Skip to main content
sharethis

เวทีสาธารณะเพื่อการเลือกตั้ง 2550 พรรคการเมืองกับโลกาภิวัตน์: ใครมีวิสัยทัศน์? ใครอยู่ข้างประชาชน? จัดโดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน  (FTA WATCH) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย มากกว่า 14 หน่วยงาน ได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, มูลนิธิชีววิถี, สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม, เครือข่ายสลัม 4 ภาค. กลุ่มศึกษาปัญหายา, ศูนย์ศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา, กลุ่มปฏิบัติการท้องถิ่นสากล, เครือข่ายขับเคลื่อนสังคมเพื่อประชาชนเป็นสุข และเครือข่ายผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโรงไฟฟ้าและพลังงาน ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.50


เวทีแสดงแนวนโยบายการจัดการปัญหาใน คำถาม 7 ข้อ จากภาคประชาชน เพื่อให้ตัวแทนจาก 7 พรรคการเมือง เป็นผู้ตอบ ได้แก่ (1.) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย (2.) นายวีระชัย ถาวรทนต์ กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ (3.) นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย (4.) นายวรัญชัย โชคชนะ จากพรรครักเมืองไทย (5.) นายสราวุธ ทองเพ็ง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ (6.) นายประจิณ ฐานังกรณ์ ตัวแทนจากพรรคนำวิถี (7.) นายสำราญ ภูอนันตานนท์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคพลังประชาชน


 


000


7 คำถาม สำหรับ 7 พรรคการเมือง


1.การทำ FTA กับความอยู่รอดของเกษตรกรรมไทย


"หากพรรคของท่านเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ท่านจะแก้ไขและป้องกันผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรจากปัญหาจากการเปิดเสรีทางการค้าอย่างไร และท่านจะยอมลงนามในข้อตกลง FTA กับประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ หากรัฐบาลสหรัฐยืนยันให้ประเทศไทยยอมรับการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต และยอมรับกฎหมายต่างๆ ที่มากไปกว่าข้อตกลงภายใต้องค์กรการค้าโลก"


-นางสาวสุนีย์ ทองชัย ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก-


นายวรัญชัย โชคชนะ ตัวแทนจากพรรครักเมืองไทย กล่าวตอบคำถามนี้ว่า รัฐบาลที่ผ่านมาที่ทำเรื่อง FTA ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ อาจนำเข้าสภาหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่หากได้รับเลือกเข้าไปในสภาการประกาศ FTA จะต้องถูกยกเลิก และจะต้องให้ประชาชนได้รับรู้ก่อนเข้าสู่สภา ส่วนการเจรจากับอเมริกานั้นก็ต้องมีการทำในรูปแบบเดียวกัน


นายสราวุธ ทองเพ็ง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ กล่าวถึงประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม มาจนถึงปัจจุบัน และการแก้ปัญหาจะต้องมีกฎเกณฑ์ มีทฤษฎีในการชี้ขาด แก้อย่างเป็นระบบลึกซึ้งไปยังปัญหาที่ต่อเนื่องอื่นๆ


ด้าน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงการแก้ปัญหาโดยการใช้สภาเกษตรกร ซึ่งหากยังไม่มีสภานี้เกิดขึ้น การที่จะตกลงเจรจาทางการเกษตรใดๆ กับต่างชาติถือว่าไม่ชอบ ดังนั้นจึงต้องทำให้มีสภาเกษตรกรของประชาชนอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการทำข้อตกลงต่างๆ พร้อมกันนั้นต้องทำให้กฎหมายสหกรณ์การเกษตรปลดแอกจากกระทรวงเกษตร เพราะตามพ.ร.บ.ของสหกรณ์นั้น คนที่เข้าไปนั่งในคณะกรรมการของสหกรณ์นั้นล้วนแต่เป็นคนของรัฐ ต้องทำให้เกษตรกรเข้าไปดูแลเกี่ยวกับนโยบายและดูแลสหกรณ์ของตัวเองได้อย่างถูกต้อง ส่วนในเรื่อง FTA กับสหรัฐหากยังมีวิธีการที่ไม่ชอบ ก็ทำความตกลงไม่ได้


นายวีระชัย ถาวรทนต์ กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโยบายของรัฐที่มีอยู่อย่างชัดเจนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบทของเกษตรกร หากได้เข้าไปเป็นรัฐบาลต่อประเด็นปัญหานี้จะมีการทบทวนข้อตกลง FTA ทั้งที่กำลังมีการพิจารณา และพิจารณาไปแล้วมีผลกระทบต่อประชาชนในทันที ส่วนเรื่องที่ผลกระทบจากการทำ FTA จะมีการเยี่ยวยาที่รวดเร็วและเป็นธรรม การลงนามต้องมีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลทั้งก่อนการการดำเนินงาน ระหว่างการเจรจา และหลังจากการลงนามแล้ว โดยมีช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงได้ อีกเรื่องหนึ่งคือการมีกฎหมายประชาพิจารณ์ และมีคณะกรรมการดูแลที่เป็นกลาง จากที่ตอนนี้มีเพียงประกาศสำนักนายก


ส่วนกรณีเรื่อง FTA กับสหรัฐฯ ทางประชาธิปัตย์จะให้มีการทบทวน โดยให้มีกฎหมายประชาพิจารณ์ดำเนินงาน และยึดหลักข้อตกลงโดฮา ในกรอบของ WTO เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติประชาชน นอกจากนี้จะมีการหารูปแบบกรอบความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างประเทศ


นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ผู้สมัครแบบสัดส่วนตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวถึงนโยบายข้อที่ 7 ของพรรคที่ระบุอย่างชัดเจนว่าจะยกเลิก และแก้ไขข้อผูกพันระหว่าประเทศอันมีผลกระทบต่อคนไทยในสาขาต่างๆ แก้กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับที่มีผลกระทบต่อคนไทยและความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างของประเทศอิสราเอลที่ไม่มีการนำเข้าสินค้าเกษตร ในขณะเดียวกันกลับส่งสินค้าเกษตรไปขายทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่จะทำเป็นสิ่งแรกเมื่อได้เป็นรัฐบาลคือการยกเลิกแก้ไขข้อผูกพันที่มีผลกระทบต่อเกษตรกร


สุดท้ายนายประจิณ ฐานังกรณ์ ตัวแทนจากพรรคนำวิถี กล่าวว่าการเจรจาที่ได้ลงนามไปแล้วต้องนำมาทบทวนใหม่ในส่วนที่มีผลกระทบอย่างสูงต่อเกษตรกร ต้องมีการพูดคุยกันใหม่ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาสินค้าที่สำคัญของประเทศไทยคือข้าว ส่วนในกรณีของสหรัฐที่ยังไม่ได้ลงนามนั้นจะต้องมีการพิจารณาให้ดี


