Skip to main content
sharethis

อานุภาพ นุ่นสง


สำนักข่าวประชาธรรม


การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้ง ในชั่วโมงนี้นับว่านับว่าน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง


โดยเฉพาะบรรดาคณะรัฐมนตรีทั้งหลายที่ปรากฏรายชื่อออกมา หลายคนเห็นชื่อแล้วอาจออกอาการส่ายหัว เพราะหากพิจารณาดูแล้วจำนวนไม่น้อยได้นั่งเก้าอี้เป็นเจ้ากระทรวงต่างๆได้โดยอาศัยโควตาพรรคและความเก๋าเกมส์ทางการเมืองมากกว่าความรู้ความสามารถที่จะใช้บริหารประเทศ ยิ่งโดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับสารพัดปัญหาที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วงรอบด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง วิกฤตความขัดแย้งของประชาชน เหล่านี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของ ครม.มาร์ค 1


นอกจากนี้แล้ว อีกภารกิจที่ท้าทายที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการสานต่อนโยบายเก่าๆ ที่ค้างคาไว้จากรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา ทั้งนโยบายเมกะโปรเจคต์และไม่เมกะโปรเจคต์ทั้งหลายแหล่ เพราะต้องไม่ลืมว่าหลายโครงการกำลังถูกสาธารณะจับตามอง ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างหนัก อย่างนโยบายบริหารจัดการน้ำก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น


คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐ ที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นการจัดการในเชิงการก่อสร้างเสียเป็นส่วนใหญ่ทั้งเขื่อน อ่างเก็บน้ำ การผันน้ำ รวมไปถึงฝายแม้วที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ในการทุจริตอย่างมโหฬารที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และแน่นอนว่าแนวนโยบายเหล่านี้นำมาซึ่งการคัดค้านของชุมชนท้องถิ่น องค์กรสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาสังคมด้วยเหตุผลด้านความเหมาะสม การสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ รวมไปถึงวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปในเชิงลบ พร้อมกันนั้นก็มีข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการน้ำใหม่ ที่ไม่ใช่การมุ่งสร้างถาวรวัตถุขึ้นมาจัดการน้ำ การตั้งข้อสังเกตถึงจุดคุ้มทุน พร้อมกับเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก แต่ทว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวยังไม่มีภาคส่วนใดหยิบยกไปพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรม


ดังนั้น ที่ผ่านมาคงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อมีโครงการก่อสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใดๆ เกิดขึ้น กระแสการคัดค้าน ท้วงติงจากหลายภาคส่วนจึงเกิดขึ้นในวงกว้าง !


อย่างไรก็ตาม การเข้ามาบริหารประเทศภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ในชั่วโมงนี้แนวทางการบริหารจัดการน้ำคงต้องมีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่าจะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต ขณะเดียวกันภาคประชาชนเองก็ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพราะโครงการบริหารจัดการน้ำที่ยังคาราคาซังและดำเนินไปท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนยังมีอยู่อีกหลายโครงการ


เมื่อเสืออาจไม่มีแก่งให้เต้น


โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกั้นแม่น้ำยมในเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2523 นับเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ มีความจุประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนหน้านี้เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นหนึ่งในโครงการ กก อิง ยม น่าน อยู่ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อมา กฟผ.โอนให้กรมชลประทานรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องอพยพชาวบ้านกว่า 2,000 ครัวเรือน อีกทั้งเขื่อนก็ครอบคลุมพื้นที่กว่า 60,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นเขตป่าสักทอง กว่า 20,000 ไร่ด้วย


กรณีดังกล่าวเป็นผลให้ชาวสะเอียบและองค์กรสิ่งแวดล้อมต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการมาตั้งแต่แรกเริ่มกระทั่งจวบจนปัจจุบัน ทั้งการจัดทำงานวิจัยฉบับชาวบ้าน การจัดพิธีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ รวมทั้งการหยิบยกผลการศึกษาต่างๆ ในทางวิชาการออกมาตอบโต้ อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI.) ได้ศึกษาด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน เป็นโครงการที่ไม่สมควรกับการลงทุน การศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8% เท่านั้น


การศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์และชุมชน การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่าพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ การศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออกและทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


ส่วนทางออกในกรณีดังกล่าวนั้น ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาและวางแผนโดยกรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ผลสรุปออกมาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ซึ่งในแผนนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก อาทิ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับห้วยหนองคลองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ 


เขื่อนบ้านกุ่มกั้นแม่น้ำโขง


เขื่อนบ้านกุ่มมีพื้นที่โครงการบริเวณดอนกุ่ม ใกล้หมู่บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และบ้านกุ่มน้อย แขวงจำปาสัก สปป.ลาว เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในลักษณะเขื่อนแบบมีน้ำไหลผ่านตลอดปี แบบเดียวกับเขื่อนปากมูล โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,872 0 เมกะวัตต์ แต่มีกำลังการผลิตพึ่งได้เพียง 375.7 เมกะวัตต์เท่านั้น ใช้เวลาการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 10 ปี มีมูลค่าโครงการ 95,348.44 ล้านบาท และหากรวมถึงดอกเบี้ยและเงินเฟ้อด้วยแล้ว มูลค่าของโครงการเขื่อนนี้ก็สูงถึง 120,390 ล้านบาท


