Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 51 เวลา 14.00 น. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เปิดแถลงข่าวแสดงจุดยืนต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ


 


 


แถลงการณ์ อมธ.เป็นห่วงการใช้ความรุนแรง เรียกร้องทุกฝ่ายใช้สันติวิธี


น.ส. ณัชฎา คงมีศรี นายก อมธ. อ่านแถลงการณ์ความว่า นับแต่ปี พ.ศ. 2549 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอันมีสาเหตุมาจากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้นำไปสู่การแบ่งข้างทางความคิดเป็น 2 ขั้วหลัก เกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านฝ่ายที่คิดตรงกันข้าม เกิดการรัฐประหาร ซึ่งความขัดแย้งแบบสองขั้วหลักยังมิได้คลี่คลายไป และนับวันยิ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงมากขึ้น


 


ทั้งนี้ ในปัจจุบันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การชุมนุมที่เชื่อมโยงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามและใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับตนจะถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ที่ต้องการล้มล้างสถาบันหรือไม่จงรักภักดี นอกจากนี้สถานการณ์ปัจจุบันได้ก่อให้เกิดความพยายามในการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน โดยเห็นได้ชัดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจากทั้งสองฝ่าย


 


อมธ. มีจุดยืนในการสนับสนุนสิทธิในการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเสรีจากทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มอื่นๆ โดยต้องไม่ถูกคุกคามสิทธิทั้งจากผู้ที่คิดเห็นต่างกันหรือจากฝ่ายรัฐบาล ต้องเป็นไปโดยสันติ ไม่มีการใช้กำลังต่อกัน ปราศจากการยั่วยุและไม่มีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง


 


ในขณะเดียวกัน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด และวิงวอนให้ทุกฝ่ายมีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน


 


 


ลั่นค้านทันทีหากเกิดรัฐประหาร หากแก้ รธน. ต้องคำนึงสาธารณะ


แถลงการณ์ระบุอีกว่า ในขณะนี้มีความกังวลเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหาร และทาง อมธ. แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ว่าจะเหตุผลใด และพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านทันที หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น


 


ต่อประเด็นรัฐธรรมนูญ  อมธ. มีความคิดเห็นว่า ควรรอผลการศึกษาจากคณะกรรมาธิการศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และจากภาคประชาชนส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องซับซ้อน อีกทั้งต้องพิจารณาประเมินถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นในแต่ละประเด็นที่จะแก้ไข อย่างละเอียดรอบคอบด้วยเช่นกัน


 


แต่อย่างไรก็ดี หากจะมีการแก้ไขจริงแล้ว การแก้ไขต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก โดยปราศจากข้อกังขาของสังคม และจะต้องสนับสนุนกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างทั่วถึง


 


 


เผลโพล นศ.มธ.ไม่อยากให้แก้ รธน. แต่เสนอทำประชามติ


จากนั้น นายอนุธีร์ เดชเทวพร อุปนายก อมธ. เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษา มธ.ต่อสถานการณ์การเมืองจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ในระหว่างวันที่ 4 - 5 มิ.ย. โดยผลการสำรวจเป็นดังนี้


 


คำถามว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันสมควรหรือไม่ที่รัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผู้เห็นสมควร 22 % ไม่สมควร 78 % เมื่อถามว่า ผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการสรรหาหรือไม่ มีผู้เห็นด้วย 49 % ไม่เห็นด้วย 51 %


 


ต่อคำถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์และการรับฟังความเห็นภาคประชาชนอย่างละเอียดทั่วถึงหรือไม่ มีผู้มองว่าจำเป็นถึง 95 % ในขณะที่มีผู้มองว่าไม่จำเป็นเพียง 5 %


 


เมื่อถามถึงการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มีผู้เห็นสมควรทำ 78 % และไม่เห็นสมควร 22 % ส่วนคำถามที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่เพื่อพวกพ้องหรือผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพียงอย่างเดียว มีผู้เห็นด้วย 83 % ไม่เห็นด้วย 17 %


 


 


