Skip to main content
sharethis

เก็บความจาก :  ปาฐกถา 14 ตุลาคม 2551  ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว


                      วันที่ 14 ตุลาคม 2551


 


 


 



       



 


 


"การปฏิรูปการเมืองกับการออกแบบรัฐธรรมนูญ"


(Constitutional Design)


 


รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์


คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


--------------------------


 


 


"การปฏิรูปการเมืองมิอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมการเมือง


ที่มีการแยกขั้วเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ดังเช่นสังคมไทยปัจจุบัน


เพราะการปฏิรูปการเมืองโดยตัวของมันเองมีแต่จะจุดชนวนของการแยกขั้ว


การปฏิรูปการเมืองต้องการฉันทานุมัติจากประชาชน


ปราศจากฉันทานุมัติจากประชาชน รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ย่อมไม่มีเสถียรภาพ


หากสังคมไทยยังไม่คืนสภาพสู่สังคมแห่งการใช้เหตุผล


การปฏิรูปการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญที่จะได้รับฉันทานุมัติยากที่จะเกิดขึ้นได้"


 


--------------------------


 


การเลือกหัวข้อการปฏิรูปการเมืองกับการออกแบบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ได้ต้องการเสนอพิมพ์เขียวในการปฏิรูปการเมือง ไม่ต้องการเสนอวิธีการออกแบบร่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องการชี้ประเด็นสำคัญบางอย่าง


 


การปาฐกถาวันนี้ แบ่งเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือการปฏิรูปการเมือง กับ การออกแบบรัฐธรรมนูญ โดยขอเริ่มต้นนำปาฐถาโกมล คีมทอง 2518 ของ เสน่ห์ จามริก ที่พูดถึง 14 ตุลาว่าเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมที่สำคัญ


 


การปฏิรูปการเมือง


 


ปฏิรูปการเมือง...เพื่ออะไร ?


ในส่วนแรกจะพูดการปฏิรูปการเมือง โดยต้องการเน้นว่าปฏิรูปการเมืองเพื่ออะไร ในบรรดารัฐธรรมนูญ 18 ฉบับที่ออกมาจนขณะนี้ มีเพียง 1 ฉบับที่เขียนในคำปรารภชัดเจนว่าร่างขึ้นบนฐานเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ปรากฏคำนี้ แม้ สสร.50 มักพูดถึงว่าร่างนี้ว่าเป็นไปเพื่อปฏิรูปการเมือง น่าสนใจว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ40 และ 50 สสร.ทั้ง 2 ชุดไม่เคยมีการถกอภิปรายว่าต้องการปฏิรูปการเมืองเพื่ออะไร


 


ในรัฐธรรมนูญ 40 ปรากฏในคำปรารภชัดเจนว่าต้องการปฏิรูปเพื่อ 3 เป้าหมายหลัก คือ 1.ส่งเสริมและคุ้มรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 3.ปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ


ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เราพบว่า การออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้วเพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ไม่เป็นไปอย่างเข้มแข็ง จนบัดนี้สิ่งที่เรียกว่า สิทธิชุมชน ก็ยังไม่มีกฎหมาย  ส่วนการเติบโตของภาคการเมืองประชาชนและการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นก็เกิดขึ้นจากภาคประชาชนเอง แต่ที่รัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ คือการสร้าง strong executive มีการปกป้องนายกฯ อย่างเข้มแข็ง จนเกิดการรวบอำนาจผูกขาดทางการเมือง ทำให้ดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจในกระบวนการบริหารและกำหนดนโยบาย เป็นที่มาของการต่อต้านระบอบทักษิณ อยากเรียกร้องให้ชุมชนวิชาการและประชาชนสนใจคำถามว่า ปฏิรูปการเมืองเพื่ออะไร ตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อนเดินเครื่องปฏิรูปการเมือง


 


เป้าหมาย 2 ระดับของการปฏิรูปการเมือง


การปฏิรูปการเมืองแบ่งเป้าหมายออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบั้นปลายกับขั้นกลาง


 


เป้าหมายในบั้นปลาย คือ การสถาปนาระบอบการเมืองการปกครองที่เอื้อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี แบ่งปันทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน สังคมมีสันติสุข ดังนั้น ตลาดการเมืองจึงตลาดการแลกเปลี่ยนซื้อขายบริการความสุข พรรคการเมืองและนักการเมืองเสนอขายบริการความสุขให้แก่ประชาชน เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วได้ผลิตบริการความสุขให้หรือไม่ รัฐธรรมนูญต้องให้ความสนใจ


