Skip to main content
sharethis


 



 


กล่องบรรจุกระดาษชำระที่มีเครื่องหมายของกาชาดนี้ ถูกนำมาวางจำหน่ายในตลาดมิงกะลาในกรุงย่างกุ้ง ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 14 พ.ค. ที่ผ่านมาโดยผู้สื่อข่าว Mizzima ซึ่งรายงานว่าสิ่งของที่ได้รับการบริจาคจากหน่วยงานนานาชาติถูกขโมยโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลรู้เห็น และถูกนำมาวางขายในตลาดมืด (ที่มาของภาพ: Mizzima)


 


สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลทหารพม่าแจ้งมีผู้เสียชีวิตหลังไซโคลนนาร์กีสถล่ม 77,738 ราย กาชาดสากลเชื่อเกินแสน พบคนพม่าต้องให้ช่วยเหลือกันเองเมื่อความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นไปอย่างจำกัด เผยผู้รอดชีวิตยืนรอความช่วยเหลือสองข้างทาง อาสาสมัครพม่าเผยมีจำนวนมากจนช่วยได้ไม่หมด ขณะที่รัฐบาลพม่าเพิ่มมาตรการเข้มเพิ่มจุดตรวจห้ามชาวต่างประเทศออกนอกย่างกุ้งไปยังพื้นที่ประสบภัย


 


วันศุกร์นี้ เกิดฝนตกห่าใหญ่ในพื้นที่ปากแม่น้ำอิระวดีซึ่งพายุเพิ่งพ้นผ่าน ในขณะที่เหยื่อพายุหลายพันคนออกมายืนสองข้างถนนเพื่อขอสิ่งของบรรเทาทุกข์เพิ่มเติมนอกเหนือจากความช่วยเหลือที่เป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ยของรัฐบาล


 


รอยเตอร์อ้างรายงานของสถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลทหารพม่า ที่ประกาศล่าสุดวานนี้ (16 พ.ค.) ว่ามีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 77,738 ราย เพิ่มขึ้นจากตัวเลขที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ที่ 43,328 ราย MRTV ยังระบุว่ามีผู้สูญหายที่ 55,917 ราย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากตัวเลขก่อนหน้านี้ที่ 27,838 ราย นอกจากนี้ตัวเลขผู้บาดเจ็บที่เคยระบุไว้ที่ 1,403 รายก็เพิ่มขึ้นเป็น 19,359 ราย


 


ทั้งนี้ MRTV ระบุว่าเป็นสถิติของวันที่ 15 พ.ค.


 


ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอิสระประมาณการตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มากกว่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ของอังกฤษกล่าวว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันแล้วน่าจะมากกว่า 2 แสนราย


 


การประมาณการตัวเลขผู้เสียชีวิตและความสูญเสียเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ความอัตคัตขัดสนอันเกิดภายหลังการทำลายล้างของพายุไซโคลน ทำให้ผู้คนรอคอยใครสักคนให้ความช่วยเหลือ


 


000


 


หลังจากพายุถล่ม ที่เมืองคุนยันโกง (Kunyangon) ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 100 กิโลเมตร ที่นั่น ผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิง รวมทั้งเด็กยืนตากฝนอยู่ในหล่มโคลน พวกเขาจับมือกันแน่น เฝ้ารอโอกาสว่าจะมีความช่วยเหลือจากยานพาหนะที่แล่นผ่านไปมา


 


"สถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นมาโดยกินเวลาสองวัน" อาสาสมัครบรรเทาทุกข์คนหนึ่งกล่าว ขณะที่เด็กๆ จำนวนมากเข้ามากลุ้มรุมที่รถของเขา มือเปื้อนฝุ่นของเด็กๆ ยื่นเข้ามาจากนอกหน้าต่างรถเพื่อขอเศษเสื้อผ้าและขนมปัง


 


