Skip to main content
sharethis


วิทยากร  บุญเรือง และ กานต์ชนก  เกตุมงคล



การเพาะปลูกเพื่ออุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหารเลี้ยงชาวโลกแล้ว


(ที่มาภาพ: Rick Wilking/Reuters)

อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกผลักให้ราคาอาหารสูงขึ้น

ที่ใจกลางทุนนิยมโลก, สหรัฐอเมริกา มีการคาดการกันว่าอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกกำลังสร้างปัญหาให้กับปริมาณและราคาอาหารที่คนใช้บริโภค - โดยเฉพาะธัญพืชซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญบนโต๊ะอาหารในประเทศที่มีวัฒนธรรมการกินขนมปัง

สำหรับสหรัฐอเมริกา ความต้องการธัญพืชเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นสูงมากขึ้น รวมถึงการที่รัฐบาลอเมริกันได้อุดหนุนอุตสาหกรรมนี้ด้วย ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ข้าวโพดถูกนำไปผลิตเอธานอลเพิ่มขึ้นจากระดับ 6% เป็น 25% ในปีที่แล้ว


ถึงแม้เมื่อปีที่แล้วภาคเกษตรของสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตข้าวโพดได้สูงเป็นประวัติการณ์ และดังที่กล่าวไปข้าวโพดประมาณ 25% ถูกนำไปผลิตเอธานอล รวมถึงคาดการณ์กันว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ภายใน 2 ปี หลังจากที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ลงนามกฎหมายพลังงานสหรัฐฉบับใหม่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปีที่แล้ว


ในสหรัฐอเมริกา ข้าวโพดซึ่งราคาปกติจะอยู่ที่ 2 ดอลลาร์ต่อหนึ่งถ้วยตวง ปัจจุบันขยับขึ้นเป็น 3 ดอลลาร์ ส่วนข้าวสาลีจากราคา 3 - 4 ดอลลาร์ มาเป็น 9 ดอลลาร์ไปเมื่อไม่นานนี้


ราคาธัญพืชที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลกระทบถึงผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ และนม เมื่อปีที่แล้วผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมมีราคาเพิ่มขึ้นสูงถึง 13% ส่วนไข่เพิ่มขึ้นถึง 42%


เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ผลกระทบจากสถานการณ์แย่งชิงวัตถุดิบ ระหว่างการผลิตอาหารและอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกกับการนำไปเป็นอาหารยังคงรุนแรงเช่นนี้มีการคาดการกันว่าในปี ค.ศ. 2025 จะมีผู้ที่อดอยากถึง 1,200 ล้านคน


จากรายงานของ Earth Policy Institute พบว่าว่า ธุรกิจการผลิตเอธานอล (ethanol) อันเป็นพลังงานทางเลือกที่ผลิตจากธัญพืช ที่กำลังเจริญเติบโตนี้ อาจจะส่งต่อเหตุการณ์ไม่สงบทางสังคมและภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางที่นำเข้าธัญพืชจำนวนมาก


ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้ออกมาเตือนว่า 37 ประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญวิกฤติอาหาร และราคาธัญพืชที่ระดับสูงในตลาดโลกได้กระตุ้นให้เกิดการจลาจลทางอาหารในบางประเทศแล้ว


ทั้งนี้เกษตรกรและพ่อค้าคนกลางในประเทศร่ำรวยมักจะได้ผลกำไรหากพืชผลทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น แต่สำหรับประเทศที่ยากจน อย่างเช่นประเทศในเขตซับ-ซาฮารา (sub-Saharan) ในทวีปแอฟริกาที่ผลิตอาหารเองแทบไม่ได้ ต้องนำเข้าสินค้าเพื่อผลิตอาหารเป็นจำนวนมหาศาล


International Food Policy Research Institute รายงานว่าประเทศยากจนบางประเทศต้องเสียงบประมาณมากกว่า 70% ในการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร และประชากรส่วนใหญ่ในเขตซับ-ซาฮาราแทบที่จะไม่มีอาหารคอยประทังความหิว