 


เป้าหมายขั้นกลาง เรื่องนี้ว่าผมเปลี่ยนแปลงความคิดไปจากตอนที่เขียนหนังสือเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ  เป้าหมายแรกคือการแข่งขันทางการเมือง ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่มีทางที่ตลาดการเมืองจะมีการแข่งขันสมบูรณ์ได้ แต่ก็ต้องให้มีการแข่งขันมากไปกว่าที่เป็นมาและเป็นอยู่ อีกเป้าหนึ่งคือเรื่องธรรมาภิบาล เป็นประเด็นที่วงวิชาการ เศรษฐศาสตร์การเมืองสนใจศึกษามาก โดยเฉพาะประเด็นความรับผิด


 


ถ้าเราจะปฏิรูปการเมือง ต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการเมืองมากขึ้น อุปสรรคหลักของเรื่องนี้อยู่ที่ความไม่สมบูรณ์ของสารสนเทศ นักการเมืองและพรรคการเมืองมีสารสนเทศสมบูรณ์กว่าประชาชน เป็นลักษณะเช่นเดียวกับตลาดการเงินเช่นกัน อย่างไรก็ดี มันก็ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะละเลยให้มีการแข่งขันที่สมบูรณ์ขึ้น เพราะมันจะช่วยให้สังคมการเมืองสามารถผลิตบริการความสุขให้ประชาชนด้ด้วยต้นทุนต่ำและมีคุณภาพ เรื่องธรรมาภิบาลก็เช่นกัน โดยหวังว่าการแข่งขันที่มากขึ้นกับระบอบที่มีธรรมาภิบาลจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี สังคมมีสันติสุข


 


ส่วนที่มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยมีความเห็นว่าไม่สามารถเปรียบตลาดการเมืองกับตลาดสินค้าและบริการ แตกต่างในพื้นฐานหลายประการ จะขอข้ามในประเด็นเหล่านั้นไปก่อน


 


ความหมายของการแข่งขันทางการเมือง


ความหมายของการแข่งขันทางการเมือง มีความหมายแตกต่างกันอย่างน้อย 3 ความหมาย 1. การแข่งขันเพื่อยึดกุมตำแหน่งทางการเมือง จะส่งเสริมให้มันเพิ่มได้อย่างไร 2.การกระจายอำนาจทางการเมือง ทำให้อำนาจรัฐบาลส่วนกลางลดลง กระจายสู่หน่วยปกครองท้องถิ่น  3. การแข่งขันของพรรคการเมือง จำเป็นต้องไม่ลงรายละเอียดในเรื่องนี้เพราะเวลาน้อย


 


การแข่งขันทางการเมืองก่อให้เกิดประโยชน์และโทษอย่างไรบ้าง


 


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้ คือ 1.ลดการกระจุกตัวของอำนาจที่เปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจในการฉ้อฉลได้ง่าย 2.ทำให้สารสนเทศทางการเมืองสมบูรณ์มากขึ้น สังคมการเมืองโปร่งใสมากขึ้น 3. ทำให้มีความรับผิดในทางการเมือง นักการเมืองและพรรคต้องรับผิดต่อประชาชนมากขึ้น 4. ช่วยลดทอนการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจในกะรบวนการกำหนดนโยบาย 4.บริการสาธารณะจะดีขึ้น ถ้าตลาดการเมืองเป็นตลาดซื้อขายบริการความสุข ประชาชนจะเลือกจากนักการเมืองที่สามารถผลิตบริการนั้นมีคุณภาพและต้นทุนต่ำที่สุด


 


ผลเสียที่คาดว่าจะเกิด 1.ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ อาจรู้สึกว่าการแข่งขันนั้นเข้มข้น ตัวเองอาจพ่ายแพ้ทางการเมือง ทำให้อาจจะเร่งดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการกำหนดนโยบาย 2.ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่อาจไม่กล้าริเริ่มนโยบายใหม่ ถ้าต้องตามมาด้วยการเก็บภาษีเพิ่มและทำลายคะแนนนิยมทางการเมือง


 


ข้อเสนอเกี่ยวกับนักการเมือ พรรคการเมือง ตลาดการเมือง


ข้อเสนอเกี่ยวกับตลาดนักการเมือง เช่น ต้องไม่มีอุปสรรคในการเข้าหรืออกจากการแข่งขัน ต้องเลิกบังคับ ส.ส.สังกัดพรรค เลิกระบอบบัณฑิตยาธิปไตยสำหรับผู้สมัคร ส.ส.