คำร้องขอที่ไร้ความหวังของพวกเขาก่อให้เกิดรอยร้าวกับรัฐบาลพม่า ที่ประกาศเป็นผู้จัดส่งความช่วยเหลือให้กับประชาชน 2 ล้าน 5 แสนคนที่รอดจากพายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มเมื่อ 2 พ.ค. ซึ่งผลของพายุทำให้พื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำอิระวดีกินพื้นที่กว้างเทียบได้กับประเทศออสเตรียจมอยู่ใต้น้ำ


 


การห้ามผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าพื้นที่ การควบคุมการให้ความช่วยเหลือด้านบุคลากรของนานาชาติ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประสบภัยในแง่มุมที่เป็นอิสระ


 


 


ปฏิบัติการอันราบรื่น?


 


พวกนายพลในรัฐบาลทหารพม่ายืนยันว่าการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างราบรื่น พวกเขาไม่อนุญาตให้มีการบรรเทาทุกข์โดยเครือข่ายขององค์กรและบุคลากรที่มาจากต่างประเทศ


 


แต่การให้ความช่วยเหลืออาจไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะรัฐบาลทหารยังประกาศในหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลในวันศุกร์นี้ (16 พ.ค.) ว่าจะมีมาตรการทางกฎหมายออกมาจัดการกับใครก็ตามที่ขโมยหรือนำข้าวของบรรเทาทุกข์ไปขาย ซึ่งประกาศนี้เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวลือที่ว่าทหารชั้นผู้น้อยเที่ยวยึดรถบรรทุกอาหาร ผ้าห่ม และน้ำที่กำลังขนสิ่งของไปช่วยประชาชน


 


ถ้าสิ่งของบรรเทาทุกข์ยังไปไม่ถึงพื้นที่ประสบภัยในจำนวนที่มากกว่านี้ ความอดอยาก โรคระบาดจะกลายเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงนับจากนี้


 


องค์กรระหว่างประเทศด้านสุขภาพแห่งหนึ่งยืนยันรายงานที่ว่ามีผู้รอดชีวิตจากพายุไซโคลนป่วยเป็นอหิวาห์ตกโรค แต่ตัวเลขที่ได้รับยังอยู่ในระดับปกติเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของพื้นที่นี้


 


นอกจากนี้มอรีน เบอร์มิงแฮม เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก WHO กล่าวที่กรุงเทพว่าขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของอหิวาห์ตกโรค


 


ขณะนี้ ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหลังพายุไซโคลนจำนวนมากที่เข้าไปอาศัยอยู่ในวัด โรงเรียน หรือเพิงพักอาศัยชั่วคราว กำลังประสบกับโรคท่องร่วง บิด และโรคติดต่อทางผิวหนัง


 


 


อียูเตือนให้เปิดรับความช่วยเหลือ


 


เจ้าหน้าที่ฝ่ายบรรเทาทุกข์ระดับสูงของยุโรป หลุยส์ มิเชล เข้าพบกับรัฐมนตรีพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี (15 พ.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อร้องขอให้รัฐบาลพม่ารับความช่วยเหลือด้านบุคลากรจากต่างประเทศ และรับเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อหยุดจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต ซึ่งองค์กรกาชาดสากลกล่าวว่าน่าจะเพิ่มสูงเกิน 128,000 ราย


 


แต่มิเชลก็ได้รับคำตอบเหมือนกับคณะทูตที่ผ่านมา คือถูกรัฐบาลพม่าปฏิเสธ


 


"ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับประชาคมโลกเป็นสิ่งยากเย็นยิ่ง" มิเชลกล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ "แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของฉัน นี่ไม่ใช่เวลาถกเถียงเรื่องการเมือง นี่เป็นเวลาที่จะส่งความช่วยเหลือเพื่อรักษาชีวิตผู้คน"


 


