Skip to main content
sharethis


ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 



 


ผู้มี "อำนาจ" ย่อมสามารถกำหนด "กติกา"


 


คำกล่าวนี้ คงไม่เกินเลยไปนักในความเป็นจริงของการจัดการความสัมพันธ์นับตั้งแต่อดีตกาลมาจนปัจจุบัน ในขณะ "กติกา" เป็นสิ่งที่ถูกยกอ้างเสมอเพื่อยืนยัน "ความชอบธรรม" ของการกระทำไม่ว่าในเรื่องประการใด จึงไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อเหล่าบรรดาประเทศที่มีอำนาจสูงลิบในโลกหลังสงครามเย็นได้วางกติกาความสัมพันธ์ระหว่างกันในระดับโลกไว้ด้วยคำว่า "ประชาธิปไตย" แต่สำหรับประเทศไทย คำเดียวกันนี้จะต้องพ่วงท้ายด้วย "อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เพื่อระบุสถานะอำนาจอีกแบบหนึ่งในอีกบริบทพื้นที่เฉพาะเพื่อกำหนด 'กติกา' อีกรูปแบบหนึ่ง


 


ดังนั้นในคำๆ เดียวกันอย่าง "ประชาธิปไตย" จึงยังดูเลื่อนไหลไปที่ว่า "ใคร" คือผู้มีอำนาจในการนิยาม "กติกา" ยิ่งในปัจจุบัน การปะทะกันของนิยามและอำนาจที่เลื่อนไหลนี้ยิ่งดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและซับซ้อน อย่างที่ เกษียณ เตชะพีระ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยยก แบบระบบ "จำลองปริซึมสังคมไทย" ของ ศาสตราจารย์ี่ Fred Warren Riggs มหาวิทยาลัยฮาวาย จากหนังสือ "Thailand : The Modernization of a Bureaucratic Polity" .. 1966 [1] มาอธิบายความซับซ้อนของสังคมไทย สังคมที่เหมือนลำแสงสีขาวที่พุ่งเข้าไปในแบบปริซึมแล้วไม่สามารถแตกตัวเป็นแสงสีเฉพาะต่างๆ หรือเป็นสังคมสมัยใหม่ได้ แต่เมื่ออยู่ในนั้นจะย้อนกลับไปเป็นแสงสีขาวหรือสังคมชนบทแบบดั้งเดิมก็ไม่ได้เช่นกัน สุดท้ายจึงค้างคาอยู่ในแท่งสามเหลี่ยมปริซึมอย่างน่าอึดอัดและอาจเป็นไปอย่างยาวนาน


 


และขอเสริมต่อตรงนี้ว่าเมื่อ "กติกา" ยิ่งไม่ชัดและไม่ลงตัวแล้ว ก็ยิ่งน่าอึดอัดขึ้นไปอีก..เช่น ความไม่ไปด้วยกันอย่างยิ่งเมื่ออำนาจระดับสูงในโลกกำหนดให้ดำเนินความสัมพันธ์ไปบนกติกา "ประชาธิปไตย" ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยมเสรี (ใหม่) " เป็นเครื่องมือ แต่อำนาจทางวัฒนธรรมระดับสูงสุด แบบ "อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" บอกให้ดำเนินไปบนเส้นทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งดูจะสวนทางกันมากผลกระทบของการแข็งขืนเป็นไปอย่างกว้างขวาง กดดัน และปริแตกชำแรกออกมาในรูปความขัดแย้งต่างๆ ทั้งทางชนชั้นในสังคม ทางระบบเศรษฐกิจ และทางการเมืองที่กำลังเป็นไปอย่างเข้มข้นในเวลานี้


 


บนความเป็นไปแบบนี้ทำให้แม้แต่ในบางพื้นที่ของประเทศที่เคยถูกลืมเลือนไปแล้วในสายตาของผู้มีอำนาจทั้งภายในและภายนอก และพื้นที่เหล่านี้เคยดิ้นรนด้วยตัวเองมาตลอดจนกำลังเริ่มผุดแย้มตัวตนออกมาหายใจได้ ในเวลานี้ก็กำลังม้วนเข้าสู่วังวนการต่อสู้ในการสร้างความชอบธรรมให้ "กติกา" ทั้งจากภายในและภายนอก


