Skip to main content
sharethis



 



 



 



 



 


 


เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2551 กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า บ้านดอนชัย ดอนชัยสักทอง ดอนแก้ว แม่เต้น นำนายอำเภอสอง อส. คณะกรรมการหมู่บ้าน ตำรวจบ้าน บุกสำรวจป่าสักทองที่ถูกมอดไม้ทำลายนับพันต้น โดยปราศจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม, เจ้าหน้าที่ป่าไม้, ตำรวจท้องที่ และทหาร


 


ชาวบ้านไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่ยมที่มีการย้ายหัวหน้าอุทยานมาใหม่ ไม่มีการสำรวจป่า ไม่ออกลาดตระเวนร่วมกับชาวบ้านเหมือนที่ผ่านมา ประกอบกับมีการทำถนนใหม่เข้ายังพื้นที่หัวงานสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กว่า 2.9 กม. งบประมาณ 12.4 ล้าน เป็นแหล่งขนไม้ซุงสักทองขนาดใหญ่ออกนอกพื้นที่ ซึ่งบริเวณที่ทำไม้ห่างจากที่ทำการอุทยานแห้งชาติเพียง 2-4 กิโลเมตรเท่านั้นเอง


 


จากการสำรวจ ชาวบ้านได้บันทึกและทำเครื่องหมายกากบาทและเขียนหมายเลขต้นไม้ไว้เป็นสัญลักษณ์จำนวน 767 ต้น แต่จากการประเมินร่วมกันของหลายฝ่่ายคิดว่าน่าจะมากกว่า 1,000 ต้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะที่ผ่านมามีการกระทำของมอดไม้ที่ตัดไม้ขนาดกลางและขนาดเล็กแล้วแบกออกไป แต่วันนี้ตัดไม้ซุงขนาดใหญ่โดยการเจาะให้เป็นแผลที่โคนต้นแล้วใช้ยาฆ่าหญ้าสูตรเข้มข้

นหยอดเข้าโคนไม้ ทำให้ไม้ยืนตายเร็ว


 


นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ดอนชัยสักทอง กล่าวว่า "ไม่เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน ถ้าเป็นมอดไม้แบบชาวบ้านก็เอาไม้กลางไม้เล็กตามออเดอร์ที่สั่งมา ใช้การแบกหรือมอเตอร์ไซต์์ขนออกเท่านั้น แต่ครั้งนี้ เอาไม้ใหญ่ เจาะฆ่าให้ตายโดยไม่รู้ว่าจะเอาออกได้หรือไม่ ขอให้ตายไว้ก่อน ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าเขาอยากให้ป่าหมดจะได้สร้างเขื่อนหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ ยังดีที่ว่าชาวบ้านมาพบก่อนไม่อย่างนั้นหมดป่าแน่" นายเส็งกล่าว


 


นายสมบัติ สร้อยเงิน แกนนำกลุ่มราษฎรรักษ์ป่ากล่าวว่า "ช่วงนี้มีการทำถนนจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมไปยังหัวงานสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นประมาณ 3 กิโลเมตร ขนดิน หิน เข้าทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าขนอะไรออกไปบ้าง เราไม่แน่ใจ" สมบัติกล่าว


 


ชาวบ้านมีมติให้ย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม พร้อมกับหัวหน้าหน่วยที่รับเงินเดือนจากนายทุนทำไม้ออกนอกพื้นที่ และขอมือดีจากส่วนกลางที่จะทำหน้าที่ปกป้องป่าสักทองผืนสุดท้ายไว้ให้ได้


 


ด้านนายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี หนึ่งในคณะกรรมการชาวบ้านกลุ่มราษฎร์รักษ์ป่าบ้านดอนชัย ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า ภายหลังร่วมเดินทางสำรวจข้อเท็จจริงร่วมกับนายอำเภอสอง พร้อมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งชาวบ้านกลุ่มราษฎร์รักษ์ป่า 70 คน เข้าสำรวจต้นสัก ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ ทั้งนี้สืบเนื่องจากช่วงปลายเดือน ธ.ค.2550 ชาวบ้านไปพบต้นสักอายุประมาณ 50 ปีหลายต้นมีลักษณะยืนต้นตาย มีใบแห้งคาต้น ไม่เหมือนกับการผลัดใบของสักที่มักจะเกิดในช่วงหน้าแล้ง จนกระทั่งกลับมาทำเรื่องประสานไปถึงนายอำเภอ และฝ่ายปกครองให้เข้าสำรวจพื้นที่ดังกล่าว


 


ทั้งนี้มีการแบ่งคณะสำรวจเป็น 7 ชุด ชุดละ 10 คน เดินนับต้นไม้อย่างละเอียด พบว่ามีต้นสักที่มีลักษณะต้นตรง อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีถูกเจาะและใช้มีดสับที่โคนต้นและใช้กำมะถันหยอดใส่ เพื่อให้ยาเข้าทำลายท่อน้ำเลี้ยงและยืนต้นตาย จำนวน 2,000 ต้นและคิดเป็นความเสียหายมากกว่า 1 ใน 10 ของไม้สักในแถบบริเวณดังกล่าว


