Skip to main content
sharethis


สำนักข่าวเอเอฟพีเปิดเผยผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมใน 12 ประเทศแถบทวีปเอเชีย เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2551 โดยอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงบรรษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเอเชีย รวมทั้งสิ้น 1,537 คน จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ หรือ เพิร์ก (PERC: The Political and Economic Risk Consultancy) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง

 


ผลสำรวจปรากฏว่าฮ่องกงเป็นประเทศที่มีกระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือเป็นอันดับ 1 ในสายตานักลงทุนต่างชาติ โดยการจัดอันดับครั้งนี้เรียงจากประเทศที่ได้คะแนนน้อยไปหามาก (0-10 คะแนน) ้ดังนี้


 


1. ฮ่องกง 1.45 คะแนน


2. สิงคโปร์ 1.92 คะแนน


3. ญี่ปุ่น 3.50 คะแนน


4. เกาหลีใต้ 4.62 คะแนน


5. ไต้หวัน 4.93 คะแนน


6. ฟิลิปปินส์ 6.10 คะแนน


7. มาเลเซีย 6.47 คะแนน


8. อินเดีย 6.50 คะแนน


9. ไทย 7.00 คะแนน


10.จีน 7.25 คะแนน


11. เวียดนาม 8.10 คะแนน


12. อินโดนีเซีย 8.26 คะแนน


 


ทั้งนี้ คะแนนที่ได้มาจากปัจจัยที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ ประเทศที่ได้คะแนนน้อยจึงได้แก่ประเทศที่มีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมน้อย ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนมากคือประเทศที่มีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมากตามไปด้วย


 


การให้คะแนนกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศ ประเมินจากประสิทธิภาพในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดการปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ความโปร่งใสในการทำงานของศาลยุติธรรม ขอบเขตการใช้อำนาจทางกฎหมาย ความเป็นเอกเทศ ปลอดการแทรกแซงทางการเมือง รวมถึงประสบการณ์และมาตรฐานการศึกษาของทนายความและผู้พิพากษา


 


บริษัทเพิร์กระบุว่าการให้คะแนนกระบวนการยุติธรรมของนักธุรกิจต่างชาติในแต่ละประเทศ มีความเกี่ยวพันกับการเปิดโอกาสด้านการลงทุน โดยประเทศที่กระบวนการยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือติดอันดับต้นๆ เป็นประเทศที่เข้มงวดกับการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีอัตราการทุจริตคอรัปชั่นต่ำ และระบบเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันด้วย


 


ผลสำรวจความเห็นของประเทศสิงคโปร์ถูกระบุเพิ่มเติมว่าเป็นการประเมินจากมุมมองของนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่โจมตีว่าระบบศาลยุติธรรมของสิงคโปร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมากกว่า


 


ส่วนเหตุผลที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนและเวียดนาม เนื่องจากระบบศาลถูกแทรกแซงอย่างหนักจากพรรคคอมมิวนิสต์ของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีสถานะเหนือกฎหมาย ไม่อาจตรวจสอบได้ ขณะที่อินเดียและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่มีปัญหาใหญ่เรื่องการคอรัปชั่น ทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ


 


ส่วนกรณีของมาเลเซีย นักลงทุนให้เหตุผลว่ากระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงจากรัฐบาล และถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้ระบบศาลมาเลเซียขาดความน่าเชื่อถือเช่นกัน


 


ขณะที่กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาเรื่องขอบเขตอำนาจตุลาการ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่สงสัยว่าการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการจะส่งผลดีต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยจริงหรือ


 


นอกจากนี้ อินโดนีเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 12 หรืออันดับสุดท้ายในการสำรวจความคิดเห็น ถูกมองว่าเป็นประเทศทีมีปัญหาใน่กระบวนการยุติธรรมมากที่สุด จึงขาดความน่าเชื่อถือที่สุด และสถาบันตุลาการเป็นสถาบันที่อ่อนแอ ตกเป็นเป้าโจมตีจากสาธารณชน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพถือเป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งของสังคมอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เพิร์กไม่ได้เปิดเผยกรณีตัวอย่างเรื่องความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมอินโดนีเซียอย่างเป็นรูปธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net