 


รายงานนี้ขอยกตัวอย่างอันเป็นข้อสังเกตจากการลงพื้นที่ ชุมชนแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยแทบล่มสลายไปกับการคล้อยตาม "ทุนนิยมเสรีสุดขั้ว" จนเก็บบทเรียนและเลือกเส้นทางที่จะหันหลังให้ทุนนิยมแบบเดิม เพื่อกลับสู่สังคมชนบทแบบแสงสีขาวด้วยการตัดสินใจของตัวเอง ตั้งแต่การกลับไปมองแนวคิดการทำเกษตรย้อนรอยทางบรรพบุรุษ จนสามารถกลายเป็นชุมชนที่ดูแลตนเองได้อย่างเข้มแข็งและสามารถเผยแพร่แนวทางที่เป็น "ทางเลือก" ได้


 


 


 


การเกษตรที่ปฏิเสธ "ทุนนิยม"


ช่วงวันที่ 9 -14 ตุลาคม 2550 วิทยาลัยการจัดการทางสังคม นำผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งลงพื้นที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดชียงใหม่ ซึ่งเป็นในวาระการประชุม "เวที…ความสุขมวลรวมประชาชาติระดับประเทศ" และเป็นช่วงเดียวกับที่ภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งกำลังสร้างวาทกรรม "จน เครียด กินเหล้า" ออกมาทางสปอตโฆษณา


 


การนิยาม "ความจน" ครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะมองอย่างง่ายๆ โดยมุ่งเป้าไปที่การดำเนินชีวิตนอกศีลธรรมของแรงงานหรือเกษตรกรที่แสดงออกผ่านมาทางภาพลักษณ์ 'ชนชั้นล่าง' ของนักแสดงหลัก โดยเฉพาะการชี้ชัดๆ ไปที่การกินเหล้าว่าเป็นสาเหตุเดียวเท่านั้นที่ก่อให้เกิดความจนและการเป็นหนี้ แต่ดูเหมือนจะไม่ชี้ไปถึง "โครงสร้างความยากจน" ที่อยู่เบื้องหลังหรือที่รัฐสร้างขึ้นเองเลย ทั้งที่ดูจะเป็นสาเหตุสำคัญเสียมากกว่า


 


แต่สำหรับชุมชนแม่ทาแล้ว "ขยัน จน เครียด ! " ต่างหากคือสิ่งที่พ่อพัฒน์ อภัยมูล แกนนำคนสำคัญของชุมชนแม่ทาผู้หันหลังให้การเกษตรกระแสหลักนิยามมันขึ้นมาใหม่จากประสบการณ์ของตัวเอง โดยเปรียบการเกษตรกระแสหลักที่รัฐสนับสนุนเป็น "โครงสร้างของอาณาจักรปีศาจ" ที่แฝงมากับ "ทุนนิยมเสรี"


 


ชุมชนแม่ทา เดิมเรียกกันว่า "ชุมชนกาฝาก" เพราะความห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากจนถูกหลงลืมและคล้ายเลือนหายไปจากแผนที่ประเทศไทย ความเป็นชุมชนตามป่าเขายิ่งทำให้ภาครัฐไม่ค่อยให้ความสนใจชุมชนนี้มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่ต่อมาเมื่อเริ่มมีการให้สัมปทานป่าไม้ การคมนาคมจึงเริ่มเข้ามาและเริ่มมีพ่อค้านำเมล็ดพันธุ์พืชเศรษฐกิจเข้ามาขาย จากนั้นมาพืชเศรษฐกิจตามกระแสตลาดจึงเข้ามาหลายละลอก บางยุคเป็นการปลูกยาสูบ บางยุคเป็นหอมแดง หรือบางยุคก็เป็นข้าวโพดฝักอ่อน ทางธนาคารเกษตรและสหกรณ์ (...) ก็สนับสนุนการกู้ยืม แม่ทาจึงเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเกษตรแผนใหม่หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและสารเคมีค่อนข้างมาก


