Skip to main content
sharethis

 







 


 



แรงงานอพยพส่วนใหญ่ในสเปน


เข้ามาทำงานในภาคก่อสร้าง


ที่มาภาพ: BBC


 


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 .. 51) รัฐบาลสเปนได้ผ่านร่างกฎหมายแผนการที่จะจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานอพยพที่สมัครใจจะกลับไปยังบ้านเกิด สืบเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจและต้องการลดค่าใช้จ่ายทางสังคมในการดูแลแรงงานอพยพของรัฐบาลสเปน


 


รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโฆเซ่ หลุย์ โรดิเกวซ ซัปปาเตโร (Jose Luis Rodriguez Zapatero) ได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกนโยบายการรับเอาแรงงานอพยพเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเคยเป็นนโยบายในช่วงที่เศรษฐกิจของสเปนกำลังเติบโต แต่ขณะนี้รัฐบาลสเปนพยายามปิดประตูแห่งโอกาสของแรงงานอพยพเหล่านั้น เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่สเปนกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญหลังจากที่เคยเป็นเสือตัวใหม่ทางเศรษฐกิจของยุโรป


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของสเปน เคเลสติโน คอร์บาโช (Celestino Corbacho) กล่าวว่าภายใต้แผนการนี้ซึ่งจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน แรงงานอพยพที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยหากตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผลักดันสู่บ้านเกิด โดยข้อตกลงที่สำคัญอีกอย่างก็คือเมื่อได้รับเงินชดเชยและกลับประเทศบ้านเกิดแล้ว จะต้องไม่กลับเข้ามาในสเปนเป็นระยะเวลา 3 ปี


 


แผนการใหม่นี้ครอบคลุมแรงงานอพยพจาก 19 ประเทศซึ่งสเปนมีข้อตกสัญญาจ่ายเงินสวัสดิการชดเชยร่วมกับประเทศเหล่านั้น โดยแรงงานอพยพที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชย 18,000 ยูโร โดยได้รับก่อน 40% ที่สเปน หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนพวกเขาจะได้รับส่วนที่เหลืออีก 60% ที่บ้านเกิดของพวกเขา


 


โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสเปนได้แถลงว่าจะมีแรงงานอพยพประมาณ 100,000 คน ที่จะได้รับผลกระทบจากแผนการนี้


 


คอร์บาชากล่าวว่ารัฐบาลไม่ได้มองว่าแรงงานอพยพเป็นปัญหา แต่ขณะนี้สิ่งที่จำเป็นก็คือเรื่องการจัดการ


 


"แรงงานอพยพไม่ใช่ปัญหา แต่มันเป็นปรากฏการณ์พิเศษ" คอร์บาชา กล่าว "และปรากฏการณ์พิเศษก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ - พวกเขาสามารถทำอะไรได้มากมายและสร้างสิ่งท้าทายใหม่ๆ ส่วนสิ่งท้าทายของเราในตอนนี้ก็คือการจัดระบบ จัดการกับปรากฏการณ์พิเศษเหล่านั้น เพื่อรองรับสังคมที่หลากหลาย และป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"


 


แต่เสียงเล็กๆ จากแรงงานอพยพกลับไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้..


 


"ผมรู้สึกเหมือนว่าถูกใช้ประโยชน์ไปแล้ว" วอชิงตัน โทบาร์ (Washington Tobar) แห่ง มูลนิธิ Hispano-Ecuadorean ในมาดริดกล่าว "เมื่อเขาต้องการกำลังแรงงาน ประตูของประเทศนี้ก็จะเปิด และเดี๋ยวนี้เมื่อเราไม่เป็นที่ต้องการแล้วพวกเขาก็จะพูดว่า "ขอบคุณและลาก่อน" - แล้วก็ส่งพวกเรากลับบ้านเก่า"


 


ในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตลา ลาตินา (La Latina) ในกรุงมาดริด เลโอนาโด รามิเรส (Leonardo Ramirez) วัย 42 ปี กำลังทานอาหารเที่ยงกับลูกของเขาทั้งสองคน เขามาจากเอกวาดอร์และจบการศึกษาทางด้านการตลาดจากที่นั่น ที่สเปนเขามาเป็นแรงงานก่อสร้างและสร้างครอบครัวที่นี่ เขาให้ความเห็นต่อแผนการนี้ว่าเป็นการยากที่จะนำเงินก้อนหนึ่งกลับไปบ้านเกิดเพื่อเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ


 


"จะ 20,000 ดอลลาร์ หรือ 30,000 ดอลลาร์ มันก็ไม่ใช่เงินจำนวนมากที่จะให้นำไปเป็นทุนในการลงทุนที่บ้านเกิดของเราหรอก" รามิเรสกล่าว "ที่นี่แรงงานอพยพอย่างพวกเราได้สร้างครอบครัวใหม่ ซื้อบ้านและส่งเด็กๆ ไปเรียน พวกเราไม่อยากไปเริ่มต้นมันใหม่อีกครั้งหรอก"


 


 


---


ในรอบสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสเปนเติบโตเร็วอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งทำให้แรงงานอพยพผิดกฎหมายจากต่างประเทศทะลักเข้าสู่สเปน แรงงานอพยพนับล้านจากแถบแอฟริกาเหนือและลาตินอเมริกา รวมถึงแรงงานอพยพจากชาติสมาชิกสหภาพยุโรป


 


จำนวนแรงงานอพยพในสเปนเพิ่มขึ้นสูงมากจากประมาณ 500,000 คน ในปี 1996 มาเป็น 5.2 ล้านคนในปัจจุบัน (ประมาณ 2.2 ล้านคนเป็นแรงงานอพยพจากประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป) ทั้งนี้ประชากรสเปนมีประมาณ 45 ล้านคน


 


ปัญหาการว่างงานในสเปนเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับการตกต่ำของธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้าง, ประมาณการกันว่าในขณะนี้ประชาชนกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 11% ของกำลังแรงงานรวมกำลังอยู่ในสภาพที่ไม่มีงานทำ โดยหากคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่าผู้ว่างงานในสเปนมีตัวเลขที่สูงขึ้นจาก 7.95% ในช่วงกลางปี 2007 เพิ่มขึ้นมาเป็น 10.4% ในไตรมาสที่สองของปีนี้


 


ทั้งนี้ยังคงมีแรงงานอพยพผิดกฎหมาย ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อหวังมาหาสิ่งดีๆ ในสเปนเสมอ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแรงงานอพยพที่มุ่งหน้ามาสเปน 129 คน ถูกควบคุมตัวไว้ที่เกาะคานารี (Canary) โดยพวกเขาเดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตกด้วยเรือเล็กๆ สองลำ


 


 


ที่มา:


Spain urges jobless immigrants to leave (By Victor Mallet in Madrid, Financial Times, 19-09-2008)


Spain to compensate immigrants for returning home: minister (AFP, 19-09-2008)


Spain's radical plan for migrants (BBC, 03-09-2008)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net