Skip to main content
sharethis

 



ภาพจาก www.greenpeace.org/greenerelectronics


 


การจัดอันดับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวฉบับล่าสุดของกรีนพีซ [1] ระบุ ซัมซุง และโตชิบา ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ด้วยคะแนน 7.7 จาก 10 คะแนน ขึ้นนำโนเกียซึ่งเคยอยู่อันดับแรกมาหลายครั้งติดต่อกัน แม้โนเกียจะมีความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นผู้ผลิตที่ดีในหลายประเทศ เช่น ไทยและฟิลิปปินส์ แต่ยังทำได้ไม่ดีในประเทศอินเดียและรัสเซียจึงทำให้เสียคะแนนไปบางส่วน


 


ทั้งนี้ โมโตโรล่าเริ่มมีจุดรับซากผลิตภัณฑ์หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) ของตนแล้วในหลายประเทศรวมถึงในไทย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการด้านความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่ดีขึ้นจึงได้เลื่อนอันดับขึ้นมาเป็นที่ 12 จาก 14 ในขณะที่อันดับสุดท้ายยังคงเป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นเกมส์นินเทนโดเหมือนเดิม ซึ่งได้คะแนนเพียง 0.3 คะแนน 


 


ในการจัดอันดับที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กรีนพีซใช้หลักเกณฑ์การเลิกใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์และการรับผิดชอบต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนในการประเมินจัดอันดับ ซึ่งผู้ผลิตที่ได้รับจัดอันดับต่างแข่งขันกันและมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้น เพื่อให้การจัดอันดับเข้มข้นและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในการจัดอันดับครั้งต่อไปกรีนพีซจะปรับหลักเกณฑ์การให้คะแนนที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงนำหลักเกณฑ์ด้านพลังงานรวมเพิ่มเข้ามา [2]


               


อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีการระบบการจัดการเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทั้งต่อน้ำและอากาศ  กรีนพีซจะเริ่มนำหลักเกณฑ์ด้านการประหยัดพลังงานของผลิตภัณฑ์และการใช้พลังงานสะอาดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) [3] จากกระบวนการผลิตมาประเมินด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศโลก (carbon footprint) ได้เป็นอย่างดี   


 


"การที่ผู้ผลิตปรับปรุงนโยบายและมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีจะเกิดแต่ประโยชน์ ทั้งเป็นการช่วยให้สินค้าของตนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงกลายเป็นขยะหลังการใช้งาน" นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


 


ซัมซุง มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายที่ประกาศไว้และมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ร่วมกับ โตชิบา ซึ่งขึ้นมาจากอันดับ 6 ในครั้งที่แล้ว โดยได้คะแนนเพิ่มจากเกณฑ์ความรับผิดชอบของผู้ผลิต [4] ในขณะที่ ฟิลิปส์ พานาโซนิค และ ชาร์ป ยังเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากผลิตภัณฑ์ของตนจึงยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มอันดับท้ายตาราง โดยมีคะแนนที่ยังไม่เกินครึ่ง (ต่ำกว่า 5 คะแนน) และอันดับท้ายสุดคือ นินเทนโด ซึ่งได้คะแนนเพียง 0.3 คะแนนจากนโยบายด้านสารเคมีที่ดีขึ้นเล็กน้อย


 


"การที่จะทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสีเขียวอย่างแท้จริงจะต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารพิษ ประหยัดพลังงาน มีความทนทาน และสามารถนำชิ้นส่วนมารีไซเคิลได้ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อซากผลิตภัณฑ์ของตน" นายพลายกล่าวสรุป


 


 


หมายเหตุ


[1] คู่มือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว สามารถค้นหาได้ที่


 http:// www.greenpeace.org/greenerelectronics


 


[2] รายละเอียดเพิ่มเติมของหลักเกณฑ์ประเมิน สามารถค้นหาได้ที่ http://www.greenpeace.org/electronicscriteriasummary


 


[3] อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลก ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมประมาณร้อยละ 2 ของปริมาณทั้งหมดที่ปล่อยทั่วโลก ซึ่งเป็นปริมาณเท่ากับอุตสาหกรรมการบิน (ตามผลศึกษาของบริษัท Gartner)


 


[4] Toshiba (และ Samsung, Sony และ LGE) ได้ออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่ม Electronic Manufacturer"s Coalition for Responsible Recycling ของสหรัฐ (US-based lobby group) ซึ่งเจรจาต่อรอง และสนับสนุนเรียกร้องเพื่อให้ผู้บริโภคจ่ายเงินค่ารีไซเคิล (Advance Recycling Fees, ARFs) ซึ่งแตกต่างจากนโยบายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Individual Producer Responsibility) ที่เสนอโดยกรีนพีซและผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งผลักดันให้ความรับผิดชอบทั้งหมดดังกล่าวต้องเป็นของผู้ผลิตอย่างเดียว


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net