 


พ่อพัฒน์ กล่าวว่า ก่อน พ..2529 ก็ไม่ได้ทำการเกษตรต่างจากคนทำการเกษตรอื่นๆ นั่นคือ "การปลูกพืชเชิงเดี่ยว" โดยยืนยันว่า "ขยันมากๆ" ใช้เวลาแทบทั้งหมดอยู่กับแปลงเกษตร และแน่นอนว่าแม้จะได้เงินจากการขายผลิตผลมากมาย แต่สุดท้ายเกิดมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า ถึงอย่างนั้นแล้ว "ทำไม "หนี้" จึงกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ ? "


 


บนความสงสัย พ่อพัฒน์นึกย้อนกลับไปสู่ยุคของพ่อแม่ ทำไมหนอ?? สมัยก่อนคนรุ่นนั้นจึงอยู่กันได้


 


คิดไปคิดมา คำตอบของพ่อพัฒน์ไปหยุดที่คนสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่จะนึกถึงความมั่นคงทางอาหารก่อน นั่นคือการผลิตเพื่อกิน เหลือแล้วจึงค่อยขาย และเมื่อนำความสงสัยมาบวกกับแนวทางของคนรุ่นบรรพบุรุษ สิ่งที่พ่อพัฒน์ทำต่อไปคือการทดลองทำบัญชี รายรับ รายจ่าย สิ่งที่ได้จากต้นทุนของการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวหักลบกับรายได้ ผลสรุปคือ "หนี้"


 


"โครงสร้างหนี้" ที่พ่อพัฒน์ค้นพบคือ การทำการเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว แม้จะเห็นตัวเงินมากมาย แต่ต้นทุนจำนวนมากจะไปอยู่ที่การค่าปุ๋ยและค่ายาฆ่าแมลงมหาศาล ที่สำคัญรายจ่ายตัวนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อไปชดเชยสภาพดินและน้ำที่เปลี่ยนไปจากสารเคมี


 


จากนั้น นับตั้งแต่ พ.. 2529 เป็นต้นมา พ่อพัฒน์จึงหันหลังกลับสู่การเกษตรวิถีธรรมชาติแบบบรรพบุรุษ ในเวลาไม่นาน "หนี้" ของพ่อพัฒน์ก็หมดไป และสร้างตัวอย่างให้กับชุมชนแม่ทาในเวลาต่อมา


 


"โครงสร้างหนี้" ที่เกิดขึ้นกับพ่อพัฒน์หรือคนในชุมชนแม่ทาคงคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรทั่วไปทั้งในประเทศและทั่วโลก ที่ร้ายไปกว่านั้น กระบวนการสร้างหนี้ที่มากับทุนนิยมเสรีพัฒนาโฉมหน้าใหม่มาในแบบ "นายทุนผู้อารี" เช่น การมอบเมล็ดพันธุ์ให้ปลูก การรับซื้อพืชผล แต่ในส่วนแรงงาน หรือการดูแลให้ได้ปริมาณและคุณภาพเป็นเรื่องของเกษตรกรที่ต้องลงทุนลงแรงเองซึ่งกลับกลายมาเป็นการผูกมัดพันธนาการอย่างมีระบบที่อุรุงตุงนังตัวเองในเวลาต่อมา  


 