ดูท่าว่าบรรดานายพลในรัฐบาลทหารพม่าคงไม่ต้องการยกเลิกการห้ามผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าไปในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ด้วยเกรงว่าคนพวกนี้จะไปสั่นคลอนอำนาจที่พวกเขาครองอยู่กว่า 46 ปี


 


"เราสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเป็นผลสำเร็จในขั้นแรก และเรากำลังมุ่งไปสู่การบูรณะอันเป็นขั้นตอนที่สอง" สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลพม่าอ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรีพม่า เตง เส่ง (Thein Sein) ที่กล่าวกับคณะของนายกรัฐมนตรีไทยในอาทิตย์นี้


 


แต่รัฐบาลพม่าเพิ่งประกาศผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 10 พ.ค. ที่มีตัวเลขผู้รับรองชนิดถล่มทลาย ในขณะที่เลื่อนวันลงประชามติสำหรับประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติออกไป ดูท่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ใส่ใจกับการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากพายุตามที่อ้างมากนัก


 


 


ความช่วยเหลือจำกัดจำเขี่ย


 


สองสัปดาห์หลังพายุนาร์กิสพัดถล่มลุ่มน้ำอิระวดีอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของประเทศพม่า ... อาหาร ยา และที่อยู่อาศัยชั่วคราวถูกจัดส่งไปยังชุมชนที่ประสบภัยเหล่านี้อย่างจำกัดจำเขี่ย และไม่มีคุณภาพพอ


 


ความท้อแท้จากการตอบสนองของรัฐบาลพม่าที่ล่าช้า ประชาชนพม่าต้องแก้ไขชะตากรรมของพวกเขาด้วยตัวเอง พวกบริษัทและภาคเอกชนพม่าในขณะนี้กำลังขนส่งเสื้อผ้า ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสารผ่านทางรถบรรทุก รถยนต์เข้าไปในพื้นที่ประสบภัย


 


"มีผู้คนจำนวนมาก แต่เราไม่สามารถให้พวกเขาได้ทั้งหมด รัฐบาลทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร?" อาสาสมัครชาวพม่าคนหนึ่งกล่าว


 


ขณะนี้รัฐบาลทหารพม่าอนุญาตให้องค์กรบรรเทาทุกข์นานาชาติอย่าง เวิร์ดวิชั่น เซฟเดอะชิลเดรน และสหประชาชาติส่งเฉพาะเจ้าหน้าที่ชาวพม่าเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี


 


นอกจากนี้รัฐบาลทหารพม่ายังยกเว้นกฎห้ามชาวต่างชาติเข้าพื้นที่ประสบภัยให้กับประเทศไทย โดยอนุญาตให้ไทยส่งทีมแพทย์พระราชทาน 30 คนในวันเสาร์นี้ (17 พ.ค.) และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์จากจีน อินเดีย และบังกลาเทศรวม 130 คนเข้าพื้นที่


โดยทั้ง 4 ประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะจีนมีความใกล้ชิดทางการเมืองกับพม่าอย่างแนบแน่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของบรรดาประเทศตะวันตกและนักรณรงค์ประชาธิปไตยที่ดำเนินการกดดันพม่าด้านสิทธิมนุษยชน


 


 


สกัดนักข่าวต่างชาติเข้าพื้นที่ประสบภัย


 


ขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธประจำกายประจำการรอบๆ เมืองย่างกุ้ง มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจคอยตรวจหนังสือเดินทาง ป้ายทะเบียนรถยนต์ และบางครั้งจะสอบถามคนขับรถยนต์และผู้โดยสารที่เป็นชาวต่างชาติ ที่จะผ่านเข้าไปในเมืองย่างกุ้ง


 


"มีจุดตรวจรอบเมืองย่างกุ้ง ชาวต่างชาติถูกจำกัดให้อยู่แต่ในเมืองแห่งนี้ ถ้าคุณต้องการส่งผ่านความช่วยเหลือออกนอกย่างกุ้ง มันเหมือนส่งของผ่านท่อกว้าง 3 นิ้ว ไม่ใช่ท่อกว้าง 30 นิ้ว" ทิม คอสเทโล (Tim Costello) ประธานองค์กรเวิร์ดวิชัน ออสเตรเลียในย่างกุ้งกล่าว