 


ข้อเสนอเกี่ยวกับตลาดพรรคการเมือง คือ 1.ต้องอำนวยการให้จัดตั้งพรรคการเมืองเป็นไปได้ง่าย แต่พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 4252 แม้ว่าตั้งพรรคง่าย แต่เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ทำให้อยู่ยาก เช่น จำนวนสมาชิก สาขาพรรค ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อพรรคขนาดเล็ก อย่าลืมว่าพรรคที่มีอุดมการณ์มักเติบโตจากพรรคขนาดเล็กและไม่สามารถแบกรับภาระเหล่านั้นได้  2.เรื่องการกระจายอำนาจ อปท.ต้องมีอิสระทางการคลัง มีอำนาจจัดเก็บภาษี และรัฐบาลกลางให้งบประมาณมากขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ผลิต local public goods เช่น บริการการศึกษา สาธารณสุข ตำรวจ


 


ข้อเสนอเกี่ยวกับสารสนเทศทางการเมือง เช่น เผยแพร่สถิติการเข้าประชุมรัฐสภา, เผยแพร่มติของพวกเขาในการลงมติอนุมัติ/ไม่อนุมัติ ร่างพ.ร.บ.หรือสนธิสัญญาต่างๆ, เผยแพร่หนี้สิน/ทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง ผู้สมัคร ส.ส.,ส.ว. , เผยแพร่ การต้องคดีผู้ดำรงตำแหน่ง, เผยแพร่ข้อมูลนโยบายของพรรคการเมือง, เผยแพร่ การใช้จ่ายจริงของรัฐบาลในแผนงานและโครงการต่างๆ 


 


ข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันการผูกขาดในทางการเมือง (Political Competition Law) การเมืองก็ควรมี ห้ามพรรคการเมืองควบหรือครอบพรรคอื่นระหว่างมีสภาผู้แทนฯ และยังไม่ได้ยุบสภา, ห้าม ส.ส.ย้ายพรรคในระหว่างมีสภาผู้แทนฯ และไม่ได้ยุบสภา ยกเว้นแต่พรรคถูกยุบ


 


ธรรมาภิบาล การกำหนดในรัฐธรรมนูญ


ธรรมภิบาลก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญ ในการนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของการปฏิรูปการเมือง อย่างต่ำสุดต้องพูดถึงเรื่องความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และการรับผิด


 


ในเรื่องความโปร่งใส ข้อพิจารณาที่1. คือ เสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร รัฐธรรมนูญต้องให้หลักประกัน 2. ข้อมูลข่าวสารทางราชการถือเป็นสมบัติสาธารณะ ต้องเปิดเผย การไม่เปิดเผยมีความผิด อันนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญ 40 และ50 ที่ยึดหลักว่าคนที่ต้องการข้อมูลต้องแบกรับภาระต้นทุนของการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร เพราะต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯ 3. เสนอให้กำหนดเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ดังตัวอย่าง Us freedom of info Act of 1966 ซึ่งทำให้ต้องเปิดเผยข้อมูลแพนตากอนในช่วงสงครามเวียดนาม)  4.กำหนดให้กฎหมายเสรีภาพสื่อมวลชนเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ


 


5.รายงานการศึกษาโครงการลงทุนของรัฐเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่เปิดผิดกฎหมาย เช่น การประเมินโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การประเมินผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม 6.เงินบริจาคพรรคการเมือง ต้องรายงานยอดเงิน พร้อมเปิดเผยรายชื่อทุกเดือน เพราะนี่เป็นการซื้อเสียงยิ่งกว่าที่ไปจ่ายเงินให้ประชาชน ต้องเปิดให้รู้ว่าเมื่อพรรคนี้มีอำนาจแล้วได้ดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนที่บริจาคหรือไม่


 


ในเรื่องการมีส่วนร่วม ขอข้ามเรื่องนี้ไปเนื่องจากเวลาน้อย


 