ปัจจุบัน สวนของพ่อพัฒน์และผู้ร่วมแนวทางไม่ได้เป็นแปลงไร่นาหรือสวนขนาดใหญ่ แต่เป็นเพียงสวนที่มีต้นไม้พืชผักหลายๆ แบบผสมกันไปในพื้นที่เดียวกัน การปลูกพืชแบบนี้ไม่สามารถสร้าง "ปริมาณ" ได้ แบบ "การเกษตรเชิงเดี่ยว" พริบตาแรกของคนทั่วไปคงมองว่าการปลูกพืชแบบนี้ไม่ต่างจากการฆ่าตัวตาย เพราะไม่ทำรายได้อะไรให้เห็นเป็นกอบเป็นกำมากนัก แต่บางทีนั่นอาจเป็นเพียงมายาคติเดิมๆ ที่ครั้งหนึ่งคนแม่ทาเองก็เคยถูกหลอกหลอน เพราะปัจจุบันสำหรับพ่อพัฒน์และกลุ่มที่ทำการเกษตรแบบนี้ นอกจากจะมีอาหารสำหรับครอบครัวแล้ว ยังมีส่วนเกินสำหรับการขายที่มีตลาดเฉพาะซึ่งเป็นรายได้ที่สามารถนำไปปลดหนี้จากความขยันในอดีตได้ ที่สำคัญคือยังเหลือเงินเก็บไว้เป็นสวัสดิการตัวเองและครอบครัวด้วยเสียอีก


 



 


นายทุนผู้อารี


ภาพรวมของชุมชนแม่ทาจากปากพ่อพัฒน์ คือภาพสะท้อนความจริงหนึ่งของการเลือกปฏิเสธการเดินไปสู่สังคมที่แยกเป็นแถบสีหลังออกจากปริซึมตามกลไก "กติกา" ระบบอำนาจของในโลก แต่การปฏิเสธของชุมชนแม่ทาคงไม่ใช่เรื่องเกินเลยไป หากย้อนไปที่ความเจ็บปวดจากประสบการณ์ที่ประสบเอง ในหน้ากากที่เหมือนจะเป็นธรรมจากระบบตลาด พ่อพัฒน์ฉายภาพให้เห็น "หนี้แฝง" มหาศาลที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่การบอกว่าการแข่งขันในตลาดจะทำให้ให้เกิดคุณภาพและได้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภคนั้น แท้ที่จริงกลับเป็นก้าวไปสู่โลกของการผูกขาดแบบหนึ่งที่ "กติกา" เลือกที่จะเอื้อให้ใครบางคนหรือบางกลุ่มไว้แล้ว


 


นายทุนผู้อารี ที่พ่อพัฒน์กล่าวถึง คงไม่ใช่อะไรอื่นไกลจาก "Contract Farming" หรือ "เกษตรพันธสัญญา" ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ พ..2510 ว่า เป็นกลยุทธการกอบโกยกำไรของบริษัทด้านการเกษตรขนาดใหญ่ อันมีขีดความสามารถสูงยิ่งในการแปรสภาพ "เกษตรกรอิสระ" ที่ยากจน ให้เป็น "แรงงาน" หนี้สินล้นพ้นในไร่นาตัวเอง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม รายงานพิเศษ : "คอนแทรค ฟาร์มิ่ง" เมื่อ "นายทุน" อาสามาแก้จน )


 


สำหรับประเทศไทย หากให้เอ่ยชื่อ บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ทรงอำนาจสูง "ซีพี" หรือ บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ คงเป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกนึกถึงทั้งในทางการเกษตรกรครบวงจรที่ทำตั้งแต่กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ พันธุ์สัตว์ ไปจนถึงการควบคุมตลาด รูปแบบทั่วไปคือเกษตรกรจะมีพันธสัญญากับบริษัทแต่ต้องลงทุนเอง ซึ่งหมายความว่าการสร้างคุณภาพต้องทำเอง ในขณะที่บริษัทคือผู้กุมอำนาจในการทดสอบและอาจนำไปสู่ลูกเล่นในการกดราคาเกษตรกรได้หลายแบบ


 


ในปี 2546 เพียง "ซีพี" บริษัทเดียว มีพันธสัญญากับเกษตรกรเลี้ยงไก่ 12,000 ราย เกษตรกรเลี้ยงหมู 5,000 ราย เกษตรกรปลูกข้าว 10,000 ราย เกษตรกรปลูกข้าวโพด 10,000 ราย (จากบทความ "เกษตรพันธสัญญา จากไร่นาสู่ห่วงโซ่อาหารจานด่วนและซูเปอร์มาร์เก็ต" ของ อิซาเบล เดลฟอร์ซ ในเว็บไซต์ของโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (focus) ใน รายงานพิเศษ 'คอนแทรค ฟาร์มิ่ง')