เขื่อนบ้านกุ่มเป็นเขื่อนหนึ่งในหลายเขื่อนตามแผนการสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขง ซึ่งกั้นขวางลำน้ำโขงโดยตรง มิใช่กั้นลำน้ำสาขา โดยก่อนที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจในปี 2550 ที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ให้บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทแม็คโคร คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำการศึกษาเบื้องต้นในโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม โดยเรียกว่าเป็นฝายในลำน้ำโขง รายงานดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มี.ค. 2551 ที่ผ่านมา


หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน ภายหลังจากการได้รับตำแหน่ง นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ก็ได้เสนอเรื่องด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 มี.ค. 2551 เพื่อขออนุมัติลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว โดยมีเนื้อความที่จะตกลงสนับสนุนให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และผู้ร่วมลงทุนบริษัท Asiacorp Holding Ltd. ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบ้านกุ่ม โดยอ้างถึง ความคล่องตัวและความพร้อมด้านเงินทุนของเอกชน


หนึ่งวันหลังจากนั้น ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2551 เห็นชอบอนุมัติให้มีการลงนามตามที่นายนพดลเสนอ แต่ได้ขอให้มีการปรับถ้อยคำจากที่ระบุชื่อ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และผู้ร่วมลงทุนคือ บริษัท Asiacorp Holding Ltd. เป็นคำกลางๆ ว่า ภาคเอกชน ทั้งนี้ น่าจะเพื่อมิให้เป็นที่เพ่งเล็งของสังคมจนมากเกินไป


ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2551 นายนพดล ปัทมะ ได้มีการลงนามร่วมกับรัฐบาลสปป.ลาวในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ณ นครเวียงจันทร์ โดยมีการกำหนดระยะเวลาในการศึกษา 15 เดือน โดยสรุปแล้ว เราใช้เวลาทั้งหมดเพียง 2 สัปดาห์ในการลงนามในสัญญาดังกล่าว โดยแทบจะไม่มีใครรู้เรื่องเลย


อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการนี้ ที่ผ่านมากรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า ได้ศึกษาข้อมูลพบว่า เขื่อนบ้านกุ่มจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เกิดน้ำท่วมหมู่บ้าน 4 หมู่บ้าน 239 ครัวเรือน เป็นฝั่งไทย 1 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านคันท่าเกวียน น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมริมแม่น้ำโขง 13,858 ไร่ (พื้นที่ฝั่งไทย 5,490 ไร่) น้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม 480 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่ยังคงเป็นป่าสมบูรณ์ และคงต้องมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ


นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการอพยพของปลา เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่เขื่อนปากมูล ผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของหมู่บ้านชาวประมง 14 หมู่บ้านในฝั่งไทย และ 6 หมู่บ้านในฝั่ง สปป.ลาว ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหลของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะระดับน้ำโขงใต้เขื่อน รวมถึงอาจกระทบต่อทิศทางการไหลของแม่น้ำโขง จนอาจกระทบต่อเขตแดนของทั้งสองประเทศ


ผันน้ำงึมแก้ภัยแล้งภาคอีสาน


โครงการผันน้ำงึม หรือชื่อเต็มๆว่า โครงการผันน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว ซึ่ง ครม.เห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2551 ที่ผ่านมา เป็นการผันน้ำจากท้ายเขื่อนน้ำงึมจากประเทศลาว เข้าคลองผันน้ำความยาว 17 กิโลเมตร ผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำโขง มายังอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และต่อไปยังหนองหาร กุมภวาปี แบ่งเป็นระยะที่ 1 การใช้น้ำในประเทศห้วยหลวง-หนองหาร-กุมภวาปี ระยะเวลา 4 ปี และระยะที่ 2 การใช้น้ำจากนอกประเทศ น้ำงึม-ท่อลอดน้ำโขง-ห้วยหลวง ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ได้ปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 2,580 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 3.2 ล้านไร่


โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ใช้งบประมาณดำเนินการ 76,760 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2556 โดยจะเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการตามขั้นตอนต่อไป โดยเหตุผลที่มีการหยิบยกขึ้นมารองรับการดำเนินการนั้นคือการแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน เป็นการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน การปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำเดิม ระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ เพื่อสนองต่อความต้องการใช้น้ำ ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสานทั้งระบบได้


แต่ในการบวนการดำเนินการนั้น สำหรับโครงการนี้ เป็นไปเฉกเช่นโครงการอื่นๆ กล่าวคือ ไร้ความโปร่งใส ไร้การมีส่วนร่วมของชุมชนมาตั้งแต่ต้น ไม่ทำประชาพิจารณ์ และไม่คำนึงถึงปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุทกวิทยา ธรณีวิทยา การแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็มในภาคอีสานจากโครงการดังที่เคยล้มเหลวมาแล้วจากโครงการโขงชีมูลในอดีต