ในเรื่องความรับผิด รัฐธรรมนูญอาจช่วยได้บ้าง ความรับผิดที่สำคัญ คือ ความรับผิดในการส่งมอบบริการความสุขให้ประชาชน ในการเลือกตั้งไปโฆษณาบริการของตนเอง แต่เมื่อมีอำนาจ หากนักการเมืองและพรรคการเมืองไม่ส่งมอบบริการความสุขจะทำอย่างไร  ทั้งรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ไม่ให้ความสำคัญในการสร้างกลไกของความรับผิด ข้อพิจารณาที่ 1.ในการแถลงนโยบาย นายกฯ ต้องแถลงด้วยว่านโยบายที่ใช้หาเสียง นโยบายใดบ้างที่ไม่ปรากฏในนโยบายของรัฐบาล 2. ต้องแถลงและเสนอรายงานต่อสภาทุกปี ระบุอย่างชัดเจนว่า นโยบายที่แถลงไปนโยบายใดยังไม่ได้ดำเนินการ นโยบายใดดำเนินการถึงไหน 3.การใช้งบในทางสูญเปล่า และดำเนินนโยบายผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคม รัฐมนตรีและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรับผิดทางแพ่ง อันนี้ยกประเด็นให้มาถกกัน


 


การออกแบบรัฐธรรมนูญ


 


พูดถึง 2 เรื่อง คือหลักการออกแบบรัฐธรรมนูญ และ ประเด็นสำคัญในการออกแบบรัฐธรรมนูญ โดยขอพูดเฉพาะเรื่องที่ 2 ส่วนเรื่องหลักการออกแบบ ไม่ขอลงรายละเอียด แต่โดยคร่าวๆ คือ เรามองรัฐธรรมนูญว่าเป็นอะไร สิ่งที่เสนอคือ ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกการประสานงานในสังคม  (Social Coordination Mechanism) เพื่อให้สังคมการเมืองบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการเมือง


 


ประเด็นสำคัญในการออกแบบรัฐธรรมนูญ คือ 1.สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทย 2.อำนาจนิติบัญญัติ 3.อำนาจบริหาร 4.อำนาตุลาการ 5.การแบ่งแยกอำนาจ และการตรวจสอบถ่วงดุล  6.ธรรมภิบาล 7.ธรรมนูญการคลังและธรรมนูญการเงิน 8.กฎการลงคะแนนเสียง 9.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 10.กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออนุวัตรตามรัฐธรรมนูญ 11. การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 12. การปริทัศน์รัฐธรรมนูญ (Review) 13. การแก้ไขเพิ่มเติมและการร่างรัฐธรรมนูญ


 


1.เรื่องสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย เพียงแต่ตั้งคำถามให้ถกว่า หน้าที่ใดควรบรรจุย่อมขึ้นกับดุลยพินิจของผู้ร่าง และพบว่าบางครั้งเกินกว่าความจำเป็น ส่วนที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือการกำหนดหน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง นัยสำคัญคือการบังคับ ลิดรอนสิทธิทางการเมืองในขั้นพื้นฐาน  ส่วนการระงับความขัดแย้งให้ใช้มติเอกฉันท์ทำให้ทำได้ยาก ส่วนการกำหนดสิทธิเสรีภาพขอปวงชนทำให้ลดความขัดแย้ง ลดทอนความรุนแรงของความขัดแย้ง


 


อาจอหังการ์เกินไปที่จะบอกว่าไม่มีบทบัญญัติสากลว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ เพราะมันแตกต่างไปตามเทศะและกาละ จึงต้องทบทวนในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนกำหนดเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง คำถามพื้นฐานคือ ฉบับ 50 กำหนดสิทธิพื้นฐานมากเกินกว่าศักยภาพของรัฐในการตอบสนองหรือไม่ ถ้ารัฐไม่สามารถตอบสนองได้ สิ่งที่เกิดคือ คุณภาพของบริการของรัฐจะต่ำลงเรื่อยๆ เช่น บริการการศึกษา แม้จะเห็นด้วยในหลักการว่าประชาชนควรได้รับ แต่จะให้เป็น universal service หรือไม่


 


อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิจะไร้ความหมายถ้าไม่บัญญัติกฎหมายใหม่ตามรัฐธรรมนูญ และไม่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้เคารพสิทธิผู้อื่น


 


สิ่งสำคัญคือต้องเน้นย้ำเรื่องเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารด้วย (freedom of information)


 


นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการสถาปนาสิทธิในทางเศรษฐกิจ (economic rights) ของชนชาวไทย เรื่องนี้ผมให้ความสำคัญมากกว่า การให้บริการสวัสดิการกับชนชาวไทยอย่างเสมอภาคเสียอีก ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนระบุ ให้ประชาชนมีสิทธิได้รับหลักประกันรายได้ขั้นต่ำในการประทังชีวิต


 


2. เรื่องอำนาจนิติบัญญัติ ข้อพิจารณาที่1. จารีตรัฐธรรมนูญไทยบั่นทอนการทำหน้าที่นิติบัญญัติ  ทั้งที่รัฐธรรมนูญควรมีบทบัญญัติเกื้อกูลการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา เช่น ส.ส.มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายโดยไม่ต้องขอมติพรรค แต่ต้องมีสมาชิก ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5% ลงนามรับรอง, ส.ส.มีอำนาจในการเสนอกฎหมายการเงินโดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากนายกฯ นอกจากนี้ยังต้องมีบทบัญญัติในรายละเอียดที่จะจำกัดอำนาจฝ่ายบริหารในการตรา พ.ร.ฎ. หรือ เพราะบางครั้งกฎหมายลำดับรองเหล่านั้น หรือกฎกระทรวงอาจมีผลกระทบมากกว่าตัวพ.ร.บ.เสียอีก ข้อพิจารณาที่ 2 รัฐสภาต้องการเป็นระบบสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน แต่ระบบรัฐสภาไทยค่อนข้างลงตัวในระบบสภาคู่ แต่กระนั้นก็มีคนไม่เห็นด้วยกับมัน


 


ข้อพิจารณาที่ 3 ระบบการเลือกตั้ง คำถามคือต้องการเห็นสังคมการเมืองพัฒนาไปแบบไหน ต้องการเป็นทวิพรรค ( Bi-Party system)  หรือพหุพรรค (Multi-Party system) เพราะระบบการเลือกตั้งมีผลต่อพัฒนาการของการเมืองในระบบของอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย เป็นระบบเขตเดียวคนเดียว กฎการลงคะแนนเสียงคือ คนได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือก โดยไม่ดูว่าเกิน 50% ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งนำไปสู่ระบบทวิพรรค ถ้าใช้ระบบ Proportional Representation เป็นระบบพหุพรรค  และยังมีทางเลือกเป็นระบบที่ 3 คือ Mix member Electoral system ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญ 40


 


คำถามคือต้องการเห็นรัฐสภาขนาดใหญ่หรือเล็ก ผมอยากเห็นรัฐสภาขนาดเล็ก ซึ่งต้องกระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง ข้อเสนอที่เสนอเป็นตุ๊กตา คือ ส.ส.400 ผู้แทนเขต 300  ปาร์ตี้ลิสต์ 100 การเลือกตั้งส.ส. ใช้ single member district representation  ปาร์ตี้ลิส์ ใช้ประเทศเป็นเขตการเลือกตั้งโดยไม่มีเกณฑ์คะแนนเสียงขึ้นต่ำ  ส่วนส.ว.นั้นเลือกจังหวัดละ 1 คน


 


3. เรื่องอำนาจบริหาร ข้อพิจารณาที่ 1. นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. 2.รมต. ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภา แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา  ข้อพิจารณาที่ 2. นายกฯ ต้องเสนอร่างนโยบายต่อสภาผู้แทนก่อนเข้าบริหาร และต้องให้การเห็นชอบโดยมีการลงมติ ตรงกันข้ามกับจารีตรัฐธรรมนูญ


 


4.เรื่องอำนาจตุลาการ ข้อพิจารณาที่1.ใครมีอำนาจแต่งตั้งและปลดตุลาการ ข้อพิจารณาที่2.อำนาจตุลาการควรก้าวล่วงไปเขตอื่นมากน้อยเพียงใด ตราบจนรัฐธรรมนูญ 40 อำนาจตุลาการอยู่ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจอื่น แต่รัฐธรรมนูญ 50 ตุลาการได้ก้าวล่าวงไปใช้อำนาจนิติบัญญัติและบริหาร ข้อพิจารณาที่3.ผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีอิสระในการพิจารณาคดี


 


