Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชลแนล ถึงกรณีแนวคิดการแก้ไข รธน. มาตรา 63 ที่เกี่ยวกับการชุมนุม และการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเสนอเข้าเป็นญัตติในสภาแล้วว่า อยากถามว่ารัฐบาลยังยุ่งไม่พออีกหรือจึงคิดจะทำการแก้กฎหมายของการชุมนุมขึ้นมาอีก เพราะเรื่องสิทธิเสรีภาพของการชุมนุมนั้น กว่าประชาชนจะได้มาก็ต้องมีการต่อสู้กันมาอย่างยากลำบาก แล้วจู่ ๆ จะมาล้มเลิกเอาง่าย ๆ คงเป็นเรื่องที่ต่อไปจะมีมวลชนออกมาคัดค้านแล้วบ้านเมืองก็จะปั่นป่วนอีก


      


 ผศ.ดร.ประภาส กล่าวต่อไปว่าโดยส่วนตัวแล้วคิดว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะกระทบกับคนเล็กคนน้อยมากกว่าคนกลุ่มใหญ่ ๆ อย่างเช่นหากกลุ่มพันธมิตรฯ จะออกมาชุมนุมแล้วไม่ได้รับการอนุญาตให้ชุมนุม กลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีพลังมวลชนมากพอที่จะกดดันรัฐบาลได้ แต่หากเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมตัวเล็ก ๆ อย่างเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ก็คงแทบจะหมดสิทธิ์ที่จะมาชุมนุมเลย เพราะการจะมาชุมนุมต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการ แล้วถามว่า ชาวไร่ ชาวนา ขัดแย้งกับใครก็ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการทั้งนั้น แล้วจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการเหล่านั้นจะยอมให้มีการชุมนุมเรียกร้องหรือขับไล่ตัวเอง


      


ดังนั้น สิทธิทางการชุมนุมนั้น เป็นกลไกหนึ่งที่นำมาใช้เรียกร้องความชอบธรรมตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางสิทธิเสรีภาพ เพราะเพียงแค่มีกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมก็น่าจะเพียงพอแล้ว เช่น หากการชุมนุมมีการกล่าวหาพาดพิงกัน ฝ่ายที่เสียหายก็สามารถ ใช้ข้อกฎหมายในเรื่องของการหมิ่นประมาทมาเอาผิดได้ เป็นต้น


      


ด้าน นายสมชัย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า แนวคิดในการควบคุม การชุมนุมมีมาตั้งแต่ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ซึ่งตอนนั้น ตนและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าหากมีการออกกฎหมายที่ควบคุมการชุมนุม หรือร่าง พ.ร.บ.การจัดระเบียบการชุมนุมอย่างที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน กำลังเสนออยู่ในขณะนี้ จะเป็นการจำจัดม็อบ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะหากมี พรบ.ออกมาว่า การชุมนุมจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีคณะกรรมการฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อนุญาต ฝ่ายความมั่นคงจะยอมให้มีการชุมนุมกันง่าย ๆ หรือ เพราะฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลก็คงไม่อยากให้มีการชุมนุมอยู่แล้ว นอกเสียจากจะเป็นการชุมนุมเพื่อสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาต


      


ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และคิดว่า ควรถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกมาจากสภาก่อน เพื่อจะได้ศึกษาให้ดีว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนบ้าง อีกทั้งยังเป็นการลบล้างข้อครหาที่ว่าทำเพื่อรับลูก ตามนโยบายของนายกฯ หรือทำเพื่อมุ่งนำไปควบคุมการชุมนุมของพันธมิตรฯ


 


ด้านนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์กรณีที่รัฐบาลจะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ว่า การออกกฎหมายดังกล่าว คิดว่า เป็นกฎหมายเผด็จการ เพราะจะทำให้การชุมนุมใดๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 โดยกฎหมายดังกล่าวลอกแบบเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการชุมนุมของพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกต้อง และขัดกับระบอบประชาธิปไตย


      


"ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน รวมทั้งจะทำให้การสลายการชุมนุมไม่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้ตำรวจ ทหาร สามารถใช้ความรุนแรงได้โดยไม่มีขีดจำกัด รัฐบาลเป็นห่วงการชุมนุมของพันธมิตรฯ ว่าจะสามารถขยายการชุมนุมได้มากขึ้น และห่วงว่าจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมองเป็นเรื่องอันตราย ผมคิดว่า ส.ส. ส.ว.ที่เป็นนักประชาธิปไตย รวมทั้ง ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน จะออกมาคัดค้าน เพราะคนที่คิดถึงความเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือสื่อมวลชน คงไม่เห็นด้วย เพราะถ้าตัดคดีอาญา คดีแพ่ง ออกไป ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งการกระทำครั้งนี้ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกทางประชาธิปไตย" นายพิภพ กล่าว