 


ส่วนสารเคมีอย่างปุ๋ยหรือยากำจัดศัตรูพืชนั้น จากข้อมูล พ.. 2544 [2] เพียงปีเดียว ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช เป็นจำนวน 55,445 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8,550.74 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, โดยความร่วมมือของกรมศุลากร)


 


ในขณะที่ ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชหนีไม่พ้นบริษัทชื่อคุ้นหูอย่าง บริษัท "มอนซานโต้" (ไทยแลนด์) ที่มีมูลค่าการนำเข้ากว่า 789 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.03 ซึ่งเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ได้จากการประกอบกิจการสารกำจัดวัชพืชทั้งหมด ทั้ง ราวด์อัพ (ไกลโฟเสท), สปาร์ค (ไกลโฟเสท) ซึ่งสารกำจัดศัตรูพืชที่นำเข้าทั้งหมดได้รับการยกเว้นไม่มีการเก็บภาษีขาเข้าตั้งแต่ พ.. 2535 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการลดภาษีการนำเข้าปัจจัยการเกษตร เพื่อเตรียมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้พร้อมในการเข้าร่วมในเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ส่งผลให้ประเทศไทยได้ลดภาษีการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชจากร้อยละ 5 เหลือเพียงร้อยละ 0


 


นโยบายนี้ส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนราคาสารกำจัดศัตรูพืชที่แท้จริง สารกำจัดศัตรูพืชที่จำหน่ายในประเทศไทยจึงมีราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้แรงจูงใจในการที่เกษตรกรจะแก้ไขปัญหาศัตรูพืช โดยการใช้สารกำจัดศัตรูพืชมีสูงมากยิ่งขึ้น การยกเว้นภาษีถือว่าเป็นการช่วยอุดหนุนการนำเข้าโดยทางอ้อม และช่วยให้ราคาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชถูกลง นอกจากนี้แล้วประเทศไทยไม่มีระบบการเก็บภาษีตามระดับความเป็นพิษ จึงเท่ากับว่ารัฐบาลยินยอมให้มีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงและมีราคาถูกเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย         


           


ทั้งนี้ แม้แต่ในการกระจายผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชก็ยังหนีไม่พ้นการทำการเกษตรแบบพันธสัญญา ไม่ว่าจะกับบริษัทส่งเสริมการเกษตร บริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรตลอดจนบริษัทแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ที่ต้องการผลผลิตทางการเกษตรที่มีลักษณะและคุณภาพอย่างเฉพาะเจาะจง


 


ดังนั้นการจะสามารถขายผลผลิตให้กับบริษัทได้ตรงตามความต้องการของบริษัทได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ทำการผลิตแบบมีพันธสัญญาร่วมกับบริษัทนั้นก็จะปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัท รวมถึงการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในชนิด ปริมาณและระยะเวลาตามที่บริษัทแนะนำด้วย ซึ่งนอกจากจะพบว่าเกษตรกรมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มากเกินความจำเป็นและใช้อย่างไม่ถูกต้องแล้ว การผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีลักษณะตรงตามความต้องการของบริษัทเป็นสิ่งที่กดดันให้เกษตรกรยิ่งต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น           


 


 


โครงการหลวง..ผู้อารี (เช่นกัน)