5. เรื่องการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย  หลักนี้มีความหมายหลากหลาย มีทั้งทางกายภาพ คือ การแบ่งแยกตัวบุคคลที่ใช้อำนาจ เช่น ห้าม ส.ส.ดำรงตำแหน่ง รมต. แต่ตรงนี้ต้องการเน้นความสำคัญเรื่อง 1.การแยกอำนาจหน้าที่ 2.การตรวจสอบถ่วงดุล ถามว่าใครควรมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการ และจะตรวจสอบได้อย่างไร  ดังนั้นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบทั้ง 3 อำนาจต้องมีการกำหนดอำนาจและหน้าที่ให้ชัด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 ได้แยกอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระได้เป็น 2 ประเภท 1. ควบคุมกำกับตรวจสอบสังคมการเมือง 2.ควบคุมกำกับตรวจสอบเฉพาะ sector เช่น เรื่องวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคม ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ควรเป็นกฎหมายแยกต่างหาก


 


นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังมีบทบาทในการตรวจสอบเช่นเดียวกับประชาชน รัฐธรรมนูญจึงต้องประกันสิทธิในการแสดงความเห็น และเสรีภาพสื่อ


 


6. เรื่องธรรมภิบาล ถ้าสังคมมีสิ่งนี้ ประโยชน์จะตกกับทั้งสังคมโดยส่วนร่วม จึงเป็น pure public goods ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้ง 40 และ 50 วางหลักไว้ว่า คนต้องการธรรมาภิบาล ต้องรับภาระต้นทุนด้วย ต้องทำลายหลักการนี้ ถ้าเราต้องการมันและเชื่อว่ามันเป็นสินค้าสาธารณะที่แท้ สังคมต้องเป็นผู้รับภาระของการได้มาซึ่งธรรมภิบาล จึงต้องเปลี่ยนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่


 


7.ธรรมนูญทางการคลัง ธรรมนูญทางการเงิน รัฐธรรมนูญมีการแยกตัวบุคคลชัดเจน แต่ไม่ค่อย มี monetary อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกตัวบุคคลก็ไม่เหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลดอำนาจของฝ่ายบริหารในทางการคลัง เช่น ในสหรัฐอเมริกามี social movement มา 30 กว่าปี จะให้มี balance budget amendment คือให้รัฐบาลให้งบประมาณสมดุล แต่จารีตรัฐธรรมนูญไทยกลับตาลปัตร เพราะควบคุมอำนาจทางการคลังของฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ห้ามฝ่ายนิติบัญญัตินำเสนอกฎหมายทางการเงิน ห้ามฝ่ายนิติบัญญัติแปรญัตติลดวงเงินงบประมาณรายงาน เป็นการลดทอนอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ


 


ข้อพิจารณาที่ 1. การเก็บภาษีอากร ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนไม่อาจกระทำได้  ข้อพิจารณาที่ 2 รัฐบาลมีอำนาจจัดสรรงบประมาณแก่องค์กรประชาชนและองค์การพัฒนาเอกชนที่มีผลงานในด้านการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองโดยประจักษ์แจ้ง จากที่มีจารีตแต่ในทางจัดสรรให้หน่วยงานรัฐ  ข้อพิจารณาที่ 3.  รัฐบาลต้องจัดสรรรายได้จากการเก็บภาษี ให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นตามสัดส่วนอันพึงได้ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีการขาย การบริโภค ทรัพยากร และรัฐบาลมีอำนาจจัดสรรายได้ให้แก่หน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย โดยให้มากกว่าหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีรายได้มาก


 


นอกจากนี้ควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระในการบริหารนโยบายการเงิน เพื่อบรรลุเป้าหมายเสถียรภาพราคาและการเงิน โดยต้องไม่ละเลยการพิจารณาผลกระทบที่มีต่อเป้าหมายความยากจนและการกระจายรายได้  ตลอดจนเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน  โดย ธปท.ต้องรายงานและให้การต่อรัฐสภาอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง


 


8. เรื่องกฎการลงคะแนนเสียง เราเข้าใจผิดมาตลอดว่าที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเป็นคะแนนเสียงข้างมาก จริงๆ แล้วเป็นกฎข้างน้อย คือ กำหนดองค์ประชุมไว้ว่าต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิก และมติต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้เข้าประชุม ดังนั้นเท่ากับกฎหมายผ่านด้วยคะแนนมากกว่า 25% ของสมาชิกเท่านั้น ทำให้สังคมไทยมีกฎหมายมากเกินว่าความสามารถในการบังคับใช้  กฎคะแนนเสียงข้างน้อยเช่นนี้อาจอนุโลมใช้กับการประชุมระดับกรรมาธิการต่างๆ แต่ควรใช้กฎคะแนนเสียงข้างมากในวาระการผ่านกฎหมาย หรือ 50% ของจำนวนสมาชิกที่มี