 


ณ จุดตรวจที่มีตำรวจราว 10 คนและมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในเครื่องแบบสีกากี ตำรวจรายหนึ่งกล่าวกับคนขับรถที่มีผู้สื่อข่าวต่างชาติเป็นผู้โดยสารว่า "ชาวต่างประเทศไม่สามารถผ่านทางนี้ได้"


 


ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวมุ่งหน้าไปทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ซึ่งไม่ใช่เส้นทางไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีซึ่งเป็นพื้นที่ประสบความเสียหายอย่างหนักหลังจากพายุไซโคลนนาร์กิสผ่านเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วแต่อย่างใด ขณะที่สหประชาชาติกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสนคน และผู้รอดชีวิตจากไซโคลนราว 2 ล้าน 5 แสนคนกำลังเผชิญกับความอดอยากและโรคระบาด


 


ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่เหตุการณ์พายุพัดถล่มผ่านไปได้ 1 อาทิตย์ การเข้าไปยังพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีของผู้สื่อข่าวต่างประเทศแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่กี่วันมากนี้ทางการพม่าเพิ่มระดับความเข้มงวดมากขึ้น มีการเพิ่มจุดตรวจใหม่ๆ ขึ้นมาบนเส้นทางจากเมืองย่างกุ้งที่จะมุ่งหน้าไปทางทิศใต้และทางตะวันตก อันเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี


 


มิเชล อิเมรี นักศึกษาจากออสเตรเลียกล่าวว่า "เมื่อวานฉันพยายามจะออกจากเมือง หวังว่าจะได้ไปชม Golden Rock (พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ทีโยพยา ในภาษาพม่า) แต่พวกเขาไม่อนุญาตให้ฉันนั่งรถโดยสาร หลังจากตรวจสอบบัตรประจำตัวของฉัน" เขากล่าวว่าแผนการเดินทางในพม่าของเขาถูกจำกัดให้อยู่แต่ในเมืองย่างกุ้ง


 


ทั้งนี้พระธาตุอินทร์แขวนถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของพม่า อยู่ที่เมืองไจ้โถ่ ห่างจากย่างกุ้งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 190 กิโลเมตร


 


นอกจากนี้นางชารี วิลลาโรซา อุปทูตประจำสถานทูตสหรัฐฯ ในพม่าแถลงว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศพม่า จะนำเหล่านักการทูตต่างชาติขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปตระเวนสำรวจเขตภัยพิบัติบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีในวันเสาร์ที่ 17 พ.ค. แม้จะยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะได้เข้าไปลึกถึงเขตใดบ้างในการเดินทางที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดครั้งนี้ แต่นับเป็นครั้งแรกที่นักการทูตต่างชาติจะได้มีโอกาสเห็นสภาพความเสียหายจากไซโคลนนาร์กีส และปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ ด้วยสายตาตนเอง หลังจากรัฐบาลทหารพม่าถูกรุม ประณามว่าจัดส่งความช่วยเหลือไปช่วยผู้ประสบภัยอย่างล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ



 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


Rain deepens Myanmar misery; casualty tolls jump, By Aung Hla Tun, Reuters (With additional reporting by Ed Cropley in BANGKOK; Writing by Jerry Norton; Editing by Darren Schuettler) Fri May 16, 10:57 AM ET, http://news.yahoo.com/s/nm/20080516/wl_nm/myanmar_cyclone_dc_133


 


Myanmar's junta confines foreigners to Yangon, AP, Fri May 16, 12:31 PM ET


http://news.yahoo.com/s/ap/20080516/ap_on_re_as/myanmar_ringing_yangon_1


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net