Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2551 เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ได้จัดเวทีสาธารณะ "องค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด: ทางออกในการแก้ปัญหาเขตอนุรักษ์ทับที่ของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด" ที่ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน บ้านเขาไพร ตำบลเขาไพร อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เพื่อร่วมยืนหยัดและประกาศเจตนารมณ์ในการต่อสู้กับความเป็นธรรม หลังจากได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในที่ทำกิน อันเนื่องมาจากการประกาศอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกิน โดยมีชาวบ้านจาก 13 องค์กรในเครือข่ายเข้าร่วม


 


"นายประพันธ์ ทองไทย" เริ่มงานโดยการรายงานความเป็นมาขององค์กรบ้านเขาไพร จากนั้น "นายบุญ แซ่จุ่ง" ได้บรรยายถึงพัฒนาการของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด พร้อมกับเชิญตัวแทนชาวบ้านให้ร่วมอภิปราย ต่อด้วยการเสวนาถึงบทเรียนของเครือข่ายฯ กับการแก้ปัญหาสังคม โดยเน้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน โดยตัวแทนเครือข่ายจากพื้นที่ต่างๆ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนกัน


 


นายเชียร ช่วยพันธุ์ เป็นตัวแทนเครือข่ายฯ คนแรก ขึ้นมาพูดถึงระยะเวลากว่า 8 ปีที่ต่อสู้กับรัฐ เรื่องอุทยานทับที่ทำกินของชุมชน ได้เรียนรู้หลายอย่าง จนทำให้ชาวบ้านค่อนข้างจะรู้ทันภาครัฐมากขึ้น และมีการอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการจัดการป่า ซึ่งนายเชียรระบุว่า ในเรื่องการแก้ปัญหานั้น ถูกบิดเบือน ไม่ได้แก้ปัญหาจริง แต่ยิ่งเพิ่มปัญหา ชุมชนเองยังมีเรื่องการอุปถัมภ์จากนักการเมืองบ้าง จากภาครัฐบ้าง ซึ่งมันกดทับให้ชุมชนอ่อนแอ จนถึงวันนี้ก็ยังมีอยู่


 


"ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นลักษณะที่พูดอย่างทำอย่าง เพราะถึงจะให้สิทธิมากมายก็ตาม แต่เวลาจะใช้กลับมีกฎหมายอื่นมาลิดรอนสิทธิ ต่อให้รัฐธรรมนูญดีที่สุด แต่กลับมีกฎหมายอื่นมากมายมากดทับ เพราะฉะนั้นที่บอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มาวันนี้ไม่รู้ว่าเป็นกฎหมายสูงสุดจริงหรือไม่" นายเชียร กล่าว


 


นายสายันย์ ทองสม ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า คนในชุมชนมองปัญหาเรื่องที่ดินของชาวบ้านโดนรัฐบุกรุกว่าเป็นเรื่องของคนอื่น หรือไม่ก็มองว่าเป็นเรื่องของรัฐ จึงไม่สนใจเรื่องที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของบุคคล โดยท้ายสุด ได้ตั้งคำถามว่า


 


"สิทธิของความเป็นคนนั้น มันไม่มีจริง เป็นสิทธิที่จอมปลอม เราไม่แสดงความเป็นเจ้าของบ้านที่ยิ่งใหญ่ เวลาเราทะเลาะกันเรื่องปักเขตแดนที่ดินล้ำเข้าไปในพื้นที่คนอื่น ถึงกับมีการฆ่ากัน แต่พออุทยานแห่งชาติประกาศทับที่ทำกินของเรา เรากลับไม่มาร่วมกันหาทางแก้"


 


ทางด้าน นายประสิทธิ์ จิตรา กล่าวว่าปัจจัยภายนอกมีส่วนทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเรียกร้องสิทธิของตน เพราะทุกวันนี้กลุ่มองค์กรต่างๆ ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เนื่องจากถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มเถื่อน ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหัวแข็ง ชอบประท้วง เป็นพวกเอ็นจีโอ แต่อย่างไรก็ดี โดยรวมถือว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีความเข้าใจองค์กรชาวบ้านมากขึ้น


 


ต่อจากนั้น นายอำนวย พงศ์ชู เสนอว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ของเครือข่าย ควรทบทวนว่าเราเรียนรู้อะไรบ้าง เราเรียนรู้เรื่องของเจ้าหน้าที่บ้างหรือไม่ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ หมายความว่า เขารู้เรา แต่เราไม่รู้เขา


 


