Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10:30 . วันที่ 13 ต.ค. มีการประชุมวิชาการ "เพศศึกษาเพื่อเยาวชน" ครั้งที่ 4 "ทบทวน ทายท้า ศรัทธา กล้าเลือก" ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2551 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งภายในงานมีการปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง "ความหวัง ต่อการบ่มเพาะเยาวชนผ่านระบบการศึกษาไทย ?" ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์


ศ.ดร.นิธิ เปิดประเด็นด้วยการตอบคำถามจากผู้จัดสนใจ 5 คำถามด้วยกัน โดยเริ่มจากคำถามที่ห้าเป็นคำถามแรกโดยถามว่า ทัศนะต่อเป้าหมายของเพศศึกษาควรจะเป็นอย่างไร?


ศ.ดร.นิธิ ได้เสนอว่าคำตอบที่ง่ายและสั้นที่สุดซึ่งนั่นก็คือ การรู้เท่าทันเรื่องเพศที่มีในตัวเรา มีในตัวคนอื่น มีในสังคมทั้งหมด รวมไปถึงวัฒนธรรมของเราเองหรือของคนอื่นก็ตาม เราจะสามารถที่จะเข้าไปอยู่รวมกับมันและจัดการกับมันได้อย่างไรโดยไม่เป็นภัยต่อตนเอง ไม่เป็นภัยต่อผู้อื่น คำว่า "รู้เท่าทัน" มีหลายมิติ อย่าน้อยที่สุดมี 5 มิติด้วยกัน


มิติแรกแรก คือ เรื่องของเพศเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีมิติของความเคารพ เป็นมิติของเพศสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับสังคม มิติของเพศสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับเพศภาวะ มันมีหลากมิติด้วยกันไม่ใช่ว่ามีมิติเดียวในเรื่องของอารมณ์ ความรักความรู้สึก ความใคร่ แต่ยังคงมีด้านอื่นๆ ขาดหายไปเป็นต้นว่า การสอนเพศศึกษาไม่ได้สอนให้เพศชายต้องให้ความเคารพต่อเพศหญิง ซึ่งเพศศึกษาต้องหมายรวมถึงเพศสัมพันธ์ที่มีความยุติธรรม ที่มีความเคารพระหว่างเพศด้วย


มิติที่สอง คือ ความหลากหลายชนิดของเพศสัมพันธ์ เช่นระหว่างเพศเดียวกัน ต้องเข้าใจว่ามันมีความหลากหลายและยอมรับมันได้ แต่ที่เหนือกว่าคือการมีความใกล้ชิดสนิทสนม ได้พูดคุย มีความรักมีความเคารพที่ต่างเพศหรือเพศเดียวกันก็ได้


ศ.ดร.นิธิได้เน้นย้ำว่านี้คือส่วนหนึ่งของเพศสัมพันธ์ และด้วยเหตุฉะนั้นการเข้าใจความหลากหลายชนิดของความสุขทางเพศซึ่งมีความสุขจากการได้สัมพันธ์กับคนต่างเพศซึ่งไม่เกี่ยวกับการสอดใส่ ก็คือว่าการเข้าใจตามแบบพระพุทธศาสนาซึ่งนั้นก็คือ การเข้าใจใน "กามอารมณ์" ซึ่งหมายถึงอะไรก็ตามแต่ที่ก่อให้เกิดความสุขทางกาย เช่น การฟังเพลงก็เป็นกามอารมณ์ชนิดหนึ่ง ต้องเข้าใจความสุขทางกามอารมณ์ที่กว้างขวาง เช่นการเข้าถึงกามอารมณ์ทางศิลปะก็เป็นกามอารมณ์ชนิดหนึ่งเหมือนกันในทางพระพุทธศาสนา


มิติที่สาม คือ ความปลอดภัย เป็นความปลอดภัยที่เราปฏิเสธไม่ได้ทั้งความปลอดภัยต่อตนเอง ความปลอดภัยต่อแก่ผู้มีเพศสัมพันธ์ด้วย และนอกจากความปลอดภัยทางกายแล้ว ต้องคิดถึงเรื่องของความปลอดภัยจากผลกระทบต่อการกระทำนั้นๆ เมื่อไหร่ที่มีเพศสัมพันธ์ นัยทางสังคมคืออะไร นัยทางการแพทย์ เศรษฐกิจคืออะไร ซึ่งนี้คือสวนสำคัญของเพศศึกษา