หนุนหยุดชุมนุมร้อยละ 80 และไม่เห็นด้วยรัฐประหาร


กับคำถามที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ถ้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดลง การชุมนุมควรหยุดด้วยหรือไม่ มีผู้เห็นว่าควรหยุดถึง 80 % และเห็นว่าไม่ควรหยุด 20 %


 


ในขณะที่เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าทหารจะออกมารัฐประหาร มีผู้เห็นด้วย 14 % ไม่เห็นด้วย 86 % ส่วนความต่อการขยายผลการชุมนุมของพันธมิตรฯจากการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการขับไล่รัฐบาลนั้นมีความก้ำกึ่งกัน คือเห็นด้วย 45 % ไม่เห็นด้วย 55 %


 


นอกจากนี้มีนักศึกษา 89 % เห็นว่าการที่รัฐบาลออกมาแสดงแนวทางการสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯมีผลต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง มีเพียง 11 % คิดว่าไม่มีผล และคำถามสุดท้าย ถ้ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐบาลไม่ถูกต้องแล้วมีกลุ่มนักศึกษาออกมาประท้วง คิดว่าจะออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มตัวแทนนักศึกษาหรือไม่ ผลความเห็นในเรื่องดังกล่าวเท่ากันที่ 50 %


 


 


แนะรัฐบาลตีโจทย์แก้ รธน. ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม


เมื่อสื่อมวลชนถามว่า จากผลสำรวจนักศึกษาเห็นว่าหากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดลงแล้ว การชุมนุมต้องหยุดลงด้วยนั้นมีเหตุผลจากนักศึกษาที่ให้ความเห็นอย่างไร


 


นายก อมธ. ตอบว่า อาจเป็นเพราะชนวนเริ่มต้นของการชุมนุมมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และตอบคำถามที่ถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไรว่า จากผลการสำรวจของนักศึกษาสะท้อนว่ามีความต้องการให้ฟังเสียงส่วนรวมในการแก้ไขและต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะจริงๆ มีความเห็นถึง 95 % ที่เป็นไปในทางนี้ ดังนั้นโจทย์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยผ่านสภาเพียงอย่างเดียวอาจไม่ถูกต้องก็ได้ ซึ่งถ้ารัฐบาลต้องการทำตัวให้บริสุทธิ์ในการแก้ไขต้องเปิดโอกาสให้ประชามีส่วนร่วม


 


ด้านนายอุนธีร์ กล่าวว่า ขณะนี้จะรอดูผล กมธ.ศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก่อน แต่ในแง่หลักการการแก้ไขรัฐธรรมนุญที่ดีคือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ทั่วถึงที่สุด ต้องผ่านการถามประชาชนเพื่อนำข้อเสนอเหล่านั้นมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหา


 


ต่อคำถามถึงความเห็น นักศึกษา 14 % ที่เห็นด้วยกับการให้ทหารออกมารัฐประหาร น.ส.ณัชฎา ตอบว่า ในเรื่องการรัฐประหารต้องยอมรับว่ามีความเห็นที่ต่าง คือมีคนมองว่าถ้ามีการปะทะเกิดขึ้นการรัฐประหารเหมือนเป็นการออกมาห้ามหรือทำให้ความรุนแรงน้อยลง แต่เราน่าจะมาทำความเข้าใจกันในสังคมว่าการรัฐประหารคืออะไร สมควรหรือไม่กับสถานการณ์ หรือรัฐบาลมีวิธีการไหนบ้างที่จะประนีประนอมหาข้อยุติที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง


 


 


หวั่นนำสถาบันฯ เป็นเครื่องมือป้ายสี แนะใช้กระบวนการยุติธรรมกรณีคดีหมิ่นฯ


เมื่อถามว่าเป็นห่วงสถานการณ์ตรงจุดไหนที่สุดในตอนนี้ นายรักนิรันดร์ ชูสกุล ประธานฝ่ายการเมือง อมธ. กล่าวว่า บางฝ่ายมีการนำสถาบันชาติ ศาสนา และโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น คือคนสามารถเกลียดกันได้ง่ายขึ้น และมีบทเรียนหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทย เช่น 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งชัดเจนมากในการนำเรื่องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์มาใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม


 


"ประเด็นนี้ ถ้ามีการกล่าวหากันควรทำผ่านระบบตุลาการ ถ้าคุณเห็นว่ามีการกระทำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ให้ผ่านกระบวนการยุติธรรมดีกว่า" นายรักนิรันดร์กล่าว


 


นส.ณัชฎา กล่าวว่า ในสังคมแบ่งเป็น 2 ขั้วหลักที่ชัด จะมองเป็นขาวเป็นดำ เป็นผิดเป็นถูก เป็นชั่วเป็นดี ความสมานฉันท์ย่อมไม่เกิด อยากบอกว่าความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่จำเป็นต้องนำมาตีกัน มาฆ่ากัน หรือใช้ความรุนแรงต่อัน แต่ให้ฟังกันแล้วใช้หลักที่ถูกต้อง แม้แต่ประเด็นรัฐธรรมนูญถ้าทำบนหลักที่ถูกต้องก็คงไม่มีใครออกมาคัดค้าน หลายฝ่ายคงต้องทบทวนตัวเองเหมือนกันว่าชนวนปัญหาเกิดจากอะไร แล้วถ้าทำให้ถูกจะทำให้ยุติลงได้หรือไม่


 


 






แถลงการณ์องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


เรื่อง จุดยืนขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน


 


นับแต่ปี พ.ศ. 2549 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอันมีสาเหตุมาจากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น ได้นำไปสู่การแบ่งข้างทางความคิดเป็นสองขั้วหลัก เกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านฝ่ายที่คิดตรงกันข้าม เกิดการรัฐประหาร ซึ่งความขัดแย้งแบบสองขั้วหลักนั้น ยังมิได้คลี่คลายไปแต่อย่างใด และนับวันยิ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การชุมนุมที่มีการเชื่อมโยงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้ามาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามและใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับตน  จะถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ที่ต้องการล้มล้างสถาบัน หรือไม่จงรักภักดี นอกจากนี้สถานการณ์ปัจจุบันได้ก่อให้เกิดความพยายามในการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน โดยเห็นได้ชัดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจากทั้งสองฝ่าย


 


องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีจุดยืนที่จะสนับสนุนสิทธิในการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเสรีจากทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มอื่นๆ ทุกคนจะต้องมีสิทธิที่จะพูด ที่จะแสดงออกซึ่งความคิด ความเห็นทางการเมืองของตนได้ โดยไม่ถูกคุกคามสิทธิทั้งจากผู้ที่คิดเห็นต่างกันหรือจากฝ่ายรัฐบาล จะต้องเป็นไปโดยสันติ ไม่มีการใช้กำลังต่อกัน ปราศจากการยั่วยุและไม่มีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในขณะเดียวกัน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายมีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน


 


องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรารถนาที่จะเห็นทุกฝ่ายเคารพในหลักการประชาธิปไตย ซึ่งในขณะนี้มีความกังวลเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหาร โดยทางองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ขอแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม และพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านทันที หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น


 


ทั้งนี้ต่อประเด็นรัฐธรรมนูญที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันนั้น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความคิดเห็นว่า ควรจะรอผลการศึกษาจากคณะกรรมาธิการศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และจากภาคประชาชนส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน อีกทั้งต้องพิจารณาประเมินถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นในแต่ละประเด็นที่จะแก้ไข อย่างละเอียดรอบคอบด้วยเช่นกัน


 


แต่อย่างไรก็ดี หากจะมีการแก้ไขจริงแล้ว การแก้ไขต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก โดยปราศจากข้อกังขาของสังคม และจะต้องสนับสนุนกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างทั่วถึง


องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หวังว่าประเทศไทยจะก้าวเดินไปสู่ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง บนหนทางที่ถูกต้อง และหวังว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะสามารถคลี่คลายไปได้ภายใต้แนวทางสันติวิธี


                                                           


ด้วยความสมานฉันท์                                                      


องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


6 มิถุนายน 2551


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net