"พวกเราได้เสียเอกราชความเป็นชุมชนไปแล้ว เพราะที่ดินเป็นของเรา แต่เราไม่มีสิทธิ์ ถ้าเราต้องการเอกราชก้ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้หรือปกป้องที่ดินทำกินของเรา สังคมทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่บอกว่า เราไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แต่เป็นเพียงแค่คนเฝ้าสวนให้เท่านั้น ถึงเราเชื่อว่านั่นคือที่ดินของเรา แต่เขาบอกว่าเราไม่มีสิทธิ"


 



 


นายสุชาติ สงจันทร์ เป็นคนต่อไปที่ขึ้นมาแสดงความคิดเห็น บอกว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นผลพวงจากเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งไม่รู้ว่าของใคร และการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชน เช่น การใช้กฎหมายมาดำเนินคดีกับชาวบ้าน แล้วสุดท้ายก็เกิดการแย่งชิงทรัพยากรไป


 


เขาบอกด้วยว่า "รัฐธรรมนูญปี 2550 บอกว่าจะเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ถามว่าตอนนี้เพิ่มอำนาจให้ประชาชนหรือยัง แล้วรัฐได้ลดอำนาจลงหรือยัง เราต้องเรียนรู้เรื่องสิทธิ์ เพราะไม่มีใครเอามาให้ เราต้องเรียนรู้เอาเอง"


 


ในส่วนของ นายสมนึก พุฒนวล บอกว่า ภายใต้รัฐบาลทุนนิยม มันกระทบไปถึงเรื่องทรัพยากร ซึ่งก็เห็นว่ามันมีปัญหามาก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ชาวบ้านเองก็ตกอยู่ในระบบทุนนิยม ความเป็นพี่น้องกันในชนบทก็ถูกทำลายหมด การออกปากขอช่วยทำนากลายเป็นต้องจ้างทั้งหมด


 


นายสมปอง จิตรบุญ กล่าวเสริมว่า หากพูดเรื่องมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่พูดถึงนั้น ออกในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เอง ดังนั้นในการต่อสู้ขององค์กรชาวบ้านจำเป็นต้องรู้เท่าทันระบบทุนด้วยและรู้เท่าทันนโยบายรัฐ ต้องยืนบนลำแข้งลำขาของตัวเองให้ได้


 


ส่วนในเวทีเสวนาวิชาการเรื่องกฎหมาย นโยบายกับปัญหาป่าไม้ที่ดินและการทำมาหากินของชาวบ้านนั้น นางศยามล อนุกรรมการที่ดินและป่าไม้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้กฎหมายให้ชาวบ้านร่วมดูแลป่า ร่วมทำกินในป่า เป็นไปได้ยาก เพราะคนในสังคมไม่ยอมรับ โดยเฉพาะแถบเทือกเขาบรรทัดคนที่เขาไปอยู่มีความหลากหลายมาก


 


"ถ้าทำให้คนเปลี่ยนความคิดได้ กฎหมายด้านป่าไม้จึงจะตามมา คนต้องเชื่อว่าชาวบ้านดูแลป่าได้ ทุกวันนี้ฝ่ายทุนเข้ามาจัดการได้อย่างเสรีในแง่การลงทุน อย่างที่พี่น้องภูเก็ตและพังงากำลังเผชิญอยู่ เพราะทุนมาและไปเร็ว ถ้ารัฐบาลไม่อุดหนุนภาคเกษตรอย่างแท้จริง ชาวบ้านมีโอกาสที่จะขายที่ดินสูงมาก สังเกตจากกรณีหนึ่งในภาคกลาง การจะรักษาป่าต้องระมัดระวังว่าการให้เอกสารสิทธิ์ว่าจะมีผลดีอย่างไร เพราะอาจเป็นช่องทางให้เกิดการขายที่ดินได้ดี ซึ่งการขายที่ดินเป็นสิ่งที่เข้าไปอยู่ในระบบทุนแล้ว"


 


ส่วน นายไพโรจน์  พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยกตัวอย่างการปฏิรูปที่ดินโดยการออกโฉนดชุมชนที่มีความพยายามทำอยู่ที่จังหวัดลำพูน โดยเสนอให้มีการปฏิรูปโดยชุมชน ซึ่งทำโดยตรวจสอบว่าที่ดินในชุมชนออกเอกสารสิทธิถูกต้องหรือไม่ และให้มีการออกโฉนดชุมชนเพื่อแบ่งให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และให้ชุมชนดูแลกันเอง แนวคิดนี้ ป้องกันมิให้ระบบทุนเข้ามาใช้อำนาจในการซื้อที่ดินได้ และพลังของมวลชนสามารถต่อรองกับระบบทุนได้ดี ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่สำเร็จ แต่ก็ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสม


 


จากนั้น ทุกคนได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมกับภาคีอื่นๆ ในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม จะร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายฯ และจะจับมือร่วมกัน เพื่อไม่ยอมให้ใครรังแก เพื่อความอยู่รอดของชาวบ้าน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net