Skip to main content
sharethis

นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทซ์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เร็วๆนี้จะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เก็บข้อมูลทำวิจัยเพื่อประเมินสถานการณ์ความไม่สงบในช่วง 16 เดือนที่ผ่าน ซึ่งเป็นช่วงตั้งแต่ปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา และบริหารประเทศโดยรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง


 


รวมทั้งประเมินว่าแนวหรือแนวนโยบายการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอย่างไร มีแนวทางไหนที่ยังดำเนินการอยู่ ที่แปรเปลี่ยนไป และมีแนวทางไหนที่ควรต้องปรับเปลี่ยนบ้าง หรือมีเรื่องใดบ้างที่ต้องสะสางให้หมดไป โดยรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น โดยพรรคพลังประชาชนจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคพลังประชาชนก็มาจากพรรคไทยรักไทย ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคนั่งเอง


 


ดังนั้น เมื่อพรรคพลังประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งคลี่คลายมาจากพรรคไทยรักไทยเดิมขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แน่นอนว่าควรต้องทบทวนนโยบายหรือแนวทางของพรรคไทยรักไทยเดิมในการแก้ปัญหา รวมทั้งต้องให้คำตอบเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลด้วย เพราะจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน


 


เรื่องที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนต้องตอบคำถามหรือให้ความกระจ่างให้ได้ มี 3 เรื่องหลักๆ คือ กรณีคนหาย ซึ่งมีข้อมูลยืนยันแล้วว่ามีจำนวน 23 ราย ที่หายตัวไป เพราะเรื่องนั้นได้สร้างความหวาดระแวงให้กับประชาชนในพื้นที่มาก เพราะหากมีการควบคุมชาวบ้านที่ต้องสงสัยไป ชาวบ้านจะกลัวว่าญาติของเขาจะหายตัวไปอีกหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้นก็ตาม


 


เรื่องที่สอง การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะในการควบคุมหรือจับกุมผู้ต้องสงสัยน่าจะให้มีการตรวจสอบจากตัวแทนองค์กรกลางที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นรับบาลใหม่ควรต้องมีการประเมินในเรื่องนี้ด้วย


 


เรื่องที่สาม ในเรื่องการลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการหรือประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่ามักสามารถจับคุมผู้ต้องสงสัยหรือคนร้ายที่ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็วเช่น ภายใน 1 - 2 วัน แต่เมื่อผู้ถูกสังหารเป็นชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลามกลับตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้ช้า


 


นอกจากนี้ ในกรณีเฉพาะที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย คือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งรัฐเองก็ไม่ได้ดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องมากนัก


 


อีกกรณีคือการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องนั้น จนถึงขณะนี้คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมาซึ่งมีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งหลังการปฏิวัติ มีความคาดหวังว่าคดีจะมีความคืบหน้า แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าไปมากกว่าสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


 


นายสุณัย กล่าวด้วยว่า แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของพรรคพลังประชาชนในพื้นที่อยู่ด้วย ก็ยังไม่ชัดเจนว่า นโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลจากพรรคพลังประชาชนจะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน เพราะคนในพื้นที่จะมองผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชาชนเป็นภาพของพรรคไทยรักไทยเดิม ซึ่งเคยมีบาดแผลเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว โดยยังมีคนบางส่วนในพื้นที่ไม่ยอมรับอยู่ ดังนั้น การผลักดันนโยบายของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน น่าจะไปอยู่ที่บทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. หรือใช้กลไกของข้าราชการในพื้นที่มากกว่า ยกเว้นนักการเมืองของพื้นที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นอย่างอื่นไปจากที่เคยทำมา


 


อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจำเป็นต้องกระจายบทบาทไปให้กับฝ่ายต่างๆ ด้วย ซึ่งการที่มีพรรคการเมืองอื่นเข้าไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชาชนก็จะเป็นการกระจายบทบาทไปให้นักการเมืองเหล่านั้นด้วย ซึ่งผู้แทนราษฎรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ก็มาจากพรรคต่างๆ หลายพรรค และเป็นผู้แทนหน้าใหม่ๆ น่าจะได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่มาก เช่น นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ จากพรรคเพื่อแผ่นดิน


 


แต่แม้ว่าผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ๆ จะได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่มาก แต่ก็ต้องดูด้วยว่าเป็นที่ยอมรับของคนนอกพื้นที่ด้วยหรือไม่ ซึ่งนั่นจะเป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ดังนั้นแก้ปัญหาขณะจำเป็นต้องเป็นแบบร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะจากนักการเมืองทุกพรรค


 


หลังจากนี้ต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการเปิดยุทธการได้ผลในระดับหนึ่ง มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยอย่างได้ผล ส่วนจะเป็นตัวจริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสามารถระงับเหตุร้ายรุนแรงได้ดี เช่น การลอบวางระเบิกพร้อมกันหลายจุด ส่วนการก่อนเหตุที่เกิดขึ้นขณะนี้น่าจะเป็นการฉวยโอกาสมากกว่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าแม้การดำเนินการทหารจะได้ผล แต่ก็ต้องทำควบคู่กับการดำเนินการทางการเมืองด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นชัดเจน เช่น เรื่องความยุติธรรม เป็นต้น


 


นายสุณัย กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.วรรณทิพย์ ว่องไว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา เชิญตัวแทนองค์กรเอกชน 3 องค์กรได้แก่ ตนเอง พร้อมกับนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ปรึกษาเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และนายสุทธิเกียรติ โสภณิก ผู้อำนวยการมูลนิธิพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ หารือแนวทางร่วมกันเพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงานในพื้นที่เน้นลดความหวาดระแวง สร้างความเข้าใจ และสมานฉันท์ เพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2551 ที่ผ่านมาว่า ที่จังหวัดยะลา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือองค์กรอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


 


โดยเฉพาะกำชับในเรื่องการใช้โครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ พตท.ให้มีประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามตนคงจะไม่เข้าไปร่วมอยู่ในโครงสร้างดังกล่าวด้วย แต่ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา


 


ผลดีที่จะเกิดขึ้น เช่น การเข้าพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน จะไม่ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพราะจะมีการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านแม้ว่าการเข้าพื้นที่ของเจ้าหน้าที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงจะมีความเข้าใจดี แต่บางครั้งก็ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าต่อไปจะลักษณะที่ดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net