Skip to main content
sharethis


ศราวุฒิ ประทุมราช


 


ผมไปจัดอบรมให้แก่แรงงานอพยพชาวพม่า และ คนไทยที่ทำงานกับแรงงานอพยพชาวพม่า ที่ อำเภอแม่สอด อยู่ 1 สัปดาห์ กลับมาถึงกรุงเทพฯก็วันที่ 17 พฤษภาคมไปแล้ว จนเลยลืมไปว่า วันที่ 17 พฤษภาคม เมื่อ 16 ปี ที่แล้ว บ้านเมืองของเราได้เกิดการฆาตกรรมกลางเมืองหลวง บนถนนราชดำเนิน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่หาทางออกไม่ได้ ระหว่างฝ่ายผู้รักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย และ นายทหารนักรัฐประหารที่บอกกับประชาชนว่า ผมจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงเวลากลับเข้ารับตำแหน่ง หน้าตาเฉย พร้อมกับวิวาทะ "เสียสัตย์เพื่อชาติ"

ความจริงจะว่าไปแล้ว การชุมนุมของประชาชนบนถนนราชดำเนิน เมื่อ 17-20 พฤษภาคม 2535 นั้น จุดเริ่มต้น มาจากปัญหาของรัฐธรรมนูญและการคัดค้านพลเอกสุจินดา คราประยูร ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันนี้ นำไปสู่การนำกองทหาร พร้อมอาวุธสงครามออกมาปราบปราม ผู้ชุมนุมโดยสงบ และสุดท้ายจบลงด้วยการ เข้าเฝ้า เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างพลตรี จำลอง ศรีเมือง และพลเอกสุจินดา คราประยูร กลายเป็นโอละพ่อ ที่หลายฝ่ายไม่เข้าใจว่า การคัดค้านรัฐประหารและคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคน 2 คน ไปได้อย่างไร และความจริง การชุมนุมบนถนนราชดำเนินในครั้งนั้น เริ่มต้นด้วยความบริสุทธ์ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และองค์กรภาคประชาชน แต่ถูกเกม การเมืองของหลายพรรค หลายกลุ่ม ฉุดกระแสให้กลายเป็นการใช้ความรุนแรงเข้าหากัน โดยน่าเชื่อว่าน่าจะมีการเตรียมการโดยฝ่ายที่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า ด้วยความรุนแรง โดยที่ฝ่ายองค์กรประชาธิปไตยและองค์กรประชาชน กลายเป็น "คนขี่หลังเสือ" ที่หาทางลงไม่ได้ จำต้องตกกระไดพลอยโจน ไปกับฝ่ายสร้างสถานการณ์จนควบคุมไม่ได้ ความรุนแรงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น จึงเป็นสถานการณ์ที่สร้างวีรบุรุษ ให้แก่ใครหลายคน และ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสังเวยชีวิต เลือดเนื้อ ให้กับประชาธิปไตยไปอีก ไม่น้อยกว่า 100 ชีวิต ทั้งบาดเจ็บ พิการ สูญหายและเสียชีวิต


ผมไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บว่าใครต้องรับผิดชอบในการก่อเหตุการณ์ 17 พฤษภา 35 แต่อย่างน้อย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)ในขณะนั้น ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้จัดการชุมนุม ซึ่งผมก็เป็นส่วนหนึ่งของ ครป.ในอดีต ที่ต้องขอรับผิดชอบและ ขอสดุดีวีรกรรมของผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายที่ได้สังเวยชีวิต เลือดเนื้อและอนาคตของตนไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ อย่างจริงใจ และขอไว้อาลัย หนึ่งอึดใจครับ


คำถามที่ผมเริ่มตั้งข้อสงสัย ว่า ฤาสังคมไทยจะไม่สามารถก้าวพ้น ทางออกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง กระนั้นหรือ


เพราะขณะนี้ ปัญหาทางการเมืองเริ่มกลับมามีความขัดแย้งกันอีกครั้ง หลังจากที่มีความขัดแย้งกันเมื่อคราวต้นปี 2549 ที่ต้องการขับไล่ รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และพวกพรรคไทยรักไทย จนกลายเป็นต้องแก้ไขความขัดแย้งด้วยการรัฐประหาร ซึ่ง แน่นอนว่า ไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นเหตุ แต่เป็นเพียงการชลอเวลา ของการปะทุรอบใหม่ ไปได้อีก 1 ปี และก็เป็นจริงที่ภายหลังการลงประชามติ รับรองรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร และภายหลังการเลือกตั้งที่เราได้รัฐบาล ที่"คนชั้นกลาง" ชิงชัง ความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กำลังเขม็งเกลียวขึ้นอีกคำรบหนึ่งซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้กล่าวไว้ในการอภิปรายในโอกาสครบรอบ 16 ปี พฤษภาประชาธรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า  ทางออกของการแก้ไขความขัดแย้งนั้นมีแน่แต่จะเป็นทางออกของใครและจะออกแบบไหน ซึ่งอาจจะลงเอยด้วยความสูญเสีย นอกจากนี้กระบวนการแสวงหาทางออกก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นกระบวนการที่มุ่งแตกหัก หักหาญ และหักด้ามพร้าด้วยเข่า และเป็นการต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงกติกา รวมไปถึงใส่ร้ายป้ายสี เช่น ฝ่ายหนึ่งก็ใช้ข้อหาคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่อีกฝ่ายก็ใช้ข้อหาคุกคามประชาธิปไตย ตอนนี้กำลังแข่งกันว่าใครเล่นแรงกว่า ใครด่าแรงกว่า


ผมเห็นด้วยกับที่ พระไพศาลกล่าว และผมก็จะขอเป็นฝ่ายที่ ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย ที่กำลังขัดแย้งกันอยู่และผมก็กล้าพอที่จะออกมาวิจารณ์ทั้ง 2 ฝ่าย  ไม่ว่าจะถูกใส่ร้ายและตีตราจากทั้งสองฝ่าย ผมไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน หรือ ได้รับบรรยากาศแห่งความกลัว ผมไม่กลัวว่าประชาธิปไตยจะถูกคุกคาม ไม่กลัวว่าสถาบันกษัตริย์จะถูกโค่นล้ม และที่สำคัญคือ ผมไม่มีผลประโยชน์อะไรที่ต้องสูญเสีย   เพราะพระไพศาลเสนอว่า  "ทางออกที่จะมีคือ ต้องตั้งสติ อย่ากลัว อย่าโกรธ และอย่าเกลียด อีกทั้งต้องไม่สนับสนุนความรุนแรง และการทำนอกกติกา และสนับสนุนการแก้ไขโดยสันติวิธี" เอาพระนำขนาดนี้ ไม่มีทางออกก็ให้มันรู้ไป


ใครจะเข้ามาเป็นพวกเดียวกับผม  ก็เชิญเข้ามาร่วมวงได้เลยนะครับ ขอท้าทาย


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net