000


2.โรคเอดส์ และงานด้านสาธารณสุข


"พรรคของท่านมีนโยบายไม่รับความผูกพันระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่มากไปกว่าภายใต้องค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า TRIPs PLUS หรือไม่ และจะมีรูปธรรมทางนโยบายเรื่องการเข้าถึงการรักษาของคนไทยให้ทั่วถึง และพัฒนาระบบการดูแลรักษาให้มีคุณภาพ ได้อย่างไร"


-นายเฉลิมชัย เผื่อนบัวผัน ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย-


นายสราวุธ ทองเพ็ง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ กล่าวว่าปัญหาทุกปัญหามีความสอดสอดคล้องกัน เรื่องการรักษาพยาบาลและยารักษาโรคเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ต้องให้ทั้งการรักษาและความรู้ในเรื่องการศึกษาสาธารณสุขพื้นฐาน นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับฐานะทางเศรษฐกิจ ส่วนทรัพย์สินทางปัญญาหรือองค์ความรู้เพื่อมวลมนุษยชาติต้องเป็นสมบัติของมนุษยชาติ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิของทุกคนที่จะแสวงหาความสุขและการมีชีวิตรอด โดยนายสราวุธยืนยันที่จะไม่รับข้อตกลงที่อยุติธรรมต่อประชาชนไทยและมนุษยชาติ


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ตอบคำถามแรกด้วยการยืนยันไม่รับ TRIPs PLUS ส่วนหลักประกันสุขภาพทั่วหน้านั้นจะมีการเพิ่มจาก 2,000 บาท เป็น 2,400 บาทต่อคนต่อปี สามในเรื่องการเข้าถึงต้องเข้าถึงทั้งหมอ เข้าถึงยา และเข้าถึงสุขภาวะ โดยในโรงพยาบาลเอกชนจะให้มีการคิดค่ารักษาชาวต่างชาติในภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อเก็บเงินมาชดเชยในส่วนของหมอที่ดูแลชาวบ้านในชนบท นอกจากนั้นจะมีการอุดหนุนงบให้ท้องถิ่นเพื่อสร้างหมอในท้องถิ่นที่เกิดและโตในชุมชน


ส่วนเรื่องซีแอลให้มีการทำต่อไปหากยังไม่มีการลดราคา เมื่อเชื่อว่าได้ทำถูกกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ  การหนีจากสุขภาวะที่เลวร้ายด้วยการกระจายการถือครองทรัพย์สิน เช่นการใช้ภาษีที่ดิน ภาษีสิ่งปลูกสร้าง สุดท้ายต้องมีการพัฒนาข่าวสารชุมชนเพื่อต่อสู้กับการโฆษณายาข้ามชาติ


นายวีระชัย ถาวรทนต์ กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าจะไม่รับ TRIPs PLUS เมื่อถือตามการเจราจารอบโดฮาของ WTO ที่ว่าจะไม่ทำให้การค้ามีบทบาทมากกว่ามนุษยธรรม ส่วนสิ่งที่จะทำอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ในการเจรจา FTA จะยึดถือผลประโยชน์ของประชาชน และจะรักษาสิทธิซีแอลไว้ตลอดการเจรจา FTA นอกจากนี้จะมีมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปกับการทำซีแอลยา เช่น การทำวิสาหกิจร่วมทุนในกลุ่มอาเซียนเพื่อการเจรจาซื้อยากับบริษัท


ในเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ไม่มีคุณภาพ ต้องมีการเพิ่มจำนวนหมอ พยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์ลงไปในพื้นที่ชนบท เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โครงการส่งเสริมการสร้างหมอในชนบทให้กลับมารับใช้ท้องถิ่น โครงการรักษาฟรีที่คลินิก มีการปรับแก้ระบบการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อกันปัญหาสมองไหลของแพทย์ และสุดท้ายมาตรการเชิงรุกด้านสุขภาพ โดยส่งเสริอมการทำงานของ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) เงินทุนส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุชุมชนละ 20,000 บาท ทุกชุมชน


ด้านนายอัมรินทร์ คอมันตร์ ผู้สมัครแบบสัดส่วนตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวถึงนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคที่ให้รักษาฟรีและครอบคลุมมากขึ้นในโรคบางโรค เช่นโรคไต ไม่มีข้อจำกัดทางด้านการเงิน ดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เรื่องการต่อรองราคายาต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็งในการต่อรอง และต้องมีการสร้างและพัฒนายาของตัวเองโดยอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศ ป้องกันรักษาดูแลความสุขของสุขภาพประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ให้แก่ประชาชนทั่วทุกสาขาอย่างยั่งยืน โดยกล่าวว่านี่คือข้อแตกต่างของรัฐสวัสดิการ ที่ไม่ใช่เพียงประชานิยม


นายประจิณ ฐานังกรณ์ ตัวแทนจากพรรคนำวิถี ประกาศไม่รับ TRIPs PLUS อย่างแน่นอน ส่วนการรักษาพยาบาลโดยโรงพยาบาลของรับและสถานีอนามัยทั่วประเทศเปิด 24 ชั่วโมง และให้รักษาฟรีในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐฟรีทั่วประเทศ


ส่วนนายวรัญชัย โชคชนะ ตัวแทนจากพรรครักเมืองไทยที่ตอบคำถามข้อนี้เป็นคนสุดท้ายกล่าวว่า จะรับ TRIPs PLUS แต่รับมาแล้วพิจารณายกเลิก หลังจากดูที่มาที่ไปของกฎหมายนี้หากมาจากยุค สนช.ก็จะพิจารณาให้ยกเลิก นอกจากนี้จะมีการหาต้นตอคนเสนอมาเพื่อให้ประชาชนสาปแช่ง ส่วนปัญหาสุขภาพนั้นจะส่งเสริมการตรวจสุขภาพ ออกกำลังกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค แก้ปัญหาคุณภาพหมอของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมีมาตรฐานไม่การรักษาเท่ากัน ทำให้บุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์มีอย่างเพียงพอ


000


3.การคุ้มครองผู้บริโภค


"พรรคของท่านจะสนับสนุนการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณสุข ที่ครอบคลุมทุกคนโดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ลดคดีความในการฟ้องร้องและความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยในระยะยาว และตลอดจนยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล หรือไม่"


-นางบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค-


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าในเมื่อประเทศไทยสามารถออกกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ก็ต้องสามารถออกกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ได้รับภัยจากการสาธารสุขได้เช่นกัน ด้วยการจัดงบประมาณที่มีกฎหมายรองรับ ให้มีการชดเชยเมื่อมีความผิดพลาดไปก่อนแล้วจึงไปพิสูจน์พิจารณาทางวิชาชีพในสิ่งที่แพทย์ทำว่าเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งกระบวนการในการพิจารณานี้จะไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการทางศาลทั่วไป แต่จะมีความเข้าในทางวิชาชีพร่วมด้วย และท้ายที่สุดต้องทำให้แพทย์เห็นคนไม่ใช่แค่การเห็นแต่ไข้ โดยระบบนี้ไม่ได้มีแต่ในแพทย์แต่มีในนักการเมืองบางคนด้วย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีการแก้ไข


ส่วนเรื่องการกระจายกำลังทางการแพทย์ให้ทั่วถึงนั้น จะต้องมีการกระจายงบและสร้างแพทย์ในท้องถิ่น ให้งบฉุกเฉินเพื่อแก้ไขเรื่องครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ขาดการสนับสนุนมานาน ปีงบประมาณละ 2 หมื่นล้านบาท ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลระดับตำบลมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานเข้าไปดูแลด้วยวิธีการที่สอดคลองกับวัฒนธรรม ภาษาด้วย


นายวีระชัย ถาวรทนต์ กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่พรรคจะทำทันที ในด้านการลดความขัดแย้งของแพทย์และคนไข้ ซึ่งนอกจากกองทุนเยียวยาผู้เสียหายและจ่ายทันทีแล้ว จะจัดให้มีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยขอพิพาทที่มีกลไกประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม สนับสนุนบทบาทของแพทยสภาให้ชัดเจนเพื่อการพิจารณาความผิดจะได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา ส่วนเรื่องคุณภาพการรักษาจะแก้ดังที่ตอบไปแล้วในคำถามข้อทีผ่านมา พร้อมประกาศชัดเจนจะมีงบประมาณหลักประกันสุขภาพของคนไทยต่อหัวอย่างน้อย 2,100 บาท ปรับสูงขึ้นตามสถานภาพทางเศรษฐกิจและราคายา อีกเรื่องคือการปรับปรุงคุณภาพสถาบันรับรองมาตรฐานสถานบริการของรัฐ ทั้งโงพยาบาลและคลินิก ทั้งหมดไม่ใช่เพียงสัญญาประชาคม แต่มาจากนโยบายวาระประชาชน


นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ผู้สมัครแบบสัดส่วนตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่าจากนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรค การรักษาจึงไม่เพียงแต่ฟรีแต่ต้องมีมาตรฐานต้องเท่าเทียมกันอย่างดีต่อประชาชนทุกคน พยายามผลิตบุคคลากรทางการพยาบาลให้มากขึ้น กรณีโรคไตจะให้มีการล้างไตฟรี ไม่มีข้อจำกัดเรื่องโรค ส่วนกรณีข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับแพทย์ก็ให้เป็นไปตามความยุติธรรมทางกฎหมาย


นาย ประจิณ ฐานังกรณ์ ตัวแทนจากพรรคนำวิถี กล่าวว่า เรื่องแรกสำหรับการรักษาที่ไม่เท่าเทียมกัน จะมีการให้รักษาฟรีได้ทุกที่ 24 ชั่วโมง สองเรื่องการขาดแคลนแพทย์จะมีการเพิ่มรายได้ให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อกันการย้ายไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน หรือออกไปเปิดคลินิก สามปัญหาการฟ้องร้องเมื่อให้มีการรักษาฟรี แพทย์จะไม่คิดกับประชาชนเป็นการค้าและจะได้รักษาพยาบาลตามจรรยาบรรณ ลดการฟ้องร้องไปอีกขั้นหนึ่ง นอกจากนี้ได้แสดงความเห็นด้วยกับพรรคชาติไทยในการตั้งกองทุนประกันสุขภาพ เพื่อเตรียมรับชดเชยให้ผู้เสียหายในกรณีที่มีความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล


ส่วนนายวรัญชัย โชคชนะ ตัวแทนจากพรรครักเมืองไทย กล่าวว่าถึงประสบการณ์การรักษาพยาบาลที่มีปัญหาต้องย้ายสถานพยาบาลถึงสามแห่งด้วยสาเหตุขาดแคลนแพทย์ ขาดแคลนเครื่องมือ และการรักษาราคาแพง ดังนั้นการคุ้มครองผู้ปริโภคจึงไม่ใช่แค่การรักษาพยาบาล แต่หมายรวมถึงความเป็นอยู่ การกิน การอยู่ การใช้ ในส่วนการรักษาพยาบาลที่ไม่อยากให้มีการฟ้องร้องแพทย์เองต้องมีจรรยาบรรณในการรักษาพยาบาล มีประกันที่ว่าประชาชนสามารถตรวจสอบดูแลการคุณภาพการรักษาและบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังจะต้องประกันราคาค่ารักษาพยาบาลไม่ให้แพงเกินไป โดยให้การรักษาประชาชน ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจอย่างเท่าเทียมกัน


นายสราวุธ ทองเพ็ง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพต้องคำนึงถึงหลักสาธารสุขมูลฐาน หากมีการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพโรคภัยไข้เจ็บก็จะเบาบางลง ซึ่งเกี่ยวโยงกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ รวมไปถึงนโยบายการศึกษาที่จะสร้างบุคลากรให้เพียงพอ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ทั้งหมดเป็นความเชื่อมโยงที่จะต้องอาศัยนโยบายและงบประมาณในการสนับสนุน โดยเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการโดยบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม และตรงไปตรงมา เพื่อผลประโยชน์อันแท้จริงต่อประชาชนซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านด้านสุขภาพ และการดำเนินชีวิตของประชาชน


ด้านนายสำราญ ภูอนันตานนท์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน ซึ่งเข้าร่วมการตอบคำถามล่าช้าเนื่องจากความผิดพลาดในการติดต่อประสานงาน กล่าวตอบคำถามในสามคำถามแรก ว่าทุกอย่างที่ได้ถามมาแล้วคงสรุปรวมได้ถึงความเกี่ยวข้องกับการทำ FTA ไม่ว่าในกรณีเกษตร หรือซีแอล โดยกล่าวอธิบายหลักของการทำ FTA ว่าเป็นการแข่งขันแบบเสรีและมีความเป็นธรรม ซึ่งเมื่อมองลึกลงไปในระบบอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันทำให้เกิดการได้เปรียบในแต่ละเรื่องที่ต่างกัน โดยในภาพรวมต่างคนต่างได้ประโยชน์


เมื่อมีการทำสัญญาไปแล้วบางส่วนอาจเกิดประเด็นปัญหาภายในประเทศ ตรงจุดนี้เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องแก้ไข ตัวอย่างกรณีกระเทียมจากจีน และนมจากออสเตรียเข้ามาตีตลาดไทย ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการตลาด หรือให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพราะขณะเดียวกันไทยก็ได้เปรียบในส่วนอื่น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะได้เปรียบในทุกอย่าง แต่โดยเบื้องต้นข้อตกลงระหว่างประเทศก็ต้องยึดตามเงื่อนไขข้อตกลงของ WTO ซึ่งต้องมีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง


000


4.กรณีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


"พรรคของท่านมีนโยบายจะยกเลิกการแปรรูป (ขาย) รัฐวิสาหกิจหรือไม่ และรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปไปแล้วและก่อให้เกิดผลกระทบ ความเดือดร้อนต่อประชาชน เช่น ปตท.พรรคของท่านจะดำเนินการให้กลับคืนเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยรัฐหรือไม่"


-นายอำนาจ พละมี คณะกรรมการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฝ่ายการเมือง (สรส.)-


นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ผู้สมัครแบบสัดส่วนตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย ประกาศว่าหากทางพรรคได้เป็นรัฐบาลจะไม่มีการขายรัฐวิสาหกิจและจะทวงคืนรัฐวิสาหกิจที่ขายและแปรรูปไปแล้ว มาสู่ประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน


นายประจิณ ฐานังกรณ์ ตัวแทนจากพรรคนำวิถี กล่าวว่าการแปรรูปมีเหตุผลเนื่องมาจากกลัวการประท้วงของสหภาพแรงงาน และต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ได้กำไร ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้กำไรก็ให้ยุบทิ้ง สิ่งที่เป็นสาธารรูปโภคหลักของรัฐเช่นการไฟฟ้า การประปาไม่ควรมีการแปรรูป แต่ไม่ใช่ว่าแปรรูปแล้วเอากับมาเป็นของรัฐเฉยๆ เพราะรัฐวิสาหกิจเมื่อกลับมาเป็นของรัฐแล้ว พนักงานก็ต้องมีความรับผิดชอบ การประท้วงต่างๆ ต้องคำนึงถึงประชาชนทั่วไป ไม่ใช่การประท้วงด้วยการหยุดงาน


นายสำราญ ภูอนันตานนท์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการแปรรูปของรัฐบาลในทุกยุคว่า เพื่อเงินทุนในการพัฒนารัฐวิสาหกิจนั้น และทำให้การทำงานภายในโปร่งใส และมีมืออาชีพเข้าไปดำเนินการ รวมถึงเพื่อประโยชน์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปหรือการบริหารงานของรัฐเองก็ดีต้องมีความโปร่งใสและให้คนมีความสามารถเข้ามาบริหาร ส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคนั้นต้องพิจารณาให้ดีในการตัดสินใจแปรรู และในกรณีของ ปตท. ที่ได้มีการยกตัวอย่างขึ้นมาหากเอากลับคืนมาในทันทีก็อาจทำให้เกิดปัญหาและส่งกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ


ด้านนายวรัญชัย โชคชนะ ตัวแทนจากพรรครักเมืองไทย ประกาศกร้าวว่าจะไม่แปรรูป ส่วนที่แปรรูปไปแล้วจะเอากลับมาให้หมด โดยกล่าวว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาแบบขอไปที เมื่อบริหารงานล้มเหลวหรือแก้ปัญหาไม่ได้ก็ใช้วิธีขายมันไป การทำอย่างนี้ไม่ใช้หัวสมอง ไม่ใช่สติปัญญาเข้าไปแก้ วิธีแก้คือคนที่มาบริหารงานต้องมาจากการเลือกตั้งไม่ใช่การตั้งเป็นบอร์ดบริหารมานั่งรอการปันผลประโยชน์แต่ไม่รู้ถึงปัญหาที่แท้จริง


นายสราวุธ ทองเพ็ง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ กล่าวว่าการแปรรูปคือการเปลี่ยนการถือครองกรรมสิทธิ์จากของรัฐไปเป็นของเอกชน โดยมีที่เงื่อนมาจากเงื่อนไขของ IMF ที่มีการไปขอความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและด้านวิชาการ แล้วแปลงทฤษฎีมาเป็นนโยบายและกฎหมายซึ่งตรงนี้ถือเป็นการพ่ายแพ้ต่อการรุกรานทางเศรษฐกิจต่อชาติมหาอำนาจ เมื่อปี 40 ต่างชาติสามารถยึดธุรกิจของเอกชนได้โดยกลไกการตลาด แต่ไม่สามารถยึดรัฐวิสาหกิจได้เพราะอยู่ในการครอบครองของรัฐ ดังนั้นจึงมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนเพื่อให้ต่างชาติยึดต่อไปได้ นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ไม่ยอมรับนโยบายนี้ และจะให้มีการยกเลิกกฎหมาย นอกจากนี้สิ่งที่แปรรูปไปแล้วก็ต้องยึดคืนจากเอกสิทธิของเอกชนไม่ว่าชาวไทยหรือต่างประเทศมาเป็นของพี่น้องประชาชน ของชาติ ถือเป็นความชัดเจนของพรรคความหวังใหม่ที่จะไม่ขายสมบัติชาติ


ส่วนนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวชื่นชมการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคพลเมืองเพื่อรักษาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเอาไว้ เพราะเป็นการจุดประกายที่ว่าสมบัติชาติต้องรักษาเอาไว้โดยคนไทย ในกิจการที่เป็นสาธารณูปโภคของรัฐจะต้องไม่ถูกนำเอาไปใช้เพื่อการ แปรรูป หรือนำเข้าไปขายในตลาดหุ้น ส่วนกรณีของ ปตท. ที่กำลังมีการฟ้องร้องอยู่ในศาลปกครองจะต้องช่วยกันให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้การเมืองภาคประชาชนกลับมาสู่ชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะนักกฎหมาย ขณะนี้ ปตท. ต้องระวังเกี่ยวกับการกระทำที่จะฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพราะเป็นผู้ถือสัดส่วนการตลาดเกินกว่าที่กฎหมายกำลังจะกำหนด เรื่องนี้สามารถเอาไปใช้เพิ่มเติมในคดีได้ 


เมื่อ ปตท. เดินหน้าไปแล้วหากดำเนินการเก็บภาษีให้ถูกต้องจะเก็บเงินได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แล้วสามารถนำเงินนั้นมาเป็นเงินช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤติด้านพลังงาน ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญคือคณะกรรมการกำกับกิจการสำคัญๆ ของรัฐควรหยุดให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม หรือตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตที่มีผลประโยชน์ต่อกิจการนั้นๆ ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการ แต่ต้องให้ตัวแทนผู้บริโภคทั้งรายใหญ่และรายเล็กเข้าไปทำหน้าที่เพื่อสร้างสมดุลในการกำหนดราคาและการบริการที่เป็นมาตรฐานต่อไป