จากการลงพื้นที่แม่ทา นอกเหนือจากพ่อพัฒน์แล้วมีเกษตรกรอีกหลายคนกำลังหันกลับสู่เส้นทางการเกษตรแบบบรรพบุรุษ บางคนมีพื้นที่เพียงไร่กว่าๆ แต่เวลาผ่านไปไม่ถึง 3 ปีก็จะปลดหนี้สินได้ ทั้งที่การเป็นนหนี้ทำให้บางคนถึงกับเบื่อชีวิตเกษตรกรจนแทบอยากเลิก และหันไปมองที่อนาคตของลูกว่าจะต้องเรียนให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน แต่การเกษตรแบบบรรพบุรุษที่กำหนดชีวิตตัวเองได้เช่นนี้กลับเปลี่ยนความคิดเป็นมองว่าการเป็นเกษตรกรนั้นดีที่สุด เพราะไม่เป็นลูกจ้างใคร ไม่มีใครกำหนด มันเป็นความสุขที่เปรียบเป็นตัวเงินไม่ได้


 


อย่างไรก็ตาม คนในแม่ทานอกจากการเกษตรที่มีนายทุนมาสนับสนุนแล้ว บางคนเคยทำการปลูก "พืชโครงการหลวง" ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่มีรูปแบบไม่ต่างอะไรกับการเกษตรแบบพันธสัญญาที่เกษตรกรต้องแบบรับต้นทุนเองในการทำคุณภาพพืชผลให้ได้คุณภาพ ยิ่งถ้าปีไหนราคาแย่ก็หมายถึงความซวย เพราะต้นทุนต้องแบกรับเองเต็มๆ หลายรายจึงเลิกการปลูกพืชโครงการหลวงไปด้วย สำหรับคนแม่ทาแล้วปัญหาเชิงหลักการคือต้องเอา "อาหารมาก่อน" เงินจะมาทีหลัง และ "ความสุข" คือการทำให้เป็น "อิสรภาพ" ในทุกอย่าง


 


โครงการหลวง (Royal project) เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ที่ก่อตั้งเมื่อ พ..2512 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวง


 


อย่างไรก็ตาม แม้โครงการหลวงจะมีภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างดี แต่เมื่อต้องเผชิญความจริงใน "กติกา" ที่ใหญ่กว่า จึงไม่ได้หมายความว่าโครงการหลวงจะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีสถานะพิเศษ อย่างในกรณีของการเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศจีน โครงการหลวงเองก็ต้องเผชิญกับการปรับในช่วงหนึ่ง ดังที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 6 -9 ..48 เคยนำเสนอบทสัมภาษณ์ของ รศ.นิพนธ์ ไชยมงคล ประธานคณะทำงานผัก มูลนิธิโครงการหลวง ว่า


 


"โครงการหลวงเริ่มได้รับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ไทย-จีน ภายหลังจากที่ทั้งสองประเทศได้นำร่องลดภาษีสินค้าผักและผลไม้พิกัดศุลกากรตอนที่ 07-08 เมื่อวันที่ 1 ..46 และเปิดเสรีสินค้าเกษตรพิกัดศุลกากรตอนที่ 01-08 เมื่อวันที่ 1 ..47 มีผลให้สินค้าพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอกจากจีนไหลทะลักเข้าตลาดไทยในปริมาณและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจีน สินค้าผักของโครงการหลวงเริ่มได้รับผลกระทบจากสินค้าผักนำเข้าจากจีน 2 รายการได้แก่ แครอท และผักกาดหอมห่อ เนื่องจากเป็นสินค้าประเภทเดียวกับโครงการหลวงผลิต และส่งจำหน่ายทั้งในกลุ่มลูกค้าประจำและลูกค้าทั่วไป โดยสินค้านำเข้าจากจีนมีราคาถูกกว่ามาก...จากราคาที่แตกต่างกันมากดังกล่าว มีผลทำให้ลูกค้าของโครงการได้ขอต่อรองลดราคาสินค้าลง 5-10% เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะแข่งขันกับสินค้าจีนลำบาก"


 


