Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 50 ชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 จัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง "อนาคตประเทศไทยหลัง 23 ธ.ค. 50 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาัลัย


 


วิทยากร ประกอบด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มธ., รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย, พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ, ภรณี ลีนุตพงษ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการ


 


ประชาไท ขอถอดความการอภิปราย ของรศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้


 


 


000


 


รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


คิดว่าปีหน้าเป็นแห่งการท้าทายที่สุดของการเมืองไทยในช่วงชีวิตที่เราเห็น ถ้าเทียบแล้วเป็นความหนักหน่วงที่ไม่แน่ใจว่าจะหนักกว่าปี 2535 หรือไม่


 


ก่อนขึ้นเวทีเราลองนั่งคุยกัน มีคนโยนประเด็นว่า ตกลงวันที่ 23 ธันวาคมนี้จะมีเลือกตั้งหรือไม่...ถ้าไม่ ปีหน้ายิ่งกว่าการท้าทาย จะเป็นปีของความพังทลาย นั่งภาวนาอยู่ภายในใจว่าได้เลือกก็แล้วกัน


 


แต่มีคำถามต่อว่า ถ้าได้เลือก เราสมมติทดลองสร้างตัวแบบจำลองสถานการณ์ปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไร สมมติว่าพรรคการเมืองบางพรรคชนะอย่างที่โพลล์เขาว่ากัน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิด เรื่องที่หนึ่งคือมีการยุบพรรคหลัง 23 ธันวาคม


 


หรือเรื่องที่สอง ผลการเลือกตั้งมีปัญหามากจนสุดท้ายถูกทำให้เป็นโมฆะโดยกระบวนการบางอย่าง ในภาพรวมสถานการณ์มาในลักษณะอย่างนั้น หมายความว่า สิ่งที่เราจะเห็นในภาพรวมคือ ประชาธิปไตยคงอ่อนแอ เศรษฐกิจคงย่ำแย่  ความมั่นคงรวนเร และกองทัพเข้มแข็ง ในภาวะที่การเมืองอยู่ในสภาพอย่างนั้น ข้อสรุปมีอย่างเดียวคือ แจกยานอนหลับให้กับทุกท่าน มิฉะนั้นจะเครียดจนนอนไม่ได้แน่ๆ


 


แต่ถ้าสุดท้ายตัดสินในยึด (อำนาจ)  อย่างที่เราเห็นในเอกสารอย่างที่ออกมาแล้ว เสียดายที่ชิ้นที่ 2 สื่อไม่ค่อยเล่น จริงๆ แล้วชิ้นที่ 2 โดยนัยยะสำคัญมากที่พูดถึงแนวคิดภายในกองทัพ


 


ถ้าสมมติตัดสินใจยึด (อำนาจ) หลังการเลือกตั้ง เราจะมีสถานการณ์ไม่ต่างจากพม่าเหมือนเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคม 1988 ซึ่งการเลือกตั้งเกิดแล้ว แต่สุดท้ายผู้กุมอำนาจทางการเมืองคือกองทัพตัดสินใจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ดังนั้นถ้ายึด (อำนาจ) หลังวันที่ 23 ธันวาคม ตอบได้คำเดียวว่าประชาธิปไตยล้มเหลวแน่ๆ แต่มากกว่านั้นคิดว่าเศรษฐกิจที่ว่าย่ำแย่ ณ วันนี้ สิ่งที่เราจะเห็นต่อไปคือเศรษฐกิจพังทลาย ถึงตอนนั้นปัญหาความมั่นคงแตกสลายแต่กองทัพจะแข็งแกร่ง


 


สิ่งที่ตามมาคือโมเดลแรก แจกยานอนหลับ  โมเดลที่สองคือ แจกเชือกคนละเส้น ใครที่ทำธุรกิจอยู่ คิดว่าคงตอบได้ดีว่าหลัง 19 กันยายน 2549 เกิดอะไร จากสองโมเดลนี้ เห็นอย่างหนึ่งหรือไม่ ทั้งสองโมเดลคือการเมืองเสียเสถียรภาพทั้งคู่ แต่จะไร้เสถียรภาพมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถานการณ์ สุดท้ายมันพันอยู่กับเรื่องๆเดียวคือยึดหรือไม่ยึด (อำนาจ) หลัง 23 ธันวาคม


 


ถ้ามองอย่างนี้อาจจะดูน่ากลัวเกินไป แต่ถ้าเราลองมองภาพให้มันกระจายออก มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยกระบวนการการเลือกตั้ง มันก็จะเป็นกระบวนการการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดมาก เพราะฉะนั้นผลที่เราได้รับจากวันที่ 23 ธันวาคม คงจะไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบแต่จะเป็นประชาธิปไตยแบบบงการ หรือเป็นประชาธิปไตยที่มีการจัดการมาก่อนแล้ว


 