นายวีระชัย ถาวรทนต์ กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท. กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาคดีของศาลปกครอง โดยฟ้องในลักษณะเดียวกับ EGATE คือ การดำเนินการแปลงรูปไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.ทุนและรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นอานิสงค์หนึ่งของ พ.ร.บ.ทุนและรัฐวิสาหกิจซึ่งหลายๆ คนเรียกว่าเป็นหนึ่งในกฎหมายขายชาติ ในวันนี้ EGATE ยังเป็นของประชาชนเพราะมี พ.ร.บ.ทุนและรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นการที่ให้มี พ.ร.บ.นี้เพื่อประโยชน์ในการนำ ปตท.กลับคืนมา ส่วนความเห็นกรณี ปตท.นั้นนายวีระชัยขอไม่แสดงความคิดเห็นโดยให้เหตุผลการอยู่ในขั้นตอนของศาล


เกี่ยวกับกรณีการแปรรูปประชาธิปัตย์เห็นอย่างไรนายวีระชัยกล่าวยืนยันว่า กรณีสายส่งกระแสไฟฟ้าและเขื่อนจะไม่มีการแปรรูปแน่นอน และจะแสวงหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การเอา EGATE เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตนเองได้คัดค้านมาตั้งแต่ต้น ส่วนกรณีทำโรงไฟฟ้าระยองและโรงไฟฟ้าสมอเป็นการร่วมทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ของ EGATE และประสบความสำเร็จไม่ต้องนำ EGATE เข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือในกรณีปัจจุบันที่ราคาค่าไฟฟ้ามีการแข่งขันมากขึ้น เพราะมีการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาแข่งขันในการร่วมผลิต เหล่านี้คือสิ่งที่เป็นทางเลือกของประชาธิปัตย์ที่จะนำมาใช้ เพราะถึงอย่างไรก็จะต้องมีการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ


000


5.กฎหมายการจัดทำสัญญาระหว่างประเทศ


"พรรคของท่านพร้อมที่จะผลักดันหลักการในกฎหมายฉบับนี้ให้มีการ 1.เปิดเผยร่างหนังสือสัญญาที่เจรจาจบแล้ว เพื่อการทำประชาพิจารณ์และการศึกษาผลกระทบที่รอบด้านก่อนการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และ 2.การจัดประชาพิจารณ์รวมถึงการศึกษาผลกระทบจะดำเนินการด้วยความเป็นกลางโปร่งใสโดยหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลของฝ่ายบริหาร หรือไม่"


-จินทร์ ประชาสันต์ จากกลุ่ม FTA WATCH-


นายประจิณ ฐานังกรณ์ ตัวแทนจากพรรคนำวิถี กล่าวว่าเมื่อประเทศเป็นของประชาชน อำนาจก็เป็นของประชาชน หากพรรคนำวีถีได้รับเลือกเป็นรัฐบาลก็จะเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเจรจาจบแล้วหรือกำลังเจรจาอยู่ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ การจัดทำประชาพิจารณ์รวมถึงการศึกษาผลกระทบจะต้องดำเนินงานด้วยความโปร่งใส โดยหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของฝ่ายบริหาร กับคำถามที่ว่าประเทศไทยมีจ้าของหรือไม่และใครเป็นเจ้าของประเทศไทยที่ถามแท็กซี่แล้วเขาไม่กล้าตอบ ทำให้คิดว่าต้องพัฒนาประชาธิปไตยให้ถึงแก่นแท้ให้ได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะทำอะไรต้องคำนึงถึงประชาชน ให้ประชาชนเป็นใหญ่ไม่ทำอะไรโดยพละการอย่างเด็ดขาด


ส่วนนายสำราญ ภูอนันตานนท์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงจุดยืนต่อเรื่องนี้ของพรรคพลังประชาชนว่า จะดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุไว้ทุกอย่าง สิ่งที่คิดว่าสร้างความโปร่งใสก็จะทำให้เกิดขึ้น จะมีการเปิดเผยอะไรที่สามารถเปิดเผยได้แก่ประชาชนทุกคนรับทราบในประเด็นต่าง ส่วนคนที่จะเข้ามาทำการศึกษาต้องเป็นกลางจริงๆ เชื่อว่าพรรคพลังประชาชนจะทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้ารวมประชาพิจารณ์ตรงนี้


นายวรัญชัย โชคชนะ ตัวแทนจากพรรครักเมืองไทย กล่าวว่าอย่าไปโกรธเกลียดเคียดแค้นพวกที่มาจากการลากตั้ง ที่ย่อมทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ฟังเสียงประชาชน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะทำอย่างนี้ไม่ได้เด็ดขาด การทำสัญญาเจรจาอย่างไรต้องเปิดเผย ยิ่งเมื่อมีการอ้างโดยกระทรวงการต่างประเทศไม่เปิดเผยการเจรจาและหลังการเจรจาไม่มีการเปิดเผยนั้นทำไม่ได้ กฎหมายประชาพิจารณ์ต้องออกมา กฎหมายประชามติต้องออกมา ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นการต่อสู้ต้องไม่ใช่ก่อนการเลือกตั้งอย่างวันนี้เท่านั้น ต้องต่อสู้หลังการเลือกตั้งอีก อย่าไว้ใจรัฐบาลแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


"การกระทำใดๆ ก็ตามที่ไม่มีการเปิดเผยต่อประชาชนทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเจรจา และไม่ฟังเสียงประชาชนในการทำประชาพิจารณ์ตรงนี้จะไม่เกิดขึ้นสำหรับพรรครักเมืองไทย"


นายสราวุธ ทองเพ็ง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ กล่าวว่า ข้อตกลงหรือสัญญาใดๆ ที่มีระหว่างประเทศ จำเป็นต้องผ่านสภาและมีการอภิปรายอย่างแจ่มชัดรอบด้านให้ประชาชนได้เห็น เพราะสภาเป็นที่ประชุมของผู้ที่รู้เหตุรู้ผล รู้บุคคล รู้กาล แล้วหลักการที่ผ่านสภานั้นต้องเอามาผ่านประชามติของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้นข้อตกลงที่กระทบต่อเงื่อนไขของประเทศและต่อประชาชน ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่นการทำสัญญา FTA ประเทศไทยไม่จำเป็นที่จะไปงอนง้อให้เกิดความอยุติธรรมต่อประเทศไทยต่อพี่น้องประชาชน ที่จะไปเซ็นสัญญา


"ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทุกคนกินอิ่มทุกวัน คนไทยสามารถสร้างประโยชน์จากผืนแผนดินไทยนี้ ดังนั้นสำหรับพรรคความหวังใหม่การจะทำสัญญาใดๆ กับต่างชาติ ประชาชนต้องเป็นผู้ลงประชามติอย่างถูกต้องเท่านั้น เพื่อให้เป็นผลประโยชน์ที่แท้จริงต่อประเทศชาติ"