สิ่งที่ รศ.นิพนธ์ กล่าวต่อไปคือเรื่องการปรับตัวขององค์กรสู่การแข่งขันในระบบทุน โดยระบุแนวทางการรองรับผลกระทบว่า กำลังอยู่ในระหว่างการเร่งจัดทำระบบการผลิตพืชผักให้ได้ตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (อียู) โดยการจัดทำระบบมาตรฐานอียูครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะส่งออกสินค้าของโครงการฯไปจำหน่ายในอียูในอนาคตอันใกล้ โดยกลุ่มเป้าหมายในตลาดใหม่ของโครงการหลวง คือประเทศในอียู ที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากและหากแผนการส่งออกไปยังอียูประสบผล สิ่งที่ตามมาคือการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการครั้งใหญ่ นั่นคือต้อง "ผลิตได้ตามคุณภาพมาตรฐาน" ที่ลูกค้ากำหนด และการปรับการเพาะปลูกพืชผักเข้าสู่ระบบโรงเรือนทั้งหมด


 


สำหรับเกษตรกรรายย่อยและยากจนในโครงการหลวง ส่วนหนึ่งคือลูกค้าเงินกู้จากธนาคารเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ไม่ต่างจากเกษตรกรรายย่อยอื่นๆที่ปลูกพืชเศรษฐกิจและใช้เงินมาหมุนเวียนค่าเมล็ดพันธุ์จนต้องเป็นหนี้มาแล้วอย่างที่เคยเกิดกับคนบางคนในชุมชนแม่ทา การพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้นเพื่อสู้กับตลาดที่มีมาตรฐานขึ้น รายงานฉบับนี้ไม่ได้ตามต่อไปถึงผลกระทบหลังจากการปรับปรุงมาตรฐานการผลิต แต่คงขอทิ้งคำถามไว้ว่า ในระบบธุรกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนไป เกษตรกรยากจนอาจจะต้องแบก "ต้นทุน" ที่สูงขึ้นภายใต้การเอื้ออารีของโครงการหลวงนี้ด้วยหรือไม่ ???


 


 


"พอเพียง" และ "GNH"


ตั้งแต่ พ..2529 แม้ชุมชนแม่ทาจะทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน แต่คงสามารถพูดได้ชัดถ้อยชัดคำว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายล้วนก่อเกิดจากภายในเป็นสำคัญ จนกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการศึกษาดูงานแก่ผู้อื่น ต่อมาภายหลังชุมชนแม่ทาได้ผนวกตัวเองเข้ากับนิยาม "เศรษฐกิจพอเพียง" และกลายเป็นพื้นที่ในการประชุมความสุขมวลรวมประชาชาติหรือ GNH


 


นประเด็น เศรษฐกิจพอเพียง ชนิดา ชิตบัณฑิต นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นอุดมการณ์ที่เกิดหลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ..2540 จากนั้นจึงได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง เริ่มมีการประสานมิติทางด้านอุดมการณ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงกับวัฒนธรรมชุมชน ทั้งที่โดยเนื้อแท้จริงๆ มันไม่เหมือนกัน เพราะ เศรษฐกิจพอเพียงมีบริบทเฉพาะ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีนัยยะทางการเมือง เพียงแต่มีลักษณะที่ประสานกันบางด้านและทุกคนต่างยอมรับให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียง


 


ทั้งนี้ นอกจากหน่วยงานราชการแล้ว นักวิชาการและปัญญาชนมีชื่อในบ้านเมืองได้ใช้โอกาสหลังการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ พ..2540 นำอุดมการณ์การพัฒนาของกษัตริย์หรือเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปปะทะประสานกับแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมชุมชนที่มีมาตั้งแต่ พ..2520 และได้ทำหน้าที่ตีความเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับแนวความคิดที่ตัวเอง อย่างเช่นแนวคิดเรื่องพลังแผ่นดินกับประชารัฐที่วิพากษ์รัฐบาล สนับสนุนเอ็นจีโอ โดยมีในหลวงเป็นศูนย์กลาง ของนายแพทย์ประเวศ วะสี ( รายละเอียด: "เอ็นจีโอเจ้า" การเกิดและเติบโตในบริบทการเมืองตลอดช่วง 60 ปี )


 