ครั้งหนึ่งผมเคยพูดถึงตัวแบบว่า ถ้าเรานึกถึงนิทานเด็กๆ เรื่องอาละดินกับตะเกียงวิเศษ ครั้งหนึ่งพอเรามีปัญหา อาละดินก็ถูตะเกียงเอายักษ์ออกมา แต่พอยักษ์ออกมาแก้ปัญหาบางอย่างให้อาละดินเสร็จ อาละดินถูตะเกียงเพื่อให้ยักษ์กลับแล้วยักษ์ไม่กลับ ประชาธิปไตยที่จะเกิดหลังวันที่ 23 ธันวาคม สิ่งที่เราจะเห็นชัดก็คือกองทัพเข้มแข็ง แต่การเมืองอ่อนแอ ที่น่าสนใจคือ การเมืองจะอ่อนแอใน 2 ภาค การเมืองในระบบรัฐสภาก็อ่อนแอและการเมืองในภาคประชาชนก็จะอ่อนแอ สิ่งที่เป็นผลตามมาคือ เมื่อการเมืองทั้ง 2 ภาคอ่อนแอก็ต้องพึ่งอำนาจนอกระบบมากขึ้น เมื่อพึ่งอำนาจนอกระบบมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือจะเป็นรัฐบาลผสมที่มีปัญหาสารพัดสาระเพ สุดท้ายขมวดกลับมา ทุกอย่างหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้การเมืองในระบบรัฐสภานั้น ไม่แข็งแรงและอ่อนแอโดยตัวของมันเอง รวมทั้งการเมืองในภาคประชาชน


 


ในสภาวะเมื่อต้องพึ่งอำนาจนอกระบบ แน่นอนว่ากองทัพจะเป็นผู้เข้มแข็งในฐานะผู้รักษาเสถียรภาพของการเมือง (Political Guardian) ของประเทศ เราจะเห็นบทบาทของกองทัพขยายตัวมากขึ้น คำพูดของผู้นำทหารถ้าจะยืนยันคำพูดก่อน 19 กันยายน 2549 ก็บอกไม่ยึด (อำนาจ) และไม่ได้พูดครั้งเดียวด้วยวันนี้มาบอกว่าทหารถอยกลับ ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วในภาพรวมของกองทัพ ของสถาบัน และของตัวผู้นำกองทัพต้องการถอยออกจากการเมืองจริงหรือไม่ หรือถ้ากองทัพยังยืนยันอย่างเช่นเอกสารที่ออกมา สะท้อนชัดว่ากองทัพไม่ถอนตัวจากการเมืองแน่ๆ กองทัพจะอยู่ในฐานะผู้รักษาเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ


 


เมื่อกองทัพไม่ถอนรูปแบบของการแทรกแซงซึ่งอาจจะมีหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงรูปแบบของการรัฐประหาร อย่างที่ผมเคยพูดตัวอย่างว่า กฎหมายความมั่นคงเป็นตัวแบบของการรัฐประหารเงียบซึ่งสังคมไทยไม่คุ้น น่าติดตามมาก เราวิพากษ์วิจารณ์กัน แต่สิ่งที่จะเห็นชัดก็คือ ไม่มีผล ไม่ว่าเราจะพูดอย่างไรก็ไม่มีผล


 


เข้าใจว่ากฎหมายความมั่นคง มากกว่า 80 % แล้วที่ผ่านและเตรียมประกาศใช้ ความน่าสนใจทางการเมืองอยู่ตรงที่อาจจะมีการประกาศใช้ก่อนการเลือกตั้ง  ซึ่งยังไม่รู้ผลกระทบระหว่างการใช้กฎหมายกับการเลือกตั้งเพราะยังไม่มีใครวิเคราะห์ต่อว่าจะเป็นอย่างไรกับการใช้กฎหมายฉบับนี้


 


โดยตัวรูปแบบของการเมืองที่เกิด เราบอกว่าประชาธิปไตยมีความจำกัดหรือเป็นประชาธิปไตยแบบบงการ เพราะฉะนั้นการเมืองมีสภาวะที่ถูกชี้นำ การเมืองหลังวันที่ 23 ธันวาคม จะเป็นการเมืองที่มีการต่อสู้อย่างเข้มข้นระหว่างแนวคิด 2 อย่าง คือ ระบอบทหารนิยมกับแนวคิดเรื่องของระบอบเสรีนิยม การต่อสู้ตรงนี้คิดว่าจะขยายตัวมากขึ้น แต่จะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในหลายๆ ส่วน


 


ถ้ามองอย่างนี้ การจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตเป็นอะไรที่มีความเปราะบางมาก ประชาธิปไตยที่เกิดในอนาคตก็จะเป็นประชาธิปไตยที่มีความเปราะบาง เพราะโดยตัวของมันเองแล้วถูกบงการ สิ่งน่าจะถามต่อคือ แล้วภาคประชาชนกับภาควิชาการจะทำอะไรต่อ


 


เป็นไปได้ไหม วันนี้เราจะสร้างข้อตกลงสักชิ้นหนึ่งในสังคมไทย วันนี้มาพูดกันที่สามย่านถือเป็นปฏิญญาสามย่านเอาไหม ประกาศร่วมกันว่า