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าการเปิดเผยนั้นต้องเปิดเผยอยู่แล้ว ต้องมีวีการเปิดเผยและขั้นตอนที่ดีกว่าเก่า รัฐสภาไม่ได้เป็นที่อยู่ของผู้มีความรู้แต่เป็นเพียงผู้ที่มีโอกาสได้เข้าไปพูด ฉะนั้นในการที่จะเข้ารัฐสภาตั้งมีการแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน โดยก่อนที่จะมีการเจรจารัฐบาลต้องให้ผู้ขอเจราจาขอรับกรอบเบื้องต้นในการเจรจาจากรัฐสภาไปให้ได้เสียก่อนด้วยการอธิบายว่าจะไปทำ FTA กับใครด้วยวัตถุประสงค์อะไร สองในระหว่างการเจรจาที่ไม่สามารถเปิดไพ่ให้ฝ่ายตรงข้ามดูได้แต่ก็ไม่มีใครเชื่อใจว่ารัฐบาลจะเก็บหลักฐานการเจรจาไว้ทั้งหมดในวันที่ถูกเปิดเผยในภายหลัง เพราะฉะนั้นข้อมูลการเจรจาทั้งหมดต้องถูกส่งไปยังสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติสำคัญของชาติ ต้องการเปิดเมื่อไหร่ก็ไปขอได้เมื่อนั้น


เรื่องที่สามเมื่อจะถึงกำหนดการเซ็นสัญญาควรมีอย่างน้อย 15 วันถึง 1 เดือนที่จะเปิดเผยการเจรจาทุกข้อ เพราะจะไม่มีการแก้ไขอีกแล้ว เพื่อที่จะได้วิจารณ์ได้เต็มที่ พลังทางการเมืองของภาคประชาชนจะได้แสดงออก หลังจากนั้นทุกๆ 1 เดือนก็ต้องมีการติดตามตรวจสอว่าที่เซ็นไปแล้วนั้นใครเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ ใครคือผู้เสียประโยชน์และแผนในการจัดการเยียวยานั้นเป็นอย่างไร กระบวนการเปิดเผยเปิดแน่แต่ต้องมีขั้นตอนที่เป็นระบบ


นายวีระชัย ถาวรทนต์ กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวคล้ายกันว่า ในกระบวนการเจรจา FTA ต้องมีความโปร่งใส ประชาชนสามารถเข้ามาดูข้อมูลต่างๆ ได้ในระดับที่ไม่กระทบต่อกระบวนการเจรจา และหลังจากเจรจาแล้วก็ควรจะต้องเปิดเผยข้อมูล ที่ผ่านมาเจ็บช้ำมากกับ FTA ไทย-ญี่ปุ่น ที่คนไทยไม่เคยได้รับรู้อะไรเลย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยประชาชนจะต้องมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และประชาธิปัตย์ทำมากกว่ารัฐธรรมนูญในหลายเรื่องในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การให้ประชาชนสามารถยื่นกฎหมายได้จะมีกฤษฎีกาภาคประชาชนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ความช่วยเหลือประชาชนในการร่างกฎหมาย ทำให้ประชาชนร่างกฎหมายเป็นและกฎหมายวิ่งผ่านสภาได้ เพื่อสร้างประชาธิปไตยคู่ขนาน เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชน


นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ผู้สมัครแบบสัดส่วนตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า ก่อนอื่นประชาชนต้องเข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ ผู้บริหารประเทศคือผู้รับใช้ ข้าราชการคือผู้รับใช้ การทำข้อผูกพันต่างๆ จำเป็นจะต้องถามเจ้านายคือประชาชนก่อน เพียงช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาการเจรจากับ IMF หรือการทำสนธิสัญญาที่ผ่านมาทำข้ามหัวประชาชนอีกทั้งยังทำให้เกิดความทุกข์ยากกับประชาชนตามมาโดยตลอดจนบัดนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อพรรคมัชฌิมาฯ ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลไม่ว่าสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ จะต้องถามประชาชนก่อน จะต้องมีประชาพิจารณ์ให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเปิดเผย ให้มีประชามติแล้วถึงจะไปเสนอสภา เมื่อเจรจาเสร็จแล้วก่อนไปลงนามต้องมีการให้ความอนุญาตลงนามจากสภา นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันซึ่งนับถือ ให้เกียรติประชาชนกระทำอยู่ในทุกวันนี้ และเป็นสิ่งที่พรรคมัชฌิมาฯ จะทำคือประชาชนต้องมาก่อน


000


6.นโยบายไฟฟ้า-พลังงาน


"หากพรรคท่านได้เป็นรัฐบาลหรือร่วมจัดตั้งรัฐบาล ท่านจะทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) และยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถ่านหินและนิวเคลียร์ใช่หรือไม่"


-นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ตัวแทนกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก-


นายสำราญ ภูอนันตานนท์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและไม่รู้แนวโน้มจะเพิ่มถึงเมื่อไหร่หากจีนและอินเดียยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นการสร้างระบบสมดุลให้เกิดขึ้นในด้านการใช้พลังงานนั้นเป็นจุดยืนของพรรคพลังประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงจากใช้น้ำมันที่นำเข้า และปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างไม่ได้เพราะมีผู้ไม่เห็นด้วย ส่วนเขื่อนพลังงานน้ำอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ถ่านหินก็มีปัญหา นอกจากนี้นายสำราญยังกล่าวถึงข้อมูลผลกระทบของอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่รัสเซียและที่อเมริกา และงานวิจัยผลกระทบด้านมลพิษของโรงงานถ่านหิน


"พรรคพลังประชาชนคิดว่าเราควรมีการคุยกันระหว่างแผนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทำกับทางกลุ่มของพวกท่านที่นั่งกันอยู่ในที่นี้ ว่าเราจะมีการดำเนินการอย่างไร ตราบใดที่ประเทศยังต้องมีการพัฒนา เราจำเป็นต้องมีทางเลือก แล้วเราจะเลือกอะไรที่จะเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อประเทศ"


นายวรัญชัย โชคชนะ ตัวแทนจากพรรครักเมืองไทย กล่าวตอบคำถามถึงการทบทวนว่าจะต้องทบทวนอย่างแน่นอน ส่วนการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นก็จะมีการยกเลิกอย่างแน่นอน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต รัฐบาล กระทรวงพลังงานจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มีตัวเลข ข้อมูลที่ชัดเจนถึงความต้องการไฟฟ้าว่ามีเท่าใด เพิ่มขึ้นเท่าใด เพราะประชาชนฉลาดขึ้นรู้ปัญหามากขึ้นไม่ได้กินแกลบกินรำที่คิดจะมาวางแผนสร้างและแบ่งกำไรกันโดยเอารัดเอาเปรียบประชาชน การพัฒนาที่จะมีขึ้นต้องบอกให้ประชาชนทราบและต้องฟังเสียงประชาชน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องพึงสังวรว่าประชาชนรู้เรื่องนี้ดี