ขณะที่ด้านผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั้น แน่นอนว่าคลองผันน้ำขนาดใหญ่ที่มีความกว้าง 50-80 เมตร ตามแนวส่งน้ำหลัก 5 เส้นทางนั้น จะต้องเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นชุมชนและที่ทำกินจำนวนมากถึง 11,256.76 ไร่ นอกจากนี้ แนวส่งน้ำยังผ่านเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์รวม 4,231.59 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ประมาณ 950 ไร่ และพื้นที่ชลประทานของโครงการ 3.2 ล้านไร่ ซึ่งกระจายใน จ.สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น หนองบัวลำภู และกาฬสินธุ์ก็อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของดินเค็มเช่นกัน


เขื่อนสาละวินกับไฟฟ้าราคาถูก


แรกเริ่มเดิมทีแนวคิดการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวินที่ถูกผลักดันโดย กฟผ.นั้นเป็นไปเพื่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล แต่เมื่อโครงการเกิดกระแสคัดค้านประกอบกับนโยบายของรัฐบาลยุคนั้นที่ต้องการให้เอกชนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าโครงการจะเงียบหายไป กระทั่งปลายปี 2545 โครงการดังกล่าวถูก กฟผ.พูดถึงอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เน้นหนักไปที่การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าราคาถูกเพียงแค่ 90 สตางค์ต่อหน่วยแทน ขณะที่ราคารับซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้านจะอยู่ที่ 1.8 บาทต่อหน่วย จากราคาที่ถูกกว่าถึงครึ่งต่อครึ่งนี้ทำให้ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ขณะนั้น) กล่าวอย่างหนักแน่นว่าหากศึกษาแล้วพบว่าเป็นเช่นนั้นจริงจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้


สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสาละวินชายแดนดังกล่าวมีแผนดำเนินการสร้าง 2 เขื่อน คือเขื่อนสาละวินบนและเขื่อนสาละวินล่าง ทั้ง 2 เขื่อนมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 2.7 แสนล้านบาทมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 5,332 เมกะวัตต์


จุดที่ตั้งของเขื่อนทั้ง 2 จะกั้นแม่น้ำสาละวิน ชายแดนไทย-พม่า บริเวณ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า โดยเขื่อนบนจะอยู่ที่เว่ยจี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน มีหน้าที่หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะ จำนวน 4,540 เมกะวัตต์ ขณะที่เขื่อนล่างตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าตาฝั่ง เขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้บ้างแต่ไม่มากเท่าเขื่อนบนคือประมาณ 792 เมกะวัตต์ ขณะที่กระแสไฟฟ้าที่ได้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะส่งเข้าไปยังพม่า และอีกส่วนหนึ่งจะส่งเข้ามายังไทย โดยจะผันลอดอุโมงค์เข้ามากักเก็บที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก


ด้านผลกระทบที่จะตามมาจากการสร้างเขื่อนสาละวินนั้น แบ่งออกเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ คือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสังคม คือปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาผู้ลี้ภัยในประเทศไทยตามมา ทั้งนี้เพราะโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจึงกินอาณาบริเวณกว้าง และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดตัวเลขของพื้นที่น้ำท่วมที่แน่ชัด แต่หากพิจารณาจากที่ตั้งของเขื่อนทั้งสองแห่งจะพบว่าพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมค่อนข้างชัดเจนเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้


ขณะที่ผลกระทบทางสังคมที่สำคัญคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนและวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่งในส่วนของประเทศพม่า เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ไทใหญ่ ปะหล่อง กะเหรี่ยงแดง กะเหรี่ยงจากรัฐฉาน รัฐคะยาห์ และรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และประชาชนถูกกองกำลังกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกองกำลังทหารพม่าทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด


อย่างไรก็ตาม โครงการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนับเป็นโครงการขนาดใหญ่ หลายโครงการถูกผลักดันมาหลายรัฐบาล ทุกโครงการต่างมีเหตุผลที่ฟังดูแล้วอาจดูดี ทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เพิ่มศักยภาพด้านการชลประทาน การมีไฟฟ้าใช้ในราคาถูก แต่มุมหนึ่งที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดให้ความสำคัญคือการประเมินผลที่จะได้จากการดำเนินการ บทเรียนจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านๆ มา การสูญเสียทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมทั้งคำถามที่ว่าเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้นยังเป็นคำตอบที่แท้จริงในการบริหารจัดการน้ำอยู่อีกหรือไม่


ดังนั้น นี่จึงนับเป็นบทพิสูจน์วิสัยทัศน์ของรัฐบาล มาร์ค 1 ว่าจะเลือกดำเนินแนวนโยบายเหล่านี้ไปในทิศทางใด.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net