Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ออกแถลงการณเรื่อง การตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการ ว่า


ตามที่ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศมาตั้งแต่ปลายปี 2548 มีความพยายามในการใช้อำนาจตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมือง ตามที่เรียกกันว่า "ตุลาการภิวัฒน" เริ่มตั้งแต่คำสั่งศาลปกครองกลางให้คุ้มครอง "ชั่วคราว" สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ การจำคุกกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่วิกฤตการณ์การเมืองกลับรุกลามต่อไปจนเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19  กันยายน 2549


 


ภายหลังรัฐประหาร สถานการณ์และความเชื่อมั่นต่อองค์กรตุลาการกลับยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มายิ่งขึ้น เมื่อปรากฏชัดว่า องค์กรตุลาการบางองค์กรได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมืองกันอย่างโจ่งแจ้งโดยมิได้นำพาต่อหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐแต่อย่างใด ดังปรากฏชัดในกรณีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารได้ตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ตลอดจน การที่บุคลากรของตุลาการหลายคนได้รับการแต่งตั้งให้มาเข้ามามีบทบาททางการเมืองยุครัฐประหาร ทั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) กระทั่งเข้าสู่อำนาจบริหาร เป็นรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง เป็นต้น


 


แม้ภายหลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช แต่กลับมีความพยายามที่จะปฏิเสธผลการเลือกตั้งด้วยการสนับสนุนให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยร่วมมือกับพรรคการเมืองบางพรรค นำประเด็นทั้งเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และกรณีเขาพระวิหารมาเป็นประเด็นทางการเมืองปลุกกระเเสเกลียดชังเพื่อโค่นล้มรัฐบาล


 


อำนาจตุลาการก็ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองครั้งล่าสุด ในกรณีเขาพระวิหาร เมื่อศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 ให้รับคำฟ้องและเพิกถอนการเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาต่อคณะรัฐมนตรีโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และเพิกถอนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาไปในคราวเดียวกัน


 


ในการนี้ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร และอาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้อาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 50 แสดงความคิดเห็นทางวิชาการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551


 


นอกจากนี้ ก็ยังมีคดีการเมืองอื่น ๆ อีกหลายคดีที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรตุลาการ เช่น คดีละเมิดกฎหมายเลือกตั้งของนายยุงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคอีกครั้ง คดี "ชิมไปบ่นไป" ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้นายกรัฐมนรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนอีกครั้งว่า จะมีการใช้องค์กรตุลาการมาทำลายล้างทางการเมืองอีกหรือไม่


 


กลุ่มพลเมืองภิวัฒเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ได้ร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังต่อไปนี้


 


1) ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยถูกใช้ผ่านองค์กรหลัก 3 องค์กรคือ อำนาจบริหารโดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติโดยรัฐสภา และอำนาจตุลาการโดยศาล ตามหลักการสากลที่สามอำนาจต้องสมดุลกัน และมิก้าวล่วงขอบเขตอำนาจซึ่งกันและกัน มิฉะนั้นแล้ว การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอาจถูกนำไปบิดเบือนไปสนองประโยชน์และวัตถุประสงค์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด กระทั่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง อันจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กรตุลาการและกระบวนการยุติธรรมโดยรวม


 


2) ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งอำนาจบริหาร (คณะรัฐมนตรี) และอำนาจนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างชัดเจนโดยผ่านกลไกการเลือกตั้ง แต่อำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจอธิปไตยอีกอำนาจหนึ่งของปวงชนชาวไทยกลับไม่มีส่วนที่ยึดโยงที่ชัดเจนกับประชาชน ไม่มีกลไกและมาตรการใด ๆ ที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนของการใช้อำนาจตุลาการให้ยึดโยงกับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยให้ศึกษาจากแบบอย่างในประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ แล้วปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย


 


3) การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้ง อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะองค์กรที่มีหน้าที่ใช้อำนาจตุลาการแทนประชาชน ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ และผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมิยอมให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงกระบวนการใช้อำนาจตุลาการเป็นอันขาด


 


4) ขอสนับสนุนการแสดงความเห็นทางวิชาการภายใต้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร และขอเรียกร้องให้คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ องค์กรประชาธิปไตย และพี่น้องประชาชน ได้ออกมาร่วมกันเเสดงความคิดเห็นทางวิชาการต่อการใช้อำนาจตุลาการทั้งระบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้หนึ่งในอำนาจอธิปไตยของปวงชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net