นายสราวุธ ทองเพ็ง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ กล่าวว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พรรคความหวังใหม่ไม่เอาแน่นอน และสำหรับนโยบายพลังงานของชาตินั้น ประเทศไทยมีพลังงานทางเลือกมากมาย ไม่ว่าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ หรือสิ่งที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยยกตัวอย่างโรงงานน้ำตาลที่ใช้กากอ้อยมาทำเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งหากมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว พลังงานจะไม่ขาดแคลนและไม่เกิดปัญหาพลังงานขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งจะไม่มีปัญหาการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าพรรคชาติไทยเชื่อว่า ไม่ว่าการสร้างเขื่อน ถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ไม่ใช่คำตอบ ตราบใดที่แผนพัฒนาพลังงานยังยืนอยู่บนโจทย์ที่ว่าอยากใช้เท่าไหร่จะตามไปผลิตให้เท่านั้น เช่นนี้ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ รัฐบาลใดและชุมชนไหนประหยัดไม่เป็น ก็เชื่อว่ารัฐบาลและชุมชนนั้นไม่สารถเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเข้าใจเรื่องสุขภาพได้ เรื่องที่สองในส่วนของนิวเคลียร์ หรือถ่านหินก็ดีที่มีการอ้างเทคโนโลยีรองรับมากมาย สามารถป้องกันได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นโครงการใหญ่ๆ ในประเทศไทยที่ก่อสร้างโดยรัฐแม้แต่โครงการเดียวที่สร้างเสร็จแล้วไม่อื้อฉาว ไม่ว่าสนามบินสุวรรณภูมิ แอร์พอร์ทลิงค์ แล้วจะไว้ใจให้เอาเงินของรัฐไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นต้องไม่ทำ


ในเรื่องทางแก้ ตอนนี้มีเรื่องแผนแม่บทพลังงานทางเลือก แผนแม่บทพลังงานชุมชน ซึ่งสามารถพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาทดแทนได้ โดยกล่าวยกตัวอย่างถึงการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากประชาชนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในราคาเดียว แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกลับขายโดยแบ่งช่วงเวลา ซึ่งในช่วงเวลาที่มีการใช้กระแสไฟฟ้ามากเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายไฟฟ้าในราคาแพงก็ต้องมีการรับซื้อในราคาที่สูงขึ้นด้วย


นายวีระชัย ถาวรทนต์ กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบคำถามมูลค่าสองล้านล้านในเวลาสองนาทีว่า แผน PDP 2007 มีเรื่องแรกที่ต้องทบทวนคือการประเมินให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้รัฐต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเกินจริงเพราะหมายถึงต้นทุนของประเทศ เรื่องที่สองคือจะมีการถอนนิวเคลียร์ออกจากแผน PDP 2007 ก่อนอย่างแน่นอน ท้ายที่สุดสิ่งที่จะทำต่อไปคือการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นเช่น พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ เพิ่มให้ได้ตามเป้าหมาย 350 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2554 โดยเพิ่มเติมในเขตพัฒนาพิเศษอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์ได้ประกาศและยื่นจดทะเบียนไว้กับ กกต.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจชุมชน และสุดท้ายจะมีการดำเนินโครงการเรื่องหมู่บ้านพลังงานพอเพียง มีโรงไฟฟ้าชุมชน ขั้นต้น 10 เปอร์เซ็นต์ของตำบลนำจดไว้ทุกตำบล และในปี 2554 จะมีการเริ่มต้นประมาณ 350 เมกกะวัตต์


นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ผู้สมัครแบบสัดส่วนตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่าในเมื่อประชาชนคือเจ้านาย หากภาคประชาชนไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะไม่มีการตั้ง เพราะไม่ต้องการทำอะไรที่ฝืนความรู้สึกประชาชนและทำร้ายประชาชน ในขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องหาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่จะนำมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้นในเรื่องของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร โดยทางพรรคจะเข้าไปเจรจากับบริษัทข้ามชาติเพื่อให้คนไทยได้สิ่งที่ยุติธรรมกลับคืนสู่ประเทศไทย อีกประการหนึ่งคือต้องประหยัดและใช้พลังงานให้ได้ผลิตผลที่มากขึ้น ได้เงินมากขึ้น


นายประจิณ ฐานังกรณ์ ตัวแทนจากพรรคนำวิถี กล่าวในเรื่องแผน PDP 2007 ว่า หากได้เข้าร่วมรัฐบาลจะต้องให้มีการทบทวนแน่นอน เพราะเรื่องนี้เอาเปรียบประชาชนมากเกินไปและค่า PDP เป็นเพียงค่าประกันความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนโดยไม่คำนึงถึงประชาชน และจะหยุดโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ก่อน ส่วนเรื่องแผน PDP 2007 จะต้องมีการพิจารณาให้ชัดเจนถึงความจำเป็นในส่วนที่ต้องเพิ่มขึ้นมา ส่วนทางเลือกคงต้องมีการใช้ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานแสงอาทิตย์


000


7.ชุมชนแออัด-คนจนเมือง


"พรรคการเมืองพรรคใดมีนโยบายปฏิรูปที่ดินเมือง เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดอย่างสอดคล้องกับวิถีคนจน โดย 1.ยุติการไล่รื้อ 2.ไม่ต้องย้ายคนไปนอกเมือง และ 3.จัดสรรที่ดินที่มีอยู่ในเมืองของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาวต่อไป"


-นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค-


นายวรัญชัย โชคชนะ ตัวแทนจากพรรครักเมืองไทย กล่าวว่าเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะต้องเป็นผู้ดูแล ร่วมกับกรมสังคมสงเคราะห์และการเคหะแห่งชาติ ส่วนทางพรรครักเมืองไทยมีนโยบายที่จะไม่รื้อและไม่ย้ายชุมชนสลัม แต่จะพัฒนาด้านความเป็นอยู่ ความสะอาดให้ถูกสุขลักษณะ พัฒนาเรื่องแหล่งเสื่อมโทรม พัฒนาด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ พัฒนาทั้งตัวคนและตัวบ้าน ส่วนที่ของรัฐบาลและที่ของเอกชนที่รกร้างจะถูกปันมาให้คนรายได้น้อยแน่นอน