ในขณะที่ช่วงหลังมานี้ มีกระแสล่าสุดที่เข้ามาหนุนเสริมพร้อมกับการเข้ามาในภาพลักษณ์เจ้าชายหนุ่มที่กลายเพิ่งเป็นกษัตริย์ในดินแดนที่ชวนฝัน นั่นคือการประสานอุดมการณ์เข้ากับแนวคิดดรรชนีชี้วัดความสุขหรือ GNH ของ "จิกมี" แห่งภูฏาน


                                                                             


ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จากการทำการเกษตรยั่งยืนและพึ่งพาตนเองตามรอยบรรพบุรุษ ได้คลี่คลายอำนาจทางการนิยามตัวเองไปสู่มือผู้กุมอำนาจทางวัฒนธรรมผ่านปัญญาชนที่มีบทบาทสูงในองค์กรพัฒนาเอกชน และหลังจากคำว่า GNH ปรากฏขึ้นบนโลก การนิยาม "ตัวชี้วัดใหม่" นี้จึงถูกใช้อย่างเป็นรูปธรรมในหมู่องค์กรที่ทำงานด้านชุมชน


 


รายงานชิ้นนี้ไม่มีข้อสรุป แต่ขอค้างเอาไว้ด้วยคำถามว่า การดิ้นรนในการสร้างนิยามเพื่อกำหนด "กติกา" ด้วยอำนาจในตัวเองนั้น กำลังถูกอำนาจบางอย่างที่กำลังดิ้นรนในการประคองสถานะพิเศษแทรกแซงไปอย่างนุ่มนวลหรือไม่ และจะนำไปสู่อะไร ?


 


ในขณะที่โลกกำลังหมุนไปด้วย "กติกา" อันเข้มงวด เข้มแข็ง และไม่เท่าเทียมกันในการต่อรองอย่างมากการสรุปบทเรียนและก้าวออกมาหาทางออกด้วยตนเองคงไม่ใช่เรื่องของความผิดถูก ความเป็น 'อิสระในทุกอย่าง' ยังคงเป็นสิ่งที่สวยงามและนำมาซึ่งความสุขได้อย่างจริงแท้แน่นอน แต่คงจะเป็นการดีกว่าหากจะพูดถึงกันในระดับ "ทางเลือก" ที่เป็นแรงบันดาลใจไม่ใช่ "ทางออก" ที่กำลังถูกใครบอกให้ทำจนเหมือนจะให้หยุดแช่แข็งไว้และอย่าเดินต่อไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยกับบริบทแห่งความเป็นจริงของโลกที่กำลังดำเนินอยู่


 


การชี้นำนั้นอาจเป็นเพียงยาสะกดอันได้ผลมึนชาจิตใจและสมองบ้างในบางกรณี แต่ความ "มี" ที่ไม่เท่าเทียมที่ต่างกันมากระหว่างผู้ชี้ให้ทำกับผู้ถูกบอกให้พอนั้น เป็นเรื่องที่รับไม่ค่อยได้เอาเสียเลย เพราะในขณะที่คนบางคนมีโอกาสแข่งขันและได้เปรียบในต้นทุนทุกกรณี แต่สำหรับคนบางคนกลับถูกบอกให้ "หยุด" และอย่าเข้าร่วมเสียตั้งแต่เริ่มต้น การกำหนด "กติกา" พิเศษที่ที่บอกให้แช่แข็งตัวเองแบบนี้ สุดท้ายคำตอบของดรรชนีความสุขที่ออกมาคงหนีไม่พ้นการนั่งรีดหลอดยาสีฟันให้แบนแต๊ดแต๋แล้วอมยิ้มไปวันๆเท่านั้นเอง... !!


 


 


 


อ้างอิง


[1] คำต่อคำ "เกษียร เตชะพีระ" : สังคมไทยยังอยู่ใน "ปริซึม" ที่กดดันและตึงเครียดตลอดเวลา :การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550.ประชาไท 9 ..50


 


[2] จุฑามาศ ต๊ะก่า .กลไกทางกฎหมายและกลไกทางนโยบายเพื่อสนับสนุนการลดใช้สารเคมีการเกษตร.สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข, 2546


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net