      


ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสนอออกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลอ้างว่าพันธมิตรฯ นำข้อมูลเท็จมาพูดบนเวที นายพิภพ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าพูดไม่ถูก หรือกล่าวเท็จ กฎหมายเปิดช่องให้ฟ้องร้องอยู่แล้ว รวมทั้งคนที่เป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมต้องให้สังคมตรวจสอบได้ การจำกัดสิทธิของผู้ชุมนุมเหมือนกับการจำกัดสิทธิของสื่อมวลชน และจะกลายเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน


      


ส่วนกรณีที่นายสมัครอ้างว่าพันธมิตรฯ กลัวการแก้ไขมาตรา 63 และ เตรียมร่างรัฐธรรมนูญไว้ที่เชียงใหม่นั้น นายพิภพกล่าวว่าเป็นเพียงการเต้าข่าวของนายสมัคร ไม่รู้จะตอบยังไง เพราะมันไม่มีจริงๆ


      


ต่อข้อถามว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่าพันธมิตรฯ นำเรื่องของคนไทยเชื้อสายจีนมาปลุกระดม จะเป็นการสร้างความแตกแยกของคนในชาติหรือไม่ นายพิภพ กล่าวว่า เนื่องจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงต้องการจะบอกกับกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในเรื่องของความรักชาติ ไม่ได้ต้องการให้เป็นประเด็นเรื่องของความแตกแยก


      


ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีตั้งทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ โดยเอาบุคคลภายนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้น นายพิภพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องเลือกบุคคลที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การที่เข้ามาเป็นคณะที่ปรึกษา ต้องไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทใด ๆ เพราะถ้ามีการนำข้อมูลของรัฐบาลไปแสวงหาผลประโยชน์ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบ


      


"ถ้าพิสูจน์ได้ว่า การเอาคนนอกเข้ามาทำแล้วทำให้เกิดปัญหา และมีการแสวงประโยชน์ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ" นายพิภพ กล่าว


     


      






ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ....


 


      


       มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ...."


       มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป


       มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้


       "การชุมนุม" หมายความว่า การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ


       "ที่สาธารณะ" หมายความว่า สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้


       "ผู้จัดให้มีการชุมนุม" หมายความว่า ผู้ยื่นขอคำอนุญาตชุมนุมรวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน


       "ประธานกรรมการ" หมายความว่า ประธานกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ


       "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ


       "หัวหน้าสถานีตำรวจ" หมายความว่า หัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ที่มีการชุมนุม


       มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ


       มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมาตรา 8


       (1) มีการใช้ช่องทางเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร


       (2) มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน


       (3) มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม


       (4) มีการใช้ยานพาหนะ


       (5) มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม


      


       มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่


       (1) การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้


       (2) การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด


       มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะตามมาตรา 5 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


       มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด ดังต่อไปนี้


       (1) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ และผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ


       (2) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในจังหวัดอื่นๆ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุมเป็นกรรมการ และ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ


       มาตรา 9 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 8 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมตามมาตรา 5 ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


       มาตรา 10 การขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะของคณะกรรมการตามมาตรา 8 จะมีผลเฉพาะภายในเขตจังหวัดนั้น หากมีการขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมเข้าไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา 8 (2)


      


       มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด


       มาตรา 12 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาตให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่ปราศรัย รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม


       มาตรา 13 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้ขออนุญาตหรือมิได้ขออนุญาตก็ตาม ถ้าการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมแล้วแต่กรณี ประกาศยุติการชุมนุมแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม และให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย เพื่อยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด


       เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจได้รับแจ้งตามวรรค 1 ให้รีบรายงานประธานกรรมการพิจารณาสั่งตามมาตรา 14


       มาตรา 14 ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในที่สาธารณะในกรณีดังต่อไปนี้


       (1) ไม่มีผู้จัดให้มีการชุมนุมอยู่ดูแลการชุมนุมนั้น


       (2) การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย


       (3) การชุมนุมที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้


       การประกาศยุติการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแจ้งด้วยวาจา หรือใช้การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้ชุมนุมสามารถรับทราบได้ ณ บริเวณสถานที่ชุมนุม


       เมื่อประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้วให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตและผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 18


       มาตรา 15 หากการชุมนุมในที่สาธารณะที่ได้มีการประกาศให้ยุติตามมาตรา 13 แล้วผู้ชุมนุมยังคงฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสลายการชุมนุมได้


      


       มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่


       มาตรา 17 ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


       ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


       ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


       มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


       ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


       ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


       มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำผิดทางแพ่งหรืออาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


       มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้


       กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


        


 


 


เรียบเรียงจาก  : ผู้จัดการ


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net