นายสราวุธ ทองเพ็ง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนสลัมเป็นปัญหาเร่งด่วนที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหารากฐานคือการอพยพคนเข้าสู่เมืองใหญ่หากไม่แก้ไขให้ถึงรากก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการกระจายความเจริญกระจายอาชีพไปสู่ภูมิภาค ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะต้องมีการจัดสร้างที่ดินหรืออาคารที่ติดหนี้เอ็นพีแอลให้กับประชาชนได้เข้าไปอยู่อาศัยไม่ใช่ทิ้งร้าง อีกทั้งการปฏิรูปที่ดินซึ่งไม่ได้หมายถึงการบุกรุกป่าหรือที่ดินของรัฐ แต่เป็นการทำลายการรวมศูนย์ทุนโดยการเก็บภาษีที่ดินแก้ปัญหาที่ดินกระจุกตัว


"สำหรับพรรคความหวังใหม่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหารากฐานต้องสอดคล้องกัน"


ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงเครื่องมือสำคัญที่จะแก้ปัญหา ว่ามี 5 เรื่อง คือ 1.การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งแวดล้อม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้า 2.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมชุมชนในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยได้ดี และเป็นกระบวนที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยได้อย่างแท้จริง ดังนั้นโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.จะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหน้าอย่างเต็มที่


3.คณะกรรมการที่อยู่อาศัยแห่งชาติต้องทำให้เกิดขึ้นจริงหลังจากที่มีความพยายามกันมากว่า 15 ปี 4.พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน 2543 เป็นอุปสรรค์ของการก้าวออกจากพื้นที่ปุกรุกไปตั้งชุมชนใหม่ ดังนั้นต้องมี พ.ร.บ.จัดสรรที่อยู่อาศัยของชุมชน 5.ศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนต่อสู้ได้อย่างเป็นธรรม


นายวีระชัย ถาวรทนต์ กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาให้ได้ในระยะยาวว่า กลไกลหลักที่จะแก้ปัญหาการอพยพจากชุมชนชนบทเข้าสู่เมือง หนีไม่พ้นการพื้นฟูเศรษฐกิจชนบท โดยการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวถึงในวาระประชาชนบนหลายๆ เวที ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับการไล่รื้อประชาธิปัตย์กล้ายืนยันว่าจะยุติการไล่รื้อทุกที่ไม่เฉพาะชุมชนแออัดในเมืองรวมทั้งการทำกินในพื้นที่ป่าที่ไม่หลงเหลือสภาพป่าแล้ว และหาทางออกร่วมกันกับชุมชนเรื่องการจัดสรรที่ดินและระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ยกตัวอย่างชุมชนแออัดดอนเมือง


ส่วนในชนบทจะต้องปรับให้การทำกินเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 11 ล้านไร่ใน 4 ปี จากเดิมมี 28 ล้านไร่ตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิรูปที่ดิน โครงการธนาคารที่ดินรวบรวมที่รัฐและเอกชนเช่าที่ทำกินในระยะยาว สุดท้ายปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนระดับกลางมีโครงการบ้านหลังแรกสำหรับทุกคน กู้ระยะยาว 20 ปี ดอกเบี้ยถูกและคงที่คลอดอายุสัญญา


นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ผู้สมัครแบบสัดส่วนตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ลูกหลานไทยขาดที่ทำกินไม่มีที่อยู่อาศัย โดยพรรคมัชฌิมาฯ จะปรับปรุงชุมชนให้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ปัญหาการลุกล้ำและขับไล่จะถูกขับไล่ออกไปเพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้าน นอกจากนั้นจะมีการสร้างรถไฟฟ้าและใต้ดิน 10 สายออกไปนอกเมืองเพื่อลูกหลายชาวชุมชุนที่จะมีการคมนาคมสะดวก ทำที่อยู่ให้ดีที่มันคงยิ่งกว่าเดิม ที่ดินต่างจังหวัดจะจัดให้ครอบครัวละ 25 ไร่ ผ่อนส่ง 30 ปี ส่วนที่อยู่อาศัยให้กู้ระยะยาว 30 ปี


นายประจิณ ฐานังกรณ์ ตัวแทนจากพรรคนำวิถี กล่าวถึงการแก้ปัญหาชุมชนแออัดให้ถึงรากอย่างยุติธรรมและถูกต้องว่า ทางพรรคนำวิถีได้จัดปัญหานี้ไว้ในหมวดของปัญหาคนจน  ซึ่งคนจนในที่นี้มี 3 ประเภทคือ คนที่เป็นหนี้ที่จะมีการตั้งโรงพยาบาลรักษาหนี้ขึ้นมาให้คนกลุ่มนี้ และคนจนที่มีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายที่จะมีการพัฒนาปรับค่าแรงขึ้นต่ำให้เหมาะสมกับการทำงานในปัจจุบัน สามคนจนประเภทไร้ความสามารถซึ่งจะจัดที่พักและอาหารให้ฟรี สำหรับเรื่องการรื้อนั้นจะไม่รื้อโดยทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าจะรื้อก็จะไปสร้างในที่ใหม่ที่ประชาชนยอมรับ


นายสำราญ ภูอนันตานนท์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน กล่าวเป็นคนสุดท้ายถึงนโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยนายกทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นนโยบายที่ตั้งขึ้นเพื่อพี่น้องคนยากคนจน โดยพยายามจะเพิ่มรายได้ และในด้านที่อยู่อาศัยทางพรรคมีการพยายามสร้างที่อยู่อาศัยให้เช่าในราคาที่ถูก สำหรับคนที่อยู่ในชุมชนมีส่วนร่วมในการที่จะพัฒนาแหล่งชุมชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใดได้ยามยามสร้างรายได้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ใหม่ไปสู่ที่ดีกว่าที่อยู่เดิม


ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยจากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) ตัวแทนผู้จัดงานและพิธีกรบนเวทีครั้งนี้กล่าวว่า เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อถามคำถามคาใจที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ 7 ข้อ ซึ่งรวบรวมโดยเครือข่ายที่รณรงค์ศึกษาและติดตามประเด็นเหล่านี้มาอย่าต่อเนื่อง แก่นักการเมือง โดยที่ผ่านมานโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ยังไม่มีความชัดเจนว่าหากได้รับเลือกตั้งจะมีจุดยืนกับประเด็นเร่งด่วนเหล่านี้อย่างไร ดังนั้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะมีการตั้งคำถามและฟังวิสัยทัศน์จากแต่ละพรรคการเมืองกันอย่างชัดๆ และข้อมูลที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการตัดสินใจกาเลือกใครในวันที่ 23ธ.ค. ที่จะถึงนี้ต่อไป


นอกจากนายจักรชัยยังกล่าวด้วยว่า จะมีการบันทึกคำตอบไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้พิสูจน์หลังเลือกตั้งว่าเมื่อได้เข้าไปเป็นตัวแทนประชาชนในสภาแล้วได้ทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนหรือไม่


สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net