 


ส่วนมติหรือร่างกฎหมายต่อไปนี้ต้องยึดกฎคะแนนเสียงข้างมาเข้มงวด หรือต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก คือ กฎหมายการเงิน การคลัง กฎหมายที่สร้างการผูกขาด กฎหมายถ่ายโอนโยกย้ายส่วนเกินทางเศรษฐกิจ กฎหมายที่กระทบคนจน กฎหมายมีผลต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากร การย้ายถิ่นฐานของประชากร รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศ


 


ส่วนที่ต้องการเข้มงวดสุดๆ หรือใช้เสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิก คือ กฎหมายการขายทรัพย์สินและกิจการรัฐ การประกาศสงคราม กฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลต่ออำนาจรัฐ


 


9.เรื่ององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อย่างที่บอกว่ามี 2 ประเภท ในส่วนเฉพาะ sector ควรอยู่ในกฎหมายเฉพาะ เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และทบทวนบางองค์กรที่ทำหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ต้องขอโทษที่ต้องยกตัวอย่าง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) และขอเสนอให้จัดตั้งองค์กรประเมินและติดตามการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและการดำเนินการของ ธปท. เช่น US General Accounting Office


 


10. เรื่องการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้อนุวัตรตามรัฐธรรมนูญ มีประเด็นน่าห่วงคือ  สิ่งเหล่านี้ควรมาพร้อมร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าตรากฎหมายประกอบโดยองค์กรที่ต่างไปจากองค์กรที่ร่างรัฐธรรมนูญเจตนารมณ์ก็อาจจะต่างไป และเสนอว่าภายใน 2 เดือนที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ รัฐบาลต้องเริ่มต้นกระบวนการตรากฎหมายอนุวัตรตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงประชาชนผ่านการลงประชามติ


 


11.การปริทัศน์รัฐธรรมนูญ  (Constitutional Review)  เมื่อบังคับใช้มา 10 ปี ให้ประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติตุลากร แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและเผยแพร่สู่สาธารณะ


 


ส่วนการแก้เป็นหน้าที่ของใคร รัฐสภาไม่ควรร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะมีผลประโยชน์ได้เสีย เมื่อมีการร่างหรือแก้ไขฉบับเดิม ให้จัดตั้ง constitutional convention เพื่อดำเนินการ และการเสนอแก้ไขต้องให้สิทธิกับประชาชนและสถาบันต่างๆ เข้าร่วม และร่างจะบังคับใช้ได้ต้องได้ความเห็นชอบจากสภาร่าง และประชาชน โดยกำหนดไปเลยว่าห้ามสมาชิกสภาร่าง และกมธ.ที่ร่างดำรงตำแหน่งในรัฐสภา ครม. และองค์กรอิสระในวาระแรกที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้


 


......................


 


 


"ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ผมได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายการปฏิรูปการเมือง และการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง ในปาฐกถานี้


 


หลายต่อหลายประเด็น ผมเพียงแต่ตั้งคำถาม แต่ไม่มีตอบ ข้อที่ประจักษ์แจ้งก็คือ ปาฐกถานี้ไม่ได้นำเสนอพิมพ์เขียวการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการเมืองมิอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมการเมืองที่มีการแยกขั้วเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ดังเช่นสังคมไทยปัจจุบัน เพราะการปฏิรูปการเมืองโดยตัวของมันเองมีแต่จะจุดชนวนของการแยกขั้ว การปฏิรูปการเมืองต้องการฉันทานุมัติจากประชาชน ปราศจากฉันทานุมัติจากประชาชน รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ย่อมไม่มีเสถียรภาพ หากสังคมไทยยังไม่คืนสภาพสู่สังคมแห่งการใช้เหตุผล การปฏิรูปการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญที่จะได้รับฉันทานุมัติยากที่จะเกิดขึ้นได้"


 


 


 


 


 


 


หมายเหตุ : ปาฐากถาฉบับเต็ม และพาวเวอร์พ้อยท์ประกอบ ติดตามที่ได้เว็บอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net