 


นายประสิทธิพร ตั้งข้อสังเกตว่า จากการประเมินสถานการณ์คงไม่ใช่ฝีมือของชาวบ้านธรรมดา แต่คงมีคำสั่งซื้อมาจากนายทุนที่ต้องการไม้ขนาดใหญ่เป็นท่อนซุง เนื่องจากวิธีการทำลายเหมือนกับเข้าไปทำงานกันเป็นทีม และเดินเรียงหน้ากันสับต้นและหยอดยา และจะเห็นว่าต้นสักที่ยืนตายจะมีลักษณะต้นสวยตรง ไม่มีโพรง ซึ่งในพื้นที่นี้ไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน จากเดิมสมัยก่อนพวกมอดไม้จะเอาไม้เล็กๆ กองเอาไว้เป็นปีๆ ก่อนจะมาขนไม้เป็นท่อนๆ ขนาดไม่เกิน 2 เมตร แต่ที่เจอมามีต้นซุงลอยอยู่ในน้ำทั้งต้น


 


นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าจุดที่มีไม้สักยืนตายจำนวนมาก อยู่บริเวณริมแม่น้ำยม และห่างจากที่ทำการอุทยานแม่ยมเพียงแค่ 3-4 กิโลเมตรเท่านั้น แต่กลับรอดหูรอดตาเจ้าหน้าที่ไปได้ จึงชักไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จะรู้เห็นกับกระบวนการนี้หรือไม่ เพราะถ้าทำเป็นกระบวนการหลังจากไม้ตายทั้งต้นแล้วก็จะล่องไม้ลงแม่น้ำยม รอขนช่วงน้ำหลากต่อไป ทั้งนี้ยังตั้งประเด็นว่าอาจจะเชื่อมโยงกับขบวนการผลักดันการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่ เพราะคนผลักดันจะพยายามบอกว่าป่าแห่งนี้ไม่มีป่าสักสมบูรณ์อยู่แล้ว เพื่อเป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อน


 


"น่าสังเกตว่าทำไมทางอุทยานแห่งชาติแม่ยม จึงไม่เห็นความผิดปกตินี้เลย ทั้งที่มีความต่างชัดเจนระหว่างการผลัดใบของไม้กับการยืนต้นของไม้จากอาการถูกหยอดยา เพราะต้นที่ตายจะยังมีใบแห้งติดอยู่ เพราะต้นช็อกตาย ขณะที่ใบสักที่ร่วงตามฤดูกาลก็จะร่วงไปจนหมด ซึ่งน่าแปลกใจตรงที่ว่าจุดที่สำรวจห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไม่มากนัก แต่มีไม้สักตายจำนวนมากไล่มาจนถึงบ้านดอนชัย" นายประสิทธิพร กล่าว


 


เขาระบุว่า ขณะที่ป่าอีกด้านที่อยู่ทางเข้าหมู่บ้าน และมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำกลับไม่พบปัญหานี้ จึงฝากถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเกิดจากความหย่อนยานและไร้ประสิทธิภาพในการกวดขันลาดตระเวนป่าของเจ้าหน้าที่อุทยานหรือไม่ อย่างไรก็ตามชาวบ้านกับทางอำเภอจะสรุปความเสียหายและส่งข้อมูลให้ทางจังหวัดและกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเข้ามาแก้ปัญหานี้


 


ด้านนายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ได้สั่งการให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้วว่าไม้สักจำนวน 2 พันต้น ยืนต้นตายได้อย่างไร เพราะในพื้นที่ดังกล่าวไม้สักเป็นไม้สักทองที่ดีที่สุดในประเทศไทย


 


ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแม่ยม มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าสักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่งดงามมาก นับได้ว่าเป็นตัวแทนป่าไม้สักของภาคเหนือได้อย่างดียิ่ง รวมทั้งไม้ที่มีค่าจำนวนมาก รวมทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยป่าชนิดต่างๆ ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไปทางทิศตะวันตกของลำน้ำยม ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก มะค่าโมง แดง ประดู่ ตะแบก ฯลฯ และมีป่าเต็งรังขึ้นอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ และกระจายเป็นหย่อมๆ ในบริเวณดินที่มีความแห้งแล้ง เป็นดินลูกรัง ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง พลวง รัก มะเกิ้ม ชิงชัน ฯลฯ


 


ขณะเดียวกัน ป่าสนเขามีขึ้นอยู่ตามยอดเขาทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้จะเป็นพวกไม้สน และไม้ก่อ เช่น สนสามใบ ก่อเดือย ก่อตาหนู เป็นต้นส่วนการสำรวจสัตว์ป่า พบ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 39 ชนิด นก 135 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 28 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ที่มีสถานภาพที่น่าเป็นห่วง 4 ชนิด ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก กระรอกบินเล็กแก้มขาว แมวป่า และนกยูง มีสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 1 ชนิด คือ เสือปลา


 


 


.............................


เรียบเรียงบางส่วนจาก : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net