 


1.                   เราจะไม่สร้างการเมืองที่ถือเอาหรือยอมรับให้มีการรัฐประหารเป็นวิถีทางของทางการเมือง หรือไม่ยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา


 


2.                   ไม่ยอมรับการแก้ไขปัญหานอกระบบรัฐสภา


 


3.                   สร้างเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ที่ถือว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นวิถีทางเดียวทางการเมือง


 


ถ้าภาคประชาชนไม่เดินหน้าต่อ ผลพวงของวันที่ 19 กันยายน คิดว่าใหญ่ มองผนวกกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทย สื่อเศรษฐกิจพูดเสมอว่า 2550 เผาหลอก ส่วน 2551 เผาจริง แต่ผมคิดว่า  2551 ยิ่งกว่าเผาจริง พูดง่ายๆ เราจะไม่มีอะไรเหลือถ้าเราบริหารการเมืองของประเทศไม่ได้ เพราะการเมืองคือจุดของการแก้ปัญหาของประเทศ


 


ปีหน้าท่านจะเห็นอะไร จะเห็นเศรษฐกิจของอเมริกาลากประเทศทั่วโลกแน่ๆ ประการที่ 2 การเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีแนวโน้มที่ค่าเงินหยวนของจีนอาจค่อยๆ ขยับลอยตัวขึ้น ประการที่ 3 ต้องเลิกคิดที่จะเชื่อว่าท่านอยู่ในโลกที่น้ำมันราคาถูก ปีหน้าเศรษฐกิจที่กระทบจากราคาน้ำมันจะเห็นชัดขึ้นเพราะปีนี้หนาวมากกว่าปกติ ถ้าถามคนในยุโรปจะพบว่าอากาศหนาวมาก ราคาน้ำมันขึ้นแน่ๆ หมายความว่าท่านจะเห็นราคาน้ำมันสูงโดยไม่มีเงื่อนไขสงครามในตะวันออกกลาง   


 


ประการที่ 4 เฉพาะเศรษฐกิจภายในของปีหน้า ท่านจะเจอทั้งปัญหาเงินเฟ้อและเงินฝืดพอๆ กัน ฉะนั้นถ้าการเมืองไม่ตั้งหลักหรือการเมืองไร้สมดุลหรือไร้เสถียรภาพ ตอบได้อย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจไทยจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น


 


มองอย่างนี้ ปัญหาในอนาคตหรือปัญหาหลังวันที่ 23 ธันวาคม ต้องเริ่มคิดกันจริงๆ ว่าภาคประชาชนจะเอาอย่างไร ภาควิชาการจะตัดสิน มีส่วน หรือมีบทบาทอย่างไร กับอนาคตของประเทศไทย 


 


ถ้าเราใจแข็ง คงต้องคิดด้วยกันแล้วบอกกันตรงๆ เลิกหรือไม่ที่จะถือว่า มีปัญหาทีไรต้องเอาทหารมาแก้ปัญหา ภาษาที่ผมเคยใช้คือ เลิกเอาทหารมาเป็นเทศบาลเวลาท่อตันเสียที คืออย่าเอาทหารมาล้างท่อ เป็นไปได้หรือไม่ที่อาศัยชีวิตการเมืองปกติในอนาคต ถ้าท่อตันก็ล้างท่อกันในระบบ


 


ถ้าทำอย่างนั้นได้ ค่อยๆ ปรับการเมืองเราให้ถอยกลับมาสู่ชีวิตทางการเมืองปกติ  ปี  2551 อาจจะเป็นปีเริ่มต้น แต่ถ้าปี 2551 ทำไม่ได้ เศรษฐกิจจะตกท้องช้างหรือติดท้องทรายแน่ๆ บวกกับการเมืองซึ่งไร้เสถียรภาพมากๆ คำตอบสำหรับปี 2551 มีอย่างเดียวคือสวดมนต์เยอะๆ


 


ที่พูดให้เห็นภาพน่ากลัว ไม่ได้ต้องการให้เรารู้สึกท้อ แต่คิดว่าเป็นภาพที่เราต้องทำความเข้าใจว่าปี 2551 เราจะเผชิญกับปัญหาสารพัด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่คนพูดน้อยลงในวันนี้คือเรื่องยาบ้า รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเรากับต่างประเทศ


 


ถ้าเราเริ่มตระหนักว่า 2551 จะเป็นปีของความเปลี่ยนแปลงใหญ่ เป็นปีแห่งความท้าทาย ต้องตั้งหลักให้มาก อย่างที่เสนอมาตลอด ต้องเอาสติกลับคืนมาสู่สังคมไทยให้ได้ แล้วถ้าไม่มีสติเหลือสำหรับการแก้ปัญหาในอนาคต สุดท้ายสังคมไทยพังด้วยกันทั้งหมด


 


 


 


หมายเหตุ : ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก จากนิตยสารประชาทรรศน์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net