มิติที่สี่ คือ ทางเลือกของเพศสัมพันธ์ที่เยอะมาก ทางเลือกเหล่านั้นเป็นทางเลือกที่เคยแต่ละคนเลือกได้เมื่อคิดอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า ทางเลือกอันนี้เหมาะ ทางเลือกอันนี้ไม่เหมาะ เช่น สิ่งที่นิยมพูดกันมากคือการช่วยตนเองซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในเพศสัมพันธ์นั้นเอง การเล่นกีฬาถ้าเลือกกีฬาเป็นตัวช่วยบรรเทาทางเพศก็เป็นทางเลือกหนึ่งของเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งเหมือนกันแต่ต้องเข้าใจนัยความหมายของมัน


มิติที่ห้า คือ สุขภาวะเรื่องเพศโดยทั่วไปทั้งหมดว่ามีความสำคัญยังไง มันเกิดอะไรขึ้นในร่างกายตนเอง มันเกิดอะไรขึ้นในจิตใจตนเองในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์และอื่นๆ เราควรเริ่มศึกษาเป้าหมายของการศึกษาเพศศึกษาตามนัยที่กล่าวมาแล้ว


ทั้งนี้กลับมาสู้คำถามของผู้จัดในข้อแรกคือ องค์กรที่จัดเรื่องนี้ได้พยายามผลักดันในเรื่องของเพศศึกษาในระดับโรงเรียนมาเป็นเวลานานพอสมควร จึงพอเห็นความคืบหน้าในเรื่องการเปิดใจกว้าง รับฟัง อดทน กับความแตกต่างในเรื่องเพศจากคนที่เข้าร่วมขบวนการ แต่ก็ยังยากลำบากในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่และเร็วขึ้นเพราะกระบวนการที่ใช้ล้วนแต่ต้องอาศัยการให้คนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนให้เห็นความแตกต่างในบรรยากาศที่เอื้อให้ไม่ตัดสินคนอื่น


ต่อคำถามว่า มีข้อแนะนำต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่รวดเร็วกว่านี้หรือไม่


ศ.ดร. นิธิเสนอว่า มนุษย์มีสิ่งจำเป็นที่ต้องทำต่อคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาคือ Socialization หรือกระบวนการปรับเปลี่ยนคนให้เข้ากับสังคม ในปัจจุบันนี้เราทำโดยการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราใช้ระบบโรงเรียนในการเปลี่ยนคนเข้าสู่สังคม แต่ในขณะเดียวกันอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อาจารย์นิธิคิดคือ สื่อ


เราใช้ระบบสื่อ ซึ่งในสมัยก่อนมีค่อนข้างจำกัด แต่ในปัจจุบันเรามีสื่อที่สามารถข้ามโลกครอบคลุมคนจำนวนมหาสารได้ เพราะฉะนั้นระบบสื่อจึงทำหน้าที่ปรับคนเข้าสู่สังคม ตามทัศนะของ ศ.ดร.นิธิเห็นว่ามากกว่าระบบโรงเรียนด้วนซ้ำ


อีกอันคือมนุษย์ปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่สังคมโดยกลุ่ม แน่นอนว่ามนุษย์โดยกลุ่ม ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสังคม หมายถึงกลุ่มเพื่อน กลุ่มกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราเรียนรู้อะไรบางอย่างจากกลุ่มของเราซึ่งกระบวนการเหล่านี้สอนให้เราเข้ามาอยู่ในสังคมได้ แน่นอนชุมชนก็อยู่ในประเภทของกลุ่มนี้ถ้าเราอยู่ในที่ที่มีชุมชนมีกิจกรรมหลากหลายในชุมชนที่เราเข้าไปร่วมด้วย


และสถาบันสุดท้ายคือสถาบันครอบครัว ทั้งพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนทางสังคมได้


