปัจจุบัน ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการของแพทยสภาได้เสนอ นพ.มงคล ณ สงขลา โดยผ่านแพทยสภาไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ และขอให้เงินค่าตอบแทนนี้เป็นเงินจากงบประมาณอื่นไม่ใช่ไปขึ้นอยู่กับสถานะเงินบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยก็บอกว่าน่าจะได้เงินและการสนับสนุนจากท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติให้ดำเนินการแล้วในโรงพยาบาลที่สังกัดกรุงเทพมหานครซึ่งไม่ควรทำเฉพาะในกรุงเทพ ควรทำในทุกจังหวัด


 


8.มีผู้เสนอให้เพิ่มงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้พยาบาลช่วยตรวจผู้ป่วยเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแบ่งเบาภาระงานของแพทย์ แต่ในขณะเดียวกัน บุคลากรพยาบาลก็ขาดแคลนเช่นเดียวกัน และยังไม่มีตำแหน่งบรรจุพยาบาลอีก ทำให้มีปัญหาพยาบาลสมองไหลไปอยู่เอกชนเข่นเดียวกัน


 


9.พรรคพลังประชาชนบอกว่าแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนมีน้อยกว่าในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ ควรจัดสรรแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น แต่ต้องดูด้วยว่าแพทย์โรงพยาบาลจังหวัดนั้นถึงแม้จะมีมาก แต่ก็อาจจะต้องทำงานในระดับสูงกว่าโรงพยาบาลชุมชน และขาดแพทย์เฉพาะทางด้วย เช่น ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ และอื่นๆ อีกมาก


 


การขาดวิสัญญีแพทย์และศัลยแพทย์ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กไม่ผ่าตัดอีกต่อไป เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงอันตรายแล้ว แพทย์เองก็ยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องอีกด้วย แต่ส่งผลร้ายให้แก่ผู้ป่วยที่จะต้องถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาจเกิดไส้ติ่งแตก มดลูกแตก และเสี่ยงต่ออาการหนักหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต ฉะนั้นควรปรับปรุงระบบการส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วและปลอดภัยด้วย


 


10.มีการกล่าวว่าผู้ประกันตนไม่ได้รับความเสมอภาคและเป็นธรรมเหมือนผู้ใช้ 30 บาท เพราะผู้ประกันสังคมต้องจ่ายเงินของตนเองสมทบทุกเดือน จึงจะได้สิทธิค่ารักษาพยาบาล ซึ่งไม่รวมถึงการป้องกันโรคด้วย ในขณะที่ 30 บาทได้สิทธิมากกว่าประกันสังคมโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองเลย และพอประกันสังคมจะขออยู่ห้องพิเศษก็ทำให้เสียสิทธิ์ค่ารักษาด้วย


 


11.อาจารย์ อนงค์ เพียรกิจกรรมได้ถามเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตแพทย์และการจูงใจให้เยาวชนสนใจเรียนแพทย์ เพราะปัจจุบันนี้ นักเรียนสละสิทธิ์ไม่เรียนแพทย์ถึง 25% ของผู้สอบเข้าเรียนแพทย์  และการที่จะนำเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบรวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ด้วย จะเกิดปัญหาการขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องออกจากระบบราชการและขาดแคลนอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์


 


12.มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีที่ผู้ป่วยและประชาชนให้ความนับถือและไว้ใจแพทย์ ซึ่งปัจจุบันนี้ดูจะขาดหายไป เพราะประชาชนตระหนักในสิทธิและเรียกร้องสิทธิมากขึ้น ทำให้มาโรงพยาบาลมากขึ้น แต่ทำให้แพทย์มีเวลาให้ผู้ป่วยแต่ละคนน้อยลง ทำให้อาจไม่มีเวลามากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจกระบวนการและผลการรักษา ก่อให้เกิดความคาดหวังสูงเกินจริงและไม่อาจยอมรับอาการอันไม่พึงประสงค์หรือโรคแทรกซ้อนได้ ทำให้มีการร้องเรียนมากขึ้น


 


ยังมีคำถามและข้อเสนอแนะที่ไม่ได้ถามและยังไม่ได้กล่าวถึงอีกก็มี แต่นับได้ว่าการเสวนาครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญของแพทยสภาในการดำเนินการในเชิงรุก เพื่อที่จะให้ผู้ที่อยากเข้ามาบริหารประเทศ ได้รับทราบปัญหาสำคัญในวงการแพทย์ที่เกิดวิกฤตในปัจจุบัน  เพื่อจะได้ หาทางแก้ไข ให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมกับบุคลากรและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เกิดผลดีที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ด้วย



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net