Skip to main content
sharethis


ในขณะที่ประเด็นการเมืองดูเหมือร้อนแรงกลบทุกสิ่งทุกอย่าง ไกลออกไปจากกรุงเทพฯ เล็กน้อย เรื่องราวในพื้นที่ยังคงดำเนินไป อย่างต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่นั่นยังรวมตัวกันคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง ขนาด 1,650 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ของบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 จ.สระบุรีที่เพิ่งดำเนินการก่อสร้างเสร็จส่งไฟเข้าระบบเมื่อต้นปี และเพิ่งชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) มาเมื่อเร็วๆ นี้อีก โดยโครงการใหม่อยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้เสร็จสมบูรณ์ทันกำหนดเส้นตาย 30 กันยายน 2551 ซึ่งในเงื่อนไขการะประมูลกำหนดไว้ หลังจากถูกตีกลับมาจากคณะผู้ชำนาญการของ สผ.มาไม่นาน อย่างไรก็ตาม แว่วว่า เงื่อนไขที่อีไอเอต้องเสร็จภายในเดือนกันยายนนั้นได้มีความพยายามในการปลดล็อกดังกล่าว หากแต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ

 


ประเด็นหลักที่ สผ.มีการตีกลับให้แก้ไขอีไอเอ ได้แก่ ที่ตั้งของโครงการ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รายละเอียดการใช้น้ำในแม่น้ำป่าสักและการปล่อยน้ำทิ้ง รายละเอียดคุณภาพอากาศ คุณภาพเสียง รวมถึงรายละเอียดข้อวิตกกังวลและข้อคิดเห็นต่างๆ ของผู้คัดค้านโครงการ และยังระบุให้นำข้อชี้แจงในแต่ละประเด็นไปรับฟังความคิดเห็นกับชุมชน แล้วนำผลที่ได้ผนวกไว้ในรายงานฯ ด้วย


 


การเคลื่อนไหวสำคัญครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6-8 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า คือ ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี, ต.หนองน้ำใส และ ต.โคกม่วง อ.พาชี จ.อยุธยา แม้ไม่ได้รับการชี้แจงที่ชัดเจน แต่ชาวบ้านคาดว่า การรับฟังความคิดเห็นนี้น่าจะนำไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของรายงานอีไอเอที่จะยื่นใหม่


 


ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า การประชุมครั้งนี้มีชาวบ้านร่วมประชุมราว 300 คน นอกจากจะสำรวจความต้องการ "รับ" โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะก่อสร้างแล้ว ยังมุ่งประเด็นเรื่องจัดตั้งกองทุนโรงไฟฟ้าหนองแซง และจัดตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลที่ตั้งโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งจะเป็นผู้บริหารกองทุน และพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน "ก่อน" การก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยระเบียบดังกล่าวอ้างอิงกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการจัดการทรัพยากร การมีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ รวมไปถึงสัญญาประชาคมที่บริษัทให้ไว้กับชุมชนในการรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนมีนาคม 2551


 


กองทุนนี้บริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าระบุในที่ประชุมว่ามีเงินอุดหนุนราว 80 ล้านบาท โดยจัดตั้งขึ้นตามร่างระเบียบคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของชุมชนโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งลงนามร่วมกันระหว่างบริษัทเจ้าของโครงการ-ประธานสมัชชาตำบลหนองกบ-หนองควายโซ-นายกองค์การบริหารส่วยตำบลหนองกบ-กำนันตำบลหนองกบ-กำนันตำบลหนองควายโซ โดยทำการคัดเลือกคณะกรรมการหมู่ละ 3 คนภายในพื้นที่ตำบลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นคณะกรรมการร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนจากโรงไฟฟ้า


 


กองทุนนี้เป็นกองทุนเฉพาะของโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับ "กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า" ที่จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงพลังงาน และจะดำเนินการหลังจากโครงการแล้วเสร็จแล้วเท่านั้น ในร่างระเบียบที่อ้างไปแล้วข้างต้นระบุว่า กองทุนนี้จะดำเนินการในช่วงก่อนการก่อสร้าง หลังจากก่อสร้างเสร็จจึงเข้าระบบของกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าของทางการต่อไป


 


ในส่วนอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ตามร่างระเบียบฯ ที่จัดทำขึ้นก็น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะสามารถรับข้อร้องเรียน ตรวจสอบ และส่งข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ยังมีอำนาจออกคำสั่งให้โรงไฟฟ้ายุติการดำเนินงานได้ หากไม่มีการแก้ไขปรับปรุง


 


"เพื่อเป็นหลักประกันในอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการตามความในวรรคแรก โรงไฟฟ้าต้องนำระเบียบฉบับนี้แนบท้ายใบอนุญาตของหน่วยงานราชการซึ่งออกให้แก่โรงไฟฟ้า" ร่างระเบียบฯ ดังกล่าวระบุ


 


อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ดังกล่าวยังมีกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการและไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และได้ตั้งตั้งเวทีปราศรัยคู่ขนานอยู่ด้านนอกราว 150 คน นั่นคือ เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง นำโดยนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และแกนนำอีกจำนวนหนึ่ง พวกเขาตั้งเครื่องขยายเสียงชี้แจงข้อมูลแก่ชาวบ้านที่ร่วมประชุมว่าอีไอเอของบริษัทยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สผ. ดั้งนั้น ตามหลักการที่ถูกต้องแล้วการจัดตั้งกองทุนฯ จึงยังไม่สามารถกระทำได้


 


นายตี๋ ระบุด้วยว่า สิ่งที่บริษัทควรทำอย่างยิ่งในขณะนี้คือเปิดเผยรายละเอียดของอีไอเออย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมรับรู้ข้อมูล และมีส่วนร่วมตัดสินใจบนฐานข้อมูลต่างๆ อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้ชี้แจงในประเด็นที่ชาวบ้านปราศรัยคัดค้าน แต่กลับตอบโต้ว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นมารสังคม ขัดขวางการพัฒนา และรับจ้างจัดเวทีตามตลาดนัด ซึ่งสร้างความผิดหวังแก่ชาวบ้านที่ตื่นตัวและตั้งใจติดตามตรวจสอบ อยากมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงดังเช่นพวกเขา จึงกำลังทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีการเปิดเผยอีไอเอแก่ประชาชนในพื้นที่โดยเร่งด่วน


สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net