ทั้งสี่อย่างนี้ โรงเรียนถือว่ามีบทบาทมาก แต่โรงเรียนประสบความล้มเหลวต่อการปรับคนเข้าสู่สังคมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากในสมัยหนึ่งสังคมไม่ค่อยเปลี่ยนแต่ปัจจุบันไม่ใช่ ทำให้โรงเรียนค่อนข้างจะประสบกับความล้มเหลวในการที่จะทำให้นักเรียนสามรถเข้าไปสู่สังคมที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วได้ กระนั้นโรงเรียนก็ยังมีหน้าที่ โรงเรียนก็ยังมีประโยชน์ที่จะทำหน้าที่ของตนเองต่อไป แต่ต้องปรับเปลี่ยนระบบโรงเรียนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่รวดเร็ว ทำได้อย่างไร สังคมปัจจุบันได้ทำลายกำลังใจของครู ให้ครูไม่คิดอยากที่จะริเริ่มสร้างสรรค์อะไรมากนัก ในขณะเดียวกันก็ทำให้ครูขาดความเชื่อมันต่อตนเอง


ควรสร้างเครือข่ายของครูที่สอนเพศศึกษาในระหว่างครูเอง ครูในโรงเรียน ต่างโรงเรียน ในระบบโรงเรียน จากการมีเครือข่ายของตนเองเท่านั้นที่จะทำให้ครูคิดริเริ่มเองเป็น และคิดที่จะตอบสนองต่อเงื่อนไขของเขาเอง ในเงื่อนไขที่มีความหลากหลาย ให้คิดริเริ่มตอบสนองเงื่อนไขของตนเอง วิธีการจัดการตอบสนองให้เข้ากับเด็กได้


อันที่สองคือสื่อค่อนข้างฉาบฉวย ทำอย่างไรให้สื่อได้มีโอกาสพูดถึงเพศศึกษา สอนและผลักดันเรื่องเพศศึกษา เช่นการจัดวิทยุชุมชน โดยเครือข่ายของครู สร้างความสัมพันธ์กับนักเขียน ควรยัดรายการเข้าไปในสื่อให้มากขึ้นเนื่องจากเด็กไทยใช้เวลาอยู่ดับสื่อสูง


อันที่สามคือกลุ่ม ควรจัดกิจกรรมของเด็กให้มากขึ้น ทำงานเชื่อมโยงกับนักศึกษามหาลัยร่วมกับนักเรียนให้มากขึ้น เช่นการจัดค่าย รวมไปถึงการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่มีความหลายหลายโดยเชื่อมโยงและผลักดันประเด็นเรื่องเพศศึกษาเข้าได้ด้วย


อันสุดท้ายคือครอบครัว ครองครัวค่อนข้างขาดเครื่องมือในการให้คำตอบ พ่อแม่ยังขาดความรู้ทำให้เมื่อลูกถามก็ไม่กล้าตอบ มีวิธีที่สอนพ่อแม่จะบอกพ่อแม่ยังไงในการตอบคำถามกับลูก ยกตัวอย่างเช่นหนังสือตัวอย่าง "สอนรัก สลักใจ" เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องเพศแบบง่ายและมีเครื่องมืออีกมากมายทั้ง วีดีโอ เกม ซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยใหม่


คำถามข้อที่สองถามว่า กระบวนการสร้างการเรียนรู้ผ่านครูผ่านห้องเรียนเผชิญกับความยากลำบากที่ครูติดยึดกับอำนาจ การฟังไม่เป็น การขาดระบบคิดว่าทำอย่างไรให้เด็กคิดเป็น เราควรทำอย่างไรกับกระบวนการการผลิตครูดี?