เครื่องปรุงอาหารสามัญประจำครัวอย่างน้ำมันพืช
ราคาต่อขวดทะลุ
50 บาทไปแล้ว

สถานการณ์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยมักที่จะโอ้อวดถึงการเป็นประเทศการเกษตรที่มีผลิตผลเลี้ยงคนในประเทศได้อย่างเหลือเฟือ แต่ในขณะนี้ปัญหาจากผลกระทบของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกก็ได้คืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ และค่อยๆ น่ากลัวยิ่งขึ้น

ปัจจุบันนี้ ราคาข้าวโพดปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกิโลกรัมละ 4-5 บาท มาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ปรากฏการณ์นี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อธิบายว่าว่าเกิดจากผลกระทบของนโยบายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกของสหรัฐอเมริกา ทำให้การปลูกข้าวโพดมีราคาดีขึ้น


จากข้อมูลของ สศก. พบว่าปัจจุบันประเทศไทยปลูกข้าวโพดคิดเป็นปริมาณทั้งหมด 36 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศที่ 6 ล้านไร่ ราคาเฉลี่ยของข้าวโพดอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 8 บาท และการที่ราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ทำให้มีแนวโน้มว่าเกษตรกรไทยจะขยายการเพาะปลูกข้าวโพดในปี พ.. 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 6.16 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้น 2.6%


ทั้งนี้อาจจะทำให้เกษตรกรไทยจะต้องลดพื้นที่เพาะปลูกพืชชนิดอื่นลง เพื่อปลูกข้าวโพดที่มีราคาดีกว่า --ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อพื้นที่ต้นน้ำต่างๆ บ้างแล้ว เมื่อเกษตรกรต่างพากันแต่มาปลูกข้าวโพดป้อนให้กับบรรษัทใหญ่ทำเอธานอล


ผลกระทบต่อราคาอาหาร ถึงแม้คนไทยไม่ได้บริโภคข้าวโพดหรือแป้งจากข้าวโพดเป็นอาหารหลัก แต่อาจจะส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณข้าวโพดที่ต้องป้อนให้แก่โรงงานผลิตอาหารสัตว์มีไม่เพียงพอ เนื่องจากถูกอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกช่วงชิงวัตถุดิบไป


สำหรับซีพี (CP) บรรษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยนั้น ในส่วนของซีพีเอง สามารถผลิตข้าวโพดได้ปีละประมาณ 3 ล้านตัน ส่วนใหญ่ป้อนโรงงานอาหารสัตว์ทั้ง 12 โรงงาน ซึ่งมีความต้องการใช้ปีละ 2.5 ล้านตัน


ซีพีเองก็ได้เตรียมความพร้อม สำหรับการเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านแล้วกว่า 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมในประเทศกัมพูชา 500,000 ไร่ ลาว 300,000 ไร่ พม่า 700,000 ไร่ และเวียดนาม 1,700,000 ไร่ - การขยับของซีพีครั้งนี้คาดว่าราคาข้าวโพดอาจเป็นตัวแปรสำคัญของราคาเนื้อสัตว์ในอนาคต


นอกเหนือจากข้าวโพดแล้วกรณีของปาล์มและพลังงานทางเลือกอย่างไบโอดีเซล ก็ได้ส่งผลต่อราคาอาหารโดยตรง -- จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าขณะนี้ความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดสูงมากจากปริมาณความต้องการผลิตไบโอดีเซล


ปัจจุบันราคาปาล์มน้ำมันพุ่งขึ้นสูง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี พ.. 2549 โดยในเดือนมิถุนายน พ.. 2550 ราคาปาล์มน้ำมันพุ่งขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 4.46 บาท จากที่เคยอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 2.74 บาท


และในปัจจุบันถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม .. 2551 อนุมัติให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศจำนวน 30,000 ตัน แต่ราคาปาล์มสดได้ปรับลดลงจากกิโลกรัมละ 5.80-6.00 บาท เหลือ 5.60 บาท ในวันที่ 25 มกราคม .. 2551 น้ำมันปาล์มดิบจากกิโลกรัมละ 36.50 บาท เหลือกิโลกรัมละ 34 บาท -- ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับราคาที่สูงอยู่


ปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันพืชที่เพิ่มสูงขึ้นโดยตรง โดยขณะนี้กรมการค้าภายใน ได้อนุญาตให้ผู้ขายน้ำมันพืชปาล์มเพื่อการบริโภคปรับขึ้นอีก 4 บาท ส่งผลให้น้ำมันพืชปาล์มมีราคาจำหน่ายปลีกที่ 47.50 บาท - ส่วนราคาจำหน่ายหน้าร้านค้าปลีกทะลุขวดละ 50 บาทไปแล้ว (จากการสำรวจเมื่อวันที่ 5 .. 2551)


ทั้งนี้แผนการของรัฐเองก็ได้พยายามสนับสนุนการปลูกปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล -- โดยกระทรวงเกษตรได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตปาล์มน้ำมันไว้ในช่วง 5 ปี (2551-2554) ไว้ที่ 6 ล้านไร่ หรือปลูกเพิ่มขึ้น 2 แสนไร่ รวมผลผลิต 18 ล้านตันต่อปี ส่วนกระทรวงพลังงานได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนทางการเงินเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน 1 ล้านไร่ ทั่วประเทศ นำมาผลิตไบโอดีเซลทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซล 10% ภายในปี 2555


ส่วนมันสำปะหลัง ก็กำลังจะมีการขยายพื้นขนานใหญ่เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเอธานอลอาจจะส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรอื่นๆ


สถานการณ์ที่น่าจับตา คือในแถบภาคอีสาน เนื่องจากทางรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.ป.ก. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท บุญเอนก จำกัด และบริษัท พลังเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร ให้ปลูกมันสำปะหลังป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตเอธานอลเป็นพลังงานทดแทน ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังในเขตปฏิรูปที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.. 2551-2552 มีพื้นที่เป้าหมายกว่า 500,000 ไร่ เกษตรกรประมาณ 25,000 ราย


โครงการนี้ดำเนินการในรูปแบบคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) แบ่งพื้นที่ส่งเสริมออกเป็น 2 กลุ่ม โดยบริษัทบุญเอนก จะส่งเสริมเกษตรกรในเขตจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ และชัยภูมิ พื้นที่นำร่อง 302 ตำบล ประมาณ 300,000 ไร่


ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้มีแผนจัดตั้งโรงงานผลิตเอธานอลจากมันสำปะหลังขึ้นที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิต 1,050,000 ลิตร/วัน หรือประมาณ 346.5 ล้านลิตร/ปี มีความต้องการมันสำปะหลังสดป้อนเข้าโรงงานวันละประมาณ 6,600 ตัน หรือกว่า 2.2 ล้านตัน/ปี


นอกจากนี้ผลกระทบทางอ้อมจากราคาข้าวโพดที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากนำไปผลิตเอธานอลนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง เพราะมีการนำมันสำปะหลังไปเป็นพืชทดแทนข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์ มีการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าปกติในช่วงที่มันสำปะหลังมีราคาสูง แต่มันสำปะหลังที่ขุดในช่วงดังกล่าวเป็นมันอ่อนยังไม่ครบอายุ ขนาดหัวมันจึงเล็กกว่าปกติและส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง



พลังงานทางเลือกเป็นเพียงอีกหนึ่งตัวเร่งให้อุตสาหกรรมพลังงานทั้งหมดได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
แต่ผู้บริโภคมีแต่จ่ายแพงขึ้น (ที่มาภาพ: www.starchildscience.org)

จากปัญหาหนึ่งสู่อีกปัญหาหนึ่ง

ตั้งแต่ปี ค.. 1961 การปฏิวัติเขียวอาจจะทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรเฟื่องฟูขึ้น ปริมาณผลผลิตทางเกษตรพื้นฐานอย่างข้าวเพิ่มสูงขึ้นถึง 164% และเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 700% เลยทีเดียว

ในทางตรงกันข้าม ประชากรยากจนของโลกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 112% แต่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ช่วยให้คนหิวโหยเข้าถึงอาหารได้อย่างถ้วนหน้า ,รวมถึงปัญหาใหม่นั่นก็คือการรุกคืบของอุตสาหกรรมพลังงาน


คล้ายๆ จะเป็นความหวังใหม่สำหรับประเทศที่ไม่มีพลังงานอย่างน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน เมื่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าจนสามารถสกัดเอาพืชผลทางการเกษตรมาเป็นพลังงานได้ ที่เรารู้จักกันในนามพลังงานทางเลือกต่างๆ


แต่ระบบทุนนิยมกลไกตลาดและการฮั้วกันของธุรกิจพลังงาน ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นอีกครั้งว่าวิกฤติทุกอย่างสามารถแปรเปลี่ยนเป็นมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นของผู้ถือหุ้น - การพุ่งขึ้นสูงขึ้นอย่างมหาศาลของพลังงานเก่า (น้ำมัน) ได้ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของพลังงานทางเลือกเพิ่มสูงขึ้น


การใช้พลังงานเก่าไม่ได้ลดความสำคัญลงมากนัก ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นยิ่งทำให้ธุรกิจพลังงานมีรายได้เพิ่มสูง แต่การเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทางเลือกกลับไปสร้างอีกปัญหา นั่นก็คือเรื่องความมั่งคงทางอาหาร


หนำซ้ำพลังงานทางเลือกกำลังถูกทำให้กลายเป็นแฟชั่นทางการเมือง เช่นเดียวกับเรื่องโลกร้อนหรือโยงทั้งสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน แต่ทั้งนี้พลังงานทางเลือกจำพวกไบโอดีเซลหรือเอธานอลก็ไม่ได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนไปมากเท่าใดนัก


นิวยอร์คไทม์ (The New York Times) ได้เคยนำเสนอรายงานชิ้นหนึ่งว่าอินโดนีเซียได้ทำการถางป่ามหาศาลเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์ม เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย - นี่ไง! เราเห่อเรื่องพลังงานทางเลือกกันนัก จนลืมปัญหาคลาสสิคในแบบเรียนประถมศึกษาอย่างการตัดไม้ทำลายป่าไปแล้วหรือ?


เรื่องของพลังงานทางเลือกจึงเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เราอย่าเพียงใช้มุมมองโรแมนติคชื่นชมแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเพียงอย่างเดียว - หากแต่ปรากฏการณ์นี้ควรเฝ้ามองมันอย่างลุ่มลึกและระมัดระวัง โดยเฉพาะประเทศที่มีต้นทุนทางวิถีเกษตรกรรมอันมหาศาลอย่างบ้านเรา


ประกอบการเขียน:

Samuelson: Food vs. Fuel  (Newsweek - January 31, 2008)
Group: Ethanol pushing up food prices (AP - January 29, 2008)
Cheap no more (The Economist - December 06, 2007)
ชาวสวนปาล์มฯกระบี่วอนรัฐ นำเข้าครั้งเดียวหวั่นราคาตก (ฐานเศรษฐกิจ
- February 06, 2008)
สศก.เตือนเกษตรกรมันสำปะหลัง เร่งเก็บเกี่ยวทำท่อนพันธุ์ขาดแคลน (แนวหน้า
- February 04, 2008)
ซีพีหนุนเพื่อนบ้านปลูกข้าวโพด ป้อนกลับโรงงาน-ย้ำไม่ส่งเสริมคนไทยรุกป่า (ข่าวสด
- January 20, 2008)
จุดพลุ 'พลังงานทดแทน' เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว (กรุงเทพธุรกิจ
Biz Week - December 09, 2007)
รากหญ้าอ่วม!ซื้อของแพงหูฉี่ (ฐานเศรษฐกิจ
- February 06, 2008)
สหรัฐบูม"เอทานอล"ดันราคาข้าวโพดพุ่ง ซีพีสบช่องยึดเพื่อนบ้านฐานผลิต (กรุงเทพธุรกิจ - April 18, 2007)

ข่าว - รายงาน - บทความ ที่เกี่ยวข้องในเวบประชาไท

ภัควดี รายงาน: บทเรียนจาก NAFTA: วิกฤตการณ์ราคาข้าวโพดในเม็กซิโก
เอธานอล: พลังงานหวานซ่อนขม
เครือข่ายป่าดงนาทาม เผยชาวบ้านแห่ปลูกมันรับผลิตเอทานอล
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net