ศ.ดร.นิธิได้เสนอเอาไว้ว่าเราเล็กเกินไปที่จะไปปรับเปลี่ยนและเราไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ไปเปลี่ยนตัวระบบด้วย แต่ได้เสนอการสร้างระบบตอบแทนขึ้นมาแก่การสอนเพศศึกษาโดยสังคมให้ความสำคัญกับเพศศึกษา ระบบตอบแทนคือการยอมรับเรื่องเพศศึกษาในหลักสูตรโดยที่สังคมให้การยอมรับมากขึ้น


ประเด็นปัญหาที่สามคือการศึกษาเรื่องเพศศึกษาไม่ถูกมองว่าสำคัญเท่ากับวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆ ครูหรือผู้ปฏิบัติงานรู้สึกทำอะไรไม่ได้ที่จะทำให้มันมีความสำคัญ ต้องเปลี่ยนแปลงที่นโยบายและผู้บริหารระดับสูง แต่ผู้บริหารก็เปลี่ยนแปลงยากเหลือเกิน ผู้บริหารมีอำนาจจริงในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือที่จริงแล้วตนสารารถแก้โจทย์ว่าตนสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องรอใคร?


ศ.ดร.นิธิเห็นว่าผู้บริหารมีอำนาจก็จริง ถึงใช้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องเปลี่ยนระดับครูมากกว่าระดับผู้บริหาร ซึ่งผู้บริหารขาดยุทธวิธีในการเปลี่ยน ผู้บริหารราชการไทยไม่มียุทธวิธีในการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเราต้องเชื่อมโยงต่อกับผู้บริหาร เพราะอย่าให้ผู้บริหารมาขวางต้องให้เข้าใจกัน


ในคำถามข้อที่สี่ เราควรสร้างคนรุ่นใหม่ที่รับผิดชอบต่อเพศวิถีของตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ต้องพึ่งระบบโรงเรียนได้หรือไม่ แล้วเราจะพึ่งใครได้ถ้าเราหวังพึ่งครอบครัวเราต้องทำอะไรดีกับครอบครัว และครอบครัวในนิยามของยุคนี้และยุคหน้าจะเป็นอย่างไร?


ศ.ดร.นิธิเสนอไว้ว่าระบบโรงเรียนมีความสำคัญ แต่อย่างวางระบบโรงเรียนเป็นตัวหลัก ให้หันไปมองระบบอื่นด้วย เฉพาะครอบครัวมีพ่อแม่รุ่นใหม่มีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากอดีตที่ได้ความรู้จากสื่อที่เปลี่ยนไปค่อยข้างมากแต่เรื่องเพศศึกษายังคงเป็นเรื่องยากในสังคมไทย ดังนั้นจึงควรเอาเพศศึกษาไปรวมกับกับด้านอื่นๆ เช่นด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่ปิดบังพ่อแม่ เพศศึกษาควรผสมกับศาสตร์อื่นๆ ไม่ควรแยกตัวเองอย่างโดดเดี่ยว


ท้ายที่สุดอาจารย์นิธิมองว่าการที่เราให้ความสำคัญกับความรู้มากเกินไป ความรู้นั้นมันไม่ได้มาลอยๆ ความรู้นั้นจะต้องมาพร้อมกับทัศนะคติเสมอ ซึ่งในเรื่องเพศศึกษานั้นเราอย่าอวดข้อเท็จจริงมากจนเกินไป แต่จงสอนเพศศึกษาด้วยความนอบน้อม ว่าสิ่งที่กูสอนมันผิด มึงอย่าเชื่อ ทุกวิชาด้วย สอนด้วยความนอบน้อมหน่อยว่า


"ผมคิดว่าอย่างนี้ อาจผิดก็ได้ ความรู้ทุกอย่างที่เราเรียกว่าข้อเท็จจริงมันมาจากเงื่อนไขของวิธีศึกษา หรือเรียกจากศัพท์วิชาการว่า วิธีวิทยา มันกำหนดว่าอันนี้จริงอันนี้ไม่จริง เราไม่ใช่พระเจ้าที่สามารถบอกได้ว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าคุณใช้วิธีศึกษาแบบนี้ ทดลองแบบนี้ ใช้วิธีคิดแบบนี้ อันนี้จริง แต่จะจริง จริง จริง หรือเปล่า อันนี้เราไม่ทราบ เราเป็นมนุษย์ทำได้แค่นี้ และผมคิดว่าเรื่องนี้คือหัวใจสำคัญของการศึกษาที่ขาดหายไปอย่างยิ่งในการศึกษาไทย คือการไม่มีการนอบน้อม" ศ.ดร.นิธิ